วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554


กบฏและความจงรักภักดีอำนาจย่ำยีสมัยพระเพทราชา?

       จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 314 ประจำวัน จันทร์ ที่ 13 มิถุนายน 2011
         โดย ดร.นิเลอมาน นิตา
       http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11061

         ในท่ามกลางความสับสนมึนงงของสังคมไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะประเด็นของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีแง่มุมซึ่งได้รับการถกเถียงกันอยู่มากมาย ตั้งแต่ความเหมาะสมของมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา การแอบอ้างใช้สถาบันเบื้องสูงเข้ามาเป็นเครื่องมือในทางการเมือง หรืออะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง แม้จนถึงข้อหาที่ขว้างออกไปเรื่อง “แดงล้มเจ้า”
มีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจจากประวัติศาสตร์เมื่อสมัยอยุธยา อาจเป็นอีกมุมมองที่จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อความเป็นจริงสำหรับเรื่องความจงรักภักดีกับการเป็นกบฏ...มีหลายกรณีศึกษาซึ่งทั้งสองด้านนี้ถูกขวางเอาไว้ด้วยม่านบังที่บางเฉียบเท่านั้น 



การเป็นกบฏในประวัติศาสตร์กับความจงรักภักดี เทิดทูนต่อสถาบันเบื้องสูง ทั้ง 2 ประการนี้มีโอกาสเป็นไปได้ที่ขึ้นอยู่กับ “บริบทและการตีความ” เป็นกรณีที่น่ากล่าวถึงอย่างยิ่ง ความจริงแล้วในประวัติศาสตร์ไทยคงมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในหลายแผ่นดิน แต่ตัวอย่างที่ยกมากล่าวถึงให้พิจารณานี้เป็นเหตุการณ์สมัยของพระเพทราชา...


ในช่วงผลัดแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครั้งนั้น พระยายมราช (สังข์) และพระยารามเดโช (ชู) ไม่ให้การยอมรับต่อสมเด็จพระเพทราชา เนื่องจากมีความเห็นว่า “มิใช่เป็นการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมนเทียรบาล อีกทั้งยังเป็นการละน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เคยให้ไว้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกจากนั้นยังเห็นว่าพระเพทราชาเป็นเพียงเพื่อนขุนศึก ซึ่งเคยร่วมรบมาด้วยกันเท่านั้น พูดเป็นภาษาสมัยใหม่ก็คือ “เป็นแค่เพื่อนอำมาตย์ด้วยกันเท่านั้น” โดยความเป็นจริงเหล่านี้จึงยังผลให้ทำการแข็งเมืองไม่ขอขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา


เมื่อเรื่องราวเป็นเช่นนั้น พระเพทราชาจึงส่งกองทัพไปทำการปราบปราม ใน พ.ศ. 2232 ยกทัพไปปราบพระยายมราชที่เมืองนครราชสีมา ใช้ “พระยาสีหราชเดโช” เป็นทัพหน้า ทำการปราบปรามอยู่หลายเดือนก็ไม่สามารถตีเมืองนครราชสีมาได้ พระเพทราชาทรงขัดเคืองยิ่งนัก และสั่งให้จับตัวท้าวพระยานายทัพ นายกอง ทั้งหลายเอามาตระเวนบก แล้วประหารชีวิตเป็นจำนวนมากมาย จากนั้นก็ยกทัพเข้าไปบี้บดอีกรอบในปีเดียวกัน..พระยายมราชจำต้องหลบหนีไปร่วมทัพกับพระยารามเดโช ณ เมืองนครศรีธรรมราช...


พ.ศ. 2235 กรุงศรีอยุธยาได้จัดส่งกองทัพไปปราบปราม ถือให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏ ตั้งให้ “พระยาราชวังสัน (ฮะซัน) ทายาทของ “พระยาโมกุล” เป็นแม่ทัพเรือเข้าไปจัดการปัญหา หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่ามีการขนเรือรบ 100 ลำ เรือทะเล 100 ลำ พลรบ พลแจวอีก 5,000 คน นอกจากนั้นยังมีทัพบกเข้าไปร่วมด้วย สำหรับทัพบกของกรุงศรีอยุธยาได้ตีนครศรีธรรมราชแตก พระยายมราช (สังข์) ตายในสถานที่รบ ส่วนพระยารามเดโชรักษาเมืองเอาไว้ได้ถึง 3 ปี เมื่อเห็นว่าท่าทางไม่อาจต้านทานศึกได้แล้ว พระยารามเดโชจึงมีข้อความไปถึงพระยาราชวังสัน ปรากฏอยู่ในพงศาวดารช่วงหนึ่ง ความปรากฏดังนี้


“...เมื่อพระองค์ทรงพระประชวร (พระนารายณ์มหาราช) นั้น มีทาสปฏิปักษ์ กล่าวคือ พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ 2 คนพ่อลูก ละน้ำพิพัฒน์สัตยาเสีย คิดอ่านทำการกบฏช่วงชิงเอาราชสมบัติ และเสนาบดีทั้งปวงในกรุงมิได้มีผู้ใดช่วยคิดอ่านทำการกำจัดศัตรูราชสมบัติเสียได้ และพระองค์ (พระนารายณ์มหาราช) ทรงพระโทมนัสจนเสด็จสวรรคต และราชสมบัติก็ได้สิทธิแก่พระเพทราชา แล้วให้หาท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลายเข้าไปถวายบังคม ฝ่ายเราขัดแข็งอยู่ มิได้เข้าไปนั้น ใช่ว่าตัวเราจะเป็นขบถต่อแผ่นดินหามิได้...เหตุว่าเราคิดกตัญญูในพระผู้เป็นเจ้าของเรา (พระนารายณ์มหาราช) ซึ่งเสด็จสวรรคตนั้น จึงมิได้เข้าไปอ่อนน้อมยอมตัวเป็นข้าผู้ประทุษร้ายต่อแผ่นดิน ประการหนึ่งก็เกิดมาเป็นชายชาติทหารคนหนึ่ง ก็มีทิฐิมานะอยู่บ้าง ที่ไม่เคยกลัวเกรงนบนอบไซร้ ก็ไม่นบนอบ ได้ถือตัวอยู่ตามประเพณีคติโลกวิสัย”


หนังสือที่พระยารามเดโชมีไปถึงพระยาราชวังสันนับเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย ทำให้หาคำตอบกันยากพอสมควรระหว่างความเป็นขบถกับความจงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัวองค์ก่อนของตนก่อนที่จะมีการผลัดแผ่นดินด้วยวิธีละเมิดกฎมนเทียรบาล?


ทั้งพระยายมราชกับพระยารามเดโชไม่ยอมเข้าไปอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระพระเพทราชา ต่างก็แข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา อีกทั้ง 2 เมืองพร้อมกันนั้นเตรียมฝึกไพร่พลและเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ อีกทั้งเสบียงอาหารไว้ต่อสู้กับกองทัพกรุงศรีอยุธยาต่อไป...เมื่อพระเพทราชาทรงรับทราบความเช่นนั้น จึงตรัสสั่งให้พระยาสีหราชเดโชคนใหม่เป็นแม่ทัพ แล้วยกไปตีเมืองนครราชสีมา กองทัพกรุงได้เข้าตีหัวเมืองรายทางเรื่อยไปจนถึงเมืองนครราชสีมาแล้วล้อมเมืองไว้ พยายามตีเข้าปล้นเอาเมืองเกือบปีก็ไม่สามารถเอาเมืองได้ จึงขอกองทัพกรุงไปช่วย พระเพทราชาทรงพิโรธ สั่งให้จับแม่ทัพ นายกอง ประหารชีวิตเสียเป็นอันมากในฐานะที่ตีเอาเมืองนครราชสีมาไม่ได้ ความพยายามยังไม่ลดละ ได้พยายามเกณฑ์กองทัพขึ้นไปตีเป็นครั้งที่ 2 พระยายมราช (สังข์) ต่อต้านกองทัพกรุงศรีอยุธยาอยู่ถึง 2 ปี ชาวเมืองไม่ได้ทำไร่ไถนามานาน จึงขาดเสบียงอาหาร


พระยายมราช (สังข์) ดำริว่า ถ้าขืนต่อสู้ต่อไปจะทำให้ไพร่บ้านพลเมืองอดอยากลำบากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจทิ้งเมือง โดยตีแหกกองทัพกรุงนำครอบครัว สมัครพรรคพวก พร้อมด้วยทหารคู่ใจฝีมือดี และท้าวทรงกันดาร ซึ่งหนีจากกรุงไปอยู่ด้วย แล้วก็รีบยกเดินทางทางบกล่องสู่ปักษ์ใต้ เข้าสมทบกับพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ที่ท่าข้ามปลายด่านแดนนครศรีธรรมราชต่อกับแดนไชยาสมัยนั้น (พื้นที่ในท้องที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันยังมีร่องรอยค่ายคูบนควนท่าข้ามอยู่ครบครัน)
เจ้าเมืองไชยาแจ้งข่าวราชการลับให้ทางกรุงทราบว่า พระยารามเดโชเมืองนครฯเป็นขบถแข็งเมืองร่วมกับพระยายมราช (สังข์) นครราชสีมา กำลังเตรียมการจะตีเอาหัวเมืองต่างๆ แล้วจะยกเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นต่อไป เมื่อพระเพทราชาทรงทราบก็พิโรธอย่างยิ่ง ตรัสว่า “จะจับสองคนนี้แล้วสับให้ละเอียดไม่ให้แค้นคออีแร้งอีกา” จึงสั่งให้สมุหกลาโหมเตรียมทัพช้าง ม้า พลรบครบทั้งทางบกและทางเรือ กำหนดให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระยาสุรเสนาเป็นทัพยกกระบัตร พระยาเพชรบุรีเป็นทัพเกียกกาย พระยารามบุรีเป็นทัพหลัง ยกลงมาทางบก ให้พระยาราชบังสันยกลงมาทางเรือ และให้ทัพทั้งสองมาบรรจบกันที่ไชยา


พระยาราชวังสันกับพระยารามเดโชต่างก็เคยเป็นขุนศึกร่วมสมรภูมิเพื่อพิทักษ์รักษากรุงศรีอยุธยามาด้วยกัน พระยาราชบังสันเลยทำตามคำขอร้อง จัดเตรียมเรือให้พระยารามเดโชหลบหนีไป ก่อนที่จะเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชเอาไว้ได้ เมื่อยุติสงครามที่ยาวนานจึงกระทำตามถ้อยคำร้องขอของขุนศึกมิตรสหายเก่า?


แต่เมื่อกลับถึงกรุงศรีอยุธยา พระยาราชวังสันคงไม่ได้รับความดีความชอบอะไร ถูกลงโทษประหารชีวิตและริบราชบาตร เรื่องราวจบลงตรงนั้น?
ประเด็นนี้มีแง่คิดสำหรับพระยารามเดโช ซึ่งจงรักภักดีต่อพระนารายณ์มหาราช ไม่ยินยอมรับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพระเพทราชา เพราะมิเป็นไปตามกฎมนเทียรบาล มองให้ลึกซึ้งใครจงรักภักดีและใครที่เป็นขบถกันแน่นั้น เป็นแง่คิดหนึ่ง.แต่สำหรับอีกแง่คิดก็บอกว่า ความสำคัญอยู่ที่ใครชนะมากกว่า การยึดถือหลักการหรือความถูกต้องไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การล้มกฎมนเทียรบาลของพระเพทราชาเลยไม่ได้เป็นสาระแห่งความถูกผิดอะไรทั้งสิ้น ?


ตั้งแต่โบราณมาแล้วสังคมไทยก็ไม่ได้ยึดถือหลักการอะไรเป็นหลัก จะให้คนในปัจจุบันยึดถืออะไร? หลักการของสังคมที่ถือชัยชนะและการย่ำยีทางอำนาจเป็นมาในประวัติศาสตร์ไทยตั้งนานแล้ว อย่าแปลกใจอะไรเลย?



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 314 
วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 หน้า 11 
คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย ดร.นิเลอมาน  นิตา
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น