ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงปิดคดีจำนำข้าว อ้างถูกดำเนินคดีไม่เป็นธรรม – ชี้ข้อพิรุธไต่สวนคดี ป.ป.ช. เร่งชี้มูลความผิด อัยการสูงสุดแม้จะระบุชี้รายงาน ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดี แต่สุดท้ายก็แถลงฟ้องคดี ก่อน สนช. ลงมติเพียง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่ โดยการนำสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจีซึ่งอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพิ่มมาอีกทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในฐานะนายกรัฐมนตรี ในสมัย คสช. มีการจัดระดับข้าวเป็นเกรด A B C ซึ่งไม่เคยเป็นมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์มาก่อน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อสร้างเรื่อง สร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ เพื่อมุ่งเอาผิดทั้งในคดีอาญาและคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง
ย้ำ “จำนำข้าว” เป็นนโยบายสาธารณะ ช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ “พาณิชย์นโยบาย” คิดกำไรขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้ วิงวอนศาลพิพากษาคดีตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมว่ามีการกระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน เชื่อ “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” พร้อมขอให้ยกฟ้อง
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อแถลงปิดคดีในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และต้องการให้การพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้มาก่อน โดยรายละเอียดของคำแถลงปิดคดีมีดังนี้
000
ประเด็นคำแถลงปิดคดีด้วยวาจา
โครงการรับจำนำข้าว
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
วันที่ 1 สิงหาคม 2560
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ก่อนอื่นดิฉันขอกราบขอบพระคุณองค์คณะผู้พิพากษา ที่อนุญาตให้ดิฉันแถลงปิดคดีด้วยตนเองในวันนี้ เพิ่มเติมจากคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน
ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน
ดิฉันขอเรียนแก้ข้อกล่าวหา ในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ตามลำดับ ดังนี้
เรื่องที่ 1 ดิฉันถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ดิฉันจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์แต่ดิฉันได้มีโอกาสรับรู้คำกล่าวของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตประธานองคมนตรีที่ได้กล่าวไว้ว่า “ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้วปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม”
คดีนี้ มีข้อพิรุธมากมายตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล ดังนี้
1.ชั้นกล่าวหาและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำ
มีการเร่งรีบรวบรัดชี้มูลความผิด
โดยเริ่มต้นจากการแจ้งข้อกล่าวหา การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำและการฟ้องคดีของโจทก์ ซึ่งถือเป็นกลางน้ำทุกท่านจะเห็นข้อพิรุธถึงความขุ่นมัวของต้นน้ำและกลางน้ำ ตามข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้นำสืบต่อศาลเป็นข้อยุติแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มต้นกล่าวหาดิฉันด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดดิฉันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ดิฉันพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน
เร่งรีบชี้มูลทั้ง ๆ ที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นในเรื่องทุจริตการระบายข้าวซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการยังไม่มีข้อสรุป และเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันตลอดมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน
2.ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี
ก่อนการฟ้องคดีอัยการสูงสุดเห็นว่า รายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับดิฉันได้ ในสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวว่าดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธาน กขช. จะยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามกฎหมาย ได้หรือไม่ อย่างไร
ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ประเด็นการทุจริต
และประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้ยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ ต้องมีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสียหายนั้นมากมายถึงขนาดที่ดิฉันต้องยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวทั้งๆ ที่ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด
ดังนั้น ทุกประเด็นล้วนแต่มีข้อไม่สมบูรณ์ และไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีได้
แต่สุดท้ายก็มีการตัดสินใจฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุด แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ
-วันที่ 3 กันยายน 2557 อัยการสูงสุดเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่คณะทำงานร่วม ฯ ดังกล่าว มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามที่แจ้งข้อไม่สมบูรณ์
-แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุดกลับแถลงว่าจะฟ้องคดีกับดิฉันก่อนที่ สนช. จะได้ลงมติถอดถอนดิฉันเพียง 1 ชั่วโมงซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นการดำเนินการเพื่อชี้นำการลงมติถอดถอนดิฉันหรือไม่
3.ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล
มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช.
โดยฟ้องดิฉันก่อนแล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง และพบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าวและการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำและขั้นตอนการระบายข้าว ที่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงานแต่โจทก์กลับนำมากล่าวหาดิฉันโดยไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนในชั้นพิจารณาคดีโจทก์มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. อย่างมีพิรุธ 3 เรื่อง กล่าวคือ
1)เรื่อง “รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ” ที่หัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เรื่องการเสื่อมสภาพของข้าว ที่เกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี ด้วยคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ไม่มีประสบการณ์เรื่องข้าวจึงทำให้เกิดข้อสังเกตและข้อพิรุธว่า
การจัดระดับเกรดข้าวเป็น เกรด A B C เพื่อดำเนินการระบายข้าวโดยไม่เคยมีมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ และไม่เคยมีรัฐบาลใดตั้งแต่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเช่นนี้มาก่อน
ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการจัดระดับคุณภาพข้าวดังกล่าวเป็นการสร้างเรื่อง และสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จงใจให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อเอาผิดกับดิฉัน ทั้งในคดีนี้และคดีเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งต่อดิฉัน
ในที่สุดก็มีพยานหลักฐานสำคัญว่า การจัดคุณภาพข้าวโดยจัดระดับเกรด A B C เพื่อการระบายข้าวนั้นผิดพลาด ล้มเหลว และเกิดความเสียหาย จนทำให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธานกรรมการ นบข. เสนอให้ยกเลิกการระบายข้าวในสต็อกของรัฐแบบแบ่งเกรดกลับมาใช้วิธีการประมูลข้าวแบบขายยกคลัง เช่น ที่รัฐบาลดิฉันและทุกรัฐบาลเคยดำเนินการมา ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559
แต่แล้วความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด แต่นำมาสู่ปัญหาดังที่ศาลที่เคารพได้ทราบจากข่าวในขณะนี้ว่ามีการนำข้าวดีที่คนยังบริโภคได้ไปประมูลขายเข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นอาหารสัตว์ ตามที่ดิฉันได้เคยร้องขอต่อศาลให้เผชิญสืบในเรื่องนี้แล้ว
ดิฉันจึงขอความเมตตาที่ศาลจะไม่รับฟังผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลังนอกเหนือจากสำนวน ป.ป.ช. ด้วย
2) มีการอ้างเรื่อง การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อใช้เป็นพยานเอกสาร ไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทั้งๆ ที่การสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงมีข้อพิรุธเสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้าว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ ในการที่จะนำมาเป็นหลักฐาน กล่าวอ้างเรื่องความเสียหายกับดิฉัน ซึ่งข้อพิรุธและความไม่เป็นธรรมนี้สอดคล้องกับข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่มีต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่สอบสวนเรียกค่าเสียหายต่อดิฉันว่า “โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม” ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558
3) เรื่องการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น ซึ่งมีการชี้มูลความผิดหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดิฉันแล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าว มาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีของดิฉันทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรีเสมือนจะทำให้เห็นว่าดิฉันมีความเกี่ยวพันกับความไม่ถูกต้อง
ถือเป็นการสร้างเรื่องและการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่โดยมิชอบในลักษณะเอาตัวดิฉันมาดำเนินคดีไว้ก่อนแล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลภายหลัง นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วถือเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีของศาลและต่อสังคมว่าดิฉันเป็นผู้ผิดและต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งๆ ที่คดีอาญายังไม่สิ้นสุด
โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารราวกับเป็นฝ่ายตุลาการเสียเองด้วยการออกคำสั่ง ทางปกครองสั่งให้ดิฉันชดใช้ค่าเสียหายถึง 35,000 แต่เพียงผู้เดียว ใช้อำนาจของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยมิชอบและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวและเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 สั่งให้กรมบังคับคดียึดและถอนเงินในบัญชีธนาคารของดิฉันไปหมดแล้ว ถือเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจดิฉันผิดเสมือนชี้นำคดีอย่างไม่เป็นธรรม
และดิฉันเชื่อว่าไม่มีใครที่ดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประเทศ แล้วถูกกระทำเช่นนี้มาก่อนต้องถูกยึดทรัพย์ก่อน ทั้ง ๆ ที่คดีอาญายังไม่ได้ตัดสินซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมสากลและรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 29 ที่ระบุว่า “…ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้…”
ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไปค่ะ
ดิฉันขอกราบเรียนว่าจากการชี้มูลความผิด และการฟ้องคดีของโจทก์ด้วยเอกสารเพียงไม่กี่ร้อยแผ่นในคดีของดิฉันกลับมีเอกสารที่โจทก์นำมาเพิ่มขึ้นใหม่ในชั้นศาลถึง 60,000 กว่าแผ่น จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมพยานตามสมควรแล้ว แต่กลับเป็นการเพิ่มเติมพยานหลักฐาน โดยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
เพราะรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 235 วรรค 6 ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้บัญญัติเป็นเงื่อนไขไม่ให้ ไต่สวนเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ หากไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอันขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่ศาลใช้ในการพิจารณาคดี ดิฉันจึงเห็นโดยสุจริตในฐานะของคนที่ตกเป็นจำเลย และควรจะได้รับสิทธิ์ในการดำเนินคดีว่าการพิจารณาพิพากษาคดีควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ 2560 ที่บังคับใช้แล้ว
ด้วยความเคารพต่อศาล ดิฉันมีความจำเป็นต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ แม้ว่าดิฉันได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้ถึง 3 ครั้ง เพื่อโต้แย้งและร้องขอสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จำเลยในคดีอาญาต้องได้รับ ในการที่จะขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 แต่ศาลได้ยกคำร้องของดิฉัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัยสิทธิ์ของจำเลยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ทำให้ดิฉันมีข้อสงสัยว่าจะยึดสำนวน ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนดหรือยึดหลักฐานใหม่กว่า 60,000 แผ่น นอกสำนวน ป.ป.ช. อย่างไรก็ตามดิฉันขอวิงวอนต่อศาลที่เคารพได้โปรดอำนวยความยุติธรรม โดยมิต้องพิจารณาเอกสารกว่า 60,000 แผ่น ที่โจทก์เพิ่มเข้ามาในสำนวนเพื่อเป็นผลร้ายต่อดิฉัน
เรื่องที่ 2 นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และดำเนินการตามกฎหมาย
ข้อกล่าวหาของโจทก์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งมีประเด็นที่ดิฉัน ขอแก้ข้อกล่าวหาและขอความเป็นธรรม ดังนี้
โครงการรับจำนำข้าวคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ และมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับ การกำหนดนโยบายเป็นการดำเนินการต่อยอดโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี
การกำหนดราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ราคา 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15 % คณะรัฐมนตรีมีเจตนาดำเนินโครงการ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น และแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา ที่เรื้อรังยาวนานมาหลายสิบปี จึงมิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหาแต่เป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา จำนวนกว่า 15 ล้านคน หรือกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยรายได้ที่เทียบเคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยเม็ดเงินที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับรากหญ้าและระดับมหภาคมิได้ทำให้เกิดความเสียหาย ดิฉันจึงได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จนโยบายรับจำนำข้าวเป็นการดำเนินนโยบายโดยสุจริตถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้ให้รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนา กล่าวคือ
ชาวนาเป็นผู้ผลิตแต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้กลับถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด จึงต้องกำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15% เพื่อยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นทั้งตลาด ซึ่งจะส่งผลให้คนที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ด้วย
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับรายได้ของชาวนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น เรื่องที่กล่าวหาว่าคณะรัฐมนตรีกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด และขายในราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำนั้น
ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด และเกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังกำไรกับชาวนา แต่เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตราบใดที่ประชากรยังมีความยากจน จึงเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องดูแล ซึ่งไม่ต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็ยังต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
2.เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา อันมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามตามรัฐธรรมนูญ ฯ 2550 มาตรา 75 มาตรา 176 และมาตรา 178 ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับในคำฟ้องว่าดิฉันมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
3.เป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและกฎหมายมีสภาพบังคับให้ดิฉันและคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้น การดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่ใช่การปฏิบัติราชการ ที่ขัดต่อนโยบาย หรือขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
เรื่องที่ 3 ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
การดำเนินโครงการเมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง จึงได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เพราะการดำเนินโครงการ มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวง กรม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่มีอยู่หลายฉบับ ที่ดิฉันเองในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้โดยลำพัง
ดิฉันจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่ละด้าน กว่า 13 คณะ เพื่อ “การบูรณาการ” ในการร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ แผนงานในการขับเคลื่อนให้หน่วยราชการเห็นชอบ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานหลักที่สำคัญ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานปฏิบัติอย่างระดับกระทรวง กรม ล้วนไม่เคยมีข้อท้วงติงหรือให้ยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ
การบริหารโครงการรับจำนำข้าวเป็นไปภายใต้ “ข้อจำกัดของการใช้อำนาจ” เพราะทุกหน่วยงานในระบบราชการบูรณาการการทำงาน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก รวมทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการกว่า 13 คณะ อันเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายและตามสายงานการบังคับบัญชาที่มีอยู่ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ดิฉันได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งด้วยการกำหนดให้มีแนวทางในการป้องกันการทุจริต และป้องกันความเสียหายที่ดิฉันได้ให้นโยบายและสั่งการในที่ประชุม กขช. ครั้งแรก ก่อนเริ่มดำเนินโครงการให้กับคณะทำงานและฝ่ายปฏิบัติว่า “ให้เคร่งครัดในเรื่องกระบวนการของข้าวให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และสั่งการให้มีการบูรณาการและปรับปรุงระบบกระบวนการรับจำนำข้าวให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส นำความชอบธรรมและความชัดเจนกับทุกหน่วยงาน และเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในส่วนที่ผ่านมามีสิ่งใดคงค้างให้นำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เสร็จสิ้น ให้มีการดูแลในเรื่องการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น” ซึ่งศาลที่เคารพสามารถตรวจสอบได้จากรายงานการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554
ดังนั้นเมื่อเริ่มดำเนินการก็มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุลมีการติดตามตรวจสอบตามระเบียบของการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีทำแผนงาน โครงการตามเป้าหมายจึงไม่สามารถที่จะยกเลิก และเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจในลักษณะที่นึกจะทำก็ทำหรือนึกจะเลิกก็เลิก เพราะที่มาของโครงการฯ ก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผูกพันให้ต้องปฏิบัติ
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติอย่างหนึ่งอย่างใดในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ภายใต้หลักการถ่วงดุลตามที่กล่าวมาและในการประชุม กขช. ครั้งแรก ดิฉันก็ได้ให้นโยบายและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการ กขช. ในครั้งต่อ ๆ มา
ดิฉันในฐานะประธาน กขช. ไม่ได้ละเลยและไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะดิฉันได้มอบหมายให้บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นประธานในการประชุม กขช. แต่ละครั้ง เพราะจะใกล้ชิดติดตามงานได้ดีกว่าดิฉันที่มีภารกิจอีกมากมาย หากมีประเด็นพิจารณาใดย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จะมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีและดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ดิฉันขอกราบเรียนว่า ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบร่วมกัน แต่โจทก์เข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในมือคนๆ เดียว และจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ดิฉันขอเรียนว่า แม้ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ในการปฏิบัติงาน กระทรวงและส่วนราชการที่ปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของแต่ละฝ่ายกำกับไว้อยู่แล้วดิฉันจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่อาจกระทำการใด ๆ ที่จะไปล้วงลูกสั่งการ หรือชี้นำในระดับปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด
แม้กระทั่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็คงเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ดี จึงต้องการอำนาจพิเศษ คือ มาตรา 44 ในการสั่งงาน บริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรัฐบาลของดิฉันไม่สามารถทำได้
เรื่องที่ 4 การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เนื่องจากโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่โครงการมีความคุ้มค่าไม่เป็นภาระต่องบประมาณที่เกินสมควรหรือเป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่เสียวินัยการเงินและการคลังของประเทศจนกระทั่งต้องระงับหรือยุติโครงการ
ดิฉันขอเรียนว่า
การดำเนินโครงการมีประโยชน์และมีความคุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจภาครัฐ ตามที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่าที่ต้องไม่คำนึงเฉพาะรายจ่ายหรือประโยชน์ที่คำนวณเป็นตัวเงินได้เฉพาะของโครงการเท่านั้นแต่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่น ๆ โดยรวมที่สังคมได้รับจากโครงการนั้นด้วย
เพราะภารกิจของภาครัฐมิใช่กระทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งถือเป็นเรื่องสาระสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ มิได้พิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่นๆ ของโครงการและไม่สามารถหักล้างพยานของดิฉันว่าโครงการมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งที่คำนวณเป็นตัวเงินได้และประโยชน์อื่นๆ ดังนี้
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 คณะกรรมการ กขช. ได้มีการรายงานประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/55 และฤดูกาลผลิต 2555 รวม 394,788 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อ้างว่าขาดทุนทางบัญชี 220,969 ล้านบาท อยู่ที่ 173,819 ล้านบาท
วันที่ 18 มิถุนายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานตรงถึงดิฉันยืนยันว่าโครงการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาเพิ่มขึ้น และระบุว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ
โครงการรับจำนำข้าวได้สร้างความมั่นคงทางรายได้และสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายไว้จริงมีหลักฐานปรากฏตามรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ประเมินโครงการไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2555 และผลการสำรวจของ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556
ผลการวิจัยของคณะวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตลอด 5 ฤดูกาลผลิต ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวม ขยายตัว 3.726 รอบ หรือมีมูลค่าผลรวมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1,088,697 ล้านบาท หรือมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปและงบประมาณที่ต้องชดเชยในโครงการจากพยานหลักฐานและตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงความคุ้มค่าของโครงการอย่างชัดเจน
ในระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนมากขึ้นส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏตามหลักฐานที่ได้อ้างต่อศาลแล้ว
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ดิฉันขอกราบเรียนว่าแม้รายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ครั้งที่ 3 ที่อ้างผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวแต่คณะกรรมการ กขช. และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้รับทราบถึงประโยชน์ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่กล่าวมาจึงไม่มีการเสนอให้ดิฉันยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ
นอกจากนี้ ปรากฏหลักฐานสำคัญจากคำเบิกความของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ พยานโจทก์ผู้ทำหน้าที่จัดทำรายงานดังกล่าวรับต่อศาลว่า “ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตัวเงิน และผลประโยชน์ที่เป็นทางอ้อมไม่ใช่หน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีแต่เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์” ซึ่งสภาพัฒน์ก็มีความเห็นเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีว่าโครงการสามารถทำให้ชาวนามีรายได้ที่สูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการจนถึงปี 2558 ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบกฎหมายและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ จากคำเบิกความของนางสาว ศิรสา กันต์พิทยา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พยานโจทก์ที่ให้การในชั้น ป.ป.ช. และเบิกความในชั้นศาล ยืนยันว่า “การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตลอด 5 ฤดูกาลผลิตเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ” รวมทั้งเอกสารแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ว่าเป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยมีพยานหลักฐานสำคัญ คือ
1)ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาลดิฉันพ้นหน้าที่กระทรวงการคลังได้รายงานสถานะเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยยังคงเหลือ 13,244 ล้านบาท ส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. ยังคงเหลืออยู่อีก 22,951 ล้านบาท ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557
2)เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กระทรวงการคลังได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันโดยยืนยันว่าสถานะหนี้คงค้างจากการดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 ถึง ปีการผลิต 2556/57 ทั้งในส่วนเงินกู้ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. อยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3)ในขณะดำเนินคดีโจทก์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสอบถามถึงการใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ได้รับการยืนยันถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ว่า การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ยังคงอยู่ในกรอบตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เช่นกัน
อีกทั้ง นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฝ่ายนโยบายรัฐพยานโจทก์ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงได้เบิกความยืนยันต่อศาลว่าในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีทุกประการ
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1)โครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ มีความคุ้มค่า
2)การดำเนินโครงการ ยังเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติ เป็นไปตามกรอบเพดานหนี้สาธารณะและรักษาวินัยการเงินการคลัง
3)ไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีให้ยุติหรือระงับยับยั้งการดำเนินโครงการ
4)เนื่องจากการดำเนินโครงการไม่ขัดต่อนโยบายมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมาย
ดังนั้น จะให้ดิฉันใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุติหรือระงับยับยั้งโครงการได้อย่างไร
เรื่องที่ 5 ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช.
ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้ง การดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภานอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งไม่มีกฎหมาย ใด ๆ บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องยับยั้งโครงการตามหนังสือของ 2 หน่วยงานดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันไม่เคยละเลยเพิกเฉยในการกำกับและติดตามการปฏิบัติตามนโยบาย ที่ ป.ป.ช. สตง. และหน่วยงานอื่นท้วงติง ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ดิฉันขอกราบเรียน ดังนี้
ข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะ จาก สตง. และ ป.ป.ช. ที่ได้นำรายงานวิจัยของ TDRI เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในอดีตและเสนอต่อดิฉันให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว และนำนโยบายประกันราคาข้าวมาใช้ดำเนินการนั้น ดิฉันเห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรียับยั้งโครงการที่ไม่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีไว้และการที่จะให้ดิฉันนำนโยบายประกันราคาข้าวที่เป็นนโยบายของ TDRI และพรรคฝ่ายค้านมาดำเนินการนั้นเป็นเรื่องที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ดีปรากฏจากคำเบิกความของนายนิพนธ์ฯ นักวิชาการ TDRI ก็ยอมรับต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาว่า “มีความขมขื่นและจะไม่เสนอนโยบายประกันรายได้อีกต่อไปแล้ว” ดังนั้นการเห็นต่างในนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ดิฉันต้องรับฟังหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง เช่น สภาพัฒน์และกระทรวงการคลัง
ดิฉันขอเรียนว่าข้อเสนอแนะและข้อท้วงติงของ ป.ป.ช. และ สตง. ดังกล่าว ดิฉันและคณะรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยเพิกเฉย อาทิ ดิฉันได้ส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้คณะกรรมการ กขช. คณะอนุกรรมการต่าง ๆ และหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอันเป็นการดำเนินการตามสายบังคับบัญชาตามขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดิน
และดิฉันยังได้นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ในการรับจำนำข้าวฯ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ดิฉันได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบติดตามการรับจำนำข้าวและคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแล การรับจำนำระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานไปแล้ว
นอกจากนี้ ดิฉันยังได้มีการติดตามงานตามที่ได้สั่งการหลายเรื่องหลายโอกาส ตลอดการดำเนินโครงการ อาทิ การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและสั่งการกำชับต่อผู้ว่าฯ ให้เข้มงวดกวดขัน ป้องกัน และปราบปรามการทุจริต มิให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่ในที่ประชุมสภากลาโหม ดิฉันก็ได้สั่งการให้มีการป้องกันการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และ สตง. ทั้งที่เรื่องดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปเพราะดิฉันมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะหลีกเลี่ยงหรือปกปิดการกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหาย
ดังนั้น เมื่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ รับทราบ ข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะก็ต้องปฏิบัติให้สอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ดิฉันส่งเรื่องโดยตรงไปยัง กขช. อนุกรรมการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีเรื่องใดที่ดิฉันจะละเลย และเมื่อดิฉันส่งเรื่องไปแล้ว คณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากมีเรื่องใดเห็นค้านก็จะต้องนำเสนอกลับมาตามสายงานบังคับบัญชา แต่ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานใดเห็นค้านและเสนอให้ยกเลิก หรือยุติโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด
หรือแม้แต่รายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีดิฉันก็ไม่ได้ละเลย ก็ได้ส่งเรื่องให้ กขช. เพราะเห็นว่าคณะอนุกรรมการปิดบัญชีเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการ กขช. และเป็นหน้าที่ของ กขช ที่จะต้องพิจารณา เพราะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนของกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้ป้องกันความเสียหายโดยฤดูกาลผลิต 2556/57 มีการปรับลดวงเงินรับจำนำจากไม่จำกัด เป็นจำกัดวงเงินการรับจำนำไม่เกินรายละ 500,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับและลดราคารับจำนำจาก ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 13,000 บาท อีกทั้งยึดมั่นตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556
จากข้อเท็จจริงและเหตุผลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ดิฉันได้ใช้อำนาจและความระมัดระวังอย่างเหมาะสม อย่างเช่นที่พึงคาดหมาย จากนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์ในขณะนั้น
เรื่องที่ 6 ดิฉันไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
จากที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจีนั้น ดิฉันขอเรียนว่า การระบายข้าว เป็นงานในระดับปฏิบัติที่มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งในเรื่องนี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน และเป็นพยานโจทก์ ยืนยันในหลายโอกาสว่า ดิฉันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี
นอกจากนั้น ในการชี้มูลและการตั้งข้อกล่าวหาในคดีของดิฉัน ก็มิได้นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นองค์ประกอบในการชี้มูล แต่ต่อมาปรากฏว่าโจทก์กลับนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าว ประมาณ 60,000 แผ่น เพิ่มเติมเป็นพยานในชั้นไต่สวน เพื่อใช้ปรักปรำว่า ดิฉันเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือสมยอมให้มีการทุจริต
ดิฉันขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า
การระบายข้าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายความรับผิดชอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศไปแล้ว ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554
คณะรัฐมนตรีได้ใช้ความระมัดระวัง และใส่ใจเรื่องการระบายข้าวโดยในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ได้มีมติกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในการป้องกันการทุจริตในการระบายข้าวให้เข้มงวดมากขึ้น โดยให้ผู้รับผิดชอบปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอนและต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของปริมาณการระบายช่วงเวลา และระดับราคาที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2555
กราบเรียนศาลที่เคารพ
สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าถ้าดิฉันปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต หรืองดเว้นไม่ป้องกันการทุจริตหรือไม่ป้องกันความเสียหายตามที่โจทก์ล่าวหา หรือหากดิฉันมีเจตนาทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตแล้ว ดิฉันและคณะรัฐมนตรี จะสร้างหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นดังกล่าวทำไม ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ที่เกิดจากการอภิปรายนั้น ยังไม่เกิดขึ้นเลย
ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนพฤศจิกายน 2555 ดิฉันก็มิได้นิ่งนอนใจจึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีการอภิปราย เรื่องการทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีแต่ผลการตรวจสอบกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งคนใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการระบายข้าวและรายงานว่าเป็นการดำเนินการอย่างถูกต้อง
อีกทั้งในขณะนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการระบายข้าวกลับใช้เวลาสอบสวนถึง 2 ปีเศษ และเพิ่งมาชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 หลังจากที่ดิฉันพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เป็นเวลาร่วมปี
ดิฉันขอกราบเรียนว่าเรื่องการระบายข้าว เป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดำเนินการมา ทุกยุคทุกสมัยตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวของแต่ละรัฐบาล ดังนั้น วิธีการระบายข้าว รวมถึงการทำสัญญาทั้งปวง จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นผู้รายงานผลการระบายข้าวให้คณะรัฐมนตรีทราบ ดังเช่นที่มีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 แต่กรณีภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ปรากฎว่ามีการรายงานผลการระบายข้าวให้ดิฉันและคณะรัฐมนตรีทราบแต่ประการใดไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการปรับคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ก็ไม่มีการรายงานเรื่องนี้ให้ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี และเข้าสู่การรับรู้รับทราบของดิฉันและคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งดิฉันพ้นจากหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อดิฉันไม่ทราบจะถือว่าดิฉันปกปิดการระบายข้าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดตามที่โจทก์กล่าวหาได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้ต่างจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดกับสื่อมวลชน เมื่อมีข้อกล่าวหาในเรื่องการระบายข้าวว่า “แม้ว่าตนจะเป็นประธาน นบข. แต่ก็มีอนุกรรมการ มีการกำหนดกติกาต่าง ๆ ไว้แล้ว”
กราบเรียนศาลที่เคารพ
ดิฉันได้ใช้อำนาจทางการบริหารและประสงค์จะให้การระบายข้าวนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ข้อสงสัยต่างๆ ที่มีการอภิปราย และอยู่ในระหว่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบ หมดสิ้นไป ด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบ และยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นข้อสงสัยในระหว่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังไต่สวนอยู่ อันแสดงให้เห็นว่า ดิฉันไม่ได้มีเจตนาพิเศษ ที่จะปกปิดข้อมูลในการระบายข้าวแบบจีทูจี และเป็นการแสดงว่า ดิฉันมิได้สมยอม ให้ผู้ใดกระทำการทุจริตในการระบายข้าว หรือมีการกระทำที่ปกป้องผู้หนึ่งผู้ใด ตามข้อกล่าวหาของโจทก์
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ คือ นายนิวัฒน์ธำรงฯ เข้าปฏิบัติหน้าที่ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของดิฉัน และมติคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมาอย่างเข้มงวด อาทิ
เข้มงวดในการทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีมากขึ้น โดยปฏิเสธการระบายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลมณฑลไม่ได้ถือหุ้น 100%
ปรับกลยุทธ์ในการระบายข้าว โดยเพิ่มช่องทางระบายข้าว และให้มีการประมูลข้าวภายในประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากการระบายข้าวแบบจีทูจี
ดิฉันได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดแนวทางการตรวจสอบการระบายข้าว โดยให้กรมศุลกากร ตรวจเช็คปริมาณข้าวสารที่ส่งออก ณ ท่าเรือ ว่ามีจำนวนปริมาณตรงกับที่ทำสัญญาไว้ ได้มีการส่งออกที่ท่าเรือจริง และให้มีคณะทำงานตรวจเช็คปริมาณข้าว ที่ประมูลเพื่อส่งขายร้านขายปลีก ว่ามีจำนวนถูกต้อง ตรงกับจำนวนที่มีการประมูลขายจริง ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และติดตามการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 1/2556
จากข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้เรียนมา ดิฉันได้ใช้อำนาจและดุลพินิจและความระมัดระวัง เอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในขณะที่ดิฉันยังปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้น
ดังนั้น การที่โจทก์นำข้อมูลและหลักฐานในสำนวนของบุคคลอื่นเกี่ยวกับเรื่องการระบายข้าว ที่ไต่สวนแล้วเสร็จ หลังจากที่ดิฉันพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานานร่วมปี ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น มาปรักปรำว่าดิฉัน ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จึงไม่เป็นธรรมต่อดิฉัน
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เคยกระทำการใด ๆ ที่ปล่อยปละละเลย และปกปิดข้อมูล หรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ให้ความร่วมมือกับทุกองค์กร แม้กระทั่ง ป.ป.ช. ดิฉันไม่มีเจตนาพิเศษ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใด และไม่มีเจตนาทุจริตค่ะ
แต่ดิฉันใคร่ขอความเป็นธรรมว่า การที่จะพิจารณาว่าดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเหมาะสมและเพียงพอหรือไม่นั้น ควรพิจารณาจากปัจจัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโครงสร้างการทำงาน รวมทั้งความรับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี
กราบเรียน องค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ดิฉันรู้ดีว่า ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง ดิฉันจึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสภาวะแวดล้อม ในขณะที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐาน ที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการ ของดิฉันในอดีต
ดิฉันใคร่ขอเรียนโดยสรุป ดังนี้
1.นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ “พาณิชย์นโยบาย” ที่คิดกำไร ขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้
2. ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเอง จึงควรพิจารณาบทบาทของดิฉัน ในฐานะผู้กำกับนโยบายไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากมีผู้ปฏิบัติกระทำผิดในขั้นตอนใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นๆ โดยที่ไม่เคยมี กรณีที่มากล่าวหาให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมด้วยกับฝ่ายปฏิบัติ ดังเช่นที่โจทก์และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำต่อดิฉันในครั้งนี้ อย่างที่ไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใด ๆ ถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้มาก่อน
3. ดิฉันขอให้ศาลวินิจฉัย เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ตามรายงาน ป.ป.ช. ที่สรุปชี้มูลว่าดิฉันไม่ได้ทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตและไม่รับฟังพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการไต่สวน หรือกล่าวหาดิฉันในชั้น ป.ป.ช. แต่เป็นการที่โจทก์เพิ่มเติมหลักฐานใหม่ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจผิด ว่าดิฉันเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งกระบวนการสร้างความเสียหาย ให้ดิฉันต้องรับผิดทางแพ่งจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่สั่งการในที่ประชุมว่า “ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม”
ดิฉันขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอได้โปรดพิจารณาคดีนี้ โดยคำนึงถึงเจตนาที่สุจริต ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำงานรับใช้ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ ดีขึ้น
ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ตามขอบเขตแห่งอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายไม่เคยปล่อยปละละเลยสิ่งใดให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน ดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และไม่เคยสมยอมให้บุคคลใดทุจริต ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ ให้กับชาวนา
แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป เพื่อหวังว่ารัฐบาลต่อไปในอนาคต จะได้สามารถนำนโยบายสาธารณะมาสู่ประชาชนพี่น้องเราจะได้ปลดหนี้สิน จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับเขาบ้างค่ะ
สุดท้ายนี้ ดิฉันเห็นว่าก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด ๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งคำพูดนี้ เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่า มีการกระทำความผิดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ศาลที่เคารพ ยังไม่ได้ตัดสิน
ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” ดิฉันจึงขอความเมตตาต่อศาล ได้โปรดพิจารณา พิพากษา ยกฟ้องโจทก์ด้วยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น