วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

'ไทยพับลิก้า' ยื่นศาลปกครอง ฟ้องกองทัพบก เปิดเผยราคากลางจัดสร้าง 7 กษัตริย์ ในราชภักดิ์


18 ก.ย. 2559 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ยื่นคำฟ้องกองทัพบกต่อศาลปกครอง ขอให้สั่งให้เปิดเผยราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์  ในพื้นที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยระบุว่าหากไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็ขอให้ชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ และใช้วิธีใดในการพิจารณาการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ดังกล่าว เพื่อให้การใช้งบประมาณที่มาจากทั้งเงินบริจาคและงบกลางเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และไม่มีส่วนต่างของราคามากจนอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการทุจริต ซึ่งศาลปกครองก็รับคำฟ้องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 เวลา 10.36 น. และออกหมายเลขคดีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1421/2559
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ยื่น “อุทธรณ์” ต่อประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) กรณีที่ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์จากกระทรวงกลาโหม จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย 1. ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นประธาน และ 2. รายชื่อโครงการและคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด โดยยื่นขอไปตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 แล้วต่อมา ในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ทางกระทรวงกลาโหมโดย พล.ต. ยุทธนินทร์ บุนนาค กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ส่งหนังสือแจ้ง “ปฏิเสธการให้ข้อมูล” ดังกล่าว
 
และจากการที่ ป.ป.ช. มีระเบียบว่าด้วยการจัดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูเหตุผลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่มีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป วันที่ 13 ก.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงใช้สิทธิตามระเบียบดังกล่าว ยื่นคำขอข้อมูลต่อหัวหน้าศูนย์ประมวลข้อมูล สำนักงาน ป.ป.ช. โดยขอคัดสำเนา รายงานการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 6 ก.ย. 2559 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติ 9 ต่อ 0 เสียง ยุติการไต่สวนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา
 
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ารายงานด้วยว่า มติดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ยุติการไต่สวนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังไม่พบสิ่งผิดปกติ เช่นเดี่ยวกับที่กองทัพบก (ทบ.), กระทรวงกลาโหม (กห.)และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยตรวจสอบก่อนหน้านี้
 
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทั้งกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและวิธีคิดราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ต่อสาธารณะ หลังมีคำถามเกี่ยวกับการเรียกรับ “ค่าหัวคิว” เป็นเงินรวมกันกว่า 20 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 2558 ซึ่งต่อมาพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ชี้แจงว่าได้ขอให้เซียนพระ อ. บริจาคเงินทั้งหมดคืนเข้าสู่มูลนิธิราชภักดิ์แล้ว ขณะที่ผลการตรวจสอบของสตง. ยืนยันว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าหัวคิว แต่เป็น “ค่าที่ปรึกษา”
 
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยื่นคำร้อง ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์จากกองทัพบก ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 2 รายการ หนึ่งในนั้นได้แก่ เอกสารราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ 6 เดือนต่อมากองทัพบก โดย พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการกองทัพบก ได้ส่งหนังสือแจ้งปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ยื่นอุทธรณ์การไม่เปิดเผยข้อมูลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559
 
ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 1 ที่มีนายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เป็นประธาน ได้วินิจฉัย ให้กองทัพบกเปิดข้อมูลดังกล่าวกับผู้สื่อข่าว เพราะข้อมูลเรื่อง “ราคากลางและวิธีคำนวณราคากลาง” การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นสิ่งที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบอยู่แล้ว ขณะที่กองทัพบกระบุว่า “การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ไม่สามารถกำหนดราคากลางได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น