วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

เผย กกต.ไม่หนุนจัดเวทีถกประชามติระดับจังหวัด ใครจัดรับผิดชอบเอง เตือนอาจผิดกฏหมาย


สมชัย เผย กกต.ไม่หนุนจัดเวทีถกประชามติระดับจังหวัด ใครจัดรับผิดชอบเอง อาจผิด ก.ม.ประชามติ และ ก.ม.ความมั่นคง ขอให้เข้าใจว่าขณะนี้ยังไม่ใช่สังคมที่จะเปิดโอกาสในทุกเรื่อง ต้องทำเท่าที่ทำได้ พร้อมเปิดตัวแอปฯ 'ตาสับปะรด' แจ้งข่าวทุจริตการออกเสียงประชามติ
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า การออกเสียงประชามติจะใช้งบประมาณ 2,991 ล้านบาท โดยการเคาะงบประมาณการทำประชามติดังกล่าว กกต. ได้พยายามดูรายละเอียดทุกบรรทัดเพื่อให้เกิดประโยชน์และประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด ซึ่งกกต. จะส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนเรื่องบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้จะมีการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 62 ระบุว่า กรณีที่ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท
ส่วนข้อสงสัยว่าการกระทำใดที่จะเข้าข่ายความผิด ก็ต้องมีการยื่นคำร้องมายังสำนักงาน กกต. ที่จะมีอนุกรรมการคอยพิจารณาเพื่อกลั่นกรองว่าจะรับหรือไม่รับก่อนนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ถ้าสุจริตและสุภาพก็ ไม่เป็นปัญหา ทั้งนี้ กกต.กำลังจัดทำคำแนะนำว่าการกระทำใดทำได้และการกระทำใดอาจเสี่ยงที่จะขัดกฎหมายประชามติ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดเวทีรณรงค์การออกเสียงประชามติ กกต.ไม่สนับสนุนให้เกิดการตั้งเวทีระดับจังหวัด ถ้าหากองค์กรใดประสงค์จะรณรงค์ในระดับจังหวัดเป็นไปได้ว่า กกต.จะไม่อนุมัติ เนื่องจาก กกต.จะเปิดโอกาสให้ส่งตัวแทนมาดีเบตผ่านสื่อสาธารณะ โดยจะจัดทั้งหมด 10 รอบให้สองฝ่ายส่งตัวแทนมาแสดงความเห็นกัน ซึ่งถือว่าเป็นเวทีที่ใหญ่ประชาชนเข้าถึงได้มากกว่าและได้ประโยชน์กว่าการจัดเวทีในจังหวัด ส่วนถ้ามีการจัดเวทีโดยไม่แจ้ง กกต. นั้นผู้จัดก็ต้องไปรับผิดชอบกันเอง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผิดต่อพ.ร.บ.ประชามติ หากจัดแล้วเกิดความวุ่นวายในพื้นที่นั้น หรือผิดต่อกฎหมายความมั่นคงเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น หลักสำคัญต้องคำนึงถึงบรรยากาศความสงบเรียบร้อย มีเหตุมีผล ภายใต้กรอบกติกาของสังคมในปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ยังไม่ใช่สังคมที่จะเปิดโอกาสในทุกเรื่องต้องทำเท่าที่ทำได้ การออกแบบเช่นนี้เป็นผลดีที่สุดที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นอาจมีบางคนฉกฉวยเรื่องนี้มาใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผลของการทำประชามติคือการตัดสินใจของประชาชน เมื่อออกมาอย่างไรต้องเดินหน้าในทิศทางนั้น จะห้ามคนทุกคนให้คิดเหมือนกันคงไม่ได้
เปิดตัวแอปฯ 'ตาสับปะรด' แจ้งข่าวทุจริตการออกเสียงประชามติ
วันเดียวกัน สมชัย ยังเป็นเป็นประธานจัดแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” บนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และแท็บเล็ต (Tablet) เพื่อใช้รายงานสถานการณ์การออกเสียงประชามติและแจ้งข่าวการทุจริต การออกเสียงประชามติ ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
 
รศ.สมชัยฯ กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” เป็นการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ ใช้กับภารกิจการจัดการออกเสียงประชามติของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมุ่งเน้นที่จะปรับปรุง และพัฒนารูปแบบและช่องทางในการให้บริการประชาชนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และแท็บเล็ต (Tablet) เป็นเครื่องมือในการรายงาน 3 รูปแบบ คือ ข้อความ รูปภาพ และวีดีโอ อีกทั้งยังเป็น หนึ่งใน 9 Module ของ SMART ECT ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานสถานการณ์ รายงานข่าว ติดตามสถานการณ์ เพื่อการบริหารจัดการการออกเสียงประชามติ ป้องปรามการทุจริตการออกเสียงประชามติ การสอบสวน การออกเสียงประชามติ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งในส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับเขตเลือกตั้ง ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์การเอกชน อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องปรามการทุจริตอีกด้วย
 
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แอปพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” จะสามารถให้บริการประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันจะทำให้เกิดการบริหารจัดการและการบริการที่ดี มุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งพัฒนาไปใช้ในการป้องปรามการทุจริตการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งจะเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “ตาสับปะรด” เพื่อเข้าใช้งานจริงได้ในเร็วๆ นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น