วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

วิษณุ แจงปมจำนำข้าว เป็นกฎหมายใช้ตั้งแต่ปี 39 ยึดทรัพย์มาเกือบ 5 พันรายแล้ว


26 ก.ย. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณี พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับผิดเรื่องการจำนำข้าวทั้งสี่ฤดูกาลจำนวน 2.7 แสนล้านบาทว่า การรับผิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผ่านการพิจารณาในขั้นตอนการรับผิดทางแพ่งของคณะกรรมการการรับผิดทางแพ่งและเห็นว่าเป็นความผิดเรื่องละเว้นการทำหน้าที่ เพราะได้รับการแจ้งเตือนแล้ว แม้ว่าฤดูกาล ที่ 1-2 ยังไม่ได้รับการแจ้งเตือน แต่เมื่อได้รับการแจ้งเตือนในฤดูกาลผลิตที่ 3-4 ยังละเว้นจึงถือว่ามีความผิดปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จึงให้รับผิดเฉพาะสองฤดูกาลผลิตหลัง มูลค่าความเสียหายลดลงมาเป็น 3.5 หมื่นล้านบาทตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ในกรณีที่เป็นกรณีรับผิดทำกันหลายคนแบ่งสัดส่วนการรับผิดแบ่งสัดส่วนไว้ 10 ถึง 20% กรณีนี้คิด 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการละเลยส่วน 80 เปอร์เซนต์ที่เหลือ ต้องไปเฉลี่ยกับผู้ที่มีส่วนรับผิดครั้งนี้
วิษณุ กล่าวว่า ส่วน 80% ที่เหลือ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พศ.2539 ระบุว่าไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพราะหากรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ยกตัวอย่าง 10 คนเหมาจ่ายเพียงคนเดียว อีก 9 คนไม่ได้จ่ายอันนี้ ไม่ได้ แต่ต้องเป็นการรับผิดแบบใครผิดใครจ่าย เช่น ยิ่งลักษณ์ 20% ส่วนอีก 80% ก็ไปหาผู้ที่รับผิดและต่างคนต่างจ่ายตามความผิดหนักเบา ส่วนเหตุผลที่ทราบชื่อ ยิ่งลักษณ์คนเดียว เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา แต่รายชื่ออื่นยังไม่ทราบ เป็นเรื่องที่ต้องไปตามหากันต่อไป ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ต้องทำกันหลายฝ่าย เบื้องต้นทราบว่า มีทั้งข้าราชการและเอกชนที่ต้องร่วมรับผิด
วิษณุ กล่าวต่อว่า มาตรา 8 ในความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ให้รับผิดแทนกัน เมื่อความเสียหาย 1.7 แสนล้านบาท คือคนเดียว ประธานที่ต้องรับผิดชอบในสัดส่วน 10 ถึง 20% จึงออกมาเป็นตัวเลขดังกล่าวที่ ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ ยืนยันว่ากฎหมายนี้ใช้มาตั้งปี 2539 ยึดทรัพย์มาแล้ว เกือบ 5000 ราย ใครที่ไม่ได้อยู่ในวงการราชการอาจจะไม่ทราบ และไม่รับรู้ ส่วนใครจะเป็นผู้หาคนผิดในอีก 80% ที่เหลือ สำหรับความรับผิดในทางแพ่งเป็นเรื่องของกระทรวงที่เป็นผู้บังคับบัญชาเป็นต้นสังกัดต้องดำเนินการ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงใครกระทรวงมันที่ต้องไปหาผู้กระทำความผิด สำนักนายกรัฐมนตรีเองก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องไปหาผู้กระทำความผิด ขณะนี้ปปท.กำลังสอบอยู่ 50- 60 รายและบ่ายนี้(26 ก.ย.) จะมารายงานความคืบหน้าด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องเซ็นลงนามหรือไม่ สามารถมอบอำนาจให้ใครก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าการใช้มาตรา 44 กับ ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นธรรม วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ เป็นเรื่องของการที่ต้องตั้งต้นการกระทำวามผิดที่วินิจฉัยตามกฏหมาย ซึ่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 2539 ขั้นตอนต่อไปก็ต้องยึดทรัพย์ เว้นแต่ไปร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวก็จะไม่ยึดทรัพย์ แต่หากไม่คุ้มครองชั่วคราวหรือไม่มีการฟ้องศาลก็ต้องยึดทรัพย์
วิษณุ กล่าวว่า ขอย้ำว่าไม่ได้ให้อำนาจ กรมบังคับคดีไปลงมือยึดทรัพย์ แต่จะยึดได้ต่อเมื่อมีคำสั่งเท่านั้นเอง และมีวิธี มีมารยาท ไม่ใช่บุกยึด ขนนู่นี่ มีกรรมวิธีขั้นตอน และยึดเสร็จก็ต้องเอามาขายทอดตลาด
เมื่อถามว่าหากจำเลยไม่สามารถชดใช้ทรัพย์ได้จะถือว่าเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น การล้มละลายมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เช่นการถูกฟ้องล้มละลายจะไม่สามารถลงสมัครผู้แทนได้ตลอดชีวิต
เมื่อถามว่าในช่วงเวลานี้จะสามารถถ่ายโอนทรัพย์สินได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า กรมบังคับคดีมีอำนาจบางอย่าง เช่น การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินก่อนหน้านี้ หากเป็นการโอนหนีหนี้ สามารถเพิกถอนได้ หากโอนไม่ได้หนีหนี้ ซื้อขายตามสุจริต ก็ไม่ต้องเพิกถอน

ปธ.ป.ป.ช.ไม่หนักใจสอบปมลูก-ภรรยา พล.อ.ปรีชา

ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าคดีบุตรชาย และภริยาของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า ตามกระบวนการเมื่อมีคนมาร้องเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูล หรือที่เรียกว่าขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง  ส่วนจะให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงเท่าไหร่ นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง มีใครบ้างที่ต้องไปตรวจสอบ เป็นขั้นตอนปกติที่เราต้องทำ
“ไม่หนักใจการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับน้องชายนายกรัฐมนตรี แต่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะสังคมเฝ้ามองอยู่ ขณะที่ระยะเวลาในการดำเนินการคงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่องมีอะไรบ้าง ถ้ามีหลายประเด็นก็อาจจะต้องใช้เวลามาก แต่กรณีนี้สำนักเลขาธิการป.ป.ช.ยังไม่ได้รายงานมายังกรรมการป.ป.ช. แต่เมื่อสำนักเลขาฯ รับเรื่อง ก็ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน ยังไม่ต้องรายงานคณะกรรมการ จะรายงานต่อเมื่อผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าจะรับเรื่องไว้หรือไม่รับเรื่องไว้” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้สังคมให้ความสนใจค่อนข้างมาก ป.ป.ช.จะเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ทุกเรื่องมีความสำคัญหมด คงไม่ล่าช้า ถ้าเร่งรัดมาก ๆ ก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าไปเลือกทำตรงนั้นตรงนี้ ความจริงเร่งทุกเรื่อง และขอเรียนพี่น้องประชาชนเลยว่าตอนนี้เรามีนโยบายว่า เรื่องที่ค้างต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และคดีใหม่ต้องภายใน 1 ปี
พล.ต.อ.วัชพล ยังกล่าวถึง กรณีมีข้อสังเกตการพิจารณาคดีในส่วนของพรรคเพื่อไทย ออกมาเรื่อยๆ ว่า คงไม่ใช่ เพราะแต่ละเรื่องเป็นเรื่องเก่าบ้าง เมื่อไปเร่งรัด เจ้าหน้าที่ก็จะดูว่าเรื่องไหนที่ทำใกล้เสร็จแล้ว จึงส่งมาให้กรรมการป.ป.ช.ตรวจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ค้างเก่า  มีคดีที่เราพิจารณาแล้วให้ข้อกล่าวหาตกไปเยอะพอสมควร แต่หากมีมูลก็ต้องยืนยันได้ว่าผิดอะไร สามารถส่งอัยการเพื่อให้อัยการพิจารณาสำนวนต่อไป

แจงที่ยิ่งลักษณ์ถูกพิจารณา 15 คดี เป็นเพราะช่วง และจังหวะ

สำหรับประเด็นที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ ถูกป.ป.ช.พิจารณาคดีถึง 15 คดี ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า อาจจะเป็นเพราะช่วง และจังหวะที่เรื่องต่าง ๆ ของอยู่ในสำนักไต่สวนคดีนักการเมือง ที่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ และเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี โดยป.ป.ช.ก็เร่งหมดทุกสำนักทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
ส่วนที่ ยิ่งลักษณ์มอบทีมทนายความร้องคัดค้านการตั้ง สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ถึง 6 คดี นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า มีหลายกรณีที่คณะกรรมการหยิบขึ้นมาวินิจฉัยตามที่มีการร้องคัดค้าน และยกคำร้องไปหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ สุภาไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ก็มีสปิริตว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังอยู่ สุภา ก็ขอถอนตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น