สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ชี้วิกฤตการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 กินเวลายาวนานที่สุด และยังไม่มีวันจบง่ายๆ ระบุปัญหาหนักที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจ ต่างชาติไม่ลงทุน การเมืองขาดเสถียรภาพ ยังไม่เห็นจุดฟื้นตัว
18 ก.ย. 2559 13.30 น. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนก ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ จัดงาน "ย่ำอยู่กับที่ 10 ปี สังคมไทย" เพื่อเป็นการรำลึกถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กล่าวปาฐกถานำ และมีวิทยากรประกอบด้วย สมบัติ บุญงามอนงค์, แทนคุณ จิตต์อิสระ, อธึกกิจ แสวงสุข, ปกรณ์ อารีกุล, จุตภัทร์ บุญภัทรรักษา และวริษา สุขกำเนิด
10 ปีการเมืองไทยถอยหลังเข้าคลอง
“จริงแล้วงานนี้ตั้งชื่อผิด เราไม่ได้ย่ำเท้าอยู่กับที่ 10 ปีนี้ มันเป็น 10 ปีของการถอยหลัง ผมคิดว่าเราถอยหลังไปสมัยไม่ต่ำกว่าก่อน 14 ตุลา มันเป็น 10 ปีของการถอยหลังครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมันไม่น่าเป็นไปได้ และเราไม่เคยนึกมาก่อน” สุธาชัย กล่าว
สุธาชัย เริ่มต้นด้วยการระบุว่า การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทย ซึ่งเมื่อทบทวนการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นการรัฐประหารของใคร หรือใครเป็นคนทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อย้อนไปดูการรัฐประหาร เราพบว่าฝ่ายอนุรักษนิยม จารีตนิยม หรืออนุรักษนิยมกระแสต่ำในสังคมไทย เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นฝ่ายทหารยังมีความลังเลใจต่อการทำรัฐประหาร โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ไม่ยอมตัดสินใจทำรัฐประหาร แม้ว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ จะมีมาก่อนหน้านานพอสมควร ซึ่งการต่อต้านนั้นก็เป็นจากความผิดพลาดหลายประการของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งตอนนั้นก็มีการพูดถึงยุทธวิธีในการต่อต้านรัฐบาล โดยยึดการต่อต้านที่ยืนอยู่บนฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีการนี้ไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงที่เบ็ดเสร็จ ซึ่งคือการยึดอำนาจโดยทหาร เพราะคิดว่าตัวเองสามารถจัดการประเทศไทยให้เป็นตามที่ต้องการได้ แต่ทหารก็ลังเลที่จะทำรัฐประหาร เหตุที่ลังเลเป็นเพราะทุกคนรู้ดีตั้งแต่ต้นแล้วว่า การรัฐประหารเป็นวิธีการที่ล้าหลัง และเป็นวิธีการที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ
“นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทหารลังเลใจ แต่ถึงที่สุดแล้วฝ่ายอนุรักษนิยมผลักดันจนถึงขั้นโทรไปหานายทหารทั้งหลายว่าให้ออกมาทำรัฐประหาร ใครเป็นคนโทรพวกเราคงรู้ดี” สุธาชัยกล่าว
สุธาชัยกล่าวต่อว่า หนึ่งสัปดาห์ก่อนการรัฐประหาร พลเอกสนธิ ยังแถลงให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า จะไม่มีการทำรัฐประหาร ซึ่งอาจจะตีความได้อีกแบบนอกจากการโกหกคือ เวลานั้นพลเอกสนธิเองก็ยังลังเลใจ และพลเอกสนธิ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า การเตรียมทำรัฐประหารมีการเตรียมเพียงแค่สัปดาห์เดียว ฉะนั้นการรัฐประหารครั้งนั้นจึงเป็นรัฐประหารที่ชุลหุก และทหารเองก็ไม่แน่ใจด้วยว่าจะชนะ เพราะตอนนั้นฝ่ายทักษิณกุมอำนาจอย่างครอบคลุม สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความไม่พร้อมของฝ่ายทหารคือ การไม่มีแผนการใดๆ หลังจากที่ทำรัฐประหารสำเร็จแล้ว ไม่มีแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ เป็นเพียงการรัฐประหารเฉยๆ และให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเข้ามาจัดการดำเนินการต่อตามที่พวกเขาต้องการ เช่นการเชิญนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งมาวางโครงสร้าง วางแผนให้กับประเทศในช่วงเวลานั้น ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำในเวลานั้นคือ การเว้นวรรคประชาธิปไตย และเข้าไปจัดการกับฝ่ายทักษิณ เมื่อจัดการกับทักษิณเรียบร้อยแล้วก็เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยพวกเขาเชื่อว่า จะเป็นการเลือกตั้งที่ฝ่ายทักษิณจะไม่ชนะ แล้วประเทศก็จะย้อนกลับมาสงบราบรื่นอีกครั้ง
“แต่พวกเขาประเมินผิด สถานการณ์มันไม่ได้ง่ายอย่างที่พวกเขาคิด ต้องยอมรับว่าพวกเขาประเมินความนิยมของประชาชนที่มีต่อตัวทักษิณต่ำเกินไป ฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความล้มเหลวของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยคือ การทำลายภาพลักษณ์ของทักษิณในหมู่ประชาชนไม่สำเร็จ” สุธาชัย กล่าว
สุธาชัยกล่าวต่อไปว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านฝ่ายทักษิณชนะเลือกตั้งหมดทุกครั้ง นั้นสะท้อนว่าประชาชนในประเทศนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการให้เป็น ฉะนั้นจึงนำไปสู่ความต้องการของฝ่ายอนุรักษนิยมว่า ต้องใช้มาตรการที่หนักแน่นมากยิ่งขึ้นในการจัดการทักษิณ และนอกจากจัดการทักษิณ เขายังต้องจัดการกับประชานที่เป็นฝ่ายทักษิณอีกด้วย ด้วยความต้องการในลักษณะนี้ จึงนำไปสู่การรัฐประหารครั้งที่ 2 (22 พ.ค. 2557) แต่ถามว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ยังไม่จบ
“วิกฤตที่เกิดขึ้นมา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันยังไม่จบ วิกฤตนี้ยังดำเนินอยู่ต่อไป และจะจบเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ แต่มันกลายเป็นวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันไม่เคยมีวิกฤตการเมืองครั้งไหนที่ยาวนานเท่านี้มาก่อน 14 ตุลา 2516 ใช้เวลาในการคลี่คลาย 9 ปี แต่ครั้งนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่” สุธาชัย กล่าว
รัฐประหารไม่ได้แค่จัดการทักษิณ แต่เป็นการจัดการประชาธิปไตยด้วย
สุธาชัยกล่าวต่อว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดการกับทักษิณ แต่เป็นการจัดการกับระบอบประชาธิปไตยด้วย และยิ่งกว่านั้นกลับยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า ฝ่ายทักษิณเป็นประชาธิปไตย เพราะเขาทำให้การโค่นทักษิณเท่ากับการโค่นประชาธิปไตย ซึ่งผลงานนี้เป็นผลงานของพวกเขา โดยพวกเราจำนวนมากไม่ได้คิดว่าทักษิณเป็นประชาธิปไตย หรือทักษิณอยู่ฝั่งประชาธิปไตย พูดให้ง่ายคือพวกเขาแยกไม่ออกระหว่างประชาธิปไตยกับทักษิณ จึงได้ใช้การรัฐประหารในการแก้ปัญหา ดังนั้นมันจึงส่งผลให้การเมืองย้อนยุค ถอยหลังเข้าคลองอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
“ความระแวงในผีทักษิณที่เขาสร้างขึ้นมาเอง มันทำให้ชนชั้นปกครองไทยหวาดระแวงระบบรัฐสภา หวาดระแวงการเลือกตั้ง และที่สำคัญคือ มองเห็นนักการเมืองทั้งหมดเป็นศัตรู เป็นคนชั่ว ดังนั้นเมื่อคิดว่านักการเมืองเป็นคนชั่ว ระบอบประชาธิปไตยที่เปิดทางให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาท ก็กลายเป็นระบอบที่ชั่ว และพยายามใช้ระบบราชการเข้ามาบริหารบ้านเมืองมากขึ้น” สุธาชัยกล่าว
สุธาชัยกล่าวต่อไปว่า ระบบราชการเป็นระบบที่หมดยุคที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองไปแล้วตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายที่ข้าราชการเข้ามามีบทบาทในการบริหาร และจัดการนโยบายรัฐ เพราะหลังจากนั้นหลายฝ่ายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมการบริหาร และกำหนดนโยบายรัฐ เช่นนักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ การกลับมาใช้ระบบราชการดังเช่นปัจจุบันทำให้เราประสบปัญหาหลายอย่าง
รัฐประหารไม่เคยได้รับการรับรองจากโลกอย่างแท้จริง
สุธาชัยกล่าวด้วยว่า การดำเนินการทั้งหมดของชนชั้นปกครองไทยไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง จากโลก และนานาชาติ เพราะโลกสมัยใหม่อยู่นกระแสโลกาภิวัตน์ หมายความว่า แม้เขาจะมีอำนาจเด็ดขาด จะทำอะไรในประเทศตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถไปบังคับ หรือทำให้ต่างประเทศเห็นด้วยได้ นักคิดฝ่ายอนุรักษนิยมจะมองง่ายๆว่า ต่างประเทศแต่ละประเทศก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ฉะนั้นการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลประโยชน์ของหลายประเทศ ก็จะทำให้ประเทศต่างๆ เหล่านั้นเลิกที่จะต่อต้านการรัฐประหาร และร่วมมือกับรัฐบาลไทยในทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ซึ่งนี่คือความคิดของพวกเขาก่อยทำรัฐประหาร แต่ผลมันได้พิสูจน์มาแล้วว่า ความเชื่อของพวกเขาผิด ซึ่งได้สะท้อนออกมาจากการไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศเลย
สุธาชัยกล่าวต่อว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมเองก็ไม่เคยได้รับความมั่นใจว่า ประชาชนในประเทศจะเห็นด้วยกับฝ่ายตัวเองหรือไม่ เพราะฉะนั้นลักษณะในสองปีที่ผ่านคือการบังคับใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดไว้ก็ เพราะเกรงว่าหากเปิดให้มีบรรยากาศที่เสรีจะทำให้ประชาชนออกมาคัดค้าน สรุปแล้วการรัฐประหารของพวกเขาไม่เคยถูกยอมรับในโลกนานาชาติ และตั้งอยู่บนความไม่ไว้ใจในประชาชนของตัวเอง
“จึงไม่แปลกที่รัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านไป จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ควบคุมประชาชน ควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างทั่วหน้า เป็นเผด็จการที่ไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพอะไรกับประชาชนเลย เป็นฉบับหวาดระแวงประชาชน” สุธาชัยกล่าว
สุธาชัยกล่าวไปว่า การถอยหลังเข้าคลองของประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่าน อยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจ นักเศรษศาสตร์รู้ดีว่าการเติบโตในระยะ 10 ปีหลังรัฐประหาร การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงและอยู่ในระดับต่ำของอาเซียน อาจจะอ้างได้ว่าประเทศกำลังพัฒนามีอัตตราการเติบโตในระดับที่ต่ำทั้งนั้น แต่มันฟังไม่ขึ้นดูอย่างสิงโปค์เขามีระดับการเติบโต การพัฒนามากกว่า และเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมมานาน ซึ่งทหารไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ก็ปากแข็งไม่ยอมรับ สาเหตุที่แก้ไม่ได้คือ การเติบโตของเศรษฐกิจในยุคโลกภิวัตน์คือ การลงทุนของต่างชาติ และการลงทุนของต่างชาติมันตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่น่าลงทุน เพราะต่างประเทศมองว่าไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากเกินไป
“การชะงักงันของการลงทุน สภาพทางการเมืองที่สับสนไม่แน่นอน นำมาสู่ความตกต่ำอย่างมาก และที่สำคัญยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวเลย” สุธาชัยกล่าว
คำสารภาพของ 'แมน-ไผ่' ต้องปกป้องระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน และ จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ 2 นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วทั้งคู่ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนอยู่ได้ไปร่วมขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ด้วยเดียงสาทางการเมืองในขณะนั้น เราจึงยอมรับอย่างยืดอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จึงขอโทษด้วย
ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน และ จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่
"10 ปีที่แล้ว เราอาจจะไล่รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายอะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วย แต่เราไม่ได้คิดนะ ถึงแม้จะเป็นเด็กตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่า เราไล่รัฐบาลเลือกตั้งแล้วต้องการรัฐบาลหาร" ปกรณ์ กล่าว
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ตนเองเปลี่ยนความคิดนั้น จตุภัทร กล่าวว่า ตอนเข้ามหาวิทยาลัยได้มาเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราได้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศวัฒนาธรรมทางการเมืองให้เป็นแบบนี้
"เราเชื่อในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประเทศนี้เอากันแบบตรงไปตรงมา ถ้าไม่ปกครองระบอบนี้ ก็จะเป็นเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ในเชิงประเด็นในพื้นที่ต่างๆ เราก็ว่ากันไป" ปกรณ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่าทั้งตนและไผ่หลังจากปี 52 นั้นทั้งพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เมื่อมีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับชาวบ้านเราก็ออกไปเคลื่อนไหวตลอด
จตุภัทร กล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2557 ตนรู้เลยว่าคำว่าเสรีภาพคืออะไร เพราะก่นหน้านั้นเราอยากจะทำอะไรเราก็สามารถทำได้
"วันนี้เราคิดอะไรก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดที่เราคิด แล้วเราพูดแล้วเราถูกจำกัดไว้นี่เราจะเข้าใจว่านี่ล่ะมันไม่มีเสรีภาพ วันนี้หลายคนในสังคมอาจจะเห็นว่า ไม่เห็นเลย เราก็มีเสรีภาพนี่ แต่ 57 ทำให้ผมเข้าใจเลยว่ามันไม่มีจริงๆ มันเป็นเสรีภาพที่บอกว่าถ้าเกินนี้ไม่ได้นะ" จตุภัทร กล่าว
จตุภัทร กล่าวว่าหลังรัฐประหารขบวนการชาวบ้านที่ก่อนหน้านี้ต่อสู้กันมาเป็น 10 ปี สามารถยื้อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นได้ พอปี 2558 บริษัทนยทุนจะเข้ามาทำปิโตเลียม ทหารก็ให้ความอนุเคราะห์อย่างดีคืนควมสุขให้กับนายทุน ปัญหารัฐกับทุนที่มาทำลายชาวบ้านนั้นมีทุกรัฐ และเราก็ค้านทุกรัฐ
ปกรณ์ กล่าวด้วยว่า เราไม่ได้ค้านการพัฒนา แต่ต้องการการมีส่วนร่วม หากถึงที่สุดพูดคุยกันแล้วและชาวบานยอมรับค่าชดเชยเราก็ต้องยอมตามชาวบ้าน แต่หลังรัฐประหารนั้น จตุภัทร กล่าวว่า เขาเอาตำรวจทหารเข้ามากันชาวบ้าน ค่ายทหารกลายเป็นแหล่งพักรถขุดเจาะของบริษัท ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยนั้นเวทีรับฟังความคิดเห็นต้องล้มไปหลายเวทีแล้ว แต่หลังรัฐประหารตำรวจทหารเข้ามาขวางชาวบ้าน
"มันไม่ใช่แค่รัฐประหารทางการเมือง มันรัฐประหารทรัพยากรด้วย ผูกขาดด้วย ชัดเจนเลยว่าหลังจากการรัฐประหาร ชาวบ้านหรือว่าพี่น้องทรัพยากรก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการรัฐประหารครั้งนี้ เขาทำได้ง่ายขึ้น เขามีกฏหมายที่ติดปีกมากขึ้น" จตุภัทร กล่าว
วิดีโอคลิปโดย Noppakow Kongsuwan
บก.ลายจุด เสียดายเวที NDM จัดไม่จบ หลังผู้เข้าร่วมงานส่วนหนึ่งไม่พอใจ อี้ แทนคุณ ขอผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการปาฐกถาเสร็จสิ้นได้มีการจัดเวทีพูดคุยแรกเปลี่ยน แตก็ได้เกิดเหตุความวุ่นวายจนไม่สามารถทำให้ดำเนินเวทีการเสวนาต่อไปได้ โดยในช่วงของการดีเบตระหว่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ และ แทนคุณ จิตต์อิสระ ได้มีผู้เข้าร่วมบางส่วนไม่พอใจ แทนคุณ โดยได้มีการเเสดงออกโดยการโห่ร้อง และลุกขึ้นเถียงเมื่อ แทนคุณ แสดงความคิดเห็น จนที่สุดทำให้ผู้จัดงานตัดสินใจยุติการจัดเวทีเสวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีการโต้เถียงระหว่าง แทนคุณ กับผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่ง ในประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยแทนคุณเห็นว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำถูกต้องแล้วที่ออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งเถียงว่า ในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทำไมจึงไม่ใช้กลไลตามระบบรัฐสภา ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยบรรยากาศขณะนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากในการพูดคุย
"ผมกำลังบอกว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับ อี้ แทนคุณ หรอก แต่ผมก็ไม่ได้เห็นต่างกับอี้ แทนคุณ ในทุกๆ เรื่อง เช่นกัน สิ่งที่ผมเรียนรู้ในการใช้ชีวิตกับคนที่แตกต่างกัน ไม่ใช่การเรียนรู้แล้วเราเปลี่ยนแปลง ผมเดินออกมาก็ยังรู้สึกว่าผมเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้เพิ่มขึ้นคือผมเข้าใจว่าทำไมคนจึงคิดไม่เหมือนกับผม ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ และผมคาดหวังว่าเวทีวันนี้ จะพาให้พวกเราได้ฟังในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะ 'มโนเอา' ว่าเขาเป็นอย่างไหน เป็นอย่างนู้นอย่างนี้ ถ้าเราฟังแล้วชัดเจนว่าอ๋อทำไมเขาเห็นต่างจากเรา ก็เพราะเขาคิดแบบนี้ แล้วต่อให้คุณไม่เห็นด้วย มันดีกว่าการที่เรามโมว่าเขาเป็นนู่นนี่นั่น สังคมไทยมันขาดโอกาสแบบนี้ เราต้องพาตัวเองไปรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และต่อให้เป็นความเห็นที่แตกต่างแล้วเราไม่เห็นด้วย แต่เราต้องรับฟัง ผมหวังว่าโอกาสหน้าจะมีเวทีแบบนี้อีก และผมยินดีไปพรรคประชาธิปัตย์ และอยู่จนเวทีปิด" สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น