วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วัฒนา ชี้ รบ.หมดทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หันมา 'แจกเงิน' ประชานิยมสิ้นคิด


วัฒนา อัดมาตรการแจกเงิน 1,500-3,000 บาท 5.4 ล้านคน ชี้รัฐบาลหมดความสามารถที่จะหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จึงต้องเลือกใช้การแจกเงินซึ่งไม่ต้องใช้ความคิดแต่ได้ผลน้อยที่สุด แต่เป็น 'ประชานิยมสิ้นคิด'
23 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อวาน (22 พ.ย. 59) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ คือ       เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 
ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ย. 59) วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 'Watana Muangsook' ในหัวข้อ "แจกเงิน" ประชานิยมสิ้นคิด โดย วัฒนา ระบุว่า มติ ครม. ที่ให้เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500-3,000 บาท จำนวน 5.4 ล้านคน เริ่มจ่ายตั้งแต่ 1-30 ธ.ค. 2559 คือนโยบายหว่านเงิน (helicopter money) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เท่ากับรัฐบาลนี้ยอมรับว่าผู้มีรายได้น้อยหรือรากหญ้ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่รัฐบาลหมดความสามารถที่จะหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จึงต้องเลือกใช้การแจกเงินซึ่งไม่ต้องใช้ความคิดแต่ได้ผลน้อยที่สุด เพราะเมื่อใช้แล้วจบลงในคราวเดียว
วัฒนา กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้เคยสร้างวาทกรรมกล่าวหารัฐบาลเพื่อไทยที่ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวว่าเป็นประชานิยม อ้างว่าการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดทำให้รัฐขาดทุน ทั้งที่เป็นนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับราคาที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียวินัยเพราะไม่ได้เป็นการให้เปล่าเหมือนการแจกเงิน ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องตามมามากมาย การดำเนินนโยบายที่ถูกต้องทำให้เศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทยดีมาตลอด เศรษฐกิจของประเทศจึงไม่เคยเข้าตาจนถึงขนาดต้องใช้มาตรการแจกเงินเหมือนที่รัฐบาลนี้และบางพรรคต้องนำมาใช้ แต่นายกยิ่งลักษณ์กลับถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
 
"การทำให้คนจนได้รับประโยชน์เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เพราะเศรษฐกิจไม่มีสีและฝักฝ่ายทางการเมือง แต่รัฐบาลต้องใช้สติปัญญาคิดหามาตรการทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง จะเกิดการลงทุนและการจ้างงานทำให้คนยากจนมีรายได้อย่างต่อเนื่องซึ่งดีกว่าการแจกเงิน ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อก็จะกลับคืนมาเอง ยอมรับได้หรือยังว่าการบริหารประเทศมีความสลับซับซ้อนที่ต้องใช้สติปัญญา ไม่ใช่เพียงใช้วาทกรรมไปวันๆ แบบที่เป็น ก็ขนาดผู้คนทั้งโลกเห็นว่าเป็นการแจกเงิน นรม. ยังปฏิเสธว่าไม่ใช่แต่เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่จริงควรบอกว่าการรับจำนำข้าวเป็นประชานิยมส่วนการแจกเงินเป็นประชารัฐ จะได้ดูมีสติปัญญามากขึ้น" วัฒนา โพสต์
 
สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้สรุปสาระสำคัญไว้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสัญญาณชะลอตัว  แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง  แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรมีความเสี่ยงด้านรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภค  ซึ่งในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559  ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว ดังนั้น  เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดตามโครงการ ฯ กค. จึงเห็นควรให้มีมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย
 
กระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขและวิธีดำเนินการสำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร ดังนี้ คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ เป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ณ วันที่ 15 ส.ค. 2559 และเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในปี 2558 โดยมีการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นจากกรมสรรพากร  และกรมการปกครองแล้ว ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนที่ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วไม่ปรากฎชื่อให้นำเอกสารหลักฐานที่ธนาคารผู้รับลงทะเบียนให้ไว้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารที่ตนไปลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2559 จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรจำนวน 5.4 ล้านคน
สำหรับเกณฑ์การช่วยเหลือนั้น ใช้เส้นทางความยากจนที่คำนวณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเกณฑ์ โดยกำหนดอัตราเงินช่วยเหลือ ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิ์และวงเงินงบประมาณที่ใช้ ดังนี้ ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท / ปี อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) 3,000 บาท / คน ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 3.1 ล้านคน ประมาณการวงเงินที่ใช้ 9,300 ล้านบาท ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาท / ปี ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท /ปี  อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) 1,500  บาท / คน  ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคน ประมาณการวงเงินที่ใช้  3,450 ล้านบาท    ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 5.4 ล้านคน และวงเงินที่ใช้ 12,750 ล้านบาท
วิธีการโอนเงิน ให้ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน และ ธ. กรุงไทย  ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรที่ลงทะเบียนตามโครงการฯ ไว้กับธนาคาร โดยจำแนกเป็น 2 กรณี ดังนี้ กรณีผู้มีสิทธิ์เป็นลูกค้าของธนาคาร : ให้ธนาคารโอนเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ์โดยตรง โดยให้ผู้มีสิทธิ์สามารถตรวจสอบเงินในบัญชีของตนภายใน 7 วัน  นับแต่วันที่ธนาคารแจ้งการโอนเงินหากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ และหากผู้สิทธิ์มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี  ธนาคารจะทำการโอนเงินเข้าในบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด  กรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร :  ให้ผู้มีสิทธิ์ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารที่ไปลงทะเบียนตามโครงการฯ และสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีหลังจากเปิดบัญชีภายใน 7 วัน  หากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิกับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ ทั้งนี้  ให้ธนาคารใช้หลักเกณฑ์การโอนเงินข้างต้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการโอนเงินให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์  ตามมาตรการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยด้วย  กรอบระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 1 - 30 ธ.ค. 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น