วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

ภาคประชาชนวอล์คเอาท์เวทีประชาพิจารณ์แก้ พ.ร.บ.สสส.


เวทีประชาพิจารณ์แก้ไขกฎหมาย สสส. ภาคประชาสังคมหลายคนร่วมเดินออกจากห้องประชุมระบุไม่ต้องการเป็นตรายางในกระบวนการที่รวบรัด ยืนยัน สสส.จำเป็นต้องใช้งบแบบตีความกว้างกว่า เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ เพื่อสร้างสุขภาวะ ไม่เห็นด้วยแก้ไขปรับสัดส่วนกรรมการโดยตัดภาคสังคม ลดงบประมาณ
3 เม.ย. 2560  ในเวทีประชาพิจารณ์ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้เข้าร่วมจากภาคประชาสังคมจำนวนมากตั้งคำถามกับกระบวนการร่าง พ.ร.บ.นี้ พร้อมเรียกร้องให้ยุติเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์เพื่อทบทวนใหม่ และเริ่มมีการทยอยวอล์คเอาท์ (walk out) ออกจากห้องประชุม อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินการสัมมนาจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การสัมมนาต้องดำเนินต่อไป หากไม่อ่านเนื้อหาในร่างก็จะเป็นการเสียสิทธิในเสนอเพื่อพิจารณาขั้นต่อไป ภาคประชาสังคมจึงมีข้อสรุปไม่เข้าร่วมการประชุมต่อในช่วงบ่าย ทำให้ในช่วงบ่ายมีผู้เข้าร่วมลดกว่าครึ่ง เหลือราว 100 คน
ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ที่วอล์คเอาท์คนแรกคนแรกคือ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก โดยให้เหตุผลว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สสส. เป็นการตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่เริ่ม เพราะการร่างกฎหมายนี้มีหลักการและเหตุผลว่า การดำเนินงานของ สสส.ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและไม่ความคุ้มค่าทางภารกิจ แต่ข้อเท็จจริงคือ ผลการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ต่างก็ออกมาระบุว่าไม่มีการทุจริต แต่มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์หรือกว้างกว่ากรอบที่วางไว้เท่านั้น  
ทิชา ชี้ว่า ภายใต้การเกิดขึ้น สสส. เมื่อ 14 ปีที่แล้วที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพคือ เหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ เท่านั้น แต่เมื่อทำงานจริงทำให้พบว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกว้างไกลไปกว่าเรื่องเหล่านี้ เรื่องสุขภาพอาจเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารหรืออื่นๆ ด้วยก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับนิยามสุขภาพของ WHO ที่รวมไปถึงด้านกาย ใจ ปัญญา และสิ่งแวดล้อม
“หากถามถึงความคุ้มค่า องค์กรรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงทำอะไรคุ้มค่าบ้าง กระทรวงศึกษาธิการ ใช้งบ 4 แสนล้านบาท หรือปัญหาความมั่นคงที่ภาคใต้ใช้เงิน 2 แสนล้านบาท ถามว่าตอนนี้คุ้มค่าหรือยัง วันนี้เราไม่ได้เอาความชั่วมาถกเถียงกัน แต่ต้องการสร้างความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย” นางทิชา กล่าว
นางทิชาย้ำว่า สสส.มีเรื่องต้องปรับปรุงเช่นกัน แต่การปรับปรุงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือน และเป็นห่วงว่าเมื่อสิ้นสุดการประชาพิจารณ์ ตนเองจะกลายเป็นหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้การประชาพิจารณ์ครั้งนี้
“เริ่มต้นก็ไม่เป็นธรรม มีเหตุผลอะไรที่ต้องสร้างความชอบธรรมให้” นางทิชากล่าวและวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุมทันที
ต่อมานายวันชัย บุญประชา กรรมการและเลขานุการมูลนิธิครอบครัวไทย ตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. สสส. โดยถามว่า มีตัวแทนจาก สสส.เข้าร่วมด้วยหรือไม่ หากเข้าร่วม เหตุใดจึงปล่อยให้มีร่างกฎหมายลักษณะแบบนี้ออกมา ส่วนตัวคิดว่าไม่มีความจำเป็นในการมีส่วนร่วมในการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ เพราะเหมือนเป็นแค่ทำให้ครบไปตามกระบวนการเท่านั้น แต่ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ทั้งที่ควรฟังเสียงคนที่ทำงานกับ สสส.มา 10 ปี ไม่ใช่แค่คนจาก 3 กระทรวง
"ไม่เห็นด้วยกับการจัดสัมมนาแบบนี้ รวบรัดและสมคบคิด มันเหมือนเป็นพิธีกรรม พวกเราไม่สบายใจ" นายวันชัย กล่าว
เช่นเดียวกับ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นว่า อาจจะไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปในมาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนและนำมาปรับปรุงแก้ไข เพราะไม่แน่ใจว่ามีกระบวนการเหล่านี้ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีกองทุนจำนวนมาก แต่ที่เป็นกองทุนเชิงนวัตกรรมมีน้อย และบางกองทุนยังไม่มีประสิทธิภาพ อยากขอให้ใช้มาตรการเดียวกันในการตรวจสอบมาตรฐาน
"สังคมไทยไม่มีกลไกสร้างพลังร่วม สสส. ทำให้หลายหน่วยงานจับไม้จับมือร่วมกันทำงานได้" นายวิษณุกล่าวพร้อมเสนอว่า เมื่อผลสอบ คตร. ออกมาว่าเข้าใจผิดแล้ว ก็น่าจะมีวิธีเสริมพลัง ไม่ใช่เล่นบทลงโทษ
หลังจากนั้น คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) แถลงข่าวในนาม ขสช. หน้าห้องจัดสัมมนาประชาพิจารณ์ โดยแสดงจุดยืนคัดค้านการจัดเวทีดังกล่าว พร้อมขอให้ยุติวิธีการอันไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการและขั้นตอนจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ขณะที่ในหลักการและเหตุผลในการแก้ไข ไม่มีการศึกษาทางวิชาการอย่างเป็นระบบ และยังขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เช่น กรณีที่อ้างว่า สสส.ใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งที่ สสส. ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูงมาก จาก คตช. และ ป.ป.ท.นอกจากนี้ยังกังวลว่า การแก้ไขนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างเสริมสุขภาพลดลง เพราะมีการปรับลดงบประมาณ และดึงงบประมาณเข้าสู่ระบบราชการ 
“กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดเวทีมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่สองครั้งที่กรุงเทพฯ งานของ สสส.ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ อย่างน้อยต้องจัดเวทีกระจายทั้งสี่ภาค” นายคำรณกล่าวและว่า หลังสงกรานต์นี้จะยื่นคำถามและข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในการประชุมมีการระบุว่า นายกฯ เป็นคนสั่งการ
นายคำรณ กล่าวว่า นอกจากหลักการและเหตุผลแล้ว เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.สสส. ยังมีปัญหา อาทิ การตัดรองประธานกรรมการคนที่ 2 ซึ่งมาจากภาคประชาสังคมออก และเพิ่มคณะกรรมการที่มาจากวิชาชีพแพทย์และพยาบาล ทำให้สัดส่วนของภาคราชการมากกว่าประชาสังคม ทั้งยังมีการปรับรูปแบบการเสนองบโครงการให้คล้ายกับรูปแบบของกระทรวง คือให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังพิจารณาและทำแผนตามกรอบเวลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง สสส. นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนงบประมาณจาก 2% ของภาษีเหล้าและบุหรี่ เป็นไม่เกินกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.16% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของประชาชน
“เงินตรงนี้เป็นเงินที่เก็บเพิ่มจากธุรกิจเหล้าและบุหรี่ ไม่ได้เบียดเบียนภาษีประชาชน ถึงไม่เก็บเพิ่มเงินก็ไม่ได้เข้าคลัง หากเป็นแบบนี้ธุรกิจก็ไม่ได้จ่าย” นายคำรณกล่าว

แถลงการณ์คัดค้านกระบวนการและขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ฉบับที่...) พ.ศ. ...

จากการจัดเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่างพระราชาบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ฉบับที่...) พ.ศ. ... วันที่ 3 เมษายน 2560โดยกระทรวงสาธารณสุข ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน(ขสช.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคี 30 เครือข่าย ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ และดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี มีความเห็นต่อการจัดเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
1.    กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ..... ที่ผ่านประชามติไปแล้ว โดยรัฐไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่ารอบด้านและเป็นระบบ อีกทั้งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
2.    หลักการและเหตุผลในการขอแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ไม่มีการศึกษาทางวิชาการอย่างเป็นระบบถึงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ เหตุผลที่ขอแก้ไขยังขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น การอ้างว่า สสส. มีการจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(สำนักงาน ป.ป.ท.) ให้การรับรองและมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติแก่ สสส. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูงมาก ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ การแก้ไขจะทำให้กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพด้อยประสิทธิภาพลง  ด้วยการลดงบประมาณและดึงงบประมาณ สสส.เข้าสู่ระบบราชการ ที่สวนทางกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ และยกย่องให้ สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรม และเป็นตัวอย่างของนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
ขสช. ขอคัดค้านและขอให้ยุติวิธีการอันไม่ถูกต้อง ขสช.จึงมีความเห็นว่า กระบวนการการแก้ไขกฎหมายที่ดีจะต้องเริ่มต้นด้วยการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทำหน้าที่ศึกษาและรวบรวมข้อมูลหลักฐาน รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ จากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน(ขสช.)
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น