วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

มีชัย แจงร่างรธน.ตัด 'เรียนฟรีถึงม.6' แต่เริ่มตั้งแต่อนุบาล เหตุการศึกษาไม่ทัดเทียม


มีชัย แจง ร่างรธน.ตัดเรียนฟรีถึง ม.6 แต่เริ่มตั้งแต่อนุบาล เหตุการศึกษาไม่ทัดเทียม ขออย่ากังวล ม.ปลาย คนจนยังมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ ชี้อนาคตหากรัฐมีงบฯมากขึ้นขยายเรียนฟรีเป็น 15 ปีก็ได้ ด้านนักเรียนกลุ่มมการศึกษาเพื่อความเป็นไท ร้อง เอาม.ปลายฟรี ของเราคืนมา 
30 มี.ค.2559 ภายหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ วานนี้ (29 มี.ค.59) ซึ่งขยับสิทธิการศึกษาฟรีจากถึง ม.6 มาเป็น 12 ปี แต่เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือ ม.3 ในมาตรา 54 นั้น
วันนี้ (30 มี.ค.59) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ระบบการศึกษาปัจจุบัน ไม่ทัดเทียม ดังนั้นสิ่งที่ กรธ. บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญคือร่นระยะเวลาเรียนฟรี ตั้งแต่ช่วงอนุบาล ซึ่งจากเดิมเริ่มต้นในช่วงประถมศึกษา และแม้ว่าในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายไม่ได้กำหนดสิทธิในเรื่องการเรียนฟรีไว้ แต่ก็มีกองทุนการศึกษาให้ ทั้งแบบให้แบบเปล่า หรือ ให้เรียน ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์การคัดกรองคุณสมบัติของผู้กู้ยืมว่ามีฐานะยากจนหรือไม่
"...อันนี้ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษามันไม่ทัดเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้เนี่ยต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีตังค์ได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้นพอถึงมัธยมปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไมได้เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้ว 
 
สิ่งที่เราทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่างเพื่อรองรับคนจน แล้วพอถึงมัธยมปลาย คนจนก็จะได้รับการดูเพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ เพราะฉนั้นความทัดเทียมมันถึงจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คนจนก็จะแย่ เสียเปรียบ..." นายมีชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายมีชัยยืนยันว่าหากในอนาคตรัฐบาลมีงบประมาณมากขึ้น ก็สามารถขยายระยะเวลาจัดการศึกษาฟรี 15 ปี จนถึงชั้น ม.6 ได้เช่นกัน
นักเรียนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ร้อง เอาม.ปลายฟรี ของเราคืนมา 
ขณะที่ก่อนหน้านี้ (29 มี.ค.59) พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้โพสต์คำประกาศเยาวชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และเครือข่าย
โดยระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวลดทอนสิทธิทางการศึกษา เนื่องจากร่าง รธน. ฉบับนี้ได้ลดทอนสวัสดิการด้านการศึกษาเรียนฟรีเพียงถึงการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ต่างจาก รธน. 40 และ 50 ที่เรียนฟรีถึง ม.ปลายและอาชีวศึกษา
ขณะที่การจัดตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนผู้ขาดแคลนโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ ตามคำประกาศของกลุ่มนี้ มองว่า หากไม่มีการจัดสวัสดิการอย่างทั่วถึง และแม้จะมีกองทุนนี้อยู่ ก็เชื่อว่าจะต้องมีเพื่อนเยาวชนเราอีกจำนวนมากที่จะต้องตกหล่นไปจากกองทุนนี้ 
"เราหวังว่าสุดท้าย การใช้รัฐธรรมนูญตัดทอนโอกาสของเยาวชนจะไม่เกิดขึ้นและ “ม.ปลายฟรี” จะกลับมาสู่มือเยาวชนตามเดิม" คำประกาศของกลุ่มนี้ทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น