วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

ครม.-คสช. สรุปแก้รธน.ฉ.ชั่วคราว 5 ปมประชามติ นับเสียงข้างมาก 'ผู้ออกมาใช้สิทธิ'


1 มี.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วม ครม.-คสช. วันนี้ (1 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นครั้งที่ 2 โดยจะมีการแก้ไขใน 5 ประเด็นที่จำเป็นสำหรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างแก้ไขมาให้ตน ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ส่งไปยัง สนช. ให้พิจารณาภายใน 15 วัน
สำหรับ 5 ประเด็นที่จะมีการแก้ไข  นายวิษณุ กล่าวว่า ประกอบด้วย 1. การแก้ไขการนับคะแนนเสียงประชามติ  โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ และให้คิดคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ  โดยไม่นับคะแนนเสียงของผู้งดออกเสียง  2. อายุของผู้มีสิทธิใช้เสียง ให้นับอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ
นายวิษณุ กล่าวว่า 3. แก้ไขการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิออกเสียง มาใช้วิธีการรณรงค์เผยแพร่ ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในทุกช่องทาง ทั้งอินโฟกราฟฟิก เว็ปไซต์ การซื้อโฆษณาจากสื่อต่างๆ รวมถึง การติดประกาศตามหน่วยงานราชการ ซึ่งขณะนี้กรรมการการเลือกตั้ง (กรธ.) ได้ทำคู่มือร่างรัฐธรรมนูญฉบับย่อไว้แล้ว  เพื่อป้องกันปัญหาการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไม่ทั่วถึงและไม่ครบ
“นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเวทีแสดงความคิดเห็น ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ  โดยผู้ที่จะแสดงความเห็น สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ในเวทีที่ กกต.จัด แต่ถ้าไปแสดงความเห็นในพื้นที่อื่น ก็จะต้องแบกรับความเสี่ยง หากถูกดำเนินการตามกฎหมาย” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า 4. แก้ไขการส่งคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำประชามติ จากเดิมที่ให้ สปช. และ สนช. สามารถส่งคำถามได้ฝ่ายละ 1 คำถามมาให้ ครม.เลือก แต่เมื่อไม่มี สปช.แล้ว ก็ให้ สนช.ตั้งคำถาม และส่งตรงไปยัง กกต.ได้โดยตรง และ 5. จะมีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการรณรงค์ออกเสียงประชามติ โดยจะเป็นหลักเกณฑ์ใกล้เกียงกับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และประชามติเดิม แต่จะมีการกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกีดขวาง ต่อต้าน จงใจไม่ให้มีการไปใช้สิทธิ ซึ่งจะรวมถึง การฉีกทำลายบัตรออกเสียงประชามติด้วย ขณะนี้ อยู่ระหว่าง กกต.ร่างกฎหมายส่งมายัง กกต.
“การประชุมร่วม ครม.-คสช. วันนี้ ไม่ได้หารือเกี่ยวกับทางออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา และเกรงจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ที่ประชุมยืนยันว่า จะต้องมีการเลือกตั้ง ภายในปี 2560 แน่นอน ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติหรือไม่”  นายวิษณุ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น