ภาพขณะเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหากรณีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญไปที่ศาลทหารเชียงใหม่ (ภาพจากเฟซบุ๊กของวิญญัติ ชาติมนตรี)
ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว 10 เครือข่ายนักการเมืองเชียงใหม่ ผู้ต้องหาคดีจดหมายวิจารณ์ร่างรธน. ขณะจนท.ขอหมายจับเพิ่มอีกหนึ่งราย ศูนย์ทนายความสิทธิฯ ชำแหละการทำให้ ‘จม.วิจารณ์ร่างรธน.’ กลายเป็น ‘จม.บิดเบือนร่างรธน.’
5 ส.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวา วานนี้ (4 ส.ค.59) ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำตัว 10 ผู้ต้องหาจากกรณีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญไปขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง โดยทั้ง 10 คนถูกกล่าวหาใน 4 ข้อหา คือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน), มาตรา 209 (ความผิดฐานอั่งยี่), มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง ก่อนศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
กรณีนี้เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค. เมื่อมีผู้ส่งจดหมายที่มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ จ่าหน้าซองถึงบ้านเลขที่ของผู้รับ แต่ไม่มีการระบุถึงชื่อผู้รับและไม่ระบุชื่อของผู้ส่ง หย่อนลงตามตู้ไปรษณีย์ในพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าพบจดหมายดังกล่าวรวมกันทั้งสิ้น 11,181 ฉบับ
หลังจากนั้นได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา 10 คน ซึ่งมีทั้งนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ตระกูลบูรณุปกรณ์ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ และพนักงานในบริษัทของตระกูลบูรณุปกรณ์ โดยทยอยถูกนำตัวไปควบคุมภายในมณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ เป็นเวลา 7 วัน โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก่อนจะถูกนำตัวมาสอบสวนตามอำนาจของพนักงานสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ จนครบ 48 ชั่วโมง โดยได้มีการแจ้งข้อหา 4 ข้อหาดังกล่าว อันรวมไปถึงมาตรา 116 ซึ่งตามคำสั่งคสช.กำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
ก่อนที่วานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย มาขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง และศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 33 มีคำสั่งอนุมัติให้ฝากขังผู้ต้องหาผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน
ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพและญาติ จึงได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินเพื่อขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด รายละ 100,000-200,000 บาท แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อความเสียหายประการอื่นต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานได้ จึงไม่อนุญาต” ทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 10 คนต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ อำเภอแม่แตง และที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
สำหรับรายชื่อผู้ถูกคุมขังทั้ง 10 รายในคดีนี้ ได้แก่ 1) บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ 2) ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายกอบจ.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 3) ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ อาชีพทันตแพทย์ และน้องสาวของ ทัศนีย์ 4) ไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกอบจ.เชียงใหม่ 5) คเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก 6) อติพงษ์ คำมูล ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เทศกิจเทศบาลตำบลช้างเผือก 7) กอบกาญจน์ สุชีตา พนักงาน บริษัทเชียงใหม่ทัศนาภรณ์ 8) สุภาวดี งามเมือง กรรมการ บริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ 9) เอมอร ดับโศรก ผู้ช่วยนักวิชาการส่งเสริมสุขภาพเทศบาลตำบลช้างเผือก10) กฤตกร โพธยา ผู้ช่วยบุคลากรเทศบาลตำบลช้างเผือก
ส่วน วิศรุต คุณะนิติสาร พนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 23 ก.ค. และถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง ก่อนได้รับการประกันตัว มีรายงานว่าขณะนี้ถูกควบคุมตัวแยกอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เทวรัตน์ วินต๋า คนขับรถของอบจ. ซึ่งถูกออกหมายจับร่วมกับ 10 ผู้ต้องหา แต่ยังไม่ถูกควบคุมตัวนั้น มีรายงานข่าวว่าได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวแล้ว รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหารยังเปิดเผยว่าทางศาลทหารกำลังพิจารณาออกหมายจับ เนติธัช อภิรติมัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการเทศบาลตำบลช้างเผือก ซึ่งเป็นเลขานุการของ คเชนท์ เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก เพิ่มเติมอีกหนึ่งราย โดยจากรายงานข่าวนางเนติธัชถูกควบคุมตัวอยู่ในมณฑลทหารบกที่ 11 มาก่อนหน้านี้แล้ว
รวมแล้วจนถึงขณะนี้มีบุคคลถูกกล่าวหาดำเนินคดีในกรณีจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดเชียงใหม่อย่างน้อย 13 ราย และที่จังหวัดลำปางอีกอย่างน้อย 4 ราย รวมเป็น 17 ราย รวมทั้ง ยังมีบุคคลถูกนำตัวไปควบคุมภายในมทบ.11 อีกอย่างน้อย 1 ราย ได้แก่ อัครพล ถนอมศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรายงานว่าได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยยังไม่มีการตั้งข้อหา
ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชำแหละการทำให้ ‘จม.วิจารณ์ร่างรธน.’ กลายเป็น ‘จม.บิดเบือนร่างรธน.’
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าตลอดลำดับเหตุการณ์ในกรณีนี้ (ดูลำดับเหตุการณ์ในรายงาน) การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีจดหมายดังกล่าว แทบไม่มีสื่อใดนำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนของจดหมายดังกล่าว แต่เรื่องราวกลับถูกนำเสนอตามการให้ “ความเห็น” ของคสช. กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ระบุว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการ “บิดเบือน” สาระของร่างรัฐธรรมนูญ หรือนำเสนอข่าวในลักษณะว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปลอม” และมีความผิดตาม “กฎหมาย”
หากโดยข้อเท็จจริง จดหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทความขนาดสั้น ยาว 1 หน้ากระดาษเอสี่ ระบุชื่อบทความว่า “จริงหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดสิทธิ์ของประชาชน” โดยเนื้อหาระบุไล่เรียงถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ การลงประชามติที่จะเกิดขึ้นวันที่ 7 ส.ค.59 พร้อมกับนำเสนอประเด็นจากร่างรัฐธรรมนูญนี้จำนวน 3 ประเด็นสั้นๆ ได้แก่ เรื่องสิทธิด้านการรักษาพยาบาลฟรี, เรื่องการช่วยเหลือบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี และเรื่องสิทธิการเรียนฟรี พร้อมระบุเพิ่มเติมถึงคำถามพ่วงในการลงประชามติ ทั้งได้เขียนปิดท้ายว่า “อนาคตของประเทศไทยและสิทธิของประชาชนจะหายไปหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับผลประชามติ 7 สิงหาคม 2559 นี้”
เนื้อหาในจดหมายอันเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในเรื่องนี้ (ภาพจากเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ซึ่งศูนย์ทหารสิทธิฯ นำมาเผยแพร่ต่อ)
โดยศูทย์ทนายความสิทธิฯ ระบุว่า หากอ่านจดหมายทั้งหมด จะพบว่าในเนื้อหาไม่ได้มีข้อความตอนใดที่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และไม่ได้มีข้อความตอนใด ที่ระบุโดยตรงให้ผู้อ่านไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่มีลักษณะเป็นเพียงจดหมายที่มีถ้อยคำเชิญชวนให้ไปร่วมลงประชามติ นำเสนอคำถามพ่วงที่มีในการลงประชามติ และแสดงความเห็นในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำปกติ ทั้งโดยเนื้อหาก็ไม่ได้มีลักษณะเนื้อหาที่เป็นการปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นข้อหาในหมวดความมั่นคงแต่อย่างใด
แม้ในส่วนของข้อความที่วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น อาจมีเนื้อหาส่วนที่ “ตีความผิดไป” บ้าง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้วิธีการในการชี้แจง ทำความเข้าใจ หรือนำเสนอการ “ตีความ” ร่างรัฐธรรมนูญในมุมมองของฝ่ายตนได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย และเปิดให้ประชาชนในสังคมใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจ ภายใต้การเปิดให้มีเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
การดำเนินการที่เกิดขึ้นโดยคสช.และเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีของจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งการนำตัวไปควบคุมภายในค่ายทหาร การไม่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยม การใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หรือการใช้ข้อกล่าวหาเรื่องความมั่นคงตามมาตรา 116 ซึ่งจะทำให้คดีถูกนำไปพิจารณาในศาลทหาร จึงมีลักษณะเกินสมควรกว่าเหตุ เป็นการบิดเบือน “กฎหมาย” มาใช้ตามอำเภอใจ และมุ่งใช้ “กฎหมาย” ในลักษณะเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อกดปราบการแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ และควบคุมการแสดงออกของคนในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น