วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554


ศาลโลกไม่มีอำนาจชี้เขตแดน


       เรื่องจากปก
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3066 ประจำวัน พุธ ที่ 1 มิถุนายน 2011
            http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10905
         ทีมทนายฝ่ายไทยแถลงต่อศาลโลกยืนยันไม่มีอำนาจออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชา เพราะหากออกมาตรการคุ้มครองเท่ากับเป็นการรับรองแผนที่ ซึ่งเป็นเรื่องของเขตแดนผิดหลักปฏิบัติ นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าไม่มีอำนาจตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ซ้ำเนื่องจากคู่ความไม่ได้มีปัญหาในการทำตามคำตัดสิน ไทยไม่ได้โต้แย้งเรื่องอำนาจเหนือตัวปราสาทพระวิหาร คาดประมาณ 3 สัปดาห์รู้ผลเบื้องต้นออกมาตรการคุ้มครองหรือไม่

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงการชี้แจงต่อศาลโลกของตัวแทนฝ่ายไทย ที่มีนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เป็นหัวหน้าคณะ ว่าได้ชี้แจงใน 5 ประเด็นประกอบด้วย 1.ตอกย้ำให้รับทราบว่าไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 อย่างครบถ้วนแล้ว 2.คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทไม่ใช่เส้นเขตแดน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชายอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ตามมติของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ออกเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ซึ่งเป็นมติที่มีขึ้นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยฝ่ายกัมพูชานิ่งเฉยและไม่ได้ทักท้วงใดๆมานานกว่า 40 ปี


ไทยต้องการอยู่กับเขมรอย่างสันติ


3.ได้ย้ำถึงเจตจำนงที่ต้องการอยู่ร่วมกับกัมพูชาอย่างสันติ และพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความร่วมมือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงไม่มีเหตุผลที่จะสร้างความขัดแย้งกับกัมพูชา 4.ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มเพื่อให้เกิดการปะทะ ทั้งเหตุการณ์ในเดือน ก.พ. 2554 และครั้งหลังสุดช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2554 แต่จำเป็นต้องใช้สิทธิป้องกันตนเอง ปกป้องอธิปไตยและพลเรือนที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากกัมพูชา และ 5.ชี้แจงถึงเจตนาของกัมพูชาที่ต้องการดินแดนเพื่อใช้เป็นพื้นที่กันชนในการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร เพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกสมบูรณ์


สั่งไทยถอนทหารอยู่นอกอำนาจศาล


ศ.อลัง เปลเล่ต์ ที่ปรึกษาทนายความไทย ชาวฝรั่งเศส ชี้แจงว่า คำขอตีความและคำขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก่อนการตัดสินคดีนั้นอยู่นอกเขตอำนาจของศาลโลก และคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาท ถือเป็นความผูกพันครั้งเดียวที่ไทยได้ปฏิบัติตามแล้ว


ไทยไม่โต้แย้งอำนาจเหนือตัวปราสาท


ทั้งนี้ ไทยไม่ได้โต้แย้งอำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตีความและออกมาตรการชั่วคราว เพราะการตีความเหตุผลของคำพิพากษาทำได้ก็ต่อเมื่อจำเป็นต่อคำตัดสินเท่านั้น ความพยายามให้เปลี่ยนคำพิพากษาเป็นเรื่องกำหนดเส้นเขตแดนจึงไม่ถูกต้อง ที่สำคัญการตีความต้องไม่แก้ไขคำตัดสินก่อนหน้านี้


อำนาจคุ้มครองเป็นของยูเอ็น


ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ที่ปรึกษาทนายความไทย ชาวอังกฤษ ชี้แจงว่า ศาลโลกไม่มีเขตอำนาจออกมาตรการชั่วคราวใดๆ เพราะเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) คำตัดสินเมื่อปี 2505 เป็นความผูกพันเพียงตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน


ย้ำสองฝ่ายไม่มีปัญหาคำตัดสินปี 2505


ศ.โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ที่ปรึกษาทนายความไทย ชาวแคนาดา ระบุว่า ศาลไม่มีอำนาจออกมาตราการคุ้มครองชั่วคราว เพราะไทยและกัมพูชาไม่ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับคำตัดสินเมื่อปี 2505 การออกมาตรการคุ้มครองโดยสั่งการให้ไทยปฏิบัติแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักการ ที่สำคัญคำขอของกัมพูชาไม่เข้าเงื่อนไขจำเป็นเร่งด่วน หลักฐานที่ฝ่ายกัมพูชานำมาเสนอนั้นอยู่นอกเหนือพื้นที่ที่ศาลโลกตัดสินเมื่อปี 2505 การออกมาตรการชั่วคราวเท่ากับเป็นการรับรองความถูกต้องของแผนที่ในเบื้องต้น ซึ่งขัดกับแนวปฏิบัติของศาลโลก


คาด 3 สัปดาห์รู้ผลเบื้องต้น


ทั้งนี้ ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้เวลาแถลงต่อศาลโลกอีกฝ่ายละ 1 ชั่วโมง ในช่วงเช้าวันที่ 31 พ.ค. (ตรงกับเวลา 22.00 น. ในประเทศไทย) โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นผู้แถลงก่อน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะแถลงหักล้างเหตุผลที่แถลงต่อศาลในวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจาก 2 ฝ่ายแถลงต่อศาลแล้ว ประมาณ 3 สัปดาห์จะทราบผลเบื้องต้นเกี่ยวกับการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวว่าจะมีคำสั่งตามที่ฝ่ายกัมพูชาร้องขอหรือไม่


********************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น