ประธาน กกต. แถลงผลการหารือร่วมกับ กรธ. สรุปชัด เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของ NDM ผิดกฎหมาย ห้ามแจก ห้ามเผยแพร่อีก ส่วนอดีตอย่าไปรื้อฟื้น ด้านความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ ยังสรุปไม่ลงตัว ขออย่าเพิ่งแจก-เผยแพร่
14 ก.ค. 2559 ที่อาคาร 3 รัฐสภา ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันระหว่าง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในเรื่องการสร้างบรรยาการในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมทั้งหารือเรื่องเอกสารรณรงค์ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)
15.35 น. สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธาน กกต. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ได้มาพูดคุยหารือกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ และมีความเข้าใจ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่ทำประชาชนไปลงประชามติโดยรู้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญจะต้องมีการเปิดให้มีการถกเถียงกัน และเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความคิดเห็นต่างกันมีโอกาสที่จะพูดคุยกัน ภายใต้กรอบกติกาที่เหมาะสม ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ไม่หยาบคาย ไม่มีข้อความที่เป็นเท็จ และไม่มีการปลุกระดม
สมชัยกล่าวต่อว่า จากการพูดคุยได้อสรุปว่าจะมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ลงในหนังสือพิมพ์ประจำวันอย่างน้อย 3 ฉบับ ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติ สำหรับการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ที่มีความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทาง กกต. กำลังดำเนินการติดต่อกันสถานนีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เพื่อจัดเวทีสำหรับการพูดคุยถกเถียงในประเด็นเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยังเกิดความสงสัย หรือยังเข้าใจแตกต่างกัน โดยจะจัดรายการทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที โดยในแต่ละครั้งจะมีการเชิญคนจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ กรธ. และอีกฝ่ายอาจจะเป็นผู้ที่มีประเด็นความห่วงใยกับร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการทาบทามและดำเนินการ
สำหรับประเด็นเรื่องเอกสารรณรงค์เรื่องประชามติของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้น ได้มีการพูดคุยกันแล้วมีความเห็นตรงกันระหว่าง กกต. และ กรธ. ว่า เอกสาร 7 เหตุไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้น เป็นเอกสารที่ผิดกฏหมายหมายเนื่องจาก พบว่ามีลักษณะของการบิดเบือนข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็นหลัก คือ เรื่องของ ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่องการเรียนฟรี 12 ปี และเรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุ
“กกต. และ กรธ. ได้มีความเห็นร่วมกันว่าชิ้นนี้ (7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ) มีข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนั้นในขณะนี้เราขอแถลงต่อสาธารณะว่า เอกสารชิ้นนี้ไม่สามารถแจกจ่ายในที่สาธารณะได้ ผู้ที่ทำการแจกจ่ายจากนี้ไปถือว่ามีความผิด แต่ที่ผ่านอาจจะมีการแจกจ่ายเราเห็นว่ายังไม่มีเจตนา หรือยังไม่ทราบว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่ขออนุญาติว่าจากนี้ไปกลุ่มต่างๆ ที่จะทำการเผยแพร่เอกสารฉบับบนี้ ไม่ว่าจะเผยแพร่โดยการแจกจ่ายโดยมือ หรือทางอินเตอร์เน็ต ขอให้ท่านออกเอาจากเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย” สมชัย กล่าว
สำหรับเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมชัยระบุว่า ในส่วนของ กกต.ซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคลยงไม่ได้เป็นมติของ กกต. มีความเห็นว่า เอกสารชิ้นดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย และสามารถแจกได้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีข้อความที่เป็นเท็จ หรือมีลักษณะที่หยาบคาย แต่อาจจะมีบางข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาณตัวบุคคล ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอาญาต่อไป แต่อย่างไรก็ตามในชั้นของ กรธ. นั้นยังไม่มีข้อยุติในวันนี้ ฉะนั้นเอกสารความเห็นแย้งยังมีการพิจารณาไม่สิ้นสุด
“ถ้า กรธ. ชี้ว่าผิด ก็ต้องไปทำหนังสือแจง กกต. ให้ดำเนินการ และกรรมการการเลือกตั้งก็จะให้สำนักงานเป็นผู้พิจารณาอีกทีหนึ่ง ก่อนส่วนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา แต่ถ้าสำนักงานมีความเห็นว่าผิดก็สามารถดำเนินการ กล่าวโทษร้องทุกข์ได้เลย แต่ถ้าหากยังไม่มั่นใจก็อาจจะส่งมาให้ที่ประชุม กกต. 5 คน เพื่อพิจารณาอีกทีหนึ่งว่า กรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน คิดอย่างไร” สมชัยกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างที่รอการประชุมสรุปว่า เอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ มีความบิดเบือนหรือไม่ สามารถเผยแพร่ และแจกจ่ายเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ สมชัยกล่าวว่า ยังไม่ควรแจกจ่าย จนกว่าความเห็นจะยุติชัดเจน
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่ กกต. และ กรธ. กำลังประชุมอยู่นั้น ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว พร้อมสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้งหมด 4 คน ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือ โดยลูกเกด ชลธิชา ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า มีข้อเรียกร้องต่อ กรธ. และ กกต. 2 เรื่องคือ ต้องการให้ กรธ. ออกมาแถลงให้ชัดเจนในเวทีสาธารณะว่าเอกสารแต่ละชุดของ NDM มีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่การคุกคามโดยการจับกุมผู้แจกเอกสารรณรงค์ และต้องการให้ กกต. พิจารณาว่าอะไรบิดเบือนหรือไม่บิดเบือน โดยรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง กรธ. และ NDM ด้วยเนื่องจากทั้งสองเปรียบเสมือนคู่ขัดเเย้งกัน การรับฟังความข้างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น