‘พวงทอง’ วิจารณ์ คอป. และ กสม. สร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐผ่านรายงาน ละเลยข้อเท็จจริง ผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย
คลิปพวงทอง ภวัครพันธุ์ นำเสนอหัวข้อ "ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553"
8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519
ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง ในช่วงบ่ายแบ่งเป็น 1.เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม: กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช 2.ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย โดยธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอลซิล แมดิสัน
โดยในส่วนนี้จะเป็นการบรรยายของพวงทอง ภวัครพันธุ์
วิธีการใหม่ในการลอยนวลพ้นผิด
พวงทองนำเสนอว่า เวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด วิธีการมาตรฐานที่สังคมไทยและชนชั้นนำไทยคุ้นเคยในการปกป้องตนเองไม่ให้รับผิด คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เสนอว่าความพยายามที่จะปกป้องตนเองผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ โดยหน่วยงานราชการ การบันทึก การตอบโต้จดหมายที่มีคนส่งเข้ามาจากองค์กรนิรโทษกรรมสากลทั่วโลก โดยบันทึกออกไปว่าไม่มีการละเมิด
ในบทความของพวงทอง เป็นการกล่าวถึงวิธีการอีกแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่เป็นความพยายามสร้างการลอยนวลพ้นผิดในกรณีสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งจะเห็นว่ากรณีนี้ไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งต่างจากกรณีความรุนแรงอื่นๆ แต่โอกาสที่จะได้เห็นผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกรณีนี้มารับผิดก็เบาบางมากและแทบจะไม่มีโอกาสนี้ภายใต้ระบอบทหารที่เป็นอยู่
งานศึกษาดังกล่าว พวงทองกล่าวถึงบทบาทขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องในการสร้างให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยเติบโตแข็งแกร่งต่อไป โดยมุ่งไปที่คณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งสององค์กรนี้ทำรายงานเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ออกมา รวมถึงยังกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและศาลยุติธรรม
“ในกรณี คอป. และ กสม. สององค์กรนี้ถือเป็นองค์กรกึ่งศาล ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินลงโทษ แต่มีการตัดสินว่าใครเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงบ้าง มีความผิดอะไรบ้าง เวลาที่เราพูดถึงองค์กรเหล่านี้ เขาบอกว่าเขาเป็นอิสระในการทำงาน ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของรัฐบาลโดยตรง และมีหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐและเป็นการปกป้องความยุติธรรมและระบบนิติรัฐของสังคมให้ดำเนินต่อไปได้ องค์กรเหล่านี้จึงมีการตัดสิน การวินิจฉัย ซึ่งมักจะได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และยุติธรรม”
“ปัญหาของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ เป็นเสมือนการเปิดไฟเขียวที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนเต็มที่ เพราะเป็นกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่จากการรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่"
แต่คำถามที่พวงทองตั้งขึ้นก็คือองค์กรเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ตามหลักการดังกล่าวจริงหรือไม่ เป็นอิสระจริงหรือไม่ และการตีความออกมาในรูปของรายงานที่เสนอนั้นส่งผลอย่างไรต่อการเอาผิดหรือการปล่อยให้อำนาจรัฐลอยนวล
“ก่อนที่จะพูดรายงานของ คอป. และ กสม. ดิฉันจะขอพูดถึงความรุนแรงนิดหนึ่ง ดิฉันกับเพื่อนๆ นักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมได้ทำรายงานออกมาภายใต้นามศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 หรือ ศปช. เพื่อให้เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงในลักษณะที่เกินเลยอย่างไร แล้วรายงานของ คอป. และ กสม. ได้ละเลยที่จะไม่กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร และการละเลยไม่กล่าวถึงนั้นส่งผลอย่างไรต่อการตีความ”
พวงทองเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่เริ่มขึ้นกลางเดือนมีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยก่อนหน้าที่ นปช. จะเคลื่อนมวลชนเข้ากรุงเทพฯ เพียง 1 วัน รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากการชุมนุมได้เพิ่มความตึงเครียดและการเผชิญหน้ามากขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ หลายจุด มีผู้บาดเจ็บมากขึ้น วันที่ 7 เมษายน จึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีกหนึ่งฉบับ พร้อมจัดตั้ง ศอฉ. หรือศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการชุมนุม โดยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ
“ปัญหาของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ เป็นเสมือนการเปิดไฟเขียวที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับประชาชนเต็มที่ เพราะเป็นกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่จากการรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่
“สิ่งที่เราเห็นคือการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาวุธจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในปฏิบัติการนี้ ผลก็คือมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 94 คน เป็นพลเรือน 84 ราย เป็นตำรวจ ทหาร 10 ราย บาดเจ็บมากกว่า 1,400 คน และมีประชาชนถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ อีกประมาณ 1,800 กว่าคน
“แม้ว่าตลอดการปฏิบัติการนี้และหลังจากนั้น รัฐบาลและ ศอฉ. พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้ายและมีอาวุธร้ายแรง แต่หลักฐานของ ศปช. ที่พวกเราช่วยกันทำ ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงเลยที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ และก็ได้รับการยืนยันจากผลการไต่สวนการตายโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย มีความคืบหน้า 18 ราย แล้วก็หยุดชะงักทันทีหลังจากเกิดรัฐประหารขึ้น ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร การไต่สวนการตายจะเดินหน้าไป”
โดยในจำนวน 18 ราย ศาลยืนยันว่า การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมมาจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร ขณะที่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลพยายามบอกว่าเกิดขึ้นจากฝีมือของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน ที่มีการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเห็นกันอยู่ว่ามีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธสงครามเข้ามาอยู่ในที่ชุมนุมและส่งผลต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตคือพันเอกร่มเกล้า ธุวธรรมและมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนมาก
รายงาน คอป. ยืนข้างเจ้าหน้าที่รัฐ-โยนความผิดให้ชายชุดดำ
คอป. ได้รับการจัดตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์โดยมีคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดดำรงตำแหน่งประธาน พวงทองกล่าวว่า องค์ประกอบของ คอป. ดูผิวเผินมีความหลากหลาย ประวัติการทำงานของแต่ละคนไม่มีรอยด่างพร้อย แม้ว่าบางคนจะเคยต่อต้านทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มมาก่อนก็ตาม นอกจากคณิตแล้ว ยังมีกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งใน ศอฉ. ด้วย มานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญใน คอป. คือสมชาย หอมลออ นักกฎหมายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขันมาตลอด เป็นคนรุ่น 6 ตุลา เราเห็นคุณสมชายในฐานะเหยื่อจากความรุนแรงในช่วง 6 ตุลาด้วย ทำให้คุณสมชายได้รับการยอมรับในวงการสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ
“คุณสมชายดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการค้นหาความจริง ซึ่งเป็นอนุกรรมที่สำคัญที่สุดใน คอป. ความหลากหลายของ คอป. ทำให้ดูเหมือนมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลและการชี้นำของรัฐบาล จึงได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่และกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์และไม่ชอบคนเสื้อแดง
“ดิฉันอยากจะพูดถึงคุณสมชายในฐานะนักสิทธิมนุษยชน ถ้าเรามองกลับไป ดิฉันคิดว่ามีความเข้าใจได้ว่าทำไมนักสิทธิมนุษยชนไทยในขณะนั้นมีจุดยืนต่อต้านคุณทักษิณ เพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายคุณทักษิณเอง ไม่ว่าจะกรณีตากใบ กรือเซะ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงครามยาเสพติด ในช่วงเวลานี้คุณทักษิณถูกวิจารณ์อย่างมากจากนักสิทธิมนุษยชน ดิฉันก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทั้งหลายที่เอ่ยมา ดิฉันคิดว่ารัฐบาลคุณทักษิณจะต้องรับผิดชอบกับนโยบายนี้ด้วย นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณ ก็ไม่น่าแปลกใจ หลังรัฐประหาร 2549 เราจึงไม่ได้เห็นจุดยืนคัดค้านรัฐประหารของนักสิทธิมนุษยชนไทย แต่ยังมีผู้ออกมาแสดงจุดยืนเห็นว่าการรัฐประหารเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณเป็นสิ่งจำเป็น
"คำพูดของคุณสมชาย อันนี้ชี้ให้เห็นว่า ในมุมมอง คอป. รัฐบาลและ ศอฉ. กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงมีความผิดพอๆ กันใช่หรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝ่ายแรกมีอำนาจในทางกฎหมายและกำลังอันมหาศาล วิธีการเปรียบเปรยแบบนี้ไม่ต่างกับการลดระดับความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน”
“แล้วก็มีนักสิทธิมนุษยชนไทย ทั้งเอ็นจีโอและองค์กรอิสระร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นในการรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลทักษิณ นี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณส่งผลอย่างไรบ้างกับการเขียนรายงานของ คอป.”
พวงทองกล่าวว่า คอป. สร้างความสับสนแก่ประชาชนตั้งแต่แรก
“เมื่อ คอป. พูดว่า คอป. ไม่เน้นหาคนผิด แต่จะยึดหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลาง และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบค้นหาความจริง การพูดแบบนี้ คอป. กำลังบอกกับสังคมว่า การแสวงหาความจริงกับการต้องรับผิด ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกัน ซึ่งสำหรับดิฉันมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรากำลังพูดถึงความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคน ประการสำคัญ คอป. กำลังสับสนว่าการชี้ว่าใครผิดหรือถูกนั้นย่อมขึ้นกับพยานหลักฐาน โดยมีกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน หากไม่ใช้เกณฑ์นี้ย่อมยากที่จะตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด และหากพิจารณาแล้วว่าการกระทำนั้นผิดจริง ทำไม คอป. จึงไม่เสนอให้ควรมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย
“นอกจากนี้ เราคงได้ยินการเปรียบเทียบว่าความรุนแรงปี 2553 เหมือนผัวเมียทะเลาะกัน บางทีก็ผิดทั้งคู่ นี่เป็นคำพูดของคุณสมชาย อันนี้ชี้ให้เห็นว่า ในมุมมอง คอป. รัฐบาลและ ศอฉ. กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงมีความผิดพอๆ กันใช่หรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริง ฝ่ายแรกมีอำนาจในทางกฎหมายและกำลังอันมหาศาล วิธีการเปรียบเปรยแบบนี้ไม่ต่างกับการลดระดับความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน”
อย่างไรก็ตาม แม้ คอป. จะไม่ชี้ว่าใครถูก-ผิด แต่สิ่งที่ปรากฏในรายงานกลับให้น้ำหนักความผิดไปที่ผู้ชุมนุมมากกว่าเจ้าหน้าที่ ดังเห็นได้ว่าเมื่อ คอป. เปิดตัวรายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ประเด็นที่โดดเด่นในตัวรายงานและการแถลงข่าวก็คือความรุนแรงที่เกิดจากชายชุดดำ ทำให้เช้าวันรุ่งขึ้นสื่อเกือบทั้งหมดเล่นข่าวเรื่องชายชุดดำมากกว่าที่จะเสนอว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุอย่างไรบ้าง
ประการสำคัญต่อมา รายงานของ คอป. พูดถึงการใช้อาวุธและการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในหลายกรณี แต่ในบทวิเคราะห์กับโยนความผิดให้กับชายชุดดำที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยยั่วยุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสูญเสียการควบคุม จนนำไปสู่ความรุนแรงอย่างมาก เป็นความรุนแรงที่ไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่บางกรณี คอป. ไม่สามารถเสนอหลักฐานที่เชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้ได้
“คำอธิบายเหล่านี้เป็นกรอบโครงสำคัญในการวิเคราะห์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกจุดทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 14-19 คอป. ยังบกพร่องในการนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า พลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงในลักษณะที่เป็นการยิงเพื่อสังหาร Shoot to Kill ไม่ใช่ Shoot to Defend 30 เปอร์เซ็นต์ถูกยิงที่ศีรษะและคอ พูดง่ายๆ ว่าครึ่งหนึ่งถูกยิงช่วงบนของลำตัว การยิงลักษณะนี้บอกไม่ได้ว่าเป็นการยิงเพื่อปกป้องตนเอง ยังมีรูปที่บอกว่าทหารเดินในลักษณะเรียงหน้ากระดานมุ่งเข้าหาผู้ชุมนุม ถ้าคุณปกป้องตัวเอง คุณยืนลักษณะนี้ไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงที่จะยิงคุณ ข้อมูลเหล่านี้ คอป. มีรายงานการชันสูตรพลิกศพที่สมบูรณ์มากกว่า ศปช. แต่กลับไม่ถูกนำเสนอในรายงานเลย”
คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสริ ไม่ใช่แม้แต่ผู้ค้นหาความจริง
พวงทองยังกล่าวถึงตัวเลขสรรพกำลังที่ ศปช. นำเสนอ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นำเสนอในรัฐสภาว่ามีการขนสรรพกำลังฝ่ายทหารและใช้อาวุธในการสลายการชุมนุมจำนวนมาก มีการใช้กำลังทหาร 67,000 นาย ยังไม่รวมตำรวจอีกหลายหมื่นคน การเบิกกระสุนจริง 590,000 กว่านัด ซึ่งตัวเลขที่คืนกลับไปทำให้เห็นตัวเลขกระสุนที่ถูกใช้ไปประมาณ 110,000 กว่านัด เป็นกระสุนสไนเปอร์อย่างเดียว 2,000 นัด ทาง ศปช. ยืนยันว่าตัวเลขเหล่านี้บอกว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุอย่างไร และไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้อาวุธและกำลังคนขนาดนี้ในการสลายการชุมนุม
“แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกบรรจุไว้ในรายงาน คอป. เลย แต่ คอป. กลับเลือกเสนอตัวเลขอาวุธในลักษณะเป็นเปอร์เซ็นต์ ใช้ตัวเลขสัดส่วนว่าจำนวนอาวุธที่ใช้นั้นเป็นอาวุธอะไรบ้าง แต่ไม่บอกจำนวนจริง เช่น มีการใช้กระสุนจริงขนาด 5.56x45 มิลลิเมตร สำหรับปืนเล็กยาวหรือเอ็ม 16 ร้อยละ 59 ไอ้ 59 เปอร์เซ็นต์นี่ของอะไร ของ 100 นัด หรือของแสนนัด หรือ 5 แสนนัด การให้ตัวเลขเหล่านี้ แปลว่าคุณลดความรุนแรง คนจินตนการไม่ออกว่า 59 เปอร์เซ็นต์มันกี่นัด
“นอกจากนี้ คอป. ยังเลือกใช้คำของ ศอฉ. อย่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่และปฏิบัติการกระชับวงล้อม คำพวกนี้คือการหลีกเลี่ยงความจริงที่รุนแรง ใช้คำที่เบาลง สวยงาม ดูดีขึ้น แต่ในรายงานไม่ใช่คำว่าการสลายชุมนุม ปฏิบัติการทางการทหาร หรือยุทธการทางการทหาร ทั้งที่บทความของทางทหารที่วิเคราะห์อย่างภาคภูมิใจถึงความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ชี้ชัดว่าการใช้กำลังและอาวุธมากขนาดนี้ว่า ‘เพราะเป็นปฏิบัติการรบเต็มรูปแบบ เสมือนการทำสงครามรบในเมือง การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (ตี 3.30 ถึง 8.30) ของวันที่ 19 พฤษภาคม ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรมีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง’ นี่เป็นบทความทหารที่วิเคราะห์ แต่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงานของ คอป.
“นอกจากนี้ คอป. ยังเลือกใช้คำของ ศอฉ. อย่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่และปฏิบัติการกระชับวงล้อม คำพวกนี้คือการหลีกเลี่ยงความจริงที่รุนแรง ใช้คำที่เบาลง สวยงาม ดูดีขึ้น แต่ในรายงานไม่ใช่คำว่าการสลายชุมนุม"
“กรณี 6 ศพวันปทุม คอป. พยายามอธิบายว่ามีชายชุดดำและการ์ดเสื้อแดงบริเวณนั้นยิงใส่เจ้าหน้าที่และซ่อนตัวอยู่ในวัดปทุมด้วย คอป. ยังอ้างหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์เพียงเพื่อจะบอกว่ามีชายชุดดำอยู่ในวัดปทุมยิงใส่ทหาร หลักฐานที่ว่านั้นคือพบว่ามีร่องรอยคล้ายกระสุนตรงใต้ฐานของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ไม่มีการพิสูจน์ แต่ก็สามารถนำหลักฐานที่ไม่ได้พิสูจน์นั้นมาบอกว่าเชื่อว่ามีชายชุดดำยิงใส่ทหาร ทหารจึงจำเป็นต้องยิงใส่คนที่อยู่ในวัดปทุม แต่รายงานของ คอป. ก็ถูกหักล้างด้วยการไต่สวนการตายของศาลอาญา โดยศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำอยู่ในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่”
หรือกรณีวางเพลิงสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คอป. ก็ไม่ลังเลที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นฝีมือผู้ชุมนุม เช่น กรณีเผาเซ็นทรัลเวิร์ล คอป. เน้นย้ำว่าผู้ชุมนุมและชายชุดดำอยู่ในตัวอาคารถึง 4 จุด โดยเห็นว่าเป็นผลจากการปลุกปั่นยั่วยุของแกนนำ นปช. แต่ในท้ายที่สุดกรณีการวางเพลิงเซ็นทรัล เวิร์ล ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยเสื้อแดงทั้งหมด
กรณีการวางเพลิงสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด มีความเป็นไปได้ว่าบางกรณีอาจจะเป็นฝีมือผู้ชุมนุม แต่ในรายงานของ ศปช. เองคิดว่าไม่ใช่ทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการวางเพลิงในสถานที่ราชการที่มีปัญหาหลายจุด
“ดิฉันอยากจะอ้างคำวิจารณ์ของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองไทย 2 คน คนหนึ่งคือศาตราจารย์ดันแคน แม็คคาโก้ และอาจารย์นฤมล ทับจุมพล รัฐศาสตร์จุฬาฯ เป็นบทความที่ประเมินรายงานของ คอป. เปรียบเทียบกับของ ศปช. นักวิชาการทั้งสองท่านระบุไว้ชัดเจนว่า คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสระในการทำหน้าที่และค้นหาความจริง ไม่พยายามปิดบังอคติและความไม่ชอบทักษิณ ผลงานของ คอป. ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วยซ้ำ รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลและกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมยังมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ฉะนั้นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง”
กรรมการสิทธิ์ที่ไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน
ในบรรดาองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง กสม. มีอำนาจทางกฎหมายมากที่สุด เพราะสามารถยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ แต่ก็เห็นว่า กสม. บกพร่องต่อการปกป้องหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
“สองปีก่อนหน้ารายงานฉบับสมบูรณ์ของ กสม. จะออกมา ประชาชนก็พอจะคาดเดาได้ว่าจะออกมาในลักษณะใด เพราะหนึ่งวันก่อนที่ กสม. นัดแถลงรายงานต่อสื่อมวลชน ข่าวสดได้เปิดเผยสาระสำคัญของร่างรายงานที่ออกมา ซึ่งระบุว่า กสม. เห็นว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินและการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลและ ศอฉ. เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรักษาความสงบของสังคมโดยรวม และรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมตามขั้นตอน ไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม ส่วนการใช้กำลังอาวุธของรัฐที่ส่งผลเสียต่อประชาชนเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องตอบโต้และคุ้มครองตนเองและประชาชน แนวเรื่องคล้ายๆ กัน แต่เนื่องจากรัฐบาลขาดการวางแผนที่ดีเท่านั้นเอง ดังนั้นก็เยียวยาให้กับผู้เสียหายและประชาชน”
"ผลงานของ คอป. ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วยซ้ำ รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลและกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมยังมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ฉะนั้นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง”
ในทางตรงกันข้าม กสม. มองว่า นปช. และผู้ชุมนุมต่างหากที่ใช้สิทธิเกินเลย ละเมิดกฎหมายและสิทธิของประชาชนกลุ่มอื่นๆ มีการใช้อาวุธและความรุนแรง พอข่าวสดรายงานออกมา กสม. ออกมาบอกว่าเป็นแค่ร่างและถอนออกไป แต่หลังจากนั้น 2 ปีก็ออกฉบับสมบูรณ์มา ซึ่งเนื้อหาไม่ต่างกัน
“การละเลยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและมองข้ามหลักการสิทธิของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นใน กสม. ยุคศาตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานเท่านั้น แต่มันเป็นแนวโน้มโดยทั่วไปของนักสิทธิมนุษยชนไทยและ กสม. ในชุดก่อนหน้านี้แล้วด้วย หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญ อาจารย์เสน่ห์ จามริก ประธาน กสม. ในช่วงที่มีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ
“อาจารย์เสน่ห์กล่าวว่า ‘รัฐประหารเป็นทางออกที่เหลืออยู่ อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาสุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์’ และในการให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง อาจารย์เสน่ห์ได้ขยายจุดยืนตัวเองว่า ‘เพราะระบอบทักษิณได้ทำลายประชาธิปไตยและเป็นระบอบที่คอร์รัปชั่น สร้างความเสียหายต่อประเทศโดยรวม วิธีการเดียวที่จะล้มระบอบทักษิณได้ ก็มีเพียงการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ถูกรัฐประหารไปนานแล้ว ฉะนั้น เมื่อมีการยึดอำนาจของคณะปฏิรูป ตนก็วิจารณ์ว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่ความจริงมันหมดไปนานแล้ว’ พูดง่ายๆ คณะรัฐประหารไม่ได้ทำลายประชาธิปไตย รัฐบาลทักษิณต่างหากที่ทำ”
ในทัศนะของพวงทอง อคติในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนไทย ซึ่งเป็นแวดวงที่ค่อนข้างเล็กและใกล้ชิดกัน ที่มีต่อทักษิณยังปรากฏในแถลงการองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือเอไอในช่วงปี 2549 และ 2551 ในปี 2551 เอไอได้โจมตีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช อย่างรุนแรง จากกรณีที่ใช้กำลังขัดขวางไม่ให้มวลชนหลายหมื่นคนของกลุ่มพันธมิตรฯ บุกเข้ายึดทำเนียบ โดยแถลงการของเอไอกล่าวว่ารัฐบาลกระทำต่อผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงแต่ประการใด ยังบอกว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และเสริมสร้างสมรรถนะด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ในทางตรงกันข้าม เอไอ ประเทศไทยกลับละเลยไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บุกเข้ายึดสถานีเอ็มบีทีด้วยอาวุธ รวมถึงไม่วิจารณ์การบุกยึดทำเนียบและท่าอากาศยานสองแห่ง รวมถึงภาพข่าวที่แสดงให้เห็นว่าการ์ดของกลุ่มพันธมิตรฯ เองก็มีอาวุธปืนในครอบครอง ซึ่งการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมต่างสีด้วยหลักการที่ต่างกันทำให้นักสิทธิมนุษยชนไทยและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กึ่งศาลเหล่านี้ ถูกมองว่าไม่เป็นกลางและอิสระจากอคติของตนเองในสายตาของผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง
องค์กรอิสระสนับสนุนการลอยนวลพ้นผิดให้หยั่งรากลึก
“บทความนี้ไม่ได้บอกว่าไม่มีชายชุดดำและไม่ได้บอกว่าการ์ด นปช. ไม่มีการใช้อาวุธในการชุมนุมเลย แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ เป็นที่น่าเสียดายที่องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อสถาปนาความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญเสีย เช่น คอป. และ กสม. ได้รับเอาคำอธิบายดังกล่าวมาเป็นกรอบการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์หลายประการที่ขัดแย้งกับคำอธิบายของ คอป. และ กสม. ละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนมาก อคติที่มีต่อกลุ่มการเมืองของคุณทักษิณ ไม่ควรที่จะนำไปสู่การละเลยการวิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของกองทัพ คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทั้งหลายภายใต้รัฐบาลทักษิณ แต่ถ้าความรุนแรงของรัฐบาลอีกชุดหนึ่งกระทำต่อประชาชน คุณก็ต้องวิพากษ์อย่างเท่าเทียมกันด้วย
“ประการสำคัญ รายงานของพวกคุณไม่ควรนำไปสู่การรับรองอำนาจของรัฐที่ละเมิดสิทธิชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง ซ้ำร้ายความรุนแรงในปี 2553 ยังถูกทำให้เบาบางลงไปอีกเมื่อหลังรัฐประหารโดย คสช. 3 เดือน ศาลอาญามีคำวินิจฉัยว่า การสั่งการของรัฐบาลและ ศอฉ. ที่นำไปสู่การเสียชีวิต เป็นเพียงการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ศาลอาญาจึงโยนเรื่องนี้ไปให้ ป.ป.ช. ซึ่งเราก็รู้ดีว่าเป็นกลางอย่างไร”
พวงทองอ้างอิงงานของแม็คคาโก้และนฤมลอีกครั้ง ถึงความล้มเหลวของหน่วยงานที่ทำหน้าที่สำคัญเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ที่ระบุว่า รายงาน คอป. แสดงการยอมรับการใช้กำลังของรัฐ แม้ว่า คอป. ได้เสนอว่า ศอฉ. จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อพลเรือน แต่ประเด็นนี้กลับเบาบางและไม่ใช่ประเด็นที่ คอป. เน้นย้ำในรายงานของตนเอง แต่กลับเน้นย้ำพฤติกรรมของผู้ชุมนุม ฉะนั้น เมื่อ คอป. ละเลยที่จะเน้นย้ำการรับผิดของรัฐบาลอภิสิทธิ์และบทบาทที่ไม่เหมาะสมของทหารที่ใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุม คอป. จึงไม่เพียงล้มเหลวในการแสวงหาทั้งความจริงและความปรองดอง แต่ยังมีส่วนสำคัญในการแผ้วทางให้ทหารกลับสู่อำนาจในอีก 4 ต่อมา
“ทั้งสองคนมองว่าถ้า คอป. วิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของทหาร อาจเป็นจุดที่ทำให้ทหารอาจต้องถอยห่างจากการเมืองมากขึ้น ประการสำคัญ คอป. มีส่วนในการผลิตซ้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้หยั่งรากลึกในสังคม”
"รายงานของ คอป. และ กสม. ช่วยทำให้การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมดูมีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นการเข้าไปรับรองและสนับสนุนความรุนแรงโดยองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจสั่งควบคุมให้เขาเขียนรายงาน"
พวงทองเน้นย้ำว่า รายงานของ คอป. และ กสม. ช่วยทำให้การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมดูมีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นการเข้าไปรับรองและสนับสนุนความรุนแรงโดยองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์กล่าวอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจสั่งควบคุมให้เขาเขียนรายงาน
“ดิฉันมองว่านี่เป็นการช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลอยนวลพ้นผิดอย่างสง่างามยิ่งกว่าครั้งใดๆ มักมีการพูดกันว่ารัฐบาลทักษิณและบุคคลที่เกี่ยวข้องแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระในยุคที่พวกเขามีอำนาจ บอกว่ารัฐบาลทักษิณทำลายเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลง่อยเปลี้ย ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่บุคคลในองค์กรเหล่านี้ไม่ตระหนักก็คือไม่ได้มีแต่ทักษิณเท่านั้นที่ทำลายความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านี้ได้ แต่อคติและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มการเมืองของพวกเขาต่างหากที่ทำให้การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐสิ้นความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชน
“ในสายตาของประชาชน ภาวะสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐานที่พวกเขาใช้กัน มันถูกเปิดโปงจนพวกเขาเปลือยเปล่าแล้วในปัจจุบัน สิ่งที่พวกเขาเป็นในสายตาของประชาชนจำนวนมากในประเทศนี้ก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเท่านั้นเอง เป็นเครื่องมือที่ไม่จำเป็นต้องมีใครมาสั่งการโดยตรง เพราะมีจุดยืนทางการเมืองและอคติเป็นตัวกำกับ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น