วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กสทช.แนะวิธีรายงานข้อความ 'ไม่บังควร' ในโซเชียลมีเดีย

20 ต.ค. 2559 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยแพร่ภาพในเพจเฟซบุ๊ก แนะนำช่องทางสำหรับแจ้งหน่วยงานรัฐ เมื่อพบข้อความ "ไม่บังควร" ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยแนะนำให้แจ้งลิงก์หรือยูอาร์แอลไปที่ 1212@mict.go.th, mm@rta.mi.th หรือ web_report@nbtc.go.th พร้อมแนะนำไม่ให้กดไลก์ กดแชร์ หรือแสดงความเห็น
นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำวิธีรายงานเนื้อหาไม่เหมาะสมไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบด้วย

ให้ไอเอสพีมอนิเตอร์เนื้อหาโลกออนไลน์ พบไม่เหมาะสมระงับทันที

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายให้ดำเนินการดังต่อไป นี้
1. ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผ่านเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์โดยเคร่งครัด
2. นอกจากการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลข้างต้นแล้ว ให้ติดตามและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต และหากตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ให้ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในทันที รวมทั้งประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง  เช่น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ยูทูบ, ไลน์ ฯลฯ ให้ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในทันที ทั้งนี้ หากพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่ไม่เหมาะสมแล้วไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้ง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในทันทีแล้ว ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ กสทช. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ให้จัดตั้งหน่วยตรวจสอบขึ้นภายในองค์กรหรือหน่วยงานท่านเพื่อติดตามและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง และหากพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่ไม่เหมาะสมแล้วให้ดำเนินการตาม 2. โดยทันที และให้แจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงาน กสทช. ทราบโดยเร็ว  
4. สำนักงาน กสทช. จะร่วมติดตามและตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากพบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่ไม่เหมาะสม จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้กระทำผิดโดยตรงกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ต่อไป ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ประสานช่องทางการดำเนินการดังกล่าวกับ ปอท. ไว้แล้ว
ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดไม่ปฏิบัติตามดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ถึงที่สุดต่อไป
 

กระทรวงดิจิทัล เผยระดม 100 คนมอนิเตอร์เว็บหมิ่น 24 ชม.

ขณะที่วานนี้ (19 ต.ค.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเว็บหมิ่น 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งประสานงานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างใกล้ชิด ด้วยการใช้ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 26 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ยั่วยุ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเข้าข่ายความผิดดังกล่าว รัฐบาลสามารถปิดเว็บหมิ่นได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่เว็บที่ถูกปิดจะเป็นเว็บในประเทศ แต่หากเป็นเว็บที่ต้องเข้ารหัส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเว็บในต่างประเทศ รัฐบาลต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับลามก อนาจาร หมิ่นสถาบัน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบหาหลักฐาน ซึ่งปกติใช้เวลา 15 วัน กว่าจะส่งเรื่องมาให้รัฐมนตรีดีอี ตรวจสอบ ลงนาม และส่งเรื่องต่อไปยังศาล เพื่อขอหมายศาล และแจ้งไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยกระทรวงจะพยายามเร่งรัดขั้นตอนนี้ให้เร็วที่สุด
พล.อ.อ.ประจิน ระบุด้วยว่า กระทรวงฯ มีศูนย์ตรวจสอบเว็บหมิ่น 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ในกรณีนี้ได้เพิ่มกำลังบุคลากรที่ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (CSOC) เพื่อคอยตรวจสอบเว็บไม่เหมาะสมที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 28 คน ผลัดหมุนเวียนตลอด 24 ชม. รวมกับศูนย์กองป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กระทรวงดีอี จำนวน 30 คน และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ของ สตช. จำนวน 60 คน รวมกว่า 100 คน

2 ความคิดเห็น: