เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2559 ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ได้จัดเวทีวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ วิทยากรได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) และภาคประชาชนกลุ่มต่างๆร่วมแลกเปลี่ยน
ไพโรจน์ ซึ่งเป็นตัวแทนรวบรวมความคิดเห็นเครือข่ายต่างๆ แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและสรุปข้อเรียกร้องของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ว่า
1.ต้องการให้มีการเผยแพร่ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นไปตามหลักประชามติว่าต้องเหตุเป็นผลของคนทั้งประเทศ ปราศจากการข่มขู่คุกคามจากหน่วยงานทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้
2.ในความเห็นของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน การรับร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นปัญหามากกว่าการไม่รับ และสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปมีความเห็นว่าเราจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เราจะเข้าคูหาประชามติเพื่อกาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
2.1 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงแต่กำหนดให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยลงแต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ
2.2 รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจ คสช. สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยเฉพาะการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง ประกาศ ที่มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ และมีผลผูกพันรัฐบาลและรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.ได้
2.3 คำสั่งที่ออกมาทั้งหมดถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้และมีผลระยะยาวต่อสังคมไทยในอนาคต จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เราเห็นว่าการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการรับการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงยืนยันที่จะรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนให้ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างเต็มที่ต่อไป
วิเคราะห์ปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่ควรรับร่างฯ
บัณฑูร กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อระยะเปลี่ยนผ่าน มีรัฐบาลผสมหลายพรรคเพื่อการปฏิรูปและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งแต่มีหน้าที่ของรัฐที่เข้มข้น ซึ่งมีการจำกัดการเมืองภาคพลเมือง โดยมีกลไกอย่างน้อย 5 ประการในช่วง 5 ปี คือ 1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 2) การใช้อำนาจตาม ม.44 ของหัวหน้า คสช. 3) วุฒิสภา 250 คน จากการเลือกโดย คสช. 4) ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 5) บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ
บัณฑูรให้ข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจใช้คำสั่งตาม ม.44 เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะทำอย่างไรจึงจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไม่เกิดความรุนแรงเพื่อมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
สุนี กล่าวสรุปประเด็นในที่ประชุมของกลุ่มภาคประชาชนเครือข่ายต่างๆ ว่า ผู้ร่างไม่เข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยของการมีส่วนร่วมจึงลดอำนาจของประชาชนทุกกลุ่ม ตัวอย่างการกระจายอำนาจหรือสิทธิชุมชน สวัสดิการสังคม รัฐธรรมนูญเก่าดีอยู่แล้วแต่กลับมีการแก้หลักการใหญ่ซึ่งจะมีผลอย่างมากในอนาคต รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นการปราบโกงโดยลดอำนาจประชาชนและมีอคติต่อนักการเมืองมากเกินไป โดยไม่ได้มองถึงระบบราชการหรือกลุ่มทุนต่างๆ ที่เป็นปัญหาด้วย
เรื่องสวัสดิการสังคม สุนี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชุดนี้เจาะจงกับกลุ่มผู้ยากไร้และคนด้อยโอกาสถึงจะได้รับสิทธิ ทำให้เห็นว่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยปกติรัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อย่างรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 เขียนเอาไว้ค่อนข้างละเอียด แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างกรณีที่รัฐธรรมนูญปี40 เขียนคำว่าผู้ยากไร้ แต่ร่างฉบับนี้เขียนเรื่องเหล่านี้แย่ลงกว่าเดิม
ในส่วนขององค์กรอิสระ ทั้ง 5 องค์กรมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาซึ่งส่วนใหญ่มาจากศาล ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)ที่ถูกตัดอำนาจฟ้องออกไป เปลี่ยนเป็นบทบาทชี้แจงรายงานเหมือนเป็นองค์กรวิชาการ ขณะเดียวกันก็ไปเพิ่มอำนาจที่ไม่ควรจะเพิ่มคือแก้ตัวแทนรัฐบาลเวลารัฐบาลถูกวิจารณ์จากสากล ทำให้ กสม.เป็นอัมพาต ทำให้หน่วยงานที่จะเข้าตรวจสอบรัฐ ไปช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ แต่กลับไปทำหน้าที่ให้รัฐแทน
สุนี ย้ำว่า ถ้าเราเจาะลงไปในบทเฉพาะกาล การใช้อำนาจ ม.44 จะส่งผลกระทบมาก ขณะนี้เหมือนเขียนรัฐธรรมนูญออกมาไม่ดีเรื่องสิทธิเสรีภาพและยกให้คำสั่ง คสช.มีผลสืบเนื่องทั้งหมด ทำให้คำสั่งต่างๆ แก้ไขได้ยาก เพราะบทเฉพาะกาลได้ล็อกคำสั่งเหล่านี้เอาไว้และกระบวนการแก้ไขถูกออกแบบไม่ชัดเจน
ไพโรจน์ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการรับรองสิ่งที่มีอยู่ แต่ไม่มีความก้าวหน้า ในหมวดปฏิรูปกล่าวเพียงสองเรื่องคือให้ประชาชนรู้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องพัฒนาพรรคการเมืองให้ถูกควบคุมให้ได้ ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้ร่างว่ามองประชาชนอย่างไร
ไพโรจน์ เน้นย้ำเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ยอมรับให้มีจังหวัดจัดการตนเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี40 และปี50 ให้จังหวัดนั้นสามารถปกครองตนเองจัดการตนเองได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชน การตัดสิทธิประชาชนการลงมติระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ตัดสิทธิประชาชนองค์กรส่วนชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิเด็กเยาวชน สิทธิคนพิการหายไป สิทธิทางการศึกษาไปอยู่ในหน้าที่ของรัฐไม่ใช่สิทธิของประชาชน และยังมีเรื่องต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญปี 40 ปี50 แต่ร่างนี้กลับไม่ปรากฏ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น