วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แพงทั้งแผ่นดิน 'พาณิชย์' เผยราคาอาหารแพงมา 9 เดือนติด


 
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) ได้สำรวจราคาสินค้าอาหารบริโภค ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า ประชาชนต้องบริโภคอาหารในราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารไปทำกินเองที่บ้าน เนื่องจากวัตถุดิบในการปรุงอาหาร มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การออกไปบริโภคอาหารนอกบ้าน ตามร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือตามร้านค้าทั่วไป ทั้งในตลาดและริมถนน ก็มีราคาแพงขึ้นเช่นกัน เพราะพ่อค้าแม่ค้าต่างปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ พบว่าราคาอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนม.ค. อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่มขึ้น 0.65% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 1.06% เดือนก.พ. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 0.55% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.76% เดือนมี.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 0.95% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.70% เดือนเม.ย. ในบ้านเพิ่มขึ้น 1.07% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.94% เดือนพ.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.07% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.88% เดือนมิ.ย. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.34% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.91% เดือนก.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.22% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 0.78% เดือนส.ค. ในบ้าน เพิ่มขึ้น 1.09% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 1.02% และเดือนก.ย. ในบ้านเพิ่มขึ้น 1.00% นอกบ้าน เพิ่มขึ้น 1.07%
 
นอกจากปัญหาด้านค่าครองชีพแล้ว ยังพบว่า ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ หลายรายการ ก็มีราคาตกต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมารองรับ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาปัจจุบันตันละ 7,800-7,900 บาท มันสำปะหลัง ราคากิโลกรัมละ 1.50-1.65 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคากก.ละ 8-8.05 บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้ของเกษตรกร
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำแผนการทำงานเร่งด่วน ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตามคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขอให้หน่วยงานราชการ คิดแผนการทำงานใหม่ และไม่ใช่งานที่ดำเนินการเป็นประจำ ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้นัดประชุม เพื่อจัดทำแผนงานร่วมกับผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดไปแล้ว แต่ไม่มีแผนเร่งด่วนเรื่องการดูแลค่าครองชีพ และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น