มีชัย ยอมรับพิมพ์ผิด จำนวนเสียงยกเว้นเลือกนายกฯ นอกบัญชี ย้ำ 2 ใน 3 ไม่ใช่ 3 ใน 5 ระบุให้สิทธิ คสช. เป็นคนเลือก 250 ส.ว. ช่วงเปลี่ยนผ่าน ขั้นสุดท้าย ไม่ได้ให้สืบทอดอำนาจ แต่เป็นการจำกัดอำนาจไม่ให้เลือกตามใจชอบ
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 59 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล บีช รีสอร์ท หัวหิน มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุม กรธ. นอกสถานที่วันที่ 3 ว่า เมื่อเช้า ตนรู้สึกตกใจที่เห็นสื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า "กรธ.กลับลำ 360 องศา" จากกรณีที่ อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงว่า กรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ แล้วจะขอยกเว้นให้ใช้คนนอกบัญชีเป็นนายกฯ โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภา นั้น ตนตกใจว่าเป็น 3 ใน 5 ตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะที่ประชุมตกลงกันให้ใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ของรัฐสภา ซึ่งอุดมก็ชี้แจงว่า เอกสารที่ใช้แถลงระบุชัดเจนว่า ใช้เสียง 3 ใน 5 เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่าเป็นตัวเลขจริง ซึ่งขอยอมรับว่าเป็นความผิดของตัวเอง เพราะในตอนพิมพ์ตัวเลข มือคงจะพิมพ์เป็น 3 ใน 5 ซึ่งสมาชิกในที่ประชุมก็นึกว่าตนเปลี่ยนใจ จึงไม่ได้มีการทักท้วง หรือสอบถามความชัดเจน
"ครั้งนี้ยอมรับว่า ผมพิมพ์ผิดเอง คงสับสนจึงทำให้มือพิมพ์ไปตามที่เถียงกัน ข้อเท็จจริงแล้ว ตัวเลขคือ 2 ใน 3 เพราะหลังจากการประชุม ผมกับสมาชิกก็ยังพูดกันถึงเสียง 2 ใน 3 สรุปแล้วมันคือเสียง 2 ใน 3 ขอรบกวนสื่อมวลชนช่วยปรับแก้ไขในความผิดพลาดของผมด้วย เพราะหลักการของเราคนที่จะมายื่นขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาต้องมี ส.ส.กึ่งหนึ่งจำนวน 250 คน จาก 500 คน และเวลาจะยกเว้น ต้องมีเสียงเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาอย่างน้อย 500 คน จาก 750 คน หากมีเสียงเห็นชอบเกิน 500 คน ทางสภาผู้แทนฯ ก็ไปเลือกนายกฯ อีกครั้ง โดยขั้นตอนนี้ ที่ ส.ว.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย" มีชัย กล่าว
มีชัย กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการประชุมทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า จากภาพการประชุมของทั้ง 2 วัน เป็นไปด้วยความล่าช้า ซึ่งสาเหตุเกิดจากตัวตนเอง เพราะเมื่อมีสมาชิกเกิดความสงสัย ตนก็ต้องอธิบาย ทำให้เสียเวลาไปมาก แต่หากตนไม่อยู่ในห้องประชุมก็ไม่มีใครสงสัย การประชุมก็ดำเนินไปได้เร็วขึ้น ส่วนกรณีที่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มา ส.ว. ที่ กรธ.กำหนดให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือก ส.ว.ทั้ง 250 คนนั้น ยืนยันว่าวิธีการดังกล่าวไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะ ส.ว.ไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งนายกฯ แต่คนที่เลือกนายกฯ คือ ส.ส. จึงไม่ใช่เป็นการสืบทอดอำนาจ อีกทั้งเวลายกเว้นไม่เอารายชื่อจากบัญชี ที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกฯ เราก็โยนกลับไปให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. เป็นผู้เลือกเอง
เมื่อถามว่า การปรับเปลี่ยนให้ คสช.เป็นผู้เลือกในส่วนของ ส.ว.50 คนนั้น จะไม่เสียความตั้งใจที่ กรธ.ต้องการให้ใช้ระบบเลือกไขว้ตามบทถาวรหรือไม่ ประธาน กรธ.กล่าวว่า คิดว่าการได้ทดสอบระบบการเลือกแบบนี้ จะทำให้เห็นข้อดีข้อเสีย เพื่อให้สามารถกลับไปคิดได้ว่า จะต้องมีการปรับปรุงวิธีการที่ออกแบบมาอย่างไร ซึ่งการทดสอบครั้งแรกไม่เป็นไร ขอให้เลือกกันมาก่อน ตอนสุดท้ายเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเลือก และอีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา จนกลายเป็นการแยกกันมา ดังนั้นจึงกำหนดให้ ส.ว.ให้มาจากที่เดียวกัน
เมื่อถามว่า คนที่ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.50 คนแรก อาจทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจได้ มีชัยกล่าวว่า ระบบวิธีการเลือกกันเอง คะแนนคงไม่แตกต่างกันมาก ประมาณ 10-20 คะแนน ส่วนกรณีที่การสำรองรายชื่อ ส.ว.ไว้อีก แบบละ 50 คนนั้น เพราะเมื่อคณะกรรมการสรรหาและ คสช. ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ก็ถือว่าหมดหน้าที่ แต่หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะได้ไม่ต้องกลับมาเลือกกันใหม่ โดยเลื่อนรายชื่อที่สำรองไว้ขึ้นมาตามลำดับแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้การเลือก ส.ว.แบบไขว้ โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ได้มาซึ่งบัญชี ส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ 200 คนนั้น เพื่อส่งให้ คสช. คัดเลือก ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไรก็ตาม กรธ.ยังไม่ได้เคาะระยะเวลาที่ต้องให้ได้ ส.ว.ทั้ง 250 คนเมื่อใด แต่เบื้องต้นคิดไว้ว่าจะให้เสร็จใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ส. ให้กระบวนการในสภาสามารถเดินหน้าไปได้
เมื่อถามว่า การกำหนดให้ ส.ว.6 คน มาจากเหล่าทัพ จะมีผลต่อการทำประชามติหรือไม่ มีชัยกล่าวว่า ตอนที่เราระบุให้ ส.ว.มาโดยตำแหน่ง 6 คน หรือ ร้อยละ 2.5 สื่อมวลชนก็ลงว่าเป็นบุคคลใดบ้าง ถ้าสื่อมวลชนไม่ระบุ เราก็ไม่ใส่เจาะจง แต่เมื่อรู้กันแล้วก็ระบุให้จบเรื่องไป เพราะถ้าให้ตนนึกเองก็คงไปถึงปลัดกระทรวงกลาโหม
มีชัย กล่าวต่อว่า การระบุให้ คสช.เป็นผู้เลือก ส.ว. ในขั้นตอนสุดท้าย เพราะเห็นว่าเพื่อให้เกิดความพอดี ระหว่างคนสรรหากับคนเลือกควรจะเป็นคนละกลุ่มกัน และเป็นการป้องกันไม่ให้เลือกกันเองตามใจชอบ หากให้คณะกรรมการสรรหาตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย อำนาจก็จะอยู่ที่คณะกรรมการสรรหา ก็จะขาดการตรวจสอบ แต่อย่างไรเสีย กรธ.ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยขั้นตอนสุดท้ายที่ คสช.จะเลือก ส.ว. จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการเลือก แต่ กรธ.จะไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ขึ้นอยู่กับ คสช.กำหนด
เมื่อถามว่า เมื่อกำหนดให้ คสช.เป็นผู้เลือก ส.ว. ซึ่ง มีชัย เป็น คสช.อยู่ด้วย จะร่วมเป็นผู้คัดเลือกหรือไม่ มีชัยกล่าวว่า การเลือกเราระบุให้คณะ คสช.เป็นผู้เลือก ซึ่งตนแม้จะเป็น คสช. ก็ไม่เข้าไปเลือกด้วย เพราะคิดว่าไปเลือกใครเขาก็ไม่รักเรา คนที่ไม่ถูกเลือกก็เกลียดเรา อยู่เฉยๆ ดีกว่า ไม่ต้องถอนตัว เวลาเข้าประชุมคัดเลือกก็ไม่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย
เมื่อถามว่า นายกฯ ระบุว่า ติดต่อกับ กรธ.ตลอดการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุผลที่ทำให้ กรธ.ยอมปรับแก้ไขตามข้อเสนอ คสช.หรือไม่ มีชัยกล่าวว่า กรธ.เขียนมาตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนที่จะคุยกับนายกฯ ซึ่งตอนที่ได้คุยกับนายกฯ ก็ได้มีโอกาสเล่าให้นายกฯ ฟังว่า กรธ.ได้มีการเขียนอย่างไร ซึ่งนายกฯ ก็โอเค อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับทาง คสช. เพราะจดหมายที่ คสช.เสนอมา ระบุว่า เรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา สื่อมวลชนก็ไปแปลความหมายว่าเป็นคำสั่ง คำสั่งเราได้รับเยอะ แต่ไม่เคยได้รับคำสั่งจาก คสช. เมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) ก็ได้รับมาอีกหนึ่งคำสั่ง แต่เป็นคำสั่งของคนทั่วไป
เตรียมเผยร่างจริง 13.39 น. วันที่ 29 มี.ค. 2559
ด้าน เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุม กรธ.นอกสถานที่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า ผ่านมา 3 วัน กรธ.ได้เริ่มทบทวนตั้งแต่มาตราที่ 1 ถึง 231 ในเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีการปรับแก้เล็กน้อย อาทิ ในบททั่วไป มาตรา 5 เขียนไว้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญเขียนบังคับไว้ ให้ใช้ประเพณีการปกครองในการวินิจฉัย โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุม นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระทุกองค์กร มาหารือเพื่อหาทางออกของประเทศ โดยเพิ่มให้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้ามามีบทบาทร่วมเป็นองค์คณะการประชุม 12 คน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะถือเป็นบุคคลที่มีความเห็นต่าง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกัน ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใดใน 12 คนนี้ ก็ให้ประชุมเท่าที่มีอยู่
นอกจากนี้ ในหมวด 76 เรื่องของการพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อให้งานดีขึ้น ซึ่งได้มีการพูดถึงเรื่องของการบริหารงานบุคคลภาครัฐ เป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การเข้าสรรหา เลื่อนชั้น นั้น กรธ.ได้เพิ่ม รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายด้านการบริหารงานบุคคล ซึ่งเดิมไม่ได้พูดถึงให้มีกฎหมายดังกล่าว
ส่วนหมวด รัฐสภา มาตรา 96 ลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง เดิมเขียนไว้ว่าคนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ คือ บุคคลที่อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เช่น ทุจริตเลือกตั้ง ซึ่ง กรธ.มองว่ายังมีการตีความเยอะ จึงทำให้ กรธ.เขียนให้ชัดขึ้น คือ บุคคลที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แม้คดียังไม่ถึงที่สุด พร้อมเพิ่มลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ให้เข้มข้นขึ้น โดยคนที่เคยพ้นจากตำแหน่งในมาตรา144 ที่เคยเป็น ส.ส. ส.ว. กรรมาธิการงบประมาณ ไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแปรญัตติในลักษณะที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์ จากการใช้งบประมาณนั้น และมีส.ส. ส.ว. 1 ใน 10 ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกตัดสิทธิ์ ก็ไม่มีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.อีก ทั้งนี้ครอบคลุมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. ตั้งแต่ทุจริตต่อหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ยื่นทรัพย์สินโดยไม่ถูกต้อง หากศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้ว่าผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง หรือมีการทุจริตจริง ก็ขาดคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ชายชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังกำหนดองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มีจำนวน 7 คน ก็สามารถทำงานได้ โดยไม่ต้องรอสรรหาให้ครบทั้ง 9 คน พร้อมยืนยันว่ากรรมการในองค์กรอิสระมีวาระ 7 ปีทุกองค์กร
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ เวลา 13.39 น. กรธ.จะแถลงเปิดสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ต่อสื่อมวลชน ที่ห้องงบประมาณชั้น 3 อาคารรัฐสภา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น