วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

คสช. สั่งจนท.ป้องกันความรุนแรง ดำเนินการตามกรอบกฎหมายปมโพสต์หมิ่นฯ


คสช. สั่งจนท. ปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่นำตัวไปขอขมาในสถานที่ที่ล่อแหลม เสี่ยงที่จะถูกทำร้าย รมว.ยุติธรรมระบุ ส่งหนังสือขอตัวคนหมิ่นสถาบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ชี้ไม่มีอะไรดีกว่ามาตรการทางสังคม หลายคนที่ไปเคลื่อนไหวต่างประเทศคงมีประชาชนที่เคารพรักเขาทำอยู่
18 ต.ค. 2559 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังที่มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบการปฏิบัติให้เกิดความเรียบร้อย โดยเวลา 08.00 น. จะมีการประชุมที่กองบัญชาการที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรวิหาร ซึ่งมีกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) เป็นหน่วยรับผิดชอบเพื่อสรุปภาพรวม และอุปสรรคของการปฏิบัติงานในแต่ละวัน และช่วงเย็นเวลา 15.00 น. จะเป็นการประชุมระดับกองทัพภาค โดยกองทัพภาคที่ 1 เป็นหน่วยหลักในการสรุปการทำงานแต่ละวันอีกครั้งที่ กองบัญชาการกลางท้องสนามหลวง สำหรับกองบัญชาการติดตามสถานการณ์ กองทัพภาคที่ 1 (บก.ศตส.ทภ.1) จะมี พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ดูแล ประสานงานกับ นายกรัฐมนตรีและรับมอบนโยบายและคำสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตรง โดย บก.ศตส.ทภ.1 จะเป็นหน่วยหลักในการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาง มูลนิธิ อาสาสมัคร ภาคเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ คสช.มีความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่มาถวายอาลัยอย่างดีที่สุด โดยการอำนวยความสะดวกให้การเดินทางและการเข้าถวายอาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่สับสน
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มคนที่เข้าไปล้อมกรอบบุคคลที่โพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เท่าที่ตรวจสอบพบว่า เกิดเหตุดังกล่าวแล้ว 3 กรณีที่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพังงา ซึ่ง คสช.มีความเป็นห่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลและดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย โดยใช้มาตรการที่เหมาะสม รวดเร็ว แยกตัวบุคคลที่โพสต์หมิ่นออกมาเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย ในขณะนี้คงไม่มีใครอยากเห็นคนไทยใช้กำลังทำร้ายกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการนำบุคคลนั้นไปขอขมาในสถานที่ที่ล่อแหลม เสี่ยงที่จะถูกทำร้าย หากเห็นว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็ควรเลือกเวลาที่เหมาะสมในห้วงเวลาอื่น
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการกับกลุ่มคนที่โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ขณะนี้ได้นำข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ตนเป็นประธานอยู่ มาประสานกับ ศตส. โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นคนประสานข้อมูล โดยรายชื่อทั้งหมดก็เป็นรายชื่อเก่า 
 
“ผมได้สั่งไปแล้วว่าให้ไปดูว่าผู้กระทำผิดมาตรา 112 อยู่ประเทศอะไรบ้าง แล้วให้ร่างหนังสือมาให้ผม และผมจะเซ็นหนังสือไปยังเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย แต่เราต้องมั่นใจว่าคนพวกนี้มันเคลื่อนไหวอะไร ผมก็เห็นใจคนทำงาน เพราะมักจะติดในแง่ของกฎหมายต่างประเทศ เราต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นเหมือนกัน ผมทำหนังสือโดยตรงไปยังสถานทูตแล้ว วันนี้ผมจะทำซ้ำอีกที ใช้ความเห็นอกเห็นใจ ใช้ความเป็นมิตรประเทศ ใช้ความรู้สึกความเคารพซึ่งกันและกัน เราไม่เคยละเมิดกฎหมายเขา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นความรู้สึกของคนไทยที่รับไม่ได้ เราก็ต้องช่วยกัน โดยรายชื่อที่มีก็จะแบ่งเป็น 7 กลุ่ม แต่ไม่อยากให้ประชาชนไปเผยแพร่ต่อ ขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ครั้งนี้มีโอกาสที่ประเทศต่าง ๆ จะส่งตัวผู้กระทำผิดให้เราหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า มันไม่ง่าย เราก็ต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของเขา แต่เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด 
 
ส่วนกรณีที่เกิดเหตุประชาชนล้อมบ้านคนโพสต์หมิ่นสถาบัน พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนพูดหลายครั้งแล้วว่าไม่มีอะไรดีกว่ามาตรการทางสังคม หลายคนที่ไปเคลื่อนไหวต่างประเทศคงมีประชาชนที่เคารพรักเขาทำอยู่
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น