วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

เปิดหลักสูตรอบรมของ คสช. - ด้านวัฒนาชี้หลักสูตรฯ กระทบบรรยากาศประชามติ


เปิดตารางหลักสูตรอบรมของ คสช. 7 วัน ตี 5 อาบน้ำ-ทำธุระส่วนตัว ออกกำลังกาย กินข้าว ให้ความรู้ในหลักสูตร จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ-เป้าหมายรัฐบาล เปิดให้แลกเปลี่ยนความเห็น แถมสันทนาการ ก่อนส่งเข้านอน 21.30 น. วัฒนาชี้หลักสูตรอบรมกระทบบรรยากาศประชามติ
8 เม.ย.2559 ความคืบหน้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์ สำหรับผู้นำ หรือแกนนำประชาชนทั่วไป ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.หนึ่งในผู้ดูแลหลักสูตร ชี้แจงว่าไม่ได้มุ่งหวังจะเรียกมาปรับทัศนคติ แต่บุคคลที่ถูกเชิญเข้ามาร่วมหลักสูตรจะเป็นผู้ที่เข้าข่ายมีความผิดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กระทบต่อความมั่นคง ส่วนใครจะเข้าข่ายอยู่ที่เกณฑ์การพิจารณาของคณะทำงาน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสอดส่องพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความตามสื่อโซลเชียล และการแสดงความคิดเห็นตามเวทีต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในสังคมทุกมิติ และทันทีที่มีผู้ได้รับสิทธิเข้าอบรม เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหาที่กระทำความผิดและเชิญตัว ทั้งรูปแบบลายลักษณ์อักษรและวาจา พร้อมกับแจ้งให้ญาติทราบถึงสถานที่ ซึ่งจะเป็นหน่วยทหารทั่วประเทศตามภูมิลำเนาของผู้ที่ได้รับการอบรม และมีระยะเวลาในการอบรม ขั้นต่ำ 7 วัน ขั้นตอนต่อไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมั่นใจกับเจ้าตัวและญาติ เจ้าหน้าที่จะพาไปตรวจเช็กสุขภาพก่อนเข้ารับการอบรม ป้องกันข้อกล่าวหาการซ้อมหรือทำร้ายร่างกาย
สำหรับตารางการอบรมในแต่ละวัน จะเริ่มตั้งแต่รับอรุณวันใหม่ เวลาตี 5 อาบน้ำและทำธุระส่วนตัว ออกกำลังกาย รับประทานอาหารเช้า ก่อนที่จะเริ่มช่วงเวลาสำคัญในการให้ความรู้ในหลักสูตร จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ และเป้าหมายการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีช่วงเวลาคลายเครียดด้วยกิจกรรมสันทนาการ ก่อนส่งเข้านอนเวลา 21.30 น. และจะเป็นอย่างนี้ทุกวันจนครบ 168 ชั่วโมง โดยหลังจากจบหลักสูตรแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องลงนามความตกลงร่วมกับ คสช. ว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีก แต่หากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม ก็มีโอกาสสูงที่บุคลนั้นๆ จะได้กลับเข้ามาอบรมใหม่ อย่างไรก็ตาม คสช.หวังว่าการยกระดับการพูดคุยสร้างความเข้าใจนี้จะทำให้ประเทศผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นและหากเป็นไปได้ คสช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีใครเข้ามาอบรมในหลักสูตรนี้
คสช. แจ้งเบื้องต้นว่าหลักสูตรการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์นี้ จะเริ่มใช้ทันทีที่มีบุคคลกระทำความผิดต่อจากนี้ ส่วนจะเปิดหลักสูตรไปจนถึงเมื่อไหร่นั้น ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจน
 

วัฒนา ชี้หลักสูตรอบรมกระทบบรรยากาศประชามติ

ขณะที่วานนี้ (7 เม.ย.59) วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ผู้ที่ก่อนหน้านี้ถูกคุมตัวเข้าปรับทัศนคติบ่อยครั้ง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Watana Muangsook' ในหัวข้อ "หลักสูตรอบรมนักการเมือง" โดย วัฒนา ระบุว่า หลายคนคงสับสนเมื่อเห็นข่าว คสช. จัดหลักสูตรอบรมทางการเมือง โดยจะนำนักการเมืองที่พูดไม่รู้เรื่องมาเข้าค่ายทหารที่มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งรวมถึงปัตตานีและยะลาเป็นเวลา 7 วัน ในขณะที่ประเทศอยู่ในระหว่างการนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จึงควรเป็นบรรยากาศที่ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แทนที่จะเป็นการปิดกั้นอีกฝ่ายในการแสดงความคิดเห็นด้วยมาตรการที่อ้างว่าเป็นความมั่นคง คสช. และทุกฝ่ายต้องเชื่อมั่นว่าคนไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกวิถีทางทางการเมืองของตัวเองได้โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้นำ
 
วัฒนา กล่าวว่า การออกเสียงประชามติ คือการนำร่างกฎหมายหรือนโยบายที่สำคัญ ไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ตัดสินด้วยการลงคะแนนว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ก่อนที่จะนำเอาการตัดสินใจนั้นไปปฏิบัติหรือบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป คสช. จึงควรเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนสามารถมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแม่น้ำ 5 สาย ได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ล่าสุดคือนายมีชัยได้ไปปาฐกถาถึงข้อดีในร่างรัฐธรรมนูญในงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถูกกลุ่มนักศึกษาชูป้ายประท้วง การแสดงออกดังกล่าวถูกผู้มีอำนาจมองว่ามีเบื้องหลัง ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างจาก คสช. หรือเป็นผู้ก่อความแตกแยกหรือสร้างความวุ่นวายจนต้องนำไปปรับทัศนคติ พฤติกรรมดังกล่าวถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น โดยอ้างความมั่นคงซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการออกเสียงประชามติ
 
วัฒนา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียประชาธิปไตยไปถึงสองครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง รัฐธรรมนูญจึงเป็นความหวังของคนไทย ที่จะเป็นกลไกนำพาประเทศชาติให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานได้ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของประเทศ การให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ จะทำให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้รับการยอมรับในที่สุด การยอมรับฟังความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน ตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (1) และการยอมรับการตัดสินใจของประชาชน คือการแสดงถึงความกล้าหาญและความบริสุทธิ์ใจของ คสช. ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างสันติด้วยความราบรื่น ดังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโอบามาที่กล่าวในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในโอกาส 70 ปีตอนหนึ่งที่ว่า "รัฐบาลที่ปราบปรามคนที่แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ ไม่ได้แสดงความเข้มแข็ง แต่กำลังแสดงความอ่อนแอ สุดท้ายแล้วรัฐบาลที่กลัวประชาชนของตนเองจะต้องพังลงในที่สุด"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น