เว็บไซต์รัฐบาลไทยเผยภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอหารือประธานอาลีบาบากรุ๊ป "แจ๊ค หม่า" หลังประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่เมืองจีน
5 ก.ย. 2559 วันนี้ เว็บไซต์รัฐบาลไทย เปิดเผยภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หารือกับ แจ๊ค หม่า ประธานบริหารบริษัท อาลีบาบากรุ๊ป ที่นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากสิ้นสุดการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20
อนึ่งเมื่อเวลา 13.55 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันนี้ (5 ก.ย.) ในการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่นครหางโจว พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 เรื่อง การพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุม (Inclusive and interconnected Development)
ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุมมี 3 ส่วน ได้แก่ การเป็นหุ้นส่วนระดับโลก การสร้างความเชื่อมโยง และการให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาที่เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ
การเป็นหุ้นส่วนระดับโลกจะเป็นประตูสู่โอกาสให้ G20 ช่วย G77 ในลักษณะเครื่องนำทางทำให้การพัฒนา G77 และ การบรรลุวาระ 2030 ของโลกเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมจีนและกลุ่ม 20 ที่ให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนา และการร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาโดยเชิญไทยในฐานะประธาน G77 เข้าร่วมการหารือ รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการกลุ่ม 20 ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศกำลังพัฒนา และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของโลก โดยกลุ่ม 77 สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสนับสนุนให้ G20 ส่งเสริมการใช้หลักการธุรกิจที่ครอบคลุมในภาคการเกษตร เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก และได้ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภคไปพร้อมกัน
ด้านการสร้างความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมความพยายามของ G20 ในการลดช่องว่างของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการรับรองข้อริเริ่ม “พันธมิตรว่าด้วยความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก” ในปีนี้ และการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของจีน พร้อมย้ำความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์การไปมาหาสู่และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเครือข่ายถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และเที่ยวบินให้มากขึ้น
ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าต้องให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาที่เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างเอกภาพบนความแตกต่าง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน สำหรับไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตั้งแต่ไทยรับตำแหน่งประธาน G77 เมื่อต้นปี ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านความร่วมมือ ทวิภาคี ไตรภาคีกับ G20 อาทิ เยอรมัน และร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับสมาชิก G20 ในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไทยพร้อมร่วมมือกับสมาชิก G20 ที่สนใจเพื่อขยายความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น