วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สรุปร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับล่าสุด 'บล็อคไปให้ไพศาล'


ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมายปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อปี 2550
ในงานเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะวิเคราะห์จากร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปรับปรุงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 โดยสาระสำคัญในร่างมีดังนี้


บล็อคเว็บด้วยอำนาจใหม่ ใหญ่กว่าเดิม

สิ่งที่จะมีความสำคัญและเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในร่างฉบับนี้ อยู่ในมาตรา 20 คือการกำหนดให้มี "คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” มาทำหน้าที่เกี่ยวกับการบล็อคเว็บไซต์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการห้าคน โดยมีสองคนที่เป็นผู้แทนภาคเอกชน ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบล็อคเว็บ

โดยขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็กำลังจัดทำร่างประกาศกระทรวงเกี่ยวกับการบล็อคเว็บไซต์ กำหนดให้กระทรวงฯ สร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถบล็อคหรือลบข้อมูลนั้นได้เอง โดยให้เชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับระบบการบล็อคหรือลบข้อมูลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ ตามความยินยอม

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังขยายขอบเขตของการบล็อคเว็บ ที่เดิมจำกัดเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สามารถบล็อคเว็บที่อาจมีเนื้อหาขัดต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึงบล็อคเนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ได้
 

วิจารณ์-ตรวจสอบบนออนไลน์ทำได้ยาก เหลือพื้นที่แค่คลิปหมาแมวหรรษา

ร่างกฎหมายนี้แก้ไขใจความสำคัญในมาตรา 14 (1) และ (2) เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ด้วยการเพิ่มฐานความผิดให้กว้างกว่าเดิม หากมีผู้โพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ให้มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท การเพิ่มฐานความผิดเช่นนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการแสดงความเห็นเชิงตรวจสอบวิจารณ์นโยบายสาธารณะได้

ส่วนมาตราที่เป็นปัญหา อย่างมาตรา 14(1) ตามร่างปัจจุบัน ที่เคยถูกนำมาใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสื่อและภาคประชาชน ในร่างฉบับใหม่ก็เพิ่มองค์ประกอบขึ้นมาว่า การกระทำที่เป็นความผิด ต้องทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ซึ่งในเชิงภาษากฎหมาย ยังไม่ชัดเจนมากนักว่าจะแก้ปัญหาคดีหมิ่นประมาทออนไลน์แบบเดิมๆ ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเพิ่มมาตรา 16/2 ในกรณีที่พบข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลอาจสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ด้วย ซึ่งผู้ใดที่รู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในคอมพิวเตอร์ ต้องทำลาย ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์
 

รัฐไทยหวัง สังคมรีพอร์ต ช่วยตรวจสอบ 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันกำหนดความผิดของผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความผิดกฎหมายปรากฏอยู่ ตามร่างใหม่เอาผิดผู้ให้บริการที่ “ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ” ให้มีเนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย ให้มีโทษเช่นเดียวกับผู้โพสต์ข้อความ

แต่ที่ผ่านมา มีข้อที่พิสูจน์ได้ยากว่า จะพิจารณาอย่างไรว่าผู้ให้บริการมีส่วน "ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ" ร่างแก้ไขฉบับนี้จึงกำหนดมาตรการ “การแจ้งเตือนและการระงับการแพร่หลาย” (Notice and Takedown) ซึ่งกำหนดเอาไว้ในร่างประกาศกฎกระทรวงให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องจัดหามาตรการแจ้งเตือน เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถแจ้งรายงานไปยังผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการต้องระงับข้อมูลภายใน 3 วัน
 

ผู้ให้บริการอาจมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลนานขึ้น

ตามกฎหมายปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ ไว้ไม่เกิน 90 วัน หรือในกรณีจำเป็นเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ตามร่างแก้ไขใหม่ มาตรา 26 กำหนดว่าในกรณีจำเป็นอาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ปี และมาตรา 18 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บข้อมูลที่เป็นหลักฐานในการกระทำความผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องการเอาไว้ก่อนได้ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
 

ทำพ.ร.บ.คอมให้เป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับออนไลน์

โดยภาพรวมแล้ว การปรับแก้ร่างกฎหมายครั้งนี้ มีความพยายามปรับให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถครอบคลุมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่น การกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจคอมพิวเตอร์หรือยึดอายัดคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้จำกัดความผิดเพราะตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น แต่รวมถึงความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย (มาตรา 18 และ 19)
 

เวทีคู่ขนาน 

นอกจากเวทีของ สนช.ที่รัฐสภาแล้ว ในวันที่ 23 พ.ย. นี้ยังมีเวทีคู่ขนานที่ร่วมจัดโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thainetizen Network) และ สมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ในชื่อ "เกาะขอบสนามสนช. วิเคราะห์ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ" ที่ Growth Cafe and Co ชั้น 2 ลิโด สยามสแควร์ งานนี้จะมีรูปแบบไม่เป็นทางการ ถ่ายทอดสดจากเวทีรัฐสภา พร้อมวิเคราะห์สดควบคู่กันไป โดยที่เปิดให้ผู้ชมสามารถปรึกษา ตั้งคำถาม ในประเด็นที่ไม่เข้าใจ และร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ได้ด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดงานสัมมนาจากอาคารรัฐสภา ได้ทางเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต Thai Netizen Network และถ่ายทอดสดงานเกาะขอบสนามสนช. จากร้าน Growth Café ทางเฟซบุ๊ก iLaw และทวิตเตอร์ iLawclub

ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่งและลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ....
3. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....
4. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
5. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ศ. ....
6. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ศ. ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น