วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

ประวิตรขู่หากวุ่นวายอีก กลับมาขึ้นศาลทหารใหม่ วิษณุระบุคำสั่งไม่มีผลย้อนหลัง



13 ก.ย. 2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 เรื่อง ยกเลิกดำเนินคดีความมั่นคงในศาลทหาร และกลับมาดำเนินคดีในศาลยุติธรรมแทน ว่า เป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเดินตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนคดีที่จะยังใช้อำนาจศาลทหารอยู่นั้น จะเป็นคดีที่เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติความมั่นคง 
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังระบุว่า หลังการยกเลิกการดำเนินคดีความมั่นคงในศาลทหารแล้ว คสช. จะยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่หากเกิดความวุ่นวายขึ้น คสช. ก็สามารถออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ใหม่ได้ และ คสช. ยังมี มาตรา 44 แก้ไขความขัดแย้งอยู่ ส่วนการยกเลิกประกาศ คสช. เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม เพื่อให้พรรคสามารถระดมความเห็นประกอบการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประวิตร เชื่อว่าจะยังทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่สามารถรวมความเห็นมาเป็นเอกสารได้
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลส่วนหน้า ว่า จะมีความชัดเจนเรื่องตัวบุคคลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนั้นจะต้องมีความรู้ในพื้นที่ โดยมีอำนาจเพียงการประสานงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. โดยจะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประวิตร ยังปฏิเสธถึงกระแสข่าวที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จะมีเหตุความรุนแรงในภาคใต้ เพื่อต้อนรับว่าที่ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ โดยระบุว่า ยังไม่ได้รับรายงาน และเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นก็เกิดเรื่อย ๆ อยู่แล้ว แต่รัฐบาลพยายามป้องกันเหตุ รวมถึงการยกระดับในการป้องกัน

วิษณุบอกเลิกม.44คดีในศาลทหารไม่มีผลย้อนหลัง

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 55/2559 เรื่อง ยกเลิกดำเนินคดีความมั่นคงในศาลทหาร และกลับมาดำเนินคดีในศาลยุติธรรมแทน ว่า คดีที่เป็นมาตรา 112 มาตรา 116 เกี่ยวกับวัตถุระเบิด อาวุธปืน และคดีที่เกี่ยวกับการขัดคำสั่ง คสช. ที่จากเดิมให้ขึ้นศาลทหาร เปลี่ยนมาขึ้นศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. ส่วนคดีเดิมที่อยู่ในศาลทหาร ไม่สามารถโอนมาศาลปกติได้ เนื่องจากมีบางคดีสืบพยานไปแล้ว 8-10 ปาก หากโอนมาจะทำให้เกิดความยุ่งยาก แต่คดีที่ยังคงต้องขึ้นศาลทหารคือคดีที่อยู่ในพื้นทีประกาศกฎอัยการศึกและใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงคดีที่ทหารทำผิด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น