วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

ศาลไม่รับฎีกาอัยการคดียิงฮ.ทหาร 10 เมษา-‘จ๋า นฤมล’เริ่มต้นชีวิตนวดแผนโบราณ

ภาพจากรายการ Intelligence ช่อง Voice TV

14 มี.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกา คดียิงเฮลิคอปเตอร์ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 หมายเลขดำ อ.2702/2553 พนักงานอัยการจังหวัดพระโขนงเป็นโจทก์ ฟ้อง นางนฤมล หรือ จ๋า วรุณรุ่งโรจน์ อายุ 56 ปี นายสุรชัย หรือ ปลา นิลโสภา (เสียชีวิตแล้ว) และนายชาตรี หรือหมู ศรีจินดา อายุ 30 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 265, 268 โดยจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
     
นายอาคม รัตนพจนารถ ทนายความของจำเลย 3 คนในคดีที่ถูกฟ้องว่านำปืนไปยิงเฮลิคอปเตอร์ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลฏีกาได้อ่านคำสั่งในวันนี้ว่าไม่รับฎีกาของอัยการโจทก์ในคดีนี้ เป็นผลให้คดีนี้ถึงที่สุด หลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว
อาคม กล่าวอีกว่า เหตุผลเบื้องต้นคือการที่อัยการได้ยื่นคำร้องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอฏีกาในคดีดังกล่าวและอัยการสูงสุดอนุมัติ แต่ปราฏกว่าในฏีกาฟ้องนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ เป็นจำเลยเพียงคนเดียว ทางทนายจำเลยจึงได้ต่อสู้ในข้อกฎหมายว่านับเป็นการที่โจทก์เสนอคำฟ้องใหม่ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้ยื่นฟ้องจำเลย 3 คนทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาไม่รับฎีกาในวันนี้จึงถือว่าคดีนี้สิ้นสุดแล้ว จำเลยถือเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม ทนายแจ้งว่าสัปดาห์หน้าจึงได้จะได้สำเนาคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีรายละเอียดที่สมบูรณ์
ส่วนเหตุการณ์ในกวันเกิดเหตุนั้น สื่อมวลชนรายงานว่า ระหว่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณถนนราชนำเนินนอกต่อเนื่องไปถึงถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเฮลิคอปเตอร์บริเวณจุดปะทะการชุมนุม เป็นเหตุให้ พ.อ.มานะ ปริญญาศิริ ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่อาคม ทนายในคดีนี้ระบุว่า การยิงเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่มีปฏิบัติการโปรยแก๊สน้ำตาที่ถนนราชดำเนิน
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า คดีนี้อัยการฟ้องว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน ขณะที่เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มแนวร่วม นปช.กับเจ้าหน้าที่รัฐ จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองอาวุธปืนกลเล็ก (เอเค 47) จำนวน 5 กระบอก ปืน เอ็ม 16 อีก 1 กระบอก ปืนคาร์บิน จำนวน 1 กระบอก ซองกระสุนปืน 17 อัน ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารจำนวน 8 ลูก ระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 4 นัด ระเบิดแก๊สน้ำตาจำนวน 3 ลูก พร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก ระเบิดแสวงเครื่องประกอบเอง 10 ลูก ขวดเครื่องดื่มชูกำลังบรรจุน้ำมันเบนซินประกอบเป็นระเบิดเพลิง 102 ขวด นอกจากนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 2 ได้ปลอมและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม ต่อมาเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมของกลางที่ บ้านเลขที่ 231 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 3 แขวงและเขตสวนหลวง กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ
      
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2554 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานชุดจับกุมจะพบของกลางในบ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องการจับกุมดังกล่าวรายงานกลับไปยังกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อีกทั้งหมายคำสั่งค้นก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ยึดสิ่งของใด อีกทั้งขณะตรวจค้นมีการถ่ายภาพปืนกลเล็กที่ซ่อนไว้ในถุงกอล์ฟ ที่ตรวจพบจากท่อระบายน้ำไว้กว่า 20 ภาพ แต่กลับไม่มีภาพดังกล่าวส่งให้พนักงานสอบสวน และไม่มีถุงกอล์ฟหรือถุงดำ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญ จึงให้สงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่ส่งหลักฐานดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนใช้ประกอบคดี อันเป็นข้อพิรุธ ทั้งจำเลยทั้งสาม ให้การปฏิเสธมาตลอด มีเหตุสงสัยตามสมควร ส่วนที่โจทก์มีพยานอ้างว่า เห็นจำเลยทั้งสาม ใช้อาวุธสงครามยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมนั้น แต่โจทก์กลับไม่มีหลักฐานว่า จำเลยทั้งสามครอบครองอาวุธปืนมา แสดง พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัยว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้ยกฟ้องพวกจำเลย
จำเลยทั้งสามถูกคุมขังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีนาน 1 ปี 4 เดือนเศษ จึงได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นพิพากษยกฟ้องแล้ว จากนั้นไม่นานสุรชัยเสียชีวิต ขณะที่ชาตรีอยู่ในเรือนจำในคดีอื่น ส่วนนฤมล หรือ จ๋า ได้รับอิสรภาพและเพียงไม่นานเธอถูกคุมขังอีกครั้งในคดีตีทหารจนศีรษะแตกเหตุเกิดในวันที่ 25 ก.พ.2552 ระหว่างที่นปช.มีการชุมนุม ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปีเธอถูกคุมขั้งตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2555 จนครบกำหนดโทษ

ชีวิตอดีตจำเลยหลังติดคุก 2 รอบ

ด้านนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ อดีตจำเลยในคดีนี้ ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบผลว่าคดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันนี้ว่า รู้สึกดีใจที่ยังมีความเป็นธรรม ความยุติธรรมให้เธอและจำเลยคนอื่นในคดีนี้ แม้ต้องติดคุกอยู่นานปีเศษ ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำประสบความยากลำบากเนื่องจากขาดญาติมิตรเยี่ยมและถูกบังคับให้รับประทานยาจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์เนื่องจากเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีอาการเครียดหนัก แต่เธอปฏิเสธ จนกระทั่งได้ออกจากเรือนจำก็ต้องใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่นาน และขาดการติดต่อกับแฟนชาวญี่ปุ่นที่เคยส่งเงินบางส่วนให้ใช้จ่าย
“สิ่งที่สร้างมาด้วยหยาดเหงื่อแทบไม่มีเหลือ ตอนที่ไปจับก็รื้อค้นเหมือนรื้อกองขยะ รูปถ่ายก็ทิ้งหมด ตอนนี้ไม่เหลือรูปถ่ายซักใบ แม้กระทั่งใบเกิด เอกสารต่างๆ ไปหมด เสื้อผ้าก็รื้อทิ้งเป็นขยะเลย ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด พวกโทรศัพท์ ที่อยู่คนต่างๆ ก็ถูกยึดไปราบ 11 หมด” นฤมลกล่าว
“ติดคุกแล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่รอยแค้น รอวันที่ประชาชนเอาคืน เพราะคุณรังแกประชาชนไม่มีทางสู้ ประชาชนลืมไม่ลงหรอก รสชาตินี้” นฤมลกล่าว
หลังออกจากเรือนจำ เธอใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่นานกว่าจะตั้งหลักได้ในปัจุบันด้วยการประกอบอาชีพรับจ้างนวดแก้อาการในเวลากลางวันและทำมะม่วงแช่อิ่มฝากขายที่ร้านกาแฟในเวลากลางคืน
“ ออกจากเรือนจำ หาที่ซุกหัวนอนยังไม่ได้ ซมซานไม่รู้เขาจะอายัดตัวไหม ออกมาเช่าโรงแรมม่านรูดถูกๆ นอนเป็นเดือน มันหลอนเรา เพราะตั้งแต่ออกประตูคุกมาก็มีคนตาม โชคดีได้พี่น้องช่วยเหลือบ้าง แล้วเราก็เริ่มทำสละลอยแก้วขาย มีม็อบตรงไหนก็เอาไปขาย จนติดคุกอีกรอบพวกหม้อเม่อก็หายหมด”
“ตอนนี้ก็เริ่มยึดการนวดเป็นอาชีพ ทำไปก็อกๆ แก๊กๆ รายได้มันไม่แน่นอน แล้วแต่ เพราะเราแค่เอาเตียงไปตั้งหลังร้านเขา ร้านคุยกับอดิศรที่ชั้น 4 อิมพีเรียล ลาดพร้าว เราแบ่งเขา 30% ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะก็ต้องใช้แอร์เขา อย่างวันนี้ได้ชั่วโมงนึง เมื่อวานไม่มีลูกค้าเลย วันไหนดีหน่อยก็ได้นวดถึง 4 ชั่วโมง แล้วตอนนี้ก็ทำมะม่วงแช่อิ่มฝากขายที่ร้านกาแฟของ Peace TV ชั้น 5 อิมพีเรียล เก็บเงินได้จะเช่าบ้านทำสละลอยแก้วให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะอุปกรณ์มันหายไปตอนติดคุกรอบที่แล้ว แล้วมันก็ต้องเช่าบ้าน เพราะต้องใช้ตู้แช่กับเตาแก๊ส ห้องเช่าเขาไม่อนุญาต” นฤมลกล่าว
นฤมลยังกล่าวอีกว่า ขอขอบคุณทนายอาคมที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือดำเนินคดีนี้โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เพราะถึงคิดค่าใช้จ่ายเธอก็ไม่มีจ่าย
“ต้องขอบคุณทนาย ไม่ได้ทนายอาคมก็คงไม่มีโอกาส เพราะเราไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ให้เขาทั้งสิ้น อยากให้ผู้มีจิตศรัทธาหรือมวลชนที่มีโอกาสช่วยแกบ้างเป็นสินน้ำใจ เพราะแกช่วยเหลือคดีคนเสื้อแดงหลายคดี ขณะที่ตัวเองก็อายุเยอะ ป่วยหลายโรคและไม่ค่อยจะมีเงิน” นฤมลกล่าว  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น