วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

80 นักวิชาการยื่นจดหมายถึง มธ. ขอยุติการอุทธรณ์คำพิพากษาไล่ออก สมศักดิ์


นักวิชาการไทย อาทิ เกษียร เตชะพีระ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เชษฐา พ่วงหัตถ์ ยศ สันตสมบัติ,พวงทอง ภวัครพันธ์ ฯลฯ  ส่งจม.เปิดผนึกถึง นรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภามหาวิทยาลัย ขอให้ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง กรณีการเพิกถอนคำสั่งไล่ออก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย ติงว่าอาจถูกครหาว่าไม่มีความเป็นธรรม โดยขอให้อธิการพิจารณาหนังสือขอลาออกแทน
20 เม.ย. 2559 หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลงโทษไล่ออกอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ประชาไท 11 เม.ย.59) แต่ต่อมา ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดต่อเรื่องนี้ว่ากำลังให้ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ โดยแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “คงต้องอุทธรณ์” เพราะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล (ประชาไท 13 เม.ย.59)

จดหมายเปิดผนึกลงนาม 80 รายชื่อจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการแสดงท่าทีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว ว่าทำให้รู้สึกเป็นกังวลใจในกรณีการปฏิบัติต่อนักวิชาการผู้สอนในสถาบันการศึกษาด้วยความเป็นธรรม  และได้เสนอว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรที่จะยุติเรื่องนี้ได้ ตามที่ศาลปกครองได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแล้ว และขอให้นายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดี พิจารณาจดหมายลาออกของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยในจดหมายยังได้ระบุว่าหากมีกระบวนการฟ้องร้องกันต่อไป ในขณะที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอาศัยอยู่ในต่างประเทศ  จึงอาจถูกมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

0000
จดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ขอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาธรรมศาสตร์พิจารณาอนุมัติใบลาออกจากราชการของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และยุติการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง
เรียน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตามที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 ลงโทษไล่อาจารย์ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ ต่อมา อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และ ก.พ.อ.วินิจฉัยยกอุทธรณ์ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์จึงฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 78/2559 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 โดยพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครอง ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แสดงความต้องการจะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้คำสั่งไล่ออกยังคงมีผลต่อไป

คณาจารย์ทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ดังรายชื่อข้างท้ายหนังสือนี้ ได้ติดตามกรณีที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นห่วงและมีความเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ยื่นเรื่องขอไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อทำงานวิจัยมีกำหนด 1 ปี โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นงานวิจัยในวันที่ 1 สิงหาคม 2557 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 โดยที่คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มีคำสั่งอนุมัติแล้ว แต่หนังสือดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาจากมหาวิทยาลัย จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 2557 คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้แจ้งให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ และมอบหมายภาระงานสอน

2. ในส่วนของการพิจารณาอนุมัติหนังสือขอไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อทำงานวิจัยนั้น กลับปรากฏเป็นคำสั่งโดยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานฯ ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 อันเป็นการสั่งการภายหลังจากที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์มีหนังสือแจ้งให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ กลับมาปฏิบัติราชการนานกว่าหนึ่งเดือน

3. หลังจากที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ได้รับหนังสือแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการ และมอบหมายภาระงานสอน จึงได้มีหนังสือลาออกจากราชการลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ภายหลังจากวันที่มีหนังสือให้กลับมาปฏิบัติราชการเพียงหนึ่งวัน

4. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นชอบตามหัวหน้างานวินัยและสอบสวนที่เห็นว่า วันที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ยื่นหนังสือลาออก คือวันที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้รับหนังสือขอลาออก ตรงกับวันที่ 6 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน และไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิการบดี หรือไม่ได้ระบุวันลาออก จึงถือว่าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นวันขอลาออก จากนั้น อธิการบดี ได้ลงนามในคำสั่งลงโทษไล่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ออกจากราชการในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558

จากลำดับเวลาดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติราชการดังปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ประการสำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่า ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ยิ่งตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจากการคุกคามมากขึ้น โดยก่อนหน้านั้น อาจารย์ ดร.สมศักดิ์เคยประสบกับการถูกลอบสังหารไปแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้น อาจารย์ ดร.สมศักดิ์จึงจำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์พำนักอาศัยอยู่ หากพิจารณาเงื่อนไขการพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยตามข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว ย่อมยืนยันได้ว่า การที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ได้สถานะผู้ลี้ภัยเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า หากอาจารย์ ดร.สมศักดิ์กลับมาประเทศไทย อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพได้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเงื่อนเวลาการพิจารณาอนุมัติหนังสือขอไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการพิจารณาหลังจากที่มีหนังสือเรียกตัวอาจารย์ ดร.สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ ทั้งต่อมายังมีคำสั่งไล่ออกลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 หลังจากที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ได้มีหนังสือขอลาออกแล้ว ทำให้สังคมมองได้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมพิจารณาหนังสือลาออก แต่ต้องการจะกลั่นแกล้งเพื่อให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ถูกไล่ออกจากราชการแทน ซึ่งส่งผลให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญตามสิทธิที่ควรได้รับ ทั้งๆที่ได้รับราชการมาเป็นเวลาหลายปี

ดังนั้น หากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังยืนยันที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง เพื่อให้คำสั่งไล่ออกยังคงมีผลต่อไป ก็ยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยขึ้นไปอีกว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมูลเหตุจูงใจใดอยู่ จึงไม่ยอมพิจารณาอนุมัติให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ลาออก แต่เลือกที่จะใช้วิธีไล่ออกแทน

ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ได้ทำหน้าที่นักวิชาการ ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอนและให้ความรู้แก่สังคม จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยร่วมสมัย การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการและการเมืองของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์อย่างตรงไปตรงมาถือเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์นั่นเอง

อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีนักศึกษาและอาจารย์จำนวนมากที่ประสบภัยคุกคามจากเผด็จการจนต้องหลบหนีลี้ภัยไป ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้ใช้อำนาจข่มเหงรังแกหรือใช้มาตรการรุนแรงถึงขนาดไล่นักศึกษาออกหรือไล่อาจารย์ออกจากราชการ แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้นได้พยายามหาวิธีการช่วยเหลือนักศึกษาและอาจารย์ จนในท้ายที่สุดนักศึกษาก็สามารถกลับมาศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาและอาจารย์ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป

ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังประสบกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิและเสรีภาพเช่นนี้ คณาจารย์นักวิชาการ ตามรายชื่อข้างท้าย จึงขอเรียกร้องมายังสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พิจารณาปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสมาชิกประชาคมธรรมศาสตร์อย่างจริงจังมากขึ้น ให้ความเป็นธรรมและแสดงน้ำใจกับอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ โดยเสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาหนังสือลาออกของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ซึ่งได้ยื่นไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 และยุติความพยายามของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองต่อไป ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่ได้ละทิ้งหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

รายนามนักวิชาการที่ลงชื่อ
1. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์
2. กฤษณ์พชร โสมณวัตร
3. กิตติ วิสารกาญจน
4. กิตติกาญจน์ หาญกุล
5. เกษียร เตชะพีระ
6. กุลธีร์ บรรจุแก้ว
7. คงกฤช ไตรยวงค์
8. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
9. คมลักษณ์ ไชยยะ
10. คารินา โชติรวี
11. คำแหง วิสุทธางกูร
12. จักเรศ อิฐรัตน์
13. จิรธร สกุลวัฒนะ
14. ชลิตา บัณฑุวงศ์
15. ชัชวาล ปุญปัน
16. ชัยพงษ์ สำเนียง
17. ชาญณรงค์ บุญหนุน
18. เชษฐา พวงหัตถ์
19. ชำนาญ จันทร์เรือง
20. ณรุจน์ วศินปิยมงคล
21. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
22. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล
23. ธนาวิ โชติประดิษฐ
24. ธิกานต์ ศรีนารา
25. ธีระพล อันมัย
26. บัณฑิต ไกรวิจิตร
27. บารมี ชัยรัตน์
28. บุญเลิศ วิเศษปรีชา
29. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
30. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว
31. ปราการ กลิ่นฟุ้ง
32. ปราโมทย์ ระวิน
33. ปวินท์ ระมิงค์วงศ์
34. ปิยบุตร แสงกนกกุล
35. พกุล แองเกอร์
36. พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์
37. พรรณราย โอสถาภิรัตน์
38. พวงทอง ภวัครพันธ์
39. พันธ์พิพิธ พิพิธพันธุ์
40. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
41. พิพัฒน์ สุยะ
42. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
43. พุทธพล มงคลวรรณ
44. ไพรินทร์ กะทิพรมราช
45. ภัควดี วีระภาสพงษ์
46. ภาสกร อินทุมาร
47. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ
48. มาตยา อิงคนารถ
49. ยศ สันตสมบัติ
50. ยอดพล เทพสิทธา
51. ยุกติ มุกดาวิจิตร
52. รามิล กาญจันดา
53. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
54. วรยุทธ ศรีวรกุล
55. วันพิชิต ศรีสุข
56. วิจักขณ์ พานิช
57. วิทยา อาภรณ์
58. วินัย ผลเจริญ
59. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล
60. ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
61. ศักรินทร์ ณ น่าน
62. สร้อยมาศ รุ่งมณี
63. สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์
64. สามชาย ศรีสันต์
65. สุเจน กรรพฤทธิ์
66. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
67. สุรพศ ทวีศักดิ์
68. สุรัช คมพจน์
69. อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ
70. อรรถพล อนันตวรสกุล
71. อภิชาต สถิตนิรามัย
72. อรอนงค์ ทิพย์พิมล
73. อลงกรณ์ ดาคะนานันท์
74. อัจฉรา รักยุติธรรม
75. อันธิฌา แสงชัย
76. อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ
77. อาทิตย์ ศรีจันทร์
78. อิสราภรณ์ พิศสะอาด
79. อุเชนทร์ เชียงเสน
80. เอกพล เธียรถาวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น