วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทำไม ในหลวง ไม่ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ


"เรื่องเล่า" จากแวดวงราชสำนัก:

ทำไม ในหลวง ไม่ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ
จำเลยคดีสวรรคต



ธรณีนี่นี้เป็นพยาน. . เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง

56 ปี การประหารชีวิตจำเลยคดีสวรรคต 17 กุมภาพันธ์ 2498 - 2554

โดย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล




ที่มา เฟซบุ๊ค สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


เมื่อ 6 ปีก่อน ในระหว่างที่ผมเขียนบทความเรื่อง "50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498" (ดาวน์โหลด pdf บทความนี้ได้ที่นี่่http://www.enlightened-jurists.com/page/136 ) ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกโกรธมาก คือ การที่หนังสือ The Revolutionary King (2001) ที่เขียนโดย วิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ได้ให้ข้อมูลที่ผิดบางอย่างเกี่ยวกับการประหารชีวิตจำเลยคดีสวรรคตในหลวงอานันท์

ดังที่หลายคนอาจจะทราบแล้ว สตีเวนสัน คือผู้เขียนหนังสือ A Man Called Intrepid ซึ่งในหลวงทรงแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ"นายอินทร ผู้ปิดทองหลังพระ" ในการค้นคว้าเพื่อเขียน The Revolutionary King สตีเวนสัน ได้รับพระบรมราชานุญาตให้มาใช้ชีวิตในประเทศไทยในแวดวงราชสำนัก ได้สัมภาษณ์สนทนากับทั้งในหลวง พระราชินี พระเทพ พระราชชนนี ข้าราชบริพารในพระองค์และผู้ใกล้ชิดราชสำนักจำนวนมาก น่าเสียดายที่หนังสือของสตีเวนสัน ไม่มีเชิงอรรถอ้างอิงที่แน่นอน ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่า ข้อมูลใดในหนังสือของเขา เอามาจากใครบ้าง อย่างไรก็ตาม คงไม่เป็นการเกินเลยไปที่จะคิดว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับราชสำนักส่วนใหญ่ในหนังสือของเขา เอามาจากการเล่าของคนในแวดวงราชสำนักเอง

ในหน้า 111 ของ The Revolutionary King สตีเวนสัน เขียนในลักษณะที่ว่าในหลวงทรงตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินคดีสวรรคตของรัฐบาลในขณะนั้นภายใต้การบงการของกลุ่มพิบูล-เผ่า รวมทั้งการพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย สตีเวนสันอ้างว่า ในหลวงทรงกล่าวในภายหลัง (สตีเวนสันไม่ได้ระบุว่า เอาคำพูดของในหลวงตอนนี้มาจากที่ใด)

"กระบวนการอุทธรณ์คำตัดสินกำลังดำเนินการไป" ในหลวงทรงกล่าวในภายหลัง "ข้าพเจ้าไม่สามารถบ่อนทำลายฐานะของบรรดาผู้รักษาตัวบทกฎหมายของเราอย่างซื่อสัตย์ ด้วยการเข้าแทรกแซง จนกว่าฎีกาขออภัยโทษขั้นสุดท้ายมาถึงข้าพเจ้า"

['Fresh appeals against the sentences were in the works,' he said later. 'I couldn't undermine the position of honest upholders of our written laws by intervening until a final appeal for clemancy reached me.']


สตีเวนสันเล่าต่อไปว่า แต่เมื่อถึงเวลาที่จำเลยถูกตัดสินประหารชีวิตขั้นสุดท้าย และทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ เผ่าได้ดำเนินการประหารชีวิตจำเลยไปโดยปกปิดข่าว และด้วยการกักหนังสือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ไม่นำขึั้นทูลเกล้าฯถวาย ในหลวงไม่ทรงทราบข่าวการประหารชีวิตนั้นเลย จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว และมีข่าวลือไปถึงพระองค์ (He had been told nothing about the executions. - The Revolutionary King หน้า 119) สตีเวนสันอ้างว่า ในหลวงทรงกริ้วอย่างยิ่ง (rage) . . .

ในหลวงทรงรีบกลับจากวังไกลกังวลเมื่อข่าวลือเรื่องการประหารชีวิตไปถึงพระองค์. พระองค์ได้ทรงปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ทรงเข้าแทรกแซงกับกระบวนการยุติธรรม, เพราะคิดว่าทรงได้รับหลักประกัน [จากรัฐบาล] เรื่องความเป็นอิสระและเข้มแข็งของศาลแล้ว. ในความกริ้วอย่างเงียบๆของพระองค์, พระองค์ได้ตระหนักว่าพระองค์ทรงอยู่ในฐานะไร้ซึ่งอำนาจเพียงใด. พระองค์ได้ทรงยืนยันไปก่อนหน้านั้นว่า ราษฎรทุกคนมีสิทธิที่จะถวายฎีกาขออภัยโทษถึงพระองค์โดยตรง. บัดนี้ ทรงพบว่าความพยายามที่จะถวายฎีกาถึงพระองค์ของครอบครัวแพะรับบาปทั้งสามถูกหยุดยั้่งโดยบรรดาข้าราชสำนักที่ถูกตำรวจของเผ่าดึงตัวไปเป็นพวก . . . บนโต๊ะทำงานของเผ่า หนังสือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามถูกวางทิ้วไว้

[The King hurried back for Far-From-Worry when the rumours reached him. He had let the months passed without interfering with the due process of law, thinking he had won his demand for a strong and independent judiciary. In his silent rage, he saw how powerless he really was. He had insisted that every citizen had the right to petition him directly. Now he discovered that attempts to reach him by the scapegoats’ families had been stopped by courtiers subverted by Phao’s police. . . . . On Phao’s desk remained the last written appeals from the dead men for a king’s pardon.]


(ข้อความภาษาอังกฤษข้างต้นนี้ ผมได้อ้างไว้ในบทความ โดยไม่แปลอย่างจงใจ เพิ่งมาแปลในครั้งนี้)

ในบทความของผม ผมได้ยกข้อมูลชั้นต้นร่วมสมัยจำนวนมาก ทั้งรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีและรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ มาแสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของจำเลยทั้งสามได้รับการส่งผ่านจากคณะรัฐมนตรีไปถึงราชเลขาธิการและราชเลขาธิการได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายตามกระบวนการ และต่อมา "ราชเลขาธิการแจ้ง [คณะรัฐมนตรี] มาว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกานี้" (คือไม่ทรงโปรดเกล้าฯให้อภัยโทษ) ในระหว่างที่ฎีกา ส่งถึงราชสำนักแล้ว แต่ยังไม่ทราบผล หนังสือพิมพ์สมัยนั้น รวมทั้ง สยามรัฐก็ได้รายงานข่าวอย่างแพร่หลาย มีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ไปสัมภาษณ์ ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล ราชเลขาธิการ ด้วย ซึ่ง ม.จ.นิกรเทวัญ ทรงรับสั่งยืนยันว่า "ฎีกาของจำเลยทั้งสามคนนี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายมาหลายวันแล้ว" ผมยังได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ ที ม.จ.นิกรเทวัญ จะร่วมมือกับเผ่า กักหนังสือฎีกาไว้ไม่ทูลเกล้าถวาย เพราะ ม.จ.นิกรเทวัญ เป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯให้เป็นราชเลขาธิการด้วยพระองค์เองให้อยู่ในตำแหน่งราชเลขาธิการตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2505 ซึ่งรวมเวลาที่ทรงโปรดเกล้าฯต่ออายุราชการให้ถึง 5 ครั้งจนครบตามระเบียบที่ต่ออายุราชการได้

ส่วนสาเหตุที่ทรง "โปรดเกล้าฯให้ยกฎีกา" ของ 3 จำเลยคืออะไร ผมไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน

*******

กรุณาอ่านประกอบกับกระทู้นี้https://www.facebook.com/photo.php?fbid=155497804503507&set=a.137616112958343.44289.100001298657012&theater 


เย็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2498 เจ้าหน้าที่เรือนจำบางขวางได้ไปติดต่อกับภิกษุเนตร ปัญญาดีโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดบางขวางที่อยู่ใกล้ๆกันว่าคืนนั้นขอนิมนต์ไปเทศน์ให้นักโทษที่จะถูกประหารชีวิตฟัง เวลาเดียวกันที่เรือนจำ ผู้บัญชาการ (ขุนนิยมบรรณสาร) เรียกประชุมพัศดี ผู้คุมและพนักงานเรือนจำทั้งหมด สั่งให้เตรียมพร้อมประจำหน้าที่ . . .

นักโทษ 3 คน ถูกนำตัวออกจากห้องขังมาทำการตีตรวนข้อเท้าตามระเบียบ ทั้ง 3 คน รู้ตัวทันทีว่ากำลังจะถูกประหารชีวิต . . .

นักโทษคนหนึ่งมีอาการปรกติ ขณะที่อีก 2 คนแสดงความตื่นตระหนก จนนักโทษคนแรกต้องหันไปดุว่า “กลัวอะไร เกิดมาตายหนเดียวเท่านั้น” นักโทษคนแรกยังพูดหยอกล้อกับผู้ตีตรวนได้

หลังตีตรวนเสร็จ ทั้งสามถูกนำไปพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจโรคทำบันทึกสุขภาพ แล้วถูกพาไปที่ห้องขังชั่วคราว (ปรกติเป็นห้องเยี่ยมญาติ) ขณะนั้นเวลาประมาณ 6 โมงเย็น ที่นั่นนอกจากมีผู้คุมเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เข้าประกบนักโทษคนต่อคนตลอดเวลาแล้ว ยังมีแพทย์คอยสังเกตและตรวจอาการเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเจ็บก่อนถูกประหาร มีเสื่อปูให้นอน แต่ไม่มีใครนอน ราว 19 นาฬิกา แพทย์ฉีดยาบำรุงหัวใจให้นักโทษคนแรก 1 เข็ม แต่เขายังสามารถพูดคุยกับผู้คุมได้ ขณะที่อีก 2 คน มีอาการ กอดอก ซึมเศร้า เวลา 22 นาฬิกา ผู้คุมเป็นพยานให้นักโทษทั้งสามเขียนพินัยกรรมหรือจดหมายฉบับสุดท้ายถึงญาติ . . . .


และกระทู้นี้ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=155570287829592&set=a.137616112958343.44289.100001298657012&theater

ธรณีนี่นี้เป็นพยาน. . เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง : 56 ปี การประหารชีวิตจำเลยคดีสวรรคต 17 กุมภาพันธ์ 2498 - 2554


. . . . ประมาณตี 2 หัวหน้ากองธุรการเรือนจำอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้นักโทษทั้งสามฟัง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ นักโทษทั้งสามนั่งฟังโดยสงบเป็นปรกติ หลังจากนั้น ภิกษุเนตร (ซึ่งมาถึงตั้งแต่ตี 2) ได้เทศน์ให้นักโทษทั้งสามฟังใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างการเทศน์ นายเฉลียวมีอาการปรกติ ยังสามารถนำอาราธนาศีลได้ นายชิตนั่งสงบขณะที่นายบุศย์กระสับกระส่าย เมื่อเทศน์จบแล้ว ระหว่างที่ภิกษุเนตรกำลังจิบน้ำชาและพูดคุยกับนักโทษ นายบุศย์ซึ่งมีอาการโศกเศร้าที่สุดและหน้าตาหม่นหมองตลอดเวลา บอกกับภิกษุเนตรว่า “เรื่องของผมไม่เป็นความจริง ไม่ควรเลย” และพูดถึงแม่ที่ตายไปแล้วว่าเป็นห่วง ตายนานแล้วยังไม่ได้ทำศพ นายเฉลียวทำท่าจะสั่งเสียบางอย่างกับภิกษุเนตร “กระผมจะเรียนอะไรกับพระเดชพระคุณฝากไปสักอย่าง” แต่ยังไม่ทันได้พูดอะไร พอดีกับ เผ่า ศรียานนท์ พร้อมด้วยบริวารเกือบ 10 คน เดินทางมาถึงและเข้ามานั่งในห้องที่เก้าอี้ด้านหลังภิกษุเนตร เผ่าอยู่ในชุดสูทสากลหูกระต่าย สวมหมวกแบเร่ต์สีแดง นายเฉลียวเห็นเข้าก็เอ่ยขึ้นว่า “อ้อ คุณเผ่า” หลังจากนี้ภิกษุเนตรก็กลับวัด . . . .

หลังพระเทศน์ นักโทษถูกนำกลับห้อง ทางเรือนจำจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้ แต่ไม่มีใครกิน . . . .

เวลาประมาณ 4.20 น. นายเฉลียวถูกนำตัวเข้าสู่หลักประหารเป็นคนแรก โดยอยู่ในท่านั่งงอขา หันหลังให้ที่ตั้งปืนกลของเพชรฆาต ห่างจากปืนกลประมาณ 5 เมตร นักโทษถูกมัดเข้ากับหลักประหาร มือทั้งสองพนมถือดอกไม้ธูปเทียนไว้เหนือหัวมีผ้าขาวมัดไว้ และมีผ้าขาวผูกปิดตา ด้านหน้านักโทษเป็นกองดิน ด้านหลังเป็นฉากผ้าสีน้ำเงิน บังระหว่างนักโทษกับเพชรฆาต บนฉากผ้ามีวงกลมสีขาวเป็นเป้าสำหรับเพชรฆาต ซึ่งตรงกับบริเวณหัวใจของนักโทษ เมื่อได้เวลา เพชรฆาตประจำเรือนจำ นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง ก็ยิงปืนกลรัวกระสุน 1 ชุด จำนวน 10 นัด เสร็จแล้วแพทย์เข้าไปตรวจดูนักโทษเพื่อยืนยันว่าเสียชีวิต

หลังการประหารนายเฉลียวประมาณ 20 นาที นายชิต ก็ถูกนำตัวมาประหารเป็นคนต่อไปในลักษณะเดียวกัน . . . .

หลังจากนั้นไปอีก 20 นาที ก็ถึงคราวของนายบุศย์ เขามีโรคประจำตัวเป็นลมบ่อย และเป็นลมอีกก่อนถูกนำเข้าหลักประหารเล็กน้อย ต้องช่วยให้คืนสติก่อน . . .

เพชรฆาตยิงนายบุศย์เสร็จ 1 ชุดแล้ว ตรวจพบว่านายบุศย์ยังมีลมหายใจ จึงยิงซ้ำอีก 2 ชุด โดยยิงรัว 1 ชุด แล้วตามด้วยการยิงทีละนัดจนหมดอีก 1 ชุด

ผลการยิงถึง 30 นัดนี้ทำให้เมื่อญาติทำศพ พบว่านายบุศย์เหลือเพียงร่างที่แหลกเหลว และมือขาดหายไป . . .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น