วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เคราแพะแฉพธม.โวตNOปูทางปฏิวัติ-'เบื้องบน'เล่นไพ่หลายหน้า
ลิ้มเปิดปากแก้ข่าว'กิ๊ก'สตรีสูงศักดิ์
"หลังจากกองทัพยืนยันไม่ทำปฏิวัติแน่ กระแสโหวตโนก็มาแรง คุณสนธิพูดในที่ประชุม 5 แกนนำพันธมิตรว่าไม่อยากเลือกตั้ง อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่อยากกินยาแทนใครแล้ว เบื้องบนเล่นไพ่หลายหน้า ผมก็มาคิดว่าเอ๊ะแบบนี้แปลว่าอะไร "( ช่วงท้ายชมคลิป สนธิลิ้มVSทักษิณ วิวาทะ ก้าวข้าม 3 เรื่องกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ )

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
7 พฤษภาคม 2554

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทางไทยพีบีเอสว่า สาเหตุที่ตนลาออกจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากว่าเมื่อตอนรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่แล้วต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมือง ในการเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ แต่ในการประชุมแกนนำพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมมีการเสนอว่าไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ต้องการสร้างกระแสเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งแล้วหลังจากนั้นก็มีการเสนอมาอีกให้โหวตโน ตนเป็นหัวหน้าพรรค ตามกฎหมายการโหวตโนไม่ผิดกฎหมาย แต่ตนต้องไปประชุมกรรมการสาขา กรรมการบริหารพรรค ซึ่งนายสนธิก็รับได้ ถ้ามีมติตรงกันก็โอเค แต่ถ้ามีมติไม่ตรงกันก็ต้องเคารพกัน ทุกคนก็ยอมรับ

"คุณสนธิพูดในที่ประชุม 5 แกนนำพันธมิตรว่าไม่อยากเลือกตั้ง อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่อยากกินยาแทนใครแล้ว เบื้องบนเล่นไพ่หลายหน้า ผมก็มาคิดว่าเอ๊ะแบบนี้แปลว่าอะไร ก็สังเกตว่ากระแสให้โหวตโนมาแรงหลังจากที่กองทัพยืนยันว่าไม่มีปฏิวัติรัฐประหารแน่"

เมื่อตนมาประชุมวันที่ 22 เมษายน มติกรรมการศูนย์สาขาทั่วประเทศก็ยืนยันว่าให้ส่งลงเลือกตั้ง พอวันที่ 23 ก็เริ่มมีการกล่าวหาตนและพรรคการเมืองใหม่ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็กล่าวหาหลายเรื่อง ในวันที่ 24 ตนได้ไปแจ้งมติของพรรค แต่ก็มาโจมตีกล่าวร้ายกัน ทางสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจทุกคนก็ยุติการขึ้นเวทีของพันธมิตรฯ

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในการประชุมแกนนำพันธมิตรฯ ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งนั้น มีการคุยกัน มีรายชื่อบุคคล เพื่อเตรียมการไว้หากมีการใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเป็นนักประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ต่อต้านเผด็จการ ตนในฐานะหัวหน้าพรรคและสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจฯ ก็ได้ประชุมกันและมีมติให้ตนกลับมา เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางนั้น ส่วนเรื่องการปฏิวัติ 19 กันยายน ตนก็ไม่เห็นด้วย แต่วันนั้นตนไม่อยู่ในประเทศไทย ตนไม่รู้เรื่อง ส่วนหลังจากปฏิวัติแล้วนั้นที่ไม่ออกมาต่อต้าน นายสมศักดิ์กล่าวว่า ใครจะกล้าออกมา มีปืนมีรถถัง ใครจะกล้าต่อต้าน
เวทีชุมนุมพันธมิตรในปัจจุบัน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า การรณรงค์โหวตโน คนที่ได้ประโยชน์คือพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะฐานเสียงของเขานิ่ง และถ้าเขาได้เป็นรัฐบาล พันธมิตรฯ ก็จะออกมาอีก รัฐบาลก็จะปราบปราม ประชาชนก็จะถูกยิงถูกฆ่าอีก ถ้าเราได้เสียงโหวตโนมากๆ ตนเห็นภาพว่าจะมีการให้คนมาชุมนุม ให้คนไปต่อต้านรัฐบาลว่ามาโดยไม่ชอบ ก็จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำซากวนเวียนกันเหมือนในอดีต ส่วนการชุมนุม 193 วัน นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องเฉพาะกิจ ส่วนการถอนตัวรั้งนี้ตนไม่ได้ทำลายพันธมิตรฯ แต่ตนไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเสรีภาพ เป็นสิทธิ เราไม่เห็นด้วย เราไม่เอาด้วย

ส่วนประเด็นว่ารับงานใครมาหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนมีมวลชน เคลื่อนไหวมายาวนาน เมื่อองค์กรถอนก็ต้องถอนตามองค์กร ทำไมถึงต้องขึ้นไปด่ากัน เมื่อ ตกลงกันแล้ว ซึ่งตนสงสัยว่าตอนเริ่มต้น เรียกร้องเรื่องเขาพระวิหาร ให้ยกเลิกเอ็มโอยู ให้ถอนตัวจากมรดกโลก ผลักดันเขมรออกไป ตอนหลังมาเปลี่ยนโจทย์ เราวิเคราะห์ได้ว่าทิศทางที่กำลังไปไม่เหมาะสม โดยการสนับสนุนไม่ให้มีเลือกตั้ง

ส่วนเรื่องพรรคการเมืองใหม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า พรรคการเมืองใหม่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของสมาชิกพรรค ส่วนเรื่องที่นายสนธิบอกว่าบริจาคให้พรรค 3 ล้านบาท ตอนนี้กำลังให้ตรวจสอบย้อนหลัง ตอนนี้ยังไม่พบว่ามี และถ้าไม่มีแสดงว่านายสนธิเอาเงินไปให้ใคร ต้องมีคนอมเงินบริจาคไป ซึ่งตนไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน ตอนนี้ข้างนอกมาโจมตีให้คนลาออกจากพรรค สำหรับเรื่องจุดแตกหักกับพันธมิตรฯ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ความเป็นอิสระของพรรคการเมืองใหม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้าถูกสั่งซ้ายหันขวาหัน ถ้าถูกสั่งได้พรรคนี้ก็เป็นพรรคนอมินี พรรคกาเมืองใหม่ตั้งขึ้นมามีสมาชิกทั้งที่เป็นพันธมิตรฯ และไม่ใช่พันธมิตรฯ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การต่อสู้ต้องพิสูจน์ การตั้งพรรคการเมือง ถ้ามีคนดีก็ดำเนินการไปได้ ตอนนี้มีปัญหา มีคนนอกเข้าไปกดดัน มีปัญหาก็ต้องปรับปรุง แก้กันไป จะโหวตโนก็ว่ากันไป ทางนี้ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย

"คุณสนธิก็โจมตีผมสารพัด ทำแบบนี้มันไม่ใช่มิตรแล้ว ตั้งพรรคก็ตั้งมาด้วยกัน ไม่ใช่ผมกระสันคนเดียว แต่พอตั้งพรรคแล้วไม่มีใครมาอยู่กับพรรคได้ซักคนเดียว สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็ไม่มา ทั้งที่มาได้ แต่ก็อยู่เป็นลูกน้องพรรคประชาธิปัตย์ไปด่าเขาไป พิภพ ธงไชยก็มาไม่ได้ ทั้งที่หากมาแล้วก็จะทำให้ได้รับเลือกตั้ง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็กลัวว่ามาทำงานการเมืองแล้วจะทำให้รับเงินบริจาคเข้ามูลนิธิไม่ได้ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ไม่เอา สรุปไม่มาซักคน คุณสนธิก็พูดว่าบริจาคเข้าพรรค 3 ล้าน ผมก็ไม่เคยเห็นเงินที่ว่า ไม่รู้ให้มาจริงหรือไม่จริง หากให้มาก็แสดงว่าโดนอม"

เปิดใจเถ้าแก่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ตอบทุกข้อสงสัย “การเมืองใหม่” และทำไมต้อง “Vote No” !?
กระบวนการที่โจมตีผม แล้วก็โยงเข้าไปหาสตรีชนชั้นสูง ไม่ใช่เป็นกระบวนการใหม่ มันชอบทำใบปลิวออกมา อย่างเช่น ใบปลิวกล่าวหาว่าผมมีอะไรกับภรรยาของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย แล้วคนซึ่งเป็นคนกลางจัดให้พบ ก็คือองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงตามหาบัว

เวบไซต์ASTVผู้จัดการ รายงานว่า จากกรณีที่รายการ "ตอบโจทย์" สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์ “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 2 -3 พ.ค. ที่ผ่านมา ในประเด็นที่ว่าด้วยความขัดแย้งและแตกแยกในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, ทำไมต้องโหวตโน รวมถึงมุมมองต่อชีวิต สังคม และการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยนายสนธิได้ “ตอบโจทย์” ชี้แจงความจริงจนสิ้นสงสัย

ด้วยเหตุดังกล่าว ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ จึงนำบทสัมภาษณ์ “ฉบับเต็ม” มานำเสนอผู้อ่าน เพื่อเปิดใจ “สนธิ ลิ้มทองกุล แบบ “จัดเต็ม” อีกครั้ง !

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ขอเริ่มจากประเด็นที่ถูกพาดพิง คุณสนธิปราศรัยบนเวที บอกว่าคนที่เป็นเสือ เวลาเจ็บไม่ร้อง มีแต่หมาเท่านั้นที่ร้อง อาจารย์เจิมศักดิ์มาให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ บอกกับคุณสนธิว่า แม้เป็นเสือเวลาเจ็บก็ร้องได้ ประชาชนจะได้เข้าใจ ตกลงเรื่องนี้ใครหมู่ใครจ่า ใครหมาใครเสือ

สนธิ : อันนี้เป็นสิทธิ์ของคุณเจิมศักดิที่แกจะพูด แต่ที่จริงโดยธรรมชาติแล้ว เสือกับหมา เวลาเสือมันเจ็บมันจะวิ่งเข้าป่าไปเลียแผล แล้วก็รอการแก้แค้น แต่หมานี่โดนเตะเข้าตูมเดียวก็ร้องเอ๋ง ในกรณีที่คุณเจิมศักดิ์บอกว่าเสือบางครั้งมันก็ร้อง ผมไม่ทราบว่าคุณเจิมศักดิ์เปรียบเทียบใครเป็นเสือ เปรียบเทียบผมเป็นเสือหรือเปล่า หมายความว่าผมเองก็ร้อง ผมไม่ทราบ เพราะผมไม่ใช่สัตว์

เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิ์ของคุณเจิมศักดิ์ที่จะพูดไปได้ คุณเจิมศักดิ์อาจจะเข้าใจอะไรผิดบางสิ่งบางอย่าง ถ้าจำไม่ผิดในช่วงนั้นเป็นช่วงที่รายการคุณเจิมศักดิ์ถูกรัฐบาลชุดทักษิณ (ชินวัตร) ถอดออกหมด คุณเจิมศักดิ์ก็โวยวาย ถ้าเทียบกับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางช่อง 9 ที่ผมถูกคุณทักษิณถอดออก ผมไม่โวยวาย แต่ผมสู้, สู้ด้วยวิธีของผม

ภิญโญ : แล้วต่างกันตรงไหนครับ การสู้กับการโวยวาย

สนธิ : โวยวายก็คือว่า มันต้องอมเลือดเป็นคนเรา ไม่ใช่ว่าโดนอะไรเล็กโดนอะไรน้อยก็แหกปากร้อง เรียกให้คนมาสนใจ การไม่โวยวายก็หมายความว่าเราต้องหาวิธีที่จะทำตามสิ่งที่เราเชื่อ ถามว่าสิ่งที่ผมทำในสมัยที่ผมทำเมืองไทยรายสัปดาห์ ผมเชื่อในสิ่งที่ผมทำไหม ผมเชื่อ, เมื่อถูกปิดกั้นแล้ว ผมทำได้อย่างเดียวก็คือต้องหาวิถีทางที่จะดำเนินการรายการต่อไป เพราะสิ่งที่ผมเชื่อนั้นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นการให้ปัญญาคน

เพราะฉะนั้น ผมไม่ออกมาโวยวายว่าผมโดนกลั่นแกล้ง มีอยู่ข้อเดียวเท่านั้นที่ผมจำเป็นต้องสู้ในขณะนั้นก็คือ คุณมิ่งขวัญ (แสงสุวรรณ์) และท่านประธาน อสมท ตลอดจนคุณธงทอง (จันทรางศุ) สั่งปิดรายการด้วยเหตุผลหาว่าผมไปพาดพิงถึงในหลวง สถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมก็ปฏิเสธ เพราะว่าเรื่องของเรื่องมันมาจากจดหมายเรื่อง “ลูกแกะหลงทาง” ผมก็เลยสู้ประเด็นนั้น แต่ผมไม่เคยว่าคุณทักษิณว่าเขามารังแกผม เพราะผมถือว่าอำนาจเขามี เพราะฉะนั้นแล้วผมก็ไม่ต่อต้านในอำนาจเขา เป็นเพียงแต่ว่าผมจะต้องซิกแซ็กหาวิธีที่จะเอาความรู้ของผมเข้าไปให้ประชาชนให้ได้ จะด้วยการพูดจาในหอประชุมธรรมศาสตร์ หรือการไปจัดรายการที่สวนลุมพินี ผมก็ทำไปอย่างนั้น ผมจะไม่ออกมาโวยวายเด็ดขาด

ภิญโญ : ทีนี้ช่วงที่ผ่านมา พันธมิตรฯ ก็คนเยอะ อุ่นหนาฝาคั่ง มิตรรักแฟนเพลงก็มากันเยอะ คนขึ้นเวทีก็เยอะ ช่วงหลังก็หายกันไปหลายคน อาจารย์เจิมศักดิ์พาดพิงบอกว่า แกนนำพันธมิตรฯ ช่วงหลังก็เลยมักใช้วิธีพูดซ้ำๆ พูดคนเดียว ใส่สีตีไข่ แล้วถ้าใครขัดก็ไม่ได้ ทำให้เกิดมีอีโก้มีอัตตาสูง คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ฟังกัลยาณมิตรเลย

สนธิ : อาจารย์เจิมศักดิ์ชอบใช้วาทกรรมที่เวลาโต้เถียงกัน วาทกรรมบอกว่าใส่สีตีไข่ อาจารย์เจิมศักดิ์ไม่เคยพูดยกตัวอย่างว่าใส่สีตีไข่เรื่องอะไร แล้วก็คำว่ากัลยาณมิตรนี่เตือน ผมคิดว่าอาจารย์เจิมศักดิ์เข้าใจบทบาทท่านผิด เรียก “คุณเจิมศักดิ์” ดีกว่านะครับ เพราะว่าวันนี้ไม่ควรจะเป็นอาจารย์
ภิญโญ : ทำไมไม่ควรเรียกอาจารย์ครับ

สนธิ: ก็เพราะว่าคุณเจิมศักดิ์เข้ามาอยู่ในแวดวงของนักวิเคราะห์นักวิจารณ์และอยู่ในวงการสื่อมวลชน คุณเจิมศักดิ์ก็วิพากษ์วิจารณ์ตามองค์ความรู้เท่าที่คุณเจิมศักดิ์มี แล้วคุณเจิมศักดิ์ไม่ได้สอนอะไรให้ประชาชนเลย ถ้าคุณเจิมศักดิ์ยังเป็นนักวิเคราะห์และเป็นสื่อมวลชนจริง นั่นคือบทบาทที่คุณเจิมศักดิ์จะได้รับการเชิดชู แต่วันนี้สิ่งที่คุณเจิมศักดิ์บอกว่า “ใส่สีตีไข่” ทักท้วงก็ไม่ได้ เป็นลักษณะภาพสะท้อนของคนซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นโฆษกส่วนตัว เพราะฉะนั้นแล้วคุณเจิมศักดิ์ไม่มีสิทธิ์มาว่าพันธมิตรฯ ใส่สีตีไข่ เพราะว่าคุณเจิมศักดิ์ไม่เคยเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ใส่สีตีไข่มาพูด

กรณีของไทย-กัมพูชา คนถามคุณเจิมศักดิ์ว่าคุณเจิมศักดิ์ทำไมไม่แสดงจุดยืนของคุณเจิมศักดิ์บ้าง คุณเจิมศักดิ์บอกว่าศึกษามาไม่พอ ปล่อยให้พวก “เทพ” เขาว่ากัน นี่คือลักษณะการประชดประชัน แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าคุณเจิมศักดิ์จะเป็นนักวิเคราะห์เหตุการณ์ จะเป็นคนซึ่งเอาปัญญาให้คน คุณเจิมศักดิ์จะใช้คำว่า “ศึกษามาไม่พอ” ไม่ได้

ภิญโญ : อาจารย์เจิมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์บอกว่า ถ้าพูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ คือ ประเด็นไทย-กัมพูชามันหน่อมแน้มไป พันธมิตรฯ เรียกร้องเว่อร์ไป

สนธิ : มันจะไปหน่อมแน้มได้ยังไงล่ะครับ เพราะประเด็นไทย-กัมพูชา มันเป็นประเด็นของหลักเขตแดน เป็นประเด็นที่เรายึดหลักสันปันน้ำ ตามสนธิสัญญาเดิมที่เรามี แต่เขมรไปยึดหลัก 1 ต่อ 200,000 ทีนี้ถ้าเรายอมให้เขมรใช้หลัก 1 ต่อ 200,000 เส้นที่มันลากต่อไปมันจะลากลงทะเล พอมันลากลงทะเลแล้วมันไปยังขุมพลังงาน มีมูลค่าหลายแสนล้าน ผมคิดว่าเมื่อมันนำไปสู่ขุมพลังงานแล้วทำให้ไทยเสียเปรียบ จากไทยเคยมีสิทธิ์อยู่ 3 ส่วน 5 กลายเป็นไทยเหลือแค่ 1 ส่วน 5 มันหน่อมแน้มได้ยังไงคุณเจิมศักดิ์

แล้วถ้าคิดว่ามันหน่อมแน้ม หลายเรื่องทำไมคุณเจิมศักดิ์ไม่เอามาพูดบ้าง อย่างเช่น กรณีของน้ำมันปาล์ม หรือกรณีของการทุจริตคอร์รัปชั่นสนามบินสุวรรณภูมิ คุณเจิมศักดิ์ไม่พูด อะไรคุณเจิมศักดิ์ก็ไม่พูด คุณเจิมศักดิ์จะมีชุดวาทกรรมบอกว่า ผมดูแล้ว คุณอภิสิทธิ์ยังไงก็ยังดีกว่าทักษิณ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่คุณอภิสิทธิ์ดีกว่าทักษิณ หรือไม่ดีกว่าทักษิณ ประเด็นก็คือว่า ถ้าคุณอภิสิทธิ์เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ทำไมคุณเจิมศักดิ์ไม่วิพากษ์วิจารณ์คุณอภิสิทธิ์เหมือนที่คุณเจิมศักดิ์วิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณ

ภิญโญ : อะไรที่ทำให้อาจารย์เจิมศักดิ์นิ่ง และไม่พูดในกรณีของคุณอภิสิทธิ์ครับ
สนธิ : ผมเข้าใจว่าคุณเจิมศักดิ์คือโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เป็นทางการ ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามามีอำนาจ คุณเจิมศักดิ์ก็ได้เวลาโทรทัศน์เวลาวิทยุเต็มไปหมดเลย

ภิญโญ : แกบอกแกได้อยู่ก่อนแล้วครับ ทำมา 20 ปีแล้ว

สนธิ : แกทำมา 20 ปี แต่แกก็หายไปนี่ ช่อง 11 แกก็ไม่ได้ทำมานาน

ภิญโญ : ทีนี้นอกจากกรณีอาจารย์เจิมศักดิ์, อดีตพันธมิตรฯ หลายคนก็ถูกคุณสนธิ และสมาชิกปัจจุบันพาดพิง ก็เลยมองเป็นว่า ตกลงพันธมิตรฯ แตกกันหรือเปล่า

สนธิ : ใครครับ

ภิญโญ : คุณอัญชะลี ไพรีรัก ก็ไม่ได้ขึ้นเวทีอีก ท่านสมณะจันทร์ก็ไม่ได้ขึ้นเวทีอีก
สนธิ : ต้องแยกเป็นกรณีๆ ไป คือ คุณภิญโญต้องเข้าใจว่าในการต่อสู้ครั้งแรกมันเป็นการที่เขาเรียกว่า สร้างแนวร่วม ก็คือการที่คนทุกคนที่เกลียดคุณทักษิณเข้ามาร่วมกัน ทีนี้ในส่วนของคนที่เกลียดคุณทักษิณก็มีคนที่มาห้อยโหน พวกประชาธิปัตย์เอย พวกคนที่รักพรรคประชาธิปัตย์เอย พวกหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ พวกไฮโซไฮซ้อที่อยู่แถวสุขุมวิทก็เข้ามาร่วม พอคุณอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ ดั่งใจแล้ว พวกนี้ก็เชียร์คุณอภิสิทธิ์ ผมเองก็ชอบคุณอภิสิทธิ์ตั้งแต่ต้น แต่มารับคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้

ภิญโญ : ตอนไหนครับ

สนธิ : หลังจากที่คุณอภิสิทธิ์ทำงานไปแล้วก็จับได้ว่าแกโกหก, แกโกหกหลายเรื่อง

ภิญโญ : เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องหลักๆ ที่ทำให้คุณสนธิคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยน

สนธิ : ผมคิดว่าเรื่องเขมรนี่แกโกหกจนจับได้ทุกเรื่อง ทุกคำพูดแกโกหกหมด แล้วก็อีกหลายเรื่อง แกให้ปฏิญญา 9 ข้อ ตอนที่แกขึ้นมาว่าแกจะทำให้ประเทศไทย 9 ข้อ แกไม่ได้ทำเลย แกจะแก้การเมืองที่ล้มเหลว แกก็ไม่ได้แก้การเมืองที่ล้มเหลว แกจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แกก็ไม่ได้แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แกจะแก้โน่นแก้นี่ คือแกไม่ได้ทำทั้ง 9 ข้อ แกโกหกหมดเลย ด้วยเหตุนี้เราก็เริ่มมาวิพากษ์วิจารณ์คุณอภิสิทธิ์

ทีนี้คนที่เป็นพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งก็อยู่กับเรา อยู่ในเอเอสทีวี อย่างคุณอัญชะลี ไพรีรักก็อยู่, จู่ๆ คุณอัญชะลีไม่มาขึ้นเวที ประชาชนเขาก็ถามสิ ว่าเกิดอะไรขึ้น คุณอัญชะลีถึงไม่มาขึ้นเวที คุณอัญชะลีต้องตอบประชาชน ไม่ใช่ผมตอบ สรุปง่ายๆ ว่าประชาชนต้องการคำตอบคุณอัญชะลี แต่คุณอัญชะลีให้คำตอบไม่ได้ เหตุผลที่คุณอัญชะลีให้คำตอบไม่ได้ เพราะ หนึ่ง-คุณอัญชะลีสนิทสนมกับคุณจุติ ไกรฤกษ์ เพราะคุณอัญชะลีชอบพูดว่าเป็นญาติอยู่บ้านคุณจุติ ไกรฤกษ์มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอคุณจุติมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที คุณอัญชะลีก็ไปนั่งอยู่หน้าห้อง

แล้วคุณอัญชะลีก็สนิทกับคุณวัฒนา อัศวเหม เรียกคุณวัฒนาว่า “ลุงวัฒน์” ตลอดเวลา พ่อคุณอัญชะลีก็สนิทกับคุณวัฒนา อัศวเหม คือเรื่องของคุณอัญชะลีผมพอเข้าใจส่วนตัวว่าคุณอัญชะลีสนิทกับคุณจุติ ไกรฤกษ์ แล้วจะให้มาขึ้นเวที มาวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ หรือนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะว่าคุณจุติคงไม่พอใจ ในขณะเดียวกันถ้าคุณอัญชะลีมาขึ้นเวที แล้วมาร่วมกับพวกเรา แล้วอาจารย์ปานเทพ อาจารย์เทพมนตรี ก็วิพากษ์วิจารณ์นายฮุนเซน ก็จะมีผลกระทบต่อลุงวัฒน์ของคุณอัญชะลี

ภิญโญ : เพราะอะไรครับ


สนธิ : ก็เพราะคุณวัฒนาหนีคดีไปอยู่เขมร ได้พาสปอร์ตเขมร ฮุนเซนก็ดูแลอยู่ แล้วคุณอัญชะลีก็สนิทสนมกับคุณวัฒนามาก ด้วยเหตุนี้ผมก็เลยเข้าใจ แต่ประชาชนเขาไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นแล้ว คุณอัญชะลีต้องตอบประชาชน เมื่อตอบประชาชนไม่ได้ ก็เลยเข้าไปใช้เฟซบุ๊กของตัวเองไปกระทบกระทั่งคนโน้นคนนี้บนเวที ไม่ว่าจะเป็นคุณประพันธ์เอย คุณชัชวาลย์เอย เมื่อเขาถูกระทบกระทั่ง เขาก็เลยตอบโต้เอา มันก็เลยเป็นภาพนี้

ส่วนท่านสมณะจันทร์นี่ ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องท่าน แต่รู้ว่าท่านชอบมาขึ้นเวทีแล้วมาบอกว่า มาชุมนุมกันทำไม มากีดขวางการจราจรทำไม ซึ่งมันเป็นตรงกันข้ามกับทิศทาง คุณจำลอง ศรีเมือง ซึ่งท่านอยู่สันติอโศก ท่านเป็นคนบอกเองว่า ผมเสนอว่าอย่าเอาท่านจันทร์ขึ้นเวที เพราะท่านสมณะจันทร์กำลังพูดในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเรากำลังจะทำ เพราะฉะนั้นการชุมนุมทุกแห่ง การขึ้นเวทีทุกแห่ง ถ้าใครคนใดคนหนึ่งขึ้นไป ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อชมพู เสื้อฟ้า เสื้อขาว ถ้าใครขึ้นไปพูดในสิ่งซึ่งสีเสื้อนั้นหรือว่ากลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเป้าอยู่ ก็ไม่มีใครปล่อยให้ขึ้น ปล่อยให้ขึ้นไม่ได้ มันผิดทิศทางหมด

ภิญโญ : ท่านจันทร์บอกว่าต่อไปคุณสนธิจะแตกกับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง

สนธิ : อันนั้นก็ให้ท่านจันทร์รอดูต่อไป ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง ผมคิดว่าถ้าผมจะแตกกับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็แตกด้วยเหตุผลข้อเดียว

ภิญโญ : คืออะไรครับ


สนธิ : พล.ต.จำลองเปลี่ยนไป หรือผมเปลี่ยนไป ถ้าผมเปลี่ยนไป ผมไม่ยึดถือหลักการ ผมไม่ยึดถือความถูกต้อง พล.ต.จำลองก็ไม่คบผม เช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นแล้วความผูกพันของพวกเรา มันผูกพันกันอยู่ตรงที่จิตอุดมการณ์มันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล้วการแตกหรือไม่แตก ก็ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ของแต่ละคน

ภิญโญ : อะไรที่ยึดกุมคุณสนธิกับพล.ต.จำลองไว้ อะไรคือความเห็นร่วมกัน

สนธิ : ผมคิดว่าถ้าเราจะใช้หลักทางพุทธศาสนา ก็คือ ใช้ธรรมอันเดียวกัน คือ ความจริง การออกมาครั้งนี้คนที่เริ่มต้นคนแรกคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พล.ต.จำลอง เป็นคนพูดกับผมเองว่า สนธิ ผมยอมไม่ได้ให้ประเทศไทยเสียดินแดน ผมจะออกไปประท้วงนะ แต่สนธิไม่ออกไปก็ได้นะ

ภิญโญ : แล้วทำไมคุณสนธิถึงออกไปครับ


สนธิ : ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องทำ มันเป็นธรรมอันเดียวกัน คือพี่ลองทำอะไร จะไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเป็นเรื่องส่วนรวม สิ่งที่พี่ลองทำเป็นเรื่องส่วนรวมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแล้วผมมีความเชื่อใจในตัวพล.ต.จำลอง 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วผมก็มีปัญญาของผมวิเคราะห์เองได้ แล้วผมก็วิเคราะห์เหตุการณ์ไทย-กัมพูชา วิเคราะห์การตัดสินใจของนายกฯ อภิสิทธิ์ วิเคราะห์ทุกเรื่อง ผมก็เห็นว่าพี่ลองพูดถูกต้องทุกเรื่องเลย

แล้วที่นายกฯ อภิสิทธิ์ไปที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง ไปรับปากรับประกันว่าจะไม่มีวันเสียดินแดน นายกฯ อภิสิทธิ์เคยพูดว่า 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย แล้วตอนหลังก็โกหกบอกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนไปแล้ว คือเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วนายกฯ อภิสิทธิ์ไม่เคยใช้เหตุผลที่ถูกต้องหรือตรรกะที่ถูกต้องได้ว่า ทำไมนายกฯ อภิสิทธิ์ถึงไม่ยกเลิก MOU2543 ซึ่งแกพูดไม่ได้เลย แกพูดแค่ว่า มีประโยชน์ มีประโยชน์ตรงไหน จนวันนี้ฆ่ากันจะตายแถวสุรินทร์ ยิงกันอีกแล้ว นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ไม่พูดถึง MOU2543อีกเลย

ภิญโญ : ทำไมไม่กล้ายกเลิกครับ


สนธิ : ผมก็ไม่ทราบ คุณต้องไปถามนายกฯ อภิสิทธิ์ ผมเองก็งงว่าทำไมคุณถึงไม่กล้ายกเลิก

ภิญโญ : ตั้งแต่ประท้วงกันหน้าทำเนียบรัฐบาล คุณสนธิเคยยกหูหาคุณอภิสิทธิ์ หรือคุณอภิสิทธิ์ให้คนโทร.มาหาคุณสนธิไหมครับ


สนธิ : ไม่เคยครับ แต่เราเคยพบกัน 3-4 ครั้ง ตอนที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ใหม่ๆ พบกันที่บ้านคุณกอรปศักดิ์ (สภาวสุ) ผมเข้าใจว่าตอนนั้นเขาไปขอความเห็นผม ผมก็ให้ความเห็นเขา เวลาคุยด้วยส่วนตัวเขาคุยดี เหมือนจะเข้าใจทุกเรื่อง ตกลง แต่พอลับหลังไปแล้วไม่ทำสักเรื่องหนึ่ง ไม่ทำเลยแม้แต่เรื่องเดียว

ภิญโญ : คุณสนธิวิเคราะห์ได้ไหมครับว่าเป็นเพราะอะไร

สนธิ : ผมเข้าใจว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นคนลักษณะแบบนี้ คือพูดจาให้ดี แตะทุกคนเอาไว้ เหมือนที่คุณอภิสิทธิ์คุยกับคุณอานันท์ ปันยารชุน กับคุณหมอประเวศ วะสี เรื่องปฏิรูปบ้านเมือง เสร็จแล้วคุณอภิสิทธิ์ต้องการที่จะชะลอความกดดันก็เลยใช้คุณอานันท์กับคุณประเวศ พอใช้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จัดงบประมาณให้ก้อนหนึ่งไป แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็ทิ้งแล้ว วันนี้คุณอภิสิทธิ์ไม่พูดถึงงานปฏิรูปการเมืองของคุณอานันท์ ปันยารชุน งานปฏิรูปการเมืองของหมอประเวศ วะสี นี่คือนิสัยของคุณอภิสิทธิ์

ภิญโญ : ตกลงคุณสนธิกำลังจะบอกว่าคุณอภิสิทธิ์ต้มคนแก่หรือครับ ต้มคุณอานันท์ หมอประเวศ และคุณสนธิเอง

สนธิ : ผมว่าคุณอภิสิทธิ์กำลังต้มคนไทยทั้งประเทศ โดยมีคุณเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ณ วันนี้เป็นหัวหอกอย่างไม่เป็นทางการ ออกมาปกป้องคุณอภิสิทธิ์ เพราะฉะนั้นแล้วใครก็ตามที่โจมตีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเรื่องการทำงาน ก็จะโดนกระบวนการของคุณอภิสิทธิ์

ภิญโญ: แล้วตกลงพรรคการเมืองใหม่ ใครต้มใครครับ

สนธิ : คุณภิญโญต้องทราบที่มาที่ไปของพรรคการเมืองใหม่ก่อน ถึงจะเข้าใจ หลังการชุมนุม 193 วันแล้ว เรามีการคุยกันว่าเราจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองยังไงต่อ ผมวันนั้นผมก็อยากจะกลับมาทำเอเอสทีวี ทำหนังสือพิมพ์ ทำเว็บไซต์ผมเหมือนเดิม คนที่อยากจะตั้งพรรคก็คือคุณสุริยะใส กตะศิลา และคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข ผมก็ค้าน ค้านมาตลอด แล้วในที่สุดก็เลยมีมติว่า ถ้าอย่างนั้นเรียกประชุมพันธมิตรฯ

ภิญโญ : ทำไมคุณสนธิถึงค้านไม่อยากตั้งพรรคการเมือง


สนธิ : ผมมีความรู้สึกว่า ผมอยากจะอยู่กับสื่อ มีความรู้สึกว่าผมอยากจะอยู่กับมันและพัฒนามันต่อไป เพราะผมไม่มีเวลาทำงานกับมันเลยแม้แต่นิดเดียว อยากจะเข้าไปสัมผัสเด็กรุ่นหลัง แล้วก็ฝึกอบรมเขา ให้องค์ความรู้เขา เพราะเวลาผมไม่มีในช่วงหลัง ผมก็เลยอยากจะอยู่กับสื่อ แต่เผอิญก็อย่างว่าล่ะ เรา 5 คน เวลามีมติกันแล้วมันก็ผูกมัดกัน ก็ต้องไป ก็เลยมีความคิดว่า ถ้าอย่างนั้นลองประชุมใหญ่พันธมิตรฯ แล้วก็ถามความเห็นกัน ในที่สุดแล้ว เขาก็มีมติ 70-80 % ที่จะตั้งพรรคกัน คนที่อยู่กับผมหลายคนก็ไม่เห็นด้วย คุณสุรวิชช์ วีรวรรณก็ไม่เห็นด้วย บอกไม่ควรจะตั้ง

พอตั้งขึ้นมาปั๊บ มันก็มีคำถามว่า พรรคการเมืองใหม่จะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค ก็ต้องยอมรับว่า พันธมิตรฯ เป็นกลุ่มมวลชนที่ไม่ใช่หัวแข็ง แต่เป็นคนมีปัญญา ใครไปสั่งหันซ้ายหันขวาไม่ได้ ทีนี้ทางเหนือ ทางตะวันออก ทางอีสาน ทางใต้ เขาก็มีแกนนำของเขา เขาก็เสนอกันมาเต็มไปหมดเลย คุณสมศักดิ์ก็จะถูกเสนอ คนโน้นก็จะถูกเสนอ คนนี้ก็จะถูกเสนอ มันกลายเป็นเบี้ยหัวแตก มันคงจะยกมือและสู้กันแหลกในที่ประชุม ในที่สุดแล้วคนก็เลยมาบอกว่าเอาผมเป็นหัวหน้าพรรค ทุกคนก็เลยยอมหมด คุณประพันธ์เป็นคนเริ่มตัวนี้ คุณประพันธ์ไปปราศรัยที่หาดใหญ่ก่อนที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่เสียด้วยซ้ำ ว่าเสนอให้ผมเป็นหัวหน้าพรรค ลึกๆ ผมยังฉุนคุณประพันธ์เลย ฉุนเพราะว่า ไปดึงชื่อผมขึ้นมา ผมอยู่ของผมเฉยๆ

ภิญโญ : คุณสนธิไม่เคยอยากเป็นเลยหรือครับ หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่

สนธิ : ไม่เคยอยากเป็นเลยครับ ไม่เคยอยากเป็นเลย แต่เหตุผลที่จำเป็นต้องเป็นในช่วงนั้นมี 2 เหตุผล ผมก็บอกว่าถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคผมจะเป็นชั่วคราว ให้พรรคมันก่อตั้งแล้วผมไม่ลงเลือกตั้งนะ แล้วผมจะลาออก

ภิญโญ : แต่ก่อนหน้านั้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า คุณสนธิปราศรัยว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง
สนธิ : มันขึ้นอยู่กับนัยที่คุณภิญโญต้องตีความว่า ตำแหน่งทางการเมืองคืออะไร สำหรับผมแล้วตำแหน่งทางการเมืองคือตำแหน่งที่เป็นการเมืองจริงๆ คือ เป็นรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขาธิการนายกฯ หรืออะไรทำนองนี้ แต่การที่เป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราวเพื่อก่อตั้งขึ้นมาแล้วให้พรรคมันอยู่ได้แล้วลาออก ผมไม่ได้ถือว่านี่เป็นตำแหน่งทางการเมือง เหมือนกับเป็นตำแหน่งทางบริหารเพื่อจัดรูปแบบของพรรคให้มันเกิดขึ้น ให้มีสำนักงาน ให้มีหน่วยงานฝึกอบรม หน่วยงานวิชาการ ให้วางนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็ลาออก ซึ่งผมก็ลาออกจริง ผมอยู่สั้นๆ ผมอยู่ประมาณไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ผมก็ลาออก

ภิญโญ : ทีนี้พรรคก็ตั้งแล้ว การเลือกตั้งก็กำลังจะมาถึง ทำไมไม่ปล่อยให้เลือกตั้งแล้ววัดความนิยมของพรรคการเมืองใหม่ไปเลยล่ะครับ

สนธิ : นี่ล่ะคือปัญหาใหญ่ เพราะว่าเรามาสรุปในการประชุมพันธมิตรฯ มีผม มีคุณสมศักดิ์ มีคุณสมเกียรติ (พงษ์ไพบูลย์) มีคุณพิภพ (ธงไชย) และมี พล.ต.จำลอง เรามาประชุมแล้วมีความเห็นว่า ถ้าการเมืองระบบมันเป็นอย่างนี้อยู่ มันจะเป็นลักษณะ “อัปรีย์ไปจัญไรมา” มันไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว เราเป็นคนบอกคุณสมศักดิ์ในฐานะซึ่งคุณสมศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ แล้วคุณสมศักดิ์เป็นตัวแทนของพันธมิตรฯ ที่ส่งไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เพราะว่าตอนที่เลือกหัวหน้าพรรคคนต่อมาจากผม มีหลายคนจะสมัครแข่ง เรามีมติว่า ส่งคุณสมศักดิ์ไปเป็นหัวหน้าพรรคก็แล้วกัน แล้วผมนี่เป็นคนไปพูดกับคนที่จะลงสมัคร บอกให้ถอนตัวดีกว่า ไม่อยากให้ทะเลาะกันในพรรค คุณสมศักดิ์ก็คือเป็นตัวแทนของแกนนำพันธมิตรฯ ไปเป็นหัวหน้าพรรค เพราะฉะนั้นคุณสมศักดิ์จะต้องนำฉันทามติของแกนนำไปชี้แจงให้กับสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ และไปชี้แจงกับกรรมการบริหารพรรค

ภิญโญ : เป็นฉันทามติหรือเถ้าแก่สั่งครับ

สนธิ : ไม่มี, จะเป็นเถ้าแก่ได้ยังไง แสดงว่าคุณไม่ได้ฟังรายการที่ออกมาเมื่อคืนวันจันทร์...

ภิญโญ : เขาย้อนคุณสนธิกลับมาครับ ผมก็ฟังรายการคุณสนธิอยู่


สนธิ : ไม่ครับๆ เพราะว่าคนซึ่งมีมติให้ “โหวตโน” ไม่ใช่ผม ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมมีมติอยู่อย่างเดียวว่า พรรคการเมืองใหม่ไม่ควรที่จะส่ง ไม่ควรที่จะส่งนักการเมืองลง แต่โหวตโนนี่เป็นการประชุมอีกครั้งหนึ่ง การประชุมอีกครั้งหนึ่งที่ประกอบด้วยพันธมิตรฯ รุ่น 1 รุ่น 2 และประกอบด้วยคณะกรรมการปกป้องแผ่นดิน 17 คน ซึ่งผมไม่ได้อยู่ ผมไปรักษาตัว แล้วก็มีการเสนอว่าถ้าอย่างนั้นใช้โหวตโนก็แล้วกัน ซึ่งเป็นการแสดงความรู้สึกว่าเราไม่เห็นด้วยกับระบบการเมืองปัจจุบัน

ภิญโญ : โหวตโนนี่ใครเป็นคนคิดขึ้นมาครับ


สนธิ : อย่าไปรู้เลย ผมขี้เกียจให้คนนั้นเป็นเป้า เอาเป็นว่า เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมกลับมา คุณจำลองบอก สนธิ พวกเราเอาอย่างนี้นะ ผมก็บอกว่า เอาก็เอาสิพี่, เอาก็เอา เพราะฉะนั้นแล้วคนซึ่งมาว่าผมเป็นเถ้าแก่นี่เข้าใจผมผิดหมดเลย ผมไม่ได้รู้เรื่องเลย แต่ไม่เป็นไร ผมไม่ถือสาหรอก เพราะว่า... โทษนะครับคุณภิญโญ โทษนะครับท่านผู้ชม... ทุกวันนี้อะไรๆ ก็กูอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อเป็นแกนนำ หรือเป็นผู้นำมวลชน ต้องยอมรับอาวุธต่างๆ ที่เขาใส่ให้

ด้วยเหตุนี้มันก็เลยเกิดกระบวนการต่อไป แล้วพรรคการเมืองใหม่จะเอาอย่างไร คุณสมศักดิ์เขาก็เห็นด้วยนะกับการไม่ส่งลง แกก็ยังบอกว่า แต่ผมต้องเอาไปหารือกับสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคก่อน จนกระทั่งพัฒนาต่อมาถึงการลงคะแนนเสียงเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้ เมื่อการลงคะแนนเสียงแล้ว คนประมาณพันกว่าคน เกือบสองพันคน 90%บอกว่าให้โหวตโน คุณสมศักดิ์ในฐานะหัวหน้าพรรค สามารถที่จะใช้มติในการลงคะแนนเสียงครั้งนั้นเป็นมติไปเลย แต่คุณสมศักดิ์ไม่ใช้ คุณสมศักดิ์กลับไปใช้ว่า ถือว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็น เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว คุณสมศักดิ์ก็จะเอาความคิดเห็นนี้ไปหารือกับกรรมการบริหาร เพราะตามกฎหมายแล้วกรรมการบริหารมีสิทธิตัดสินใจ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้ยุ่งเลย สุดแล้วแต่พรรคการเมืองใหม่ ถ้าพรรคการเมืองใหม่เดินสวนทางกับพันธมิตรฯ ก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิที่พรรคการเมืองใหม่ทำได้ แต่พันธมิตรฯ ก็จะเดินหน้าโหวตโนอย่างเดียว ซึ่งเมื่อโหวตโนแล้ว เราก็จะโหวตโนทุกพรรค รวมไปจนถึงพรรคการเมืองใหม่ด้วย

ภิญโญ : คุณสนธิก็เลยปราศรัยบนเวที บอกว่า กระสันกันนักอยากจะเป็น ส.ส. หลงลาภ หลงยศ


สนธิ : คือโดยเบื้องหลังแล้วมันมีคนที่อยากจะลงปาร์ตี้ลิสต์ คนคิดง่ายๆ ว่า เฉพาะกรุงเทพฯ อย่างเดียว คราวที่แล้วเลือกตั้ง ส.ก.-ส.ข.ถึงแม้พรรคการเมืองใหม่จะไม่ได้ แต่ก็มีเสียงบริสุทธิ์แสนกว่าเสียง เขาก็มองว่าเสียงบริสุทธิ์ของพรรคการเมืองใหม่ทั่วประเทศน่าจะมีสักล้านสองล้านเสียง เพราะฉะนั้นแล้วปาร์ตี้ลิสต์ 1 2 3 4 5 น่าจะได้กัน ก็เลยขยันกันหาเสียง ขยันกันมาโจมตีพันธมิตร โจมตีแกนนำพันธมิตรฯ โจมตีผม คือตัวเองอยากลง ตัวเองเป็นใครผมไม่รู้ แต่มีประธานสาขาพรรคซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น อยากจะลง ส.ส. ก็เลยพลิกประเด็น คือ เรามองภาพใหญ่มากกว่า มองการปฏิรูปทางการเมืองมากกว่าการส่งคนลงปาร์ตี้ลิสต์ 4-5 คน แล้วได้ 4-5 คน แล้วเข้าไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ในสภา แล้วก็ไปอยู่ในวังวนของน้ำเน่าเหมือนเดิม เรากลับมองว่า อย่าเพิ่งลงตอนนี้ได้ไหม ลงงวดหน้า แต่ออกมาทำงานร่วมกัน ทำโหวตโนร่วมกันเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าระบบการเมืองปัจจุบันมันไปไม่รอดแล้ว แล้วรอจังหวะที่ดี แล้วค่อยลงงวดหน้า เขาไม่รอกัน ก็เรื่องของเขา

ภิญโญ : ทีนี้คนเขาถามว่า โหวตโนแล้ว so what โหวตโนแล้วไปยังไงต่อครับ

สนธิ : คือโหวตโนมันไม่เหมือนปฏิรูปการเมืองที่คุณอานันท์เขาทำหรือที่หมอประเวศทำ โหวตโนคือการออกไปแสดงสิทธิ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรฯ คุณไม่จำเป็นต้องชอบผม แต่ถ้าคุณโหวตโนแสดงว่าคุณไม่ชอบพรรคทุกพรรค เราก็ไม่ชอบพรรคทุกพรรค เราถึงโหวตโน แต่ว่านัยเบื้องหลังของการไม่ชอบพรรคทุกพรรคนั้นคือว่าเราไม่ชอบระบบการเมืองปัจจุบัน เพราะระบบการเมืองปัจจุบันมันเป็นระบบบริษัทพรรคการเมืองจำกัด เป็นบริษัทพรรคประชาธิปัตย์, บริษัทพรรคเพื่อไทย

เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองปัจจุบัน มันไม่ได้เลือก ส.ส. เข้าไปเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ มันเลือก ส.ส. เข้าไปเพื่อเลือกคนเป็นนายกฯ แล้วก็เพื่อยกมือให้กับนโยบายของมัน ด้วยเหตุนี้ เขาไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรฯ เขาไม่จำเป็นต้องชอบผม แต่ถ้าเขาโหวตโนแสดงว่าเขาคิดเหมือนเรา เมื่อคิดเหมือนเรา คนที่คิดเหมือนเรา สามารถที่จะรวมเป็นพลัง ถ้าสมมติมีคนโหวตโนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน มันจะมีผลทางการเมืองมาก มันจะมีผลตรงที่ว่า มันจะก่อให้เกิดจริยธรรมทางการเมือง ว่าคนอย่างน้อย 5 ล้านคน แล้ว 5 ล้านคนนี้ มีอิทธิพลมากพอ และมีจำนวนมากกว่าคนที่ลงปาร์ตี้ลิสต์ทุกๆ พรรค สมมติว่าแยกพรรคประชาธิปัตย์ออก แยกพรรคเพื่อไทยออก เผลอๆ 5 ล้านคนยังจะมากกว่าปาร์ตี้ลิสต์ของประชาธิปัตย์ มากกว่าปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทย

ภิญโญ : ถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่ให้ 5 ล้านคนนั้นโหวตให้พรรคการเมืองใหม่เสียเลย
สนธิ : ไม่ได้ๆ เพราะว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นพรรคที่บางคนเขาไม่ชอบ เป็นสิทธิของเขา แต่ว่าถ้าระบบแล้วนี่เขาเห็นด้วย เห็นด้วยกันหมดเลย

ภิญโญ : คุณสนธิเอาความมั่นใจมาจากไหนครับ ทั้งๆ ที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ก็พูดเรื่องปฏิรูปการเมือง อาจารย์ประเวศ วะสี ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งนั้นลงมาทำเรื่องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศไทย

สนธิ : คุณอานันท์กับคุณประเวศ มาทำโดยเอาชื่อเสียงส่วนตัวมาทำ แต่ผมเสนอไปให้โหวตโนนี่เอาจิตวิญญาณของทุกคนมาทำ จิตวิญญาณของการไม่ชอบ อุปมาอุปมัยเหมือนคุณต้องการจะบอยคอตสิ่งๆ นี้ เพราะคุณไม่ชอบมันเหลือเกิน เขาไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนคุณ เขาไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรฯ แต่เขาไม่ชอบไอ้ร้านขายของร้านนี้ เพราะหนึ่ง-มารยาทมันทราม สอง-มันดูถูกคน สาม-มันคิดเงินแพง มันก็บอยคอตโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นแล้วลักษณะของการบอยคอตโดยใช้จิตวิญญาณบอยคอต จะหนักแน่นและมีอิทธิพล แล้วก็มีความหมายมากกว่าการขายชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน หรือหมอประเวศ วะสี เพราะคุณอานันท์ ปันยารชุน กับหมอประเวศ วะสี ก็ทำได้เพียงอย่างเดียว ก็บอกว่า ขอปฏิรูปการเมือง เอานักวิชาการมาสัมมนา ของบประมาณจากรัฐบาลมาแล้ว ก็มาจัดสัมมนา เอาเงินจัดสัมมนา ทำได้เพียงแค่นั้น แต่โหวตโนต้องลุกขึ้นไป เข้าไปในคูหาเลือกตั้งแล้วกาโหวตโน คือไม่ประสงค์จะเลือกพรรคใด ตรงนี้จะมีน้ำหนักมากกว่า

ภิญโญ : การเมืองใหม่ของสังคมไทยที่คุณสนธิอยากเห็นจริงๆ หน้าตาเป็นยังไงครับ
สนธิ : ผมคิดว่าผมไม่เห็นด้วยกับลักษณะการเลือกผู้แทนที่เป็นการเลียนแบบตะวันตก ผมถามคุณคำหนึ่งก็แล้วกันว่า คนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรหรือไม่ควรที่จะรู้เรื่องการเมือง แต่ไม่ควรที่จะรู้เรื่องการเมืองเลย ผมก็ถามกลับ ถ้าอย่างนั้นจะมีการเมืองไปทำไม คุณเป็นหมอ คุณยังต้องรู้เรื่องหมอเลย คุณเป็นสื่อมวลชน คุณต้องรู้จักเทคนิคต่างๆ ประเด็นง่ายๆ ก็คือคนไทยพร้อมบ้าง ไม่พร้อมบ้าง ผมถามต่อว่าการเมืองคืออะไร ถ้าการเมืองคือการซึ่งพรรคภูมิใจไทยไปซื้อ ส.ส.โคราช มาคนหนึ่ง จ่ายไป 70 ล้าน แล้วหาเสียงทุ่มเงินอีก 40 ล้าน เป็น 110 ล้าน คุณเนวิน ชิดชอบ บอกว่า ส.ส.งวดนี้แกจะมีสัก 40 คน 40 ถ้าคูณด้วย 50 ล้าน ก็ 2,000 ล้าน แล้วพรรคอื่นล่ะเท่าไร เพราะฉะนั้นการเมืองที่มันต้องใช้เงิน 2 หมื่น 3 หมื่นล้าน เพื่อเลือกตัวแทนประชาชนขึ้นมา มันไม่ใช่เป็นการเมืองที่มีตัวแทนประชาชนอย่างบริสุทธิ์ใจ ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องมาทำการเมืองใหม่กัน

ภิญโญ : ทำไมไม่ไปจับที่การทุจริตคอร์รัปชั่น, การซื้อเสียงครับ

สนธิ : คุณถามคุณอภิสิทธิ์สิ คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยคิดเรื่องนี้ ไม่เคยสนใจ เพราะคุณอภิสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองน้ำเน่า เหตุผลที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ทำตรงนี้ก็เพราะว่าจะไปกระทบพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งคุณอภิสิทธิ์หวังที่จะเข้ามาสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ ด้วยเหตุนี้ไงล่ะครับ คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยคิดทำเลย ไม่เคยคิดที่จะดำเนินกระบวนการที่จะต่อต้านการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง ไม่เคยคิดที่จะแก้กฎหมายให้ลงโทษคนซื้อสิทธิ์-ขายเสียงให้มากกว่านี้ ไม่เคยคิดที่จะสร้างองค์กรเอกชนเพื่อป้องกันในการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง ไม่เคยแม้กระทั่งภาคเอกชน องค์กรเอกชน ที่สามารถมาตรวจสอบการเลือกตั้งได้ คุณอภิสิทธิ์ก็ยังไม่สนับสนุน คุณอภิสิทธิ์เฉย พอพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาการทุจริต ซึ่งที่คุณภิญโญถาม คุณอภิสิทธิ์ไม่ทำ คุณสมัครก็ไม่ทำ คุณสมชายก็ไม่ทำ นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีใครทำ ก็เพราะถ้าทำไปแล้วจะไปปิดกั้นผลประโยชน์ของเขา

ภิญโญ : หลายครั้งคุณสนธิเลยเสนอบนเวทีให้ทหารทำรัฐประหารเลย

สนธิ : ผมบอกว่าถ้าผมมีอำนาจ, ถ้าผมมีอำนาจอยู่ในมือ ผมจะยึดอำนาจ แล้วผมจะล้างประเทศไทย ผมจะเอาการเมืองที่บริสุทธิ์ อย่างน้อยที่สุด ใกล้เคียงการเมืองบริสุทธิ์ ผมไม่ต้องการให้เป็นบริษัทพรรคการเมืองจำกัด ผมไม่ต้องการ ผมต้องการการเมืองที่ลงไปแก้ปัญหาประชาชนจริง เหมือนอย่างปัญหาข้าว ทำไมคุณเห็นข้าวขึ้นราคามาตลอด แต่ผมเห็นชาวนาที่ขายข้าวคนกลาง ราคาขายยังเท่าเดิม น้ำมันปาล์มก็ขึ้นตลอดเวลา ชาวสวนยาง ปาล์ม ที่ขายปาล์มเข้ากับโรงงาน ก็ยังได้ราคาเดิม คนกลางกับพ่อค้าส่งออกเป็นคนได้ ผมถามว่าปัญหาประเทศไทยแก้ได้ไหม แก้ได้หมดทุกเรื่อง ปัญหาข้าวแก้ได้ไหม แก้ได้ แก้ได้ตรงไหน แก้ได้ตรงที่ว่า ถ้านักการเมืองทำเพื่อประโยชน์ของชาวนา ไม่ใช่นักการเมืองทำเพื่อประโยชน์คนส่งออก น้ำมันแก้ได้ไหม แก้ได้ ถ้าเราแก้เพื่อที่จะให้น้ำมันราคาถูกลง การสั่งซื้อน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันต้องเป็นของรัฐ

ภิญโญ : ไม่ต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือครับ

สนธิ : ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่การได้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่แก้ระบบการเมืองเพื่อไม่ให้มีการผูกขาด ณ วันนี้ กติกาทางการเมือง กติกาทางกฎหมาย เป็นกติกาซึ่งเสนอเพื่อให้ผูกขาดแก่กลุ่มทุน แล้วประชาชนมีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้นเอง ก็คือสนับสนุนกลุ่มทุน ผมพูดบนเวทีไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ ผมพูดมาตลอดเวลา พ่อแม่ส่งลูกหลานเรียน 4 ปี ที่มหาวิทยาลัยเอกชน 1 ล้านบาท 4 ปี เฉลี่ยจบมาได้เงินเดือน 7,500-8,000 แปลว่าอะไร ผิดปกติแล้ว ผิดปกติ การส่งเด็กไปเรียน 4 ปี ล้านหนึ่ง จบมาต้องได้เงินเดือน 15,000 หรือ 20,000 บาท ที่มันผิดปกติก็เพราะว่า ข้างบน คือกลุ่มทุนนั้นเขาคุมต้นทุนข้างล่างเอาไว้

คุณภิญโญ คุณอายุยังไม่มาก สมัยผมหนุ่มๆ ผมผ่อนบ้าน 15 ปี ผมดาวน์ 30 % ผมผ่อนรถ 3 ปี ผมดาวน์ 25% สมัยผมหนุ่มๆ พอผมผ่อนบ้านเสร็จแล้ว โดยเฉลี่ยแล้วยุคคนอย่างผมนี่ 45 ปี ผ่อนบ้านหมด ยังเหลือเวลาอีก 15 ปี กว่าจะเกษียณ 15 ปีนี่คือ 15 ปีของการสะสมเงินทองที่ไม่ต้องผ่อนแล้ว เมื่อได้เงินก้อนหนึ่ง ไปซื้อทองคำ ได้เงินก้อนหนึ่งไปซื้อที่ดิน ได้เงินก้อนหนึ่งไปซื้อหุ้น มายุคนี้ ช่วง buffer ช่วงนี้ กันชนช่วงนี้ เป็นช่วงซึ่งคนรุ่นต่อๆ ไปจะมาใช้ต่อได้ กลับไม่มีแล้ว ทำไมไม่มี ก็เพราะพวกคุณเงินเดือน 8,000 บาท 7,000 บาท 9,000 บาท ต้องไปผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งให้คุณ 20,000 บาท คุณต้องผ่อนรถคันหนึ่ง ผ่อนบ้านหลังหนึ่ง คุณจะไปผ่อนได้ยังไง ผ่อนได้สิ เพราะว่านายทุนมันยืดเวลารถคุณจาก 3 ปีเป็น 5 ปี เป็น 7 ปี ยืดเวลาบ้านคุณ สมัยผม 15 ปี เป็น 25 ปี เป็น 30 ปี เพราะฉะนั้นแล้วช่วงกันชนที่คนจะผ่อนหมด คุณเกษียณอายุแล้วคุณยังผ่อนบ้านไม่หมดเลย ตรงนี้ล่ะคือจุดผิดปกติ ตรงนี้คือจุดที่เราต้องมาแก้ไข ไม่ให้มีทุนมาผูกขาด แล้วทุนผูกขาดผ่านใครล่ะ ก็คือผ่านพรรคการเมือง

ภิญโญ : ถ้าคุณสนธิเกิดมีอำนาจวาสนาขึ้นมาจริง สามารถจัดการการเมืองไทยได้ในอุดมคติ คุณสนธิจะทำอย่างไรครับ ปัญหามันใหญ่ซะขนาดนี้

สนธิ : ผมจะทำยังไงเหรอ คุณมาถามคำถามผมในเวลาที่สั้นๆ ซึ่งคำถามที่ผมต้องตอบคุณนี่ต้องตอบเป็นวันๆ เอาล่ะ เป็นอย่างนี้ดีกว่า โดยหลักปรัชญาแล้วเราต้องสร้างระบบที่ให้คนเคยได้มากๆ ยังได้อยู่ แต่ได้น้อยลง สร้างระบบให้คนที่ไม่เคยได้เลย ให้เขาได้บ้าง แล้วสร้างโอกาส สร้างโอกาสให้คนที่ไม่มีพ่อแม่รวย ไม่มีชาติตระกูลที่มาสนับสนุน และไม่มีเงินทุน ให้เขาสามารถเจริญเติบโตได้ ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ งบประมาณทางหลวงของแผ่นดิน สมมติว่าคุณจะสร้างถนนจากกรุงเทพฯ ทะลุไปหนองคาย มีงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ผ่านโคราชเท่าไร ผ่านขอนแก่นเท่าไหร่

ผ่านอุดรฯ เท่าไหร่ ผ่านหนองคายเท่าไหร่ คุณต้องซอยแต่ละส่วนออกไป ให้โคราชรับไปส่วนนั้น แล้วก็ระบุชัดเลยว่า ถนนช่วงกรุงเทพฯ-โคราช ในโคราชช่วงนั้นเป็นช่วงซึ่งผู้รับเหมาในโคราชเท่านั้นที่จะได้งาน ไม่ใช่อะไรๆ ก็ตกมาที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ตกที่ซิโน-ไทย

เพราะฉะนั้นแล้วนี่คือการให้โอกาสคนได้เกิด เมื่อคนเกิดผมก็อยากให้คนรวย ผมอยากให้มีเถ้าแก่อย่างคุณชวรัตน์ (ชาญวีรกูล) ซิโน-ไทย หรือว่าเถ้าแก่อย่างหลายๆ คน อย่างคุณธนินท์ เจียรวนนท์ เกิดขึ้นในอีสาน เกิดขึ้นในภาคเหนือ เกิดขึ้นในภาคใต้ ไม่ใช่มากระจุกเถ้าแก่อยู่เพียงไม่กี่คนในประเทศไทย แล้วมันก็เอาเงินไปซื้อการเมือง ลงทุนทางการเมือง แล้วก็ให้พวกมันร่ำรวยขึ้นไปตลอด แล้วไอ้คนข้างนอก คนอีสาน ลูกอีสานทั้งหลาย หรือคนซึ่งทำงานทั้งหลาย ไม่ว่าจะเสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อขาว หรือแม้กระทั่งคนพวกแบ็คอัพของคุณที่อยู่หลังกล้องพวกนี้ ให้เขามีโอกาสเจริญเติบโตของเขา ให้ครอบครัวของเขามีทิศทางทำมาหากินได้ ไม่ใช่เป็นลูกจ้างเขาไปตลอดชีวิต นั่นคือปรัชญาโดยกว้างๆ

ภิญโญ : สิ่งเหล่านี้ทำโดยผ่านนโยบายของพรรคการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านประชาธิปไตย หรือว่าระบบแบบตะวันตกได้ไหม

สนธิ : ไม่ได้, มันต้องแก้ระบบการเมือง การเมืองหลายอย่าง การเมืองในอนาคตที่เหมาะกับประเทศไทยจะต้องเป็นการเมืองที่ หนึ่ง - เป็นการเมืองคัดสรร คนหลากหลายอาชีพเข้ามา สอง - เป็นการเมืองที่เลือกตั้งส่วนหนึ่ง สาม - เป็นการเมืองที่แต่งตั้งส่วนหนึ่ง

ภิญโญ : จะเชื่อใจคนแต่งตั้งได้อย่างไร


สนธิ : อย่างน้อยมันก็คงไม่เลวไปกว่าการที่เอาเงินไปซื้อเสียงเขามา และที่สำคัญที่สุด ความโปร่งใสในการปกครองชาติบ้านเมืองจะต้องมีองค์กรที่กำกับดูแล ไม่ใช่องค์กรเหมือนอย่างวันนี้ ป.ป.ช. พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรก็ไม่ผิด ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคนที่รักพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยอมรับอยู่หลายคน อยู่หลายคนนะครับ เขาพูดชัด กกต. ก็มีคนบางคนใน กกต. 5 เสือ กกต. ก็เป็นคนซึ่งสนิทสนมกับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าอย่างนั้นการเมืองมันไปไม่ได้ เราต้องจัดองค์กรอิสระให้มันอิสระจริงๆ เหมือนอย่างท่านประธานวุฒิฯ คนใหม่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ผมเสียดายอย่าง สมัยที่ท่านเป็นผู้ตรวจการรัฐสภา ท่านไม่มีผลงานอะไร หน้าที่ผู้ตรวจการรัฐสภาจะเป็นหน้าที่ซึ่งคานอำนาจของทางการเมืองได้ แต่ในยุคที่ท่านเป็น ท่านไม่ได้ทำอะไรเลย

ภิญโญ : หลายครั้งที่คุณสนธิเสนอถวายคืนพระราชอำนาจ อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังครับ คุณสนธิเชื่อในระบบคนดีจากการแต่งตั้ง...

สนธิ : หลายครั้ง ? … ถ้าผมจำไม่ผิด มีครั้งที่อยู่ที่ลานพระรูปครั้งเดียวเท่านั้นเอง
ภิญโญ : มาที่ ถ.ราชดำเนิน ก็อ่านประกาศของพันธมิตรฯ

สนธิ : นั่นเป็นคำพูดของคนอื่น เป็นมติของพันธมิตรฯ ในทางส่วนตัวของผมแล้ว ผมยังเชื่อว่าการใช้พลังประชาชนเข้าไปกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีการที่ดีที่สุด

ภิญโญ : ยังเชื่อเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจ มาตรา 7 อยู่ไหมครับ


สนธิ : มาตรา 7 นี่ต้องไปถามคุณอภิสิทธิ์ มาร์ค ม.7

ภิญโญ : แล้วคุณสนธิ ม. อะไรครับ


สนธิ : สนธิไม่มี ม. อะไรเลย สนธิไม่มี ม. อะไรทั้งสิ้น ผมยังเชื่อว่าโหวตโนตัวนี้ล่ะ ถ้าประเทศไทยทั้งประเทศเห็นด้วยและเข้าใจกิจกรรมทางการเมือง เข้าใจกลไกทางการเมือง เขาจะสร้างโหวตโนขึ้นมาให้มากเป็นประวัติการณ์ แล้วโหวตโนตัวนี้มันเหมือนน้ำหนักซึ่งมันกดดันสังคม มันกดดันข้าราชการ มันกดดันนักการเมือง ที่จำเป็นจะต้องปฏิรูปตัวเอง

ภิญโญ : ขอเลี้ยวมาเรื่องข่าวลือ ข่าวลือคุณสนธิเยอะมากครับ ที่ใหญ่ที่สุดคือบอกว่าไปพบกับคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ต่างประเทศ จับมือกัน
สนธิ : เป็นข่าวที่เท็จ ที่บัดซบที่สุด เพราะว่าผมไม่เคยไปคูเวตเลย เพราะฉะนั้นแล้วคนที่ปั้นข่าวนี้อยู่ในพรรครัฐบาล จงใจปั้นข่าว

ภิญโญ : ทำเพื่ออะไรครับ


สนธิ : คือผมต้องยอมรับ ความจริงคนพวกนี้เขาอ่านเกมผิดหมด เขาไปมองว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หัวขบวนใหญ่คือผม ถ้าเขาทำลายผมได้ พันธมิตรฯ ไม่มีแล้ว เขาโง่ เขาไม่รู้ว่าตอนนี้มันเป็นกระบวนการแล้ว มีผม หรือไม่มีผม ประชาชนฉลาด ถ้าคุณภิญโญไปถามนักข่าว ไทยพีบีเอส ซึ่งไปทำข่าวพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าได้ทำหรือเปล่า เพราะได้ข่าวว่าท่านหัวหน้าพรรคไล่นักข่าวออกมา แต่ปรากฏการณ์ในที่ประชุมพรรคการเมืองใหม่มันพิสูจน์ชัด เพราะว่าผู้หญิงวัยกลางคน เป็นคนทำมาหากินคนหนึ่ง ลุกขึ้นมาแล้วตอบโต้คุณสมศักดิ์ ตอบโต้พวกกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยตรรกะ ด้วยทุกอย่าง

สิ่งที่ผมพยายามจะพูดก็คือว่า ตอนนี้พันธมิตรฯ ปีนี้ ไม่เหมือนพันธมิตรฯ เมื่อปีต้นๆ องค์ความรู้เยอะ ที่สำคัญมากกว่าคือมีความกล้าหาญผิดปกติ ผิดกว่าประชาชนทั่วไป เพราะว่าโดนข่มขู่มาตลอด โดนกลั่นแกล้งมาตลอด โดน 7 ตุลาฯ มาตลอด เพราะฉะนั้นของพวกนี้มันหลอมพวกพันธมิตรฯ แล้วมันลงสู่รุ่นต่อๆ ไป ทำให้

ผมมีความรู้สึกเชื่อว่าไอ้คนที่จ้องทำลายผม โดยยังมีความเชื่อผิดๆ ว่า ถ้าผมเป็นอะไรไปแล้ว ผมเสียชื่อไปแล้ว กระบวนการพันธมิตรฯ จะหมดไป พวกนี้โง่ เพราะว่าถ้าผมเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ คุณไม่ต้องมาแจ้งผมหรอก คนที่เห็นคนแรกคือพันธมิตรฯ เขาจะไม่เอาผม เขาไม่เอาผมเด็ดขาด เพราะฉะนั้นแล้วกระบวนการนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่ใช่ของใหม่ สมัยผมสู้คุณทักษิณ ทำซีดีเกี่ยวกับผมเป็นแสนๆ แผ่น ไปยืนแจกตรงรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำใบปลิว ด่าผมขึ้นเว็บไซต์ คือพูดง่ายๆ ว่าจะต้องตีหัวให้ลงมาก่อน แต่วันนี้ ณ วันนั้นที่คุณทักษิณทำ ถ้าตีผมได้ลง อาจจะสำเร็จ เพราะกระบวนการยังไม่เกิด

ภิญโญ : ตอนนี้ไม่สำเร็จแล้ว

สนธิ : ไม่สำเร็จ 48-49-50-51-52-53, 6-7 ปีแล้ว มันเข้มแข็งขึ้นมา ปัญญาเขามีมาก พันธมิตรฯ มีความกล้าหาญในตัวเขาเอง มีหรือไม่มีสนธิ ไม่มีความหมายเลย

ภิญโญ : ถ้าอย่างนั้น ใครยิงคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ครับ !

สนธิ : เอาเป็นว่า ผมพูดอย่างนี้ก็แล้วกัน คือ เป็นคนในรัฐบาลชุดนี้ แต่อย่าให้ผมเอ่ยชื่อ

ภิญโญ : คุณสนธิเอาความมั่นใจ เอาหลักฐานมาจากไหนครับ
สนธิ : มีครับ

ภิญโญ : แล้วทำไมไม่เดินหน้าสู้ในทางคดี

สนธิ : จะให้ผมเดินหน้าได้ยังไง คุณไปถามคุณอภิสิทธิ์สิ คุณอภิสิทธิ์ทำไมไม่เดินหน้าล่ะ คุณอภิสิทธิ์เดินตอนแรก ทำคึก ทำฟิต พอเดินไปเดินมา เขารายงานข่าวมาว่า ผลการสืบสวนมันโยงไปถึงคนโน้น คุณอภิสิทธิ์เงียบเลย เก็บเลย

ภิญโญ : มันมีข่าวลือในช่วงต้น แล้วคุณสนธิก็พูดบนเวทีว่า คนสั่งยิงคุณสนธิ เขาลือกันในเน็ตว่าเป็นสตรีชนชั้นสูง ที่สูงศักดิ์ยิ่ง

สนธิ : คือกระบวนการที่โจมตีผม แล้วก็โยงเข้าไปหาสตรีชนชั้นสูง ไม่ใช่เป็นกระบวนการใหม่ มันชอบทำใบปลิวออกมา อย่างเช่น ใบปลิวกล่าวหาว่าผมมีอะไรกับภรรยาของ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย แล้วคนซึ่งเป็นคนกลางจัดให้พบ ก็คือองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงตามหาบัว คือมันทำได้ทุกอย่าง แต่คุณภิญโญ ถ้าคุณเชื่อข่าวลือในเน็ต, เน็ตนี่มันเขียนอะไรก็ได้ ภาพมันเอามาตัดต่ออะไรก็ได้ ถ้าคุณเชื่อคำพูดนั้น คุณอย่ามาถามผม

ภิญโญ : แล้วอาการทางร่างกายวันนี้ หลังจากถูกยิง เป็นยังไงบ้างครับ

สนธิ : นี่คือรอยลูกปืนที่เข้าตรงหัว (เอามือจับตรงบริเวณที่ถูกยิง) ผมคิดว่าดีขึ้นเยอะ ผมมีปัญหาเรื่องหลัง เรื่องขา แต่ผมก็เข้าใจว่าเรื่องหลัง เรื่องขาผมค่อยๆ หายไปทีละนิด บางครั้งมีลักษณะปวดตาตรงนี้ (เอามือจับตรงริมขอบตา) บ้างเล็กน้อย แต่อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนที่ภาวนา ผมปฏิบัติธรรมทุกคืน ผมภาวนา, เวลาผมเจ็บตรงไหนผมจะกำหนดจิตไว้จุดที่เจ็บ แล้วก็ไล่ออกไป และผมรักษาโดยใช้ธรรมรักษา

ภิญโญ : ทุกวันนี้ต้องมีการเตรียมการคุ้มกันคุณสนธิ มีคนติดตาม...

สนธิ : เอาเป็นว่าระวังตัวมากขึ้น

ภิญโญ : มีโอกาสที่จะถูกปองร้ายอีกครั้งไหมครับ

สนธิ : มีได้ทุกเมื่อ เพราะว่ายังมีความเข้าใจผิดเหมือนเดิม ว่าถ้าผมเป็นอะไรไปแล้ว กระบวนการประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะล้มไป ยังเข้าใจผิดอยู่

ภิญโญ : มีโอกาสที่สังคมไทยจะเห็นคุณสนธิไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อกับคุณทักษิณ เหมือนตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ไหมครับ

สนธิ : ตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ไม่ได้ไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อกัน แต่เขาแวะมากินก๋วยเตี๋ยวที่บ้านผม คือคุณทักษิณต้องก้าวข้ามหลายๆ เรื่องไปก่อน ถ้าคุณทักษิณก้าวข้ามหลายๆ เรื่องไปได้แล้ว ผมคิดว่าโอกาสที่จะพบกันได้ โอกาสที่จะพบกันได้...

ภิญโญ : เรื่องอะไรที่จะต้องก้าวข้ามครับ

สนธิ : เรื่องที่ต้องก้าวข้ามคือ คุณทักษิณจะต้องยอมรับหลักนิติรัฐก่อน เรื่องที่ สอง คุณทักษิณต้องยอมรับว่า ประเทศไทยนั้นจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็ยังจะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ ส่วนจะปกครองในรูปแบบไหน วิธีการปกครองยังไง อีกเรื่องหนึ่ง และคุณทักษิณต้องพิสูจน์ตรงนี้ด้วยการกระทำ ไม่ใช่ด้วยคำพูด ก้าวข้ามเรื่องที่สอง เรื่องที่สาม คุณทักษิณจะต้องก้าวข้ามว่า จากนี้ไปคุณทักษิณพร้อมที่จะทำงานให้กับส่วนรวม ไม่ใช่ให้กับญาติพี่น้อง ให้กับครอบครัวตัวเอง หรือให้กับแก๊งตัวเอง ผมคิดว่าสามเรื่องนี้ถ้าคุณทักษิณก้าวข้าม ผมกับเขายังเป็นเพื่อนกันได้อยู่ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าเขาก้าวข้ามสามเรื่องนี้ มันเป็นผลดีกับเขานะ ไม่ใช่ผลดีกับผม

ภิญโญ : อะไรคือคำแนะนำในฐานะอดีตกัลยาณมิตร...

สนธิ : อดีตคนรู้จักกัน ผมไม่ได้เป็นกัลยาณมิตรคุณทักษิณ ผมเพียงแต่รู้จักคุณทักษิณเฉยๆ ผมไม่รู้จะแนะนำอะไรเขา เขาก็ 60-61 แล้ว เขาก็เป็นมหาเศรษฐีแสนล้าน เขาก็เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะไปแนะนำอะไรเขาได้ ผมแนะนำเขาได้อย่างเดียว ว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วมันดับไป ผมแนะนำเขาได้แค่นี้ ส่วนเขาจะไปวิสัชชนาแล้วบรรลุธรรมได้ยังไงก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว

ภิญโญ : คุณสนธิต่อสู้มายาวนานขนาดนี้ ทั้งในชีวิต ทั้งหนังสือพิมพ์ ธุรกิจ นักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง อะไรคือความภูมิใจสูงสุดในชีวิตคุณสนธิครับ

สนธิ : ความภูมิใจของผมมันอยู่ที่วันหนึ่งมีพันธมิตรฯ มาหลังเวที แล้วเขาอุ้มหลานมาคนหนึ่ง แล้วหลานเขามองหน้าผม แล้วเขาชี้ ตาสนธิ ตาสนธิสู้ๆ นั่นล่ะครับ ภูมิใจที่สุด

ภิญโญ : แล้วอะไรคือเรื่องที่เสียใจที่สุดในชีวิตที่ผ่านมาของคุณสนธิครับ

สนธิ : ผมจำไม่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้ผมฝึกการลืมได้ถึงระดับขั้นที่ผมจำอะไรไม่ได้แล้ว

ภิญโญ : แล้วในชีวิตคุณสนธิรักใครมากที่สุดครับ

สนธิ : ผมก็ลืมไปหมดแล้ว ผมอยู่กับปัจจุบัน อดีตผมลืมไปหมดแล้ว

ภิญโญ : ผมถามหลายท่านที่ออกรายการ ถ้าพรุ่งนี้เกิดจะต้องจากไปอย่างกะทันหัน ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง...

สนธิ : ผมเตรียมตัวตายทุกวัน

ภิญโญ : เจริญธรรมด้วยความไม่ประมาท

สนธิ : ผมเตรียมตัวตายอยู่ทุกวัน

ภิญโญ : คุณสนธิอยากพูดอะไรกับประชาชนที่เป็นทั้งแฟนคุณสนธิ และที่ติดตาม ศัตรูก็มีครับ

สนธิ : ผมไม่อยากพูดอะไรครับ เพราะผมมีความรู้สึกว่า สิ่งที่ผมทำนั้นมันเป็นเรื่องที่เข้าใจยากในปัจจุบัน แต่ว่าเมื่อมันผ่านไประยะหนึ่งแล้ว จะเข้าใจเอง ผมอยากจะพูดบอกว่า ใครก็ตามที่เป็นผู้บุกเบิก คุณภิญโญก็รู้ตรงนี้ บุกเบิก ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ต้องเจ็บตัวก่อน แต่ถ้าคุณบุกเบิกเรื่องอะไรก็ตาม แล้วคุณมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณทำ คุณมีศรัทธา สำคัญที่สุดคือคุณต้องมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณทำ ว่าถูกต้อง เป็นธรรม เอาธรรมนำหน้า ถ้าคุณเชื่ออย่างนี้ ไม่ต้องไปหวั่นไหวอะไรทั้งสิ้น คุณเดินหน้าต่อไป ภยันอันตรายเป็นของธรรมดา เพราะคุณกำลังเดินเข้าไปสู่พื้นที่ที่มันน่ากลัว ที่มันเป็นพื้นที่ที่คนไม่เห็นด้วยกับคุณ ที่เป็นพื้นที่ที่คนจ้องจะทำร้ายคุณ แต่ถ้าคุณมีความหนักแน่น ความมั่นคง สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาที่คุณมีอยู่จะทำให้คุณรอดไป แต่กว่าคนจะเห็นได้ตรงนี้ ผมอาจจะต้องบาดเจ็บสาหัสหลายเรื่อง แล้วถึงวันนั้นเขาก็จะรู้ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นถูกต้อง แต่เขาก็จะลืมไปว่าผมเป็นคนเริ่ม เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าไปมีอัตตา ว่า เฮ้ย! เรื่องนี้ผมเป็นคนทำนะ อย่าไปมีอัตตาอย่างนั้น ถือว่าเราทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นแล้วนี่คือสิ่งซึ่งผมใช้เป็นวัตรปฏิบัติประจำ ผมไม่ได้คิดว่าผมมีบุญคุณต่อชาติบ้านเมือง แต่ผมคิดว่าผมทำตามหน้าที่ที่ผมควรจะทำ อันที่สอง ผมไม่ได้มีความเคียดแค้นอะไรกับใคร ไม่ได้รักใคร ไม่ได้โกรธใคร เพราะฉะนั้นผมจึงพัฒนาการลืม สาม - ผมอยู่กับปัจจุบันทุกวันนี้ วันนี้ผมให้คุณภิญโญสัมภาษณ์ ผมอยู่กับคุณภิญโญ พรุ่งนี้เผลอๆ ผมอาจจะลืมคุณภิญโญไปแล้วก็ได้

ภิญโญ : เมื่อกี้เดินสวนกับคุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล คงยังไม่ลืมลูกชาย อยากจะทิ้งท้ายรายการว่า พูดกับปั๊บหน่อยครับ ถ้าอยากจะพูดอะไรกับปั๊บออกรายการ บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ คุณสนธิอยากพูดอะไรกับปั๊บครับ

สนธิ : ผมเคยบอกเขาไปแล้วหลายครั้ง และสิ่งที่เป็นสัจจวาจาที่ผมพูดกับเขา บอกว่า เขาต้องเลือกชีวิตเขาเดินเอง ถ้าเขาจะเลือกเส้นทางเดินที่ผมเดิน มันเป็นเส้นทางที่ยากลำบากและอันตราย แต่เขาต้องตัดสินใจเอง แต่ถ้าเขาไม่เลือกเส้นทางที่ผมเดิน ผมก็ไม่ว่าอะไร เขาจะแยกตัวไปทำธุรกิจ ไปทำอะไรก็ตามที่เหมาะกับคนวัยรุ่นอย่างเขา ผมก็ไม่ว่า ผมให้โอกาสเขา หลังจากให้โอกาสเขาไม่นาน เขากลับมาบอกผมเอง เขาบอกเขาตัดสินใจแล้ว เขาจะเดินตามรอยเท้าของผม ผมบอกแน่ใจเหรอ แน่ใจ โอเค, ถ้าอย่างนั้นปั๊บต้องฝึกตัวเอง ต้องฝึกขันติ ต้องฝึกที่จะเข้าใจหลายเรื่อง และต้องฝึกความอดทนอย่างมากๆ เพื่อจะสร้างตบะให้กับตัวเอง อย่าใช้อารมณ์ และที่สำคัญที่สุด อย่าเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ที่ถูกต้อง
******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง

-ศพฟัดศพ!ลิ้มแฉล้านรับงานทำลายพธม. ส่งสาวกยึดพรรคการเมืองม้วยคืนโดนสมุนเคราแพะผลักอก

-“สมศักดิ์” ประกาศฟ้อง “ยะใส” แถลง ก.ม.ม.ไม่ลงเลือกตั้ง อ้างขัด รธน.
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น