9 มี.ค. 2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' รายงานว่า สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ทนายอานนท์ นำภา สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กิตติธัช สุมาลย์นพ กรกนก คำตา วิศรุต อนุกูลการย์ และวิจิตร หันหาบุญ เดินทางมาเข้ารับฟังคำสั่งในคดีที่พนักงานสอบสวนสน.รถไฟธนบุรี ทำสำนวนส่งฟ้อง 6 ผู้ต้องหา ในความผิดฐาน มั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขัดประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากที่ทั้งหมด ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ขึ้นรถไฟ "ส่องแสงหากลโกง" ไปที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.58
โดยคดีนี้ทนายจำเลย ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการทหาร ขอให้พนักงานสอบสวนสน.รถไฟธนบุรี สอบปากคำพยาน เพิ่มเติมอีก 2 ปาก คือ ชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ จันจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัยการทหารพิจารณาแล้ว จึงเลื่อนการนัดฟังคำสั่งฟ้องไปเป็นวันที่ 25 เม.ย.นี้
ทนายชี้ขัดหลักกฎหมาย จ่านิวโดนแจ้งข้อหาเพิ่ม คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก
ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า วานนี้ (8 มี.ค.59) เวลา 16.00 น. สิรวิชญ์เดินทางไปยัง สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา กรณีร่วมกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก’ วันที่ 14 ก.พ. 2558 ณ บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รองผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน ในฐานะพนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่สิรวิชญ์ว่า ผู้ต้องหามีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัว ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ม.15 ทวิ ซึ่งถือเป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2557 สิรวิชญ์เคยถูกกักตัวไว้ที่สนามกีฬากองทัพบกตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก จากกิจกรรมกินแซนด์วิชที่ห้างสยามพารากอน และได้รับการปล่อยตัว โดยต้องลงชื่อรับรองว่า จะละเว้นการเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ และหากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าว หรือดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีและถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน
ต่อมา สิรวิชญ์ได้ไปร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ตามคำเชิญชวนในเฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นำภา’ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 ก่อนถูกจับกุมและดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกับพวกที่หลบหนีตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 ซึ่งการร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวที่สิรวิชญ์เคยลงชื่อไว้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2557
นอกจากนี้ บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังระบุอีกว่า การแจ้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ เป็นการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม เนื่องจากอัยการศาลทหารกรุงเทพมีหนังสือด่วนมาก เรื่อง ขอให้สอบสวนเพิ่มเติม มาถึง สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2558
ด้าน สิรวิชญ์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน แต่จะขอให้การโดยละเอียดในชั้นพิจารณาของศาลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า การแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 ซึ่งหากพิจารณาตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา จะเห็นได้ว่าเป็นเหตุและการกระทำเดียวกันกับคดีที่ถูกฟ้องให้ศาลทหารดังกล่าว ซึ่งถือว่าการสอบสวนและรวบพยานหลักฐานจากกระทำนั้นได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มหลังฟ้องคดี ถือได้ว่าผิดหลักกฎหมายทั่วไปที่ระบุว่า บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้
ภาวิณี ยังให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการการแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ในกรณีสิรวิชญ์นี้ ถือเป็นการนำเอาประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 มาใช้ดำเนินคดีเป็นคดีแรกจากการติดตามคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น