วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


เอกสารร้อน‘ลึกแต่ไม่ลับ’ความจริง‘กระชับวงล้อม’

         รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 317 ประจำวัน จันทร์ ที่ 4 กรกฏาคม 2011
         โดย วารสารเสนาธิปัตย์
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11306


         บทความใน “วารสารเสนาธิปัตย์” กรมยุทธศึกษาทหารบก ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2553 โดยผู้ใช้นามแฝง “หัวหน้าควง” จปร.32 (เหล่าทหารราบ) นายทหารปฏิบัติการประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก เขียนขึ้นเพื่อประกอบการจัดทำ “เอกสารแนวทางในการปฏิบัติทางทหาร : กรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมือง” ที่มีการนำมาเผยแพร่สื่อในต่างๆขณะนี้นั้นถือเป็นมุมมองของนายทหารที่ปฏิบัติการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม “คนเสื้อแดง” เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่สรุป “ความสำเร็จ” ในการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ ซึ่งมีเนื้อหาหลายตอนที่น่าสนใจและระบุชัดว่า “นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ศอฉ. ในวันที่ 12 พฤษภาคม ให้ฝ่ายทหารเริ่มต้นปฏิบัติการตามแผนยุทธการที่วางไว้”


นอกจากนี้ยังระบุว่า นโยบายรัฐบาลชัดเจนมาตลอดที่จะใช้มาตรการทางทหารกดดันกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อ “ยุติการชุมนุม” ไม่ใช่การกระชับวงล้อมเพื่อ “เปิดการเจรจา” จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ข้อเสนอเป็นตัวกลางในการเจรจาของวุฒิสมาชิกในคืนวันที่ 18 พฤษภาคมถูกปฏิเสธ


เอกสารยังระบุชัดเจนถึงแผนยุทธการและหน่วยทหารที่ใช้ โดยเฉพาะ “หน่วยสไนเปอร์” ที่เป็นหน่วยแรกๆในการเข้าสลาย โดยการยึดพื้นที่สูงคือ อาคารเคี่ยนหงวนและอาคารบางกอกเคเบิ้ล มีการระดมพลแม่นปืนเท่าที่มีอยู่ในกองทัพบกเข้าประจำพื้นที่ รวมถึงการสั่งการให้ใช้ “กระสุนจริง” เพราะถือเป็นการปฏิบัติการรบเต็มรูปแบบเหมือนการทำสงครามรบในเมือง โดยใช้กำลังขนาดใหญ่ถึง 3 กองพล หลังจากทหารสูญเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ 10 เมษายน แม้จะมี “ข้อเสนอแนะทางยุทธวิธี” ให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับยุทธวิธีปฏิบัติภายใต้การรักษาชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธ์เป็นสำคัญที่สุด และควบคุมการลั่นไกกระสุนจริง โดยมีสติและมีเจตนารมณ์ ไม่ให้กำลังพลปฏิบัติด้วยความโมโหหรือการแก้แค้นเป็นอันขาดก็ตาม แต่บทความระบุว่าไม่มีประเทศใดในระดับนานาชาติยอมวิธีดังกล่าวมาปฏิบัติในการสลายการชุมนุม


******


บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ทางการเมือง ตั้งแต่ระดับนโยบายคือคณะรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความมีเอกภาพของรัฐบาลกับกองทัพ
กล่าวนำ


สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติแดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) กับรัฐบาล โดยกลุ่ม นปช. ได้มีการชุมนุมเกินขอบเขตของกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และกลุ่ม นปช. ได้เคลื่อนย้ายมวลชนมาปักหลักตั้งเวทีปราศรัยถาวรที่บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล และสร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีกองทัพบกเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา และกองทัพบกได้นำกำลังพลเข้าแก้ไขปัญหาในเหตุการณ์สำคัญๆ 3 เหตุการณ์คือ เหตุการณ์ 10 เมษายน พื้นที่สี่แยกคอกวัว เหตุการณ์การรักษาพื้นที่สีลม เหตุการณ์สลายการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. พื้นที่อนุสรณ์สถาน ดอนเมือง


บทความฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการจัดทำ “เอกสารแนวทางในการปฏิบัติทางทหาร : กรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมือง” ตามดำริของเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก พล.ท.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เพื่อกำหนดบทบาทของกองทัพบกในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในเมืองรูปแบบใหม่


เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการกระชับวงล้อมพื้นที่ชุมนุมราชประสงค์ ศอฉ. ผ่านการสั่งการมายังกองทัพบกได้จัดกำลังเปิดยุทธการกระชับวงล้อม โดยแบ่งการปฏิบัติออกเป็น 3 ห้วงเวลา กล่าวคือ ห้วงแรกเป็นการกระชับวงล้อมขั้นต้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ห้วงที่ 2 เป็นการถอยร่นเพื่อสถาปนาแนวตั้งรับเร่งด่วนในวันที่ 15-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และห้วงสุดท้ายเป็นการกระชับวงล้อมขั้นสุดท้ายในวันที่ 19 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 03.00 น. จนกระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุมบนเวทีราชประสงค์เมื่อเวลา 13.20 น.


บทความนี้จะได้นำเสนอบทเรียนแบบความสำเร็จของยุทธการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ในระดับยุทธ์ศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี พร้อมด้วยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ศอฉ. กองทัพบก และหน่วยปฏิบัติระดับยุทธวิธี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป


ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์
การแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ภายหลังทหารประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการ “ยุทธการกระชับวงล้อม” ในเวลา 10 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความพอใจผลงานยุติม็อบว่า “...เป้าหมายของ ศอฉ. เพื่อกระชับวงล้อม เพื่อให้เกิดการยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด เรายึดหลักสากล ทำให้เกิดความพอใจ...”


คำพูดไม่กี่คำของนายกรัฐมนตรีภายใต้สถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ทำให้ทหารและกองทัพที่เป็นหมัดสุดท้าย ซึ่งเป็นกลไกบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลที่มีอยู่รู้สึกมั่นใจและเชื่อมั่นถึงยุทธศาสตร์ทางการเมืองของยุทธการครั้งนี้
ความสำเร็จในยุทธศาสตร์ทางทหารยุทธการกระชับวงล้อมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นผลจากความชัดเจนทางการเมืองสำคัญ ได้แก่


1.นโยบายรัฐบาลชัดเจนมาตลอดที่จะใช้มาตรการทางทหารกดดันม็อบกลุ่ม นปช. ความชัดเจนก็คือนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อยุติการชุมนุม ไม่ใช้การกระชับวงล้อมเพื่อเปิดการเจรจา ดังนั้น ถ้าการเดินทางยุทธศาสตร์ทหารนั้น ถ้าเป้าหมายทางการเมือง (Political will) ชัดเจน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการทหารก็ไม่ยาก และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ศอฉ. ในวันที่ 12 พฤษภาคม ให้ฝ่ายทหารเริ่มต้นปฏิบัติการตามแผนยุทธการที่ได้วางไว้


2.สำหรับสัญญาณทางการเมืองที่ส่งไปยังสังคมได้ส่งผลทางจิตวิทยาระดับยุทธศาสตร์ คือการใช้ภาษาคำว่า “การกระชับวงล้อม” ไม่ใช่ “การสลายม็อบ” คือ ไการปราบม็อบ” หรือ “การปิดล้อม” จากภาษาที่สื่อดังกล่าวสังคมรับได้และรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งคาดหวังว่าเหตุการณ์จะสงบโดยเร็ว และอาจมีการสูญเสียชีวิตประชาชนบ้าง แต่ไม่มากมายเหมือนเช่นในอดีต


3.มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดโทรศัพท์ ตัดระบบการส่งกำลังบำรุง และการตัดการเติมคนเสื้อแดงเข้าไปในพื้นที่ราชประสงค์ เป็นมาตรการระดับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลภายใต้การอำนวยการของ ศอฉ. ได้สร้างแรงกดดันให้ม็อบราชประสงค์ถูกบีบกระชับวงล้อมทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ได้ส่งผลข้างเคียงต่อผู้อาศัยโดยรอบพื้นที่การชุมนุม ถ้าปล่อยไว้นานอาจส่งผลทำให้เกิดกระแสตีกลับมาขับไล่รัฐบาลได้


4.ความมีเอกภาพของรัฐบาลกับกองทัพ แม้ว่าจะมีกระแสข่าวความไม่ลงรอยกันบ้างในการแก้ปัญหา เนื่องจากการใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่ เพราะบทเรียนวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัวจะตามมาหลอกหลอนผู้นำกองทัพอยู่เสมอๆ แต่เมื่อได้ประเมินทางยุทธศาสตร์เพื่อมีความคุ้มค่าและมองเห็นความสำเร็จ รัฐบาลกับกองทัพก็หันมาร่วมมือกันเปิดยุทธการครั้งนี้อย่างมั่นใจ รวมไปถึงความร่วมมือของทุกกองกำลังของทุกเหล่าทัพก็เป็นการแสดงถึงความมีเอกภาพ


5.ปัจจัยเวลาในกรอบการปฏิบัติงานก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากความล้มเหลวในการรุกเข้าขอคืนพื้นที่ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทำให้หน่วยทหารทั้งในส่วนพื้นที่ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ และถนนราชปรารภ (สามแยกดินแดง) ต้องตรึงกำลังให้อยู่กับที่ หรือแทบจะเรียกได้ว่าถอยร่นออกมาจากระยะยิงของสไนเปอร์จากการ์ด นปช. แต่เมื่อรัฐบาลเข้าใจว่าต้องให้เสรีในการปฏิบัติเรื่องเวลา รัฐบาลจึงมีมติผ่าน ครม. ประกาศให้พื้นที่กรุงเทพมหานครหยุดราชการเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงวันที่ 17-18 พฤษภาคม และวันที่ 19-21 พฤษภาคม ทำให้ทหารไม่มีแรงกดดันเรื่องเวลาเหมือนเช่นเหตุการณ์ 10 เมษายนที่ผ่านมา


6.ประสิทธิภาพของการทำงานปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations) ได้ผลทางยุทธศาสตร์ทั้งในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์ NBT และการแถลงข่าวของ ศอฉ. โดยโฆษกของ ศอฉ. สามารถตอบโต้กลุ่ม นปช. และตอบข้อสงสัยของสังคม ผู้ชุมนุม ผู้ได้รับความเดือดร้อนรอบพื้นที่ชุมนุม ประชาชนในส่วนที่เหลือของประเทศ ยกเว้นพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือที่มีมวลชนเป็นสีแดงเข้มก็ไม่ได้ผล รวมทั้งการสื่อสารกับนานาชาติในระดับโลกก็ถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง ผ่านทางรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในฐานะโฆษกรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ


7.การปรากฏตัวทางยุทธศาสตร์ ศอฉ. ได้ใช้ประโยชน์จากการที่สามารถควบคุมสื่อสารโทรทัศน์ในเวลาแถลงข่าวของผู้นำทหารในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นรองเสนาธิการทหารบก ผช.เสธ.ฝยก. แม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.พลหน่วยปฏิบัติ ทำให้กำลังพลมีความเชื่อมั่น การปฏิบัติการยุทธการกระชับวงล้อมมีการวางกำลังทางทหาร และมีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นรับผิดชอบอย่างชัดเจน สังคมและประชาชนก็มั่นใจว่าน่าจะมีความสำเร็จสูง


8.การชี้แจงทำความเข้าใจของการใช้อาวุธตามหลักสากล มีกฎการใช้กำลัง การยิงกระสุนจริง การใช้หน่วยสไนเปอร์ ถือว่ากระทำได้อย่างทันท่วงที เพื่อตอบโต้กับภาพข่าวทั้งในและต่างประเทศ เพราะถ้าไม่มีการแก้ข่าวทุกวัน ข่าวความห่วงใยเหล่านี้ได้ไต่ระดับเลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากของปัญหามากยิ่งขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลไม่สามารถรับมือกับต่างประเทศได้


9.การควบคุมการติดต่อสื่อสารทุกระบบถือว่าเป็นงานระดับยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสั่งปิดเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ของเครือข่ายอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ช่องทางสื่อสารถูกตัดขาดลง


10.การทำงานที่สอดคล้องกันระหว่างมาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ กับมาตรการของกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องการประกาศงดทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ต้องสงสัยที่ต่อท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่ม นปช. คือการตัดแหล่งทุนสำคัญของการเคลื่อนไหวลงได้ระดับหนึ่ง


11.การนำคดีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงกับคดีการก่อการร้ายมาเป็นคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผลให้การทำคดีมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเข้มข้นในการสืบสวนสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 11 หน่วยงานมาช่วยกันทำคดีการก่อการร้าย ถือว่าเป็นการสร้างความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก


12.จุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ของกลุ่ม นปช. ที่กลายเป็นจุดแข็งของรัฐบาล คือการถอนตัวของนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่ม นปช. และการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้มีความเชี่ยวชาญทางทหารที่มีส่วนดูแลและวางแผนการรักษาความปลอดภัยของการ์ด นปช. ถือว่าเป็นสัญญาณแห่งความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ เพราะกลุ่ม นปช. ไม่มีหัวในระดับยุทธศาสตร์ทางการเมือง คือนายวีระ มุสิกพงศ์ และไม่มีหัวเสธ.ระดับยุทธศาสตร์ทางทหารในการวางแผนตั้งรับในกรณีที่ทหารจะเข้าสลายม็อบ นปช.


สรุปได้ว่าความสำเร็จทางยุทธการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ทางการเมือง ตั้งแต่ระดับนโยบายคือ


คณะรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความมีเอกภาพของรัฐบาลกับกองทัพ การที่ทหารสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ชัดเจนได้เนื่องจากการเมืองของรัฐบาลที่ชัดเจน และที่สำคัญดังที่ซุนวูกล่าวไว้ว่า “ชัยชนะย่อมเกิดจากฝ่ายตรงข้าม หรือข้าศึกตกอยู่ในสถานการณ์พ่ายแพ้เอง” นั่นคือสภาพการแตกแยกทางความคิดของกลุ่มแกนนำหลัก และการสูญเสียมือวางแผนระดับเสนาธิการ ทำให้สถานการณ์ของกลุ่ม นปช. เริ่มเพลี่ยงพล้ำทางยุทธศาสตร์มาตามลำดับ
แผนยุทธการและหน่วยรับผิดชอบการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์
แผนยุทธการสลายม็อบราชประสงค์ถูกกำหนดดีเดย์ไว้ตั้งแต่ตี 3 ครึ่ง วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หน่วยแรกที่เข้าปฏิบัติการคือ หน่วยสไนเปอร์ เพื่อยึดพื้นที่สูงข่มของตึกบนถนนวิทยุ (อาคารเคี่ยนหงวน) และสะพานแยกสารสิน (อาคารบางกอกเคเบิ้ล) โดยที่อาคารสูงบนถนนวิทยุถูกยึดได้ก่อนตี 5 ครึ่ง ส่วนตึกสูงด้านถนนสารสินยังเข้าไม่ได้


หลังจากนั้นทหารจาก พล.ม.2 รอ. ได้แยกกำลังรุกเข้าไป 3 ทิศทาง ตามเส้นทางถนนวิทยุ ถนนสีลม และถนนสุรวงศ์ มีการเคลื่อนรถหุ้มเกราะปฏิบัติพร้อมทหารเดินเท้า อาวุธเต็มอัตราศึก เป็นรูปขบวนการรบที่คุ้นตาสำหรับการปฏิบัติการของยานยนต์รบกับหน่วยของการยุทธรบในเมือง
แต่กว่าที่ภาพรถหุ้มเกาะจะค่อยๆบดทับและพังทลายป้อมค่ายป้องกันของ นปช. ที่ศาลาแดงได้นั้น ได้มีการวางแผนปรับแผนส่วนหน้ามาแล้วเป็นเดือน โดยใช้บทเรียน 10 เมษายนเป็นสมมุติฐาน ดังนั้น แผนยุทธการครั้งนี้จึงมีการวางแผนอย่างรัดกุม และตั้งอยู่บนสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด จะเห็นได้ว่ายุทธการครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางการทหารและยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


ขั้นการปฏิบัติยุทธการกระชับวงล้อม


จากการประมวลภาพการแถลงข่าวของ ศอฉ. และภาพข่าวของสื่อมวลชน แผนยุทธการน่าจะประกอบด้วยขั้นการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ได้แก่


1.ขั้นการกระชับวงล้อมขั้นต้น เพื่อทดสอบกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ขั้นต้น ใช้เวลา 1 วัน (14 พฤษภาคม)


2.ขั้นการวางกำลังตรึงพื้นที่รอบนอก เพื่อป้องกันการเติมคนของกลุ่ม นปช. อาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับหลังหันรบ 180 องศา มาตั้งรับใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ บ่อนไก่ ถนนราชปรารภ และสามย่าน ขั้นนี้ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงสุด ควบคุมสถานการณ์ให้นิ่งให้ได้ รอฟังคำสั่งต่อไป ใช้เวลา 4 วัน (15-18 พฤษภาคม)


3.ขั้นการสลายม็อบภายหลังจากปฏิบัติการในขั้นที่ 2 ที่ต้องใช้เวลา 4 วัน เพื่อเช็กข่าวการวางกำลังและอาวุธสงครามในพื้นที่สวนลุมพินี การวางกำลังหลังแนวด่านตรวจ นปช. โดยรอบพื้นที่ราชประสงค์ การเช็กที่ตั้งจุดใช้อาวุธ M79 การตรวจสอบกองกำลังกลุ่มก่อการร้ายจำนวน 500 คนว่าวางกำลังพื้นที่ใด เมื่อทุกหน่วยเข้าที่พร้อม การปฏิบัติการก็เริ่มต้นในเช้าตรู่วันที่ 19 พฤษภาคม โดยให้เสร็จสิ้นภารกิจภายใน 1,800 ของวันเดียวก


4.ขั้นการกระชับวงล้อมขั้นสุดท้าย เพื่อตรวจสอบค้นหาหลักฐาน อาวุธสงครามและสิ่งผิดกฎหมาย เริ่มปฏิบัติการในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สาเหตุที่ไม่สามารถทำได้ในวันบุกสลายการชุมนุมในขั้นตอนที่ 3 เพราะกลุ่ม นปช. ได้วางเต็นท์และที่พักเป็นจำนวนมาก และตั้งแต่บ่ายของวันที่ 19 พฤษภาคม มวลชนเสื้อแดงได้ก่อการจลาจลในพื้นที่ราชประสงค์และทั่วกรุงเทพฯ


หน่วยรับผิดชอบวางกำลังยุทธการกระชับวงล้อม


เป็นการปฏิบัติการร่วม 3 เหล่าทัพคือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ โดยกำลังหลักที่ใช้ปฏิบัติการเป็นกำลังของกองทัพบกจำนวน 3 กองพล ได้แก่ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.ร.1รอ.) ใช้กำลัง 3 กรมหลักคือ ร.1 รอ. ร.11 รอ. และ ร.31 รอ. ให้ ร.1 รอ.  กับ ร.11 รอ. วางกำลังพื้นที่ดินแดง พญาไท ราชปรารภ ร.31 รอ. เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมปฏิบัติการพิเศษ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ถนนวิทยุ บ่อนไก่ ศาลาแดง ลุมพินี สามย่าน กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) มีหน้าที่ดูแลพื้นที่อโศก เพลินจิต ชิดลม


นอกจากนี้ยังมีกองกำลังพร้อมสนับสนุนคือ พล.ร.2 รอ. กำลังของหน่วยอากาศโยธิน (อย.) ของกองทัพอากาศสแตนด์บายพร้อมออกปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง และมีหน่วยปฏิบัติการทางอากาศพร้อมขึ้นบินเหนือพื้นที่ราชประสงค์ ขณะที่กองทัพเรือรับภารกิจพิเศษอารักขาสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะบริเวณโรงพยาบาลศิริราช


ทั้งนี้ การปฏิบัติภารกิจของกองทัพจะมีสัญญาณบอกฝ่ายเป็นสัญลักษณ์แถบสีติดหัวไหล่แขนขวา โดยจะมีการเปลี่ยนสีทุกวัน แต่เมื่อการปฏิบัติภารกิจเต็มขั้นในวันที่ 19 พฤษภาคม กำลังทุกหน่วยจะใช้แถบสีชมพูเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่ายติดไว้บริเวณหลังหมวกเหล็กทุกนาย


ความสำเร็จทางยุทธการ : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์


1.แผนยุทธการมีพื้นฐานและสอดรับกับความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ทางทหารและนโยบายของรัฐบาล


2.แผนยุทธการมีการวางแผนเป็นขั้นตอนรัดกุม มีเสรีในการปฏิบัติตามกรอบเวลา มีการวางแผนและปฏิบัติโดยปราศจากแรงกดดันด้วยเวลา


3.การปฏิบัติการข่าวสารนับว่าเป็นผลในระดับยุทธการ ทั้งในส่วนการสร้างขวัญและกำลังใจของฝ่ายปฏิบัติการ และลดขวัญกำลังใจของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย


4.ความสำเร็จของการปฏิบัติงานด้านการข่าวในพื้นที่กลุ่ม นปช. ทำให้สามารถใช้หน่วยได้ตรงกับขีดความสามารถและถูกต้องเหมาะสมกับภารกิจ ยกตัวอย่างการใช้หน่วยสไนเปอร์ของทุกกรม โดยเฉพาะกับพื้นที่ตึกสูงตามเส้นทางถนนวิทยุและสายสารสิน


5.ความสำเร็จในการจู่โจม แม้ว่าแผนยุทธการครั้งนี้ไม่สามารถจู่โจมด้วยเวลาได้ก็มีการแก้เกมด้วยการจู่โจมด้วยความเร็ว โดยการส่งล่วงหน้าเข้ารักษาความปลอดภัยบนพื้นที่อาคารสูง การเข้ายึดพื้นที่สวนลุมพินีเป็นส่วนใหญ่ได้ก่อนสว่าง และการรุกเข้าพร้อมกัน 3 ทิศทาง


6.การปฏิบัติตามแผนยุทธการกระทำด้วยการรุกคืบด้วยความระมัดระวังของแต่ละพื้นที่ โดยการประเมินศักยภาพของกำลังการ์ด นปช. ให้สูงกว่าเมื่อครั้ง 10 เมษายน เพื่อให้มีระบบป้องกันตัวทหารที่มากขึ้น ดังนั้น การปฏิบัติการทางทหารที่ใช้กำลังทหารประมาณ 20,000 นาย มีการสูญเสียทหาร 1 นาย กับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ถือว่าเป็นความสูญเสียที่ยอมรับได้


7.กองกำลังการ์ด นปช. มีการตั้งรับแบบกองโจรวางกำลังเต็มพื้นที่ ขาดผู้เชี่ยวชาญการวางกำลังตั้งรับและร่นถอยแบบทหารที่แท้จริง เนื่องจากการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ทำให้จุดศูนย์ดุลของ นปช. กลายมาเป็นจุดแข็งของการปฏิบัติของกองทัพ


8.แผนยุทธการเป็นการวางแผนการปฏิบัติรบเต็มรูปแบบเสมือนการทำสงครามรบในเมือง ใช้กำลังขนาดใหญ่ถึง 3 กองพล วางแผนเข้าปฏิบัติการ ซึ่งมีอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบสูงกว่ามาก ยิ่งมีการสั่งการให้ใช้กระสุนจริงกับกลุ่มก่อการร้ายผู้ถืออาวุธ และเพื่อป้องกันตัวเองได้ ทำให้ทหารที่เคยสูญเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ 10 เมษายนมีจิตใจรุกรบมากขึ้น


9.แผนยุทธการในการรุกผ่านฝ่ายเดียวกันจากถนนสาทร ถนนสีลม ถนนสุรวงศ์ และถนนวิทยุ ทำให้กองกำลังทหารสามารถรักษาโมเมนตัมในการปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถพิทักษ์ป้องกันพื้นที่ส่วนหลัง (พื้นที่สีลม) ได้อย่างปลอดภัย


10.ความมีเอกภาพในการปฏิบัติจากการสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 1 กับกองกำลัง 3 กองพลให้ปฏิบัติการได้ถูกจังหวะการรุกและการหยุดหน่วย เพื่อผลการรุกของหน่วยอื่น หรือรอเวลาสำหรับการปฏิบัติชั้นสุดท้าย ยกตัวอย่างหน่วยรุกแตกหัก ได้แก่ พล ม.2 รอ. จากทิศทางสีลมมุ่งสู่สี่แยกศาลาแดง ส่วนที่ 2 กองพลที่เหลือคือ พล.ร.9 รับผิดชอบพื้นที่แยกอโศก เพลินจิต ชิดลม และ พล.1 รอ. รับผิดชอบพื้นที่ดินแดง พญาไท ราชปรารภ กำลังส่วนนี้ต้องตรึงกำลัง ปิดเส้นทางหลบหนี ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม นปช. ได้ทยอยออกจากพื้นที่ราชประสงค์ผ่านถนนพระราม 1 ไปแยกปทุมวัน หรือเข้าไปในวัดปทุมวนาราม
ความสำเร็จทางยุทธวิธี : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์


ยุทธการกระชับวงล้อมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ จึงเห็นได้ว่าภารกิจชัดเจน คือการกระชับวงล้อมด้วยกระสุนจริงจากกำลังหน่วยรบหลักของเหล่าทหารราบ เหล่าทหารม้า และหน่วยส่งกำลังทางอากาศ อย่างเช่น ร.31 รอ. ในภารกิจปฏิบัติการพิเศษ อาจเรียกได้ว่าเป็นการรบในเมืองที่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารเต็มอัตราศึก ทั้งกำลัง อาวุธประจำกายที่ทันสมัย ชุดสไนปอร์ หน่วยยานเกราะ ซึ่งการปรับกำลังและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธีที่สำคัญครั้งนี้เป็นผลสะท้อนจากบทเรียนเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 นั่นเอง


การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา 03.30-13.30 น.) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมืองที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


1.การปฏิบัติการทางยุทธวิธีสอดรับกับแผนยุทธการกระชับวงล้อมของ ศอฉ. ในระดับยุทธการและนโยบายของรัฐบาลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อการเมืองชัดเจน ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพชัดเจน ผู้บังคับหน่วยชัดเจน นำมาซึ่งแผนยุทธการและแผนปฏิบัติระดับยุทธวิธีก็มองเห็นทิศทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ


2.ปรับยุทธวิธีการปราบจลาจลเป็นยุทธวิธีการรบในเมือง เพื่อการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธหรือผู้ก่อการร้ายที่แอบแฝงในกลุ่ม นปช. ด้วยฐานข่าวของ ศอฉ. ว่ามีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 500 คน มีอาวุธปืนซุ่มยิง อาวุธสงคราม เช่น M79 M16 AK47 และ Travo-21


3.ปรับการยิงกระสุนยางจากปืนลูกซองเป็นการใช้กระสุนจริงจากอาวุธประจำกาย ทำให้ต้องมีการสร้างวินัยอย่างเข้มงวด ตามกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก ตามหลักสากลมีการยิงให้กรวยกระสุนตกต่ำกว่าหัวเข่า การยิงเมื่อเห็นเป้าหมายหรือบุคคลถืออาวุธเป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวเอง การยิงขู่จะยิงเมื่อม็อบเคลื่อนที่เข้ามาแล้วสั่งให้หยุดก็ไม่ยอมหยุด


4.การจัดระยะห่างระหว่างการวางกำลังของหน่วยทหารกับแนวตั้งรับของม็อบในระยะยิงหวังผลปืน M16 ประมาณ 400 หลา ซึ่งต้องมีกำลังพลเข้าเวรตรวจดูความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดเวลา


5.การปรับการวางกำลังและการเคลื่อนที่ภายใต้อาคารและทางเดินเท้าไม่มีการจัดรูปขบวนยืนแถวหน้ากระดานเป็นแผงกลางถนนเพื่อเตรียมตัวผลักดันกับฝูงชนในภารกิจปราบจลาจล เพื่อป้องกันการซุ่มยิงจากด้านหลังผุ้ชุมนุม

6.การดัดแปลงที่วางกำลังเป็นการตั้งรับแบบเร่งด่วนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยร่นด้วยกำบังกระสอบทรายสูงระดับครึ่งเข่าเมื่อต้องนอนราบ หรือสูงระดับศีรษะเมื่อต้องการยืนปฏิบัติการ และมีการวางแนวทหารตั้งรับเป็นชั้นๆตามเส้นทางเคลื่อนที่เข้าหาม็อบ มิใช่เป็นการวางแนวเป็นปึกแผ่นเพียงชั้นเดียว ซึ่งถ้าม็อบมีจำนวนมากกว่าก็สามารถล้อมทหารและเข้าถึงตัวแย่งปืนได้ง่าย


7.ใช้ลักษณะผู้นำหน่วยขนาดเล็กสูงมาก เพราะต้องอดทน ใจเย็น รอเวลา ทนต่อการยั่วยุ การรับควันไฟกลิ่นยางรถยนต์ที่เหม็นรุนแรงตลอดทั้งวันทั้งคืน


8.การใช้สไนเปอร์คุ้มครองการเคลื่อนที่ในการรุกไปข้างหน้า และการป้องกันให้หน่วยเมื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือเมื่อกองกำลังหยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลาข้ามวันข้ามคืน อีกทั้งต้องรับภารกิจอารักขาผู้บังคับบัญชาระดับสูงอีกด้วย


9.การวางกำลังตามแนวทางเดินเท้าสามารถวางกำลังได้ ยิ่งกระจายกำลังออกไปให้ได้มากยิ่งตกเป็นเป้าหมายคุ้มค่าน้อยลง และไม่ตกเป็นเป้าหมายคุ้มค่าน้อยลง และไม่ตกเป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ให้กับกระสุน M79 ของกำลังก่อการร้าย


10.พัฒนารูปแบบการวางจุดตรวจการณ์ข้างหน้า (Out Post) โดยใช้สะพานลอยข้ามถนน มีการปิดฉากม่านดำเสริมด้วยบังเกอร์และกระสอบทราย ทำให้ลดการตรวจการณ์ของการ์ด นปช. และเสริมการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง ทั้งสามารถปกปิดการถ่ายรูปจากสื่อมวลชน


11.การปรับกำลังและระดมพลแม่นปืนเท่าที่มีอยู่ของกองทัพบกเข้าประจำพื้นที่ เพื่อต่อต้านการซุ่มยิงของกลุ่ม นปช. ทั้งบนอาคารสูงและพื้นที่สูงข่ม


12.การกำหนดพื้นที่อันตรายเป็นฉนวนกั้นกลางระหว่างแนวระยะยิงหวังผลของหน่วยทหารกับแนวตั้งรับของกลุ่ม นปช. เป็นยุทธวิธีประการหนึ่ง โดยมีการประกาศเขตการยิงด้วยกระสุนจริง (Live Firing Zone)


13.การกำหนดเขตห้ามบินเป็นแผนยุทธการที่สนับสนุนงานยุทธวิธี ทำให้มั่นใจว่าการรบเหนือน่านฟ้าพื้นที่ราชประสงค์ฝ่ายเราสามารถครองความได้เปรียบทางอาศัยอยู่


14.ยุทธวิธียอมเสียพื้นที่แล้วถอยกลับมาตั้งรับในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า ห่างจากระยะยิงของพลซุ่มยิงของกลุ่ม นปช. เห็นได้จากความล้มเหลวในการกระชับวงล้อมในพื้นที่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ถือว่าเป็นยุทธวิธีที่ชาญฉลาด ด้วยการไม่บุกตะลุยเข้าสู่คิลลิ่งโซน (Killing Zone)


15.การถอนกำลังหรือการวางกำลังกระจายตัวมากขึ้นภายหลังค่ำมืด ถือว่าเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการไม่ตกเข้าไปในกับดักที่เป็นเป้าหมายคุ้มค่า


16.การใช้หน่วยรถหุ้มเกราะเมื่อจำเป็นและต้องการผลแตกหักในการสลายการชุมนุมเท่านั้น จึงทำให้ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวของยานเกราะก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


17.การใข้รถหุ้มเกราะกับพลรบเคลื่อนที่ตามกันนั้นเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ได้แปรเปลี่ยนไปเพื่อเป็นการข่มขวัญการ์ด นปช. เพราะลดการสูญเสียพลรบจากอาวุธ M79 จรวด RPG หรือระเบิดเคโมร์ตามแนวตั้งรับ นปช.


18.การสนธิกำลังอย่างลงตัวของชุดรบที่ประกอบด้วยชุดสไนเปอร์ ขบวนรถหุ้มเกราะ พลรบหลังรถหุ้มเกราะชุดผจญเพลิง ชุดกู้ระเบิด (EOD) เป็นที่ประสบความสำเร็จที่น่าสนใจ


19.การกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติการที่ส่งผลให้มีเสรีในการปฏิบัติทางยุทธวิธี เช่น การเริ่มปฏิบัติในตอนเช้าตรู่ ทำให้มีเวลามากพอสำหรับกำลังในการรุกเข้าเคลียร์พื้นที่ แต่การรบในเวลากลางคืนทำให้การมองเห็นจำกัด อาจตกเป็นเป้าหมายของกองกำลังก่อการร้ายที่แอบแฝง และที่สำคัญไม่มียิงฝ่ายเดียวกันหรือยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์


20.การใช้หน่วย ปจว. ทางยุทธวิธีเพื่อทำความเข้าใจก่อนการบุกสลายการชุมนุมถือว่าเป็นหลักสากลประการหนึ่ง


21.การใช้หน่วยในพื้นที่วางกำลังส่วนล่างหน้าไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อตรึงกำลังป้องกันมิให้มวลชนคนเสื้อแดงยกกำลังเข้าช่วยที่ราชประสงค์ ต่อจากนั้นจึงใช้กำลังหลักเข้าสลายกลุ่มชุมนุม


22.การยอมถอนตัวของกำลังทหารออกจากพื้นที่ราชประสงค์ภายหลังถูกโจมตีด้วย M79 ในช่วงตอนเย็นตรงพื้นที่แยกสารสิน ถอยกลับไปยังพื้นที่ปลอดภัยถนนสีลม ถือว่าเป็นการตัดสินใจในระดับยุทธวิธีที่ถูกต้อง เพื่อลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น


23.มีการซักซ้อมแผนและซักซ้อมการปฏิบัติทั้งหมด ทั้งในพื้นที่ตั้งหน่วยและที่ ร.11 รอ. เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นใจสู่ความสำเร็จ และเป็นการลดเกณฑ์เสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 317 วันที่ 2 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หน้า 5 - 8 คอลัมน์ ข่าวไรพรมแดน โดย วารสารเสนาธิปัตย์www.cdsd-rta.net



http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น