8 มี.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้สื่อข่าวพลเมืองชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปตบหน้าชาวบ้านหลายคน ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่ ขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ในช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ทหารโต้เถียงกับประชาชนเมื่อวันที่ 1 ม.ค.58 มาเผยแพร่ (อ่านรายละเอียดคดี และประมวลสรุปการสืบพยานในศาล)
ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุป โดยเห็นว่าแม้โจทก์จะมีพยานโจทก์ คือร้อยเอกพนมศักดิ์ กันแต่ง และจ่าสิบเอกมานพ ปานวิเศษ มาเบิกความยืนยันว่ามีคลิปวีดีโอและข้อความเผยแพร่กล่าวหาว่าทหารทำร้ายประชาชนทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด ที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่คลิปและข้อความดังกล่าว และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ หรือได้มีการดัดแปลงตัดต่อคลิปวีดีโอแต่อย่างใด ในเอกสารตามฟ้องก็เป็นการคัดลอกข้อความมาเรียงต่อกัน ไม่ปรากฏที่มาของข้อความ หรือยูอาร์แอล (URL) ที่ระบุถึงที่อยู่ของข้อความในระบบคอมพิวเตอร์ จึงไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นความผิดของจำเลยได้
ศาลยังได้วินิจฉัยว่าการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จะเป็นความผิดเมื่อผู้นั้นทราบว่าเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ แม้จำเลยจะยอมรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความบางส่วนตามฟ้อง แต่พยานจำเลยจำนวน 5 ปาก ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่ เบิกความตรงกันว่าถูกบุคคลที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารทำร้าย การที่จำเลยเผยแพร่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง จึงไม่ถือว่าเป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังการพิพากษา นายไมตรี จำเริญสุขสกุล กล่าวว่า ก่อนหน้าวันนี้ก็รู้สึกตื่นเต้น และพยายามตั้งใจฟังทุกอย่างที่ศาลพูดในวันนี้ พอได้ยินศาลอ่านว่ายกฟ้อง ก็รู้สึกดีใจมาก ทำให้รู้สึกว่าความยุติธรรมยังไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว อย่างน้อยก็ยังได้รับในคดีนี้ ถึงแม้คำขอโทษที่ชาวบ้านต้องการมาตั้งแต่ต้น ยังไม่สามารถได้มา แต่ความยุติธรรมในระดับหนึ่ง ก็ได้รับมาแล้วจากศาลในวันนี้
ไมตรีระบุว่าปัญหาที่เขาประสบจากการถูกดำเนินคดีนี้ คือการเดินทาง ซึ่งต้องมาที่ศาลหลายครั้ง โดยที่หมู่บ้านที่เขาอยู่ อยู่ไกลเกือบ 100 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ และในตอนต้นของกระบวนการทางคดี เขายังรู้สึกกลัว โดยเฉพาะในตอนนัดสมานฉันท์ ที่เดิมเข้าใจว่าจะเป็นคุยทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายตามข้อเท็จจริง แต่กลับปรากฏว่าการพูดคุย มีลักษณะระบุว่าเขากระทำความผิดแล้ว และต้องการให้มีการรับสารภาพ แต่จากคดีนี้ ก็ทำให้เรียนรู้เรื่องความอดทนในการต่อสู้คดี และการได้ทบทวนตัวเอง
“หลังจากโดนคดีนี้ ผมมานั่งทบทวนตัวเองหลายครั้ง ว่าที่ได้เผยแพร่ข้อมูลไปนั้นเป็นเรื่องถูกหรือผิด รู้สึกเสียใจหรือไม่ แต่คำตอบที่ได้ทุกครั้งยังเหมือนเดิมว่าไม่ได้รู้สึกเสียใจ การยืนยันทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ถ้าคิดจะทำหน้าที่ลักษณะนี้ ก็ต้องเตรียมใจไว้ว่าอาจจะเจอปัญหาในลักษณะนี้ได้” ไมตรีกล่าว
ด้านทนายจำเลย ระบุว่าศาลได้วินิจฉัยประเด็นตามที่มีการยื่นเอกสารคำแถลงปิดคดีไปก่อนหน้านี้ แม้จะรวบวินิจฉัยแต่ละประเด็นเพียงสั้นๆ ทั้งในเรื่องหลักฐานข้อมูลที่โจทก์ฟ้องว่าถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้เชื่อมโยงถึงจำเลย และเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งพยานจำเลยหลายปากมาชี้ให้เห็นว่าจำเลยเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง จึงได้มีการเผยแพร่ข้อมูล แม้ในประเด็นสุดท้ายที่ทางฝ่ายจำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลคือเรื่องเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ไม่ได้ต้องการใช้กับข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลจะไม่ได้วินิจฉัยด้วยก็ตาม (อ่านสรุปคำแถลงปิดคดี) โดยหลังจากนี้คงต้องติดตามว่าทางอัยการโจทก์จะมีการยื่นอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่
สำหรับ ไมตรี ปัจจุบันอายุ 32 ปี พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด โดยในภายหลังยังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง เขายังมีทักษะในการทำภาพยนตร์ โดยเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกำกับภาพยนตร์สั้นของตนเองมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น