เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์พรรค เรื่อง ขอให้ทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ดำเนินการเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง กับอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว และได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ลงวันที่ 13 กันยายน 2559 ให้อำนาจกรมบังคับคดี ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันกลับคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ให้ไม่ต้องรับผิด จากที่เคยออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาครั้งหนึ่งแล้ว นั้น
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและหัวหน้า คสช. ที่จะมุ่งเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีโครงการรับจำนำข้าวให้ได้ โดยไม่สนใจกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย โดยเห็นได้ชัดเจนจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามชี้นำสังคมและชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นได้กระทำความผิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยเร็ว จนถึงขนาดใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของกฎหมายปกติที่ใช้บังคับทั่วไป เพื่อนำมาใช้กับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการลุแก่อำนาจสร้างความไม่ชอบธรรมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังนี้
1. โครงการรับจำนำข้าว ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความผิดหรือไม่ หากตัดสินว่ามีความผิดจึงควรจะมาพิจารณาถึงความรับผิดทางแพ่งต่อไป ไม่ควรที่ผู้นำจะออกมาชี้นำสังคมและชี้นำการพิจารณาคดีของศาลรายวันก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
2. โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้การอุดหนุนด้านการเกษตร (Agricultural Subsidies) แก่เกษตรซึ่งเป็นภาคที่อ่อนแอ และเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศอันถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชาวนาส่วนรวม ซึ่งการดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่นำเรื่องกำไรขาดทุนมาพิจารณาและเรียกค่าเสียหายจากผู้นำรัฐบาลก่อน ทั้งที่ทุกรัฐบาลก็มีการดำเนินการในทำนองเดียวกันมากมายหลายโครงการ และเป็นแนวปฏิบัติที่นานาชาติได้ใช้กันโดยทั่วไป
3. การเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลไม่ใช่การทำละเมิดทั่วไป เช่น การทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย หรือการยักยอกเงินของทางราชการที่จะสามารถกำหนดค่าเสียหายและความรับผิดได้ชัดเจน ดังนั้นการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวจะถือเป็นการละเมิดหรือไม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนั้นการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของบุคคล ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่ควรที่จะต้องเร่งรีบ รวบรัดในการกำหนดค่าเสียหาย และเรียกให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสียก่อน อันจะทำให้มีความชัดเจนว่าบุคคลใดมีความผิด และต้องรับผิดหรือไม่
4. การอ้างว่า หากไม่เร่งดำเนินการ คดีอาจขาดอายุความนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือไม่ จึงเท่ากับยังไม่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด อายุความจึงยังไม่เริ่มต้น แต่การยกข้ออ้างดังกล่าวก็เพื่อเร่งรัดให้มีการเรียกค่าเสียหายให้จบทันอายุของรัฐบาลนี้ อันเป็นเจตนาทางการเมือง และเป็นการชี้นำกระบวนการยุติธรรมจากอคติของผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ
5. การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าฉบับที่ 39/2558 หรือฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดี ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง แทนที่จะเป็นปลัดกระทรวงการคลังตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรมเพราะถือว่ามีกฎหมายคุ้มครอง แต่กระทำเพื่อให้บรรลุเจตนาของผู้นำเท่านั้น จึงเท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
6. มาตรา 44 เป็นสิ่งที่มีมาโดยมิชอบด้วยหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม แต่เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช. เขียนให้อำนาจตนเองไว้ อันเป็นอำนาจซึ่งไม่ได้มาจากความยินยอมของประชาชน การใช้อำนาจดังกล่าวจึงควรเป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะตามองค์ประกอบและเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น กรณีการออกคำสั่งข้างต้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ เพราะการออกคำสั่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และการให้อำนาจกรมบังคับคดียึดอายัดทรัพย์บุคคลเป็นการเฉพาะนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้ออ้างในคำสั่งนั้นแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ผู้ออกคำสั่งจะต้องคำนึงถึงความชอบธรรมเป็นด้านหลักด้วย
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คสช.และรัฐบาลปัจจุบันล้วนเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว ดังนั้นจึงถือเป็น "ผู้มีส่วนได้เสีย" “เป็นคู่ขัดแย้ง” และมิใช่ "ผู้เป็นกลาง" การที่พยายามจะดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องในคดีจำนำข้าวด้วยวิธีการใช้ "คำสั่งทางปกครอง" โดยไม่เลือกใช้กระบวนการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและขัดหลักนิติธรรม อีกทั้งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นความพยายาม และ/หรือมีความจงใจที่จะใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อมุ่งทำลายพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งเท่ากับจงใจทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยนั่นเอง
พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้หัวหน้า คสช. และรัฐบาลได้ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 มุ่งใช้บังคับเพื่อเร่งเอาผิดกับบุคคลเป็นการเฉพาะ และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามหลักความเป็นธรรม และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ควรยกเว้นหรือคุ้มครองความรับผิด จึงขอให้มีการทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น