ตลาดวิชา โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 89
"กลุ่มนักศึกษา-อาจารย์-ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประชาชนกว่าร้อยคน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ยกเลิกมติที่ออกมาจากที่ประชุมมหาวิทยาลัย หลัง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์ข้อความสาธารณะในเฟซบุ๊กว่า
ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวในกรณี เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุเหตุผลว่า "อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการ ดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัย ของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยได้"
http://www.prachatai.com/journal/2012/01/39011
อ่านข่าวนี้แล้วนอกจากอึ้งแล้วยังงง อยู่ในอาการที่เรียกว่าไปไม่เป็น
สำหรับสังคมไทยมหาวิทยาลัยคืออะไร?
ไหนๆ อาทิตย์ที่แล้วเราได้ทำความรู้สังคมไทยกันแบบ "บ้าน บ้าน" ไปแล้ว อาทิตย์นี้เรามาทำความรู้จักมหาวิทยาลัยตามประสาคน "บ้าน บ้าน" กันบ้างดีกว่า
มหาวิทยาลัยในสังคมไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเก่าแก่ (
เก่าในที่นี้ก็ล้วนมีอายุไม่ถึงหนึ่งร้อยปีทั้งสิ้น ดังนั้น เวลาที่พูดคำว่า "เก่า" ขอให้เข้าใจว่า "เก่า" ในมาตรฐาน ไทย" เท่านั้น)
ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สำหรับประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ลูกหลานของ "อภิสิทธิ์ชน" ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ดำรงไว้ซึ่ง "ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้นต่ำสูง" จำลองโลกแบบ "ราชการ" ไทย เพื่อให้นิสิต นักศึกษาได้เรียนรู้ ฝึกฝนให้คุ้นเคยกับความสัมพันธ์เช่นนี้ก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอก
ทำไมมหาวิทยาลัยจึงเป็นสถานที่สำหรับลูกหลานอภิสิทธิ์ชน?
คนที่จะผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ล้วนแต่มาจากครอบครัวที่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่เหลือเฟือพอจะส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนที่ดีมีมาตรฐาน ตามด้วยการเรียนพิเศษ กวดวิชาอย่างเข้มข้น
ลูกหลานคนจนที่เรียกกันว่าเป็นเด็กช้างเผือกนั้นโอกาสจะหลุดรอดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้มีน้อยเต็มที
เมื่อหลุดมาเข้ามาแล้วก็มีแนวโน้มจะสถาปนาตนเองเป็น "ชนชั้นนำ" ของสังคมและหลงลืม "เพื่อนร่วมชนชั้น" ในสังคมของตนไปเสียสนิท อาจทำได้แม้กระทั่งผนวกตนเองเข้าไปเหยียบย่ำหยาบหยาม "ชาวบ้าน" ว่า โง่ ว่าควาย ว่าถูกหลอก หรือเนรคุณแผ่นดินไปเสียก็ได้ ไม่นับอาจกลายเป็นสมุนรับใช้ทรราชก็มาก การให้ "ทุนการศึกษา"--อย่าลืมว่าทุนการศึกษาทั้งหลายแหล่นั้นล้วนมาจากภาษีประชาชน--
มิใช่เป็นไปเพื่อการขยายโอกาสทางการศึกษาเพื่อขยายฐานของชนชั้นกลางให้กว้างขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่เป็นไปเพื่อสร้างเครือข่ายทางอำนาจ และสำนึกในบุญคุณของหน่วยงานที่ให้ทุน
คำว่า
"ทำงานใช้ทุน" จึงไม่ได้แปลว่าการทำงานเพื่อชดใช้เงินภาษีของประชาชนเท่านั้น แต่บรรดาผู้ได้ทุนต้องคอย "สนองคุณ" และ "รำลึกในบุญคุณ" ของผู้อุปถัมภ์ของตน ตั้งแต่อดีตอาจารย์ที่ปรึกษา คณบดี อธิการบดี และอื่นๆ หากมีใครสักคนหนึ่งที่ตระหนักว่า "ทุนการศึกษา" ของตนมาจากภาษีของประชาชน เพราะฉะนั้น นอกจากสอนหนังสือตามหน้าที่ เขาหรือเธอคิดว่า ต้องมีบทบาท ทำงาน ทำกิจกรรม เพื่อสังคมที่กว้างขวางกว่า "มหาวิทยาลัย"
กิจกรรมของพวกเขาอาจได้รับการสนับสนุนตราบเท่าที่มันไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของ "เครือข่ายทางอำนาจ" เครือข่ายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนกิจกรรม จิตอาสา ตักบาตรพระล้านรูป ออกค่ายไปพัฒนาชนบทเพื่อตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ชนบท โง่ จน เจ็บ อ่อนแอ ส่วนนักศึกษาและครูบาอาจารย์คือผู้โปรดสัตว์
พูดภาษาบ้านบ้านว่า มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศลสไตล์นางงามจักรวาลและนางสาวไทย
แต่จะไม่สนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย
และยิ่งไม่สบายใจหากจะเห็น "ชาวบ้าน" กระเร้อกระรังเข้ามา "บุกรุก" ทำลายบรรยากาศและ "ความสง่างาม" ของมหาวิทยาลัย
หอประชุมของหลายมหาวิทยาลัยยินดีเปิดให้พระเดียรถีย์ หรืออุบาสกอุบาสิกาจอมปลอม ลวงโลก จัดนิทรรรศการออกร้าน จัดงานอีเวนต์ธรรมมะใจใสได้ตลอดอาทิตย์
แต่กลับไม่อนุญาตให้นักศึกษาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมือง มิหนำซ้ำกลับส่งตำรวจมาสอดแนมกิจกรรมของเหล่านักศึกษาก็เห็นได้บ่อยๆ
มหาวิทยาลัยคือสถานที่ที่เต็มไปด้วยรหัสมารยาทที่เป็นไปตามลำดับชั้นต่ำสูง
ในหมู่อาจารย์ด้วยกันก็มีรหัสลับซับซ้อนว่าใครควรได้รับการ "เคารพ" และนอบน้อม เกรงใจ พินอบพิเทาในระดับไหน ยาม ลูกจ้าง แม่บ้าน ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง มีภาษาที่ใช้อีกแบบหนึ่ง ส้วม ลิฟต์ โซฟา ที่นั่ง ห้องอาหาร มีแม้กระทั่งการสงวนสิทธิ์ที่จอดรถตาม "ตำแหน่ง" หากท่านมีตำแหน่งสูงสิทธิ์ที่ท่านจะได้บัดเดี๋ยวนั้นคือ "ที่จอดรถ"!!!!!! อันมีชื่อตำแหน่งของท่านติดหราประจาน เอ๊ย รับประกันความเป็นอภิสิทธิ์ชน (ภายหลังลามปามมาใช้ในสถานโลกีย์บริโภคนิยม เช่น ห้างสรรพสินค้าอันสงวนที่จอดรถสำหรับคนถือบัตรทอง บัตรดำ บัตรเงิน บัตรบียอนแพลตตินั่ม โอ้วววว ที่จอดรถช่างเต็มไปด้วยรหัสความสัมพันธ์ทางชนชั้น)
ไม่เพียงเท่านั้น ในบางตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย ท่านยังมีรถประจำตำแหน่ง บ๊ะ...มันดีจริงๆ
มหาวิทยาลัยก็เหมือนกับสถานที่ราชการในเมืองไทยคือล้วนแต่อยู่กินเบิกบานกันด้วยภาษีของประชาชน แต่กลับเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั้งกลัวทั้งเกรงใจ ทั้งเป็นสถานที่ที่ประชาชนเต็มขั้นปราศจากเส้นสายสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตะคอก ตวาด ตะเพิด ขับไล่เหมือนหมูเหมือนหมา หรือไม่ก็ได้รับการ "เอื้ออาทร" แบบสังคมสงเคราะห์ ล่าสุด ฉันและเพื่อนถูก "สารวัตร" (สาว) ท่านหนึ่ง ณ โรงพักแห่งหนึ่ง ทั้งตะคอก ตะเพิด เหวี่ยง วีน อีกทั้ง สั่งสอน โทษฐานที่ไม่รู้ที่สูงที่ต่ำในโรงพัก โทษฐานที่ไม่รู้จักไปฝากเนื้อฝากตัวขอความช่วยเหลือจาก "ท่านสารวัตร" โทษฐานที่ไม่รู้ว่า สน. นี้ใคร "หย่าย"
อ้าว นึกว่าประชาชนเป็นใหญ่นี่นา
มหาวิทยาลัยในโลกทุนนิยม อาจเป็นดังที่ฉันได้ฟังสุนทรพจน์ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนจากต่างประเทศกล่าวเมื่องานเปิดตัวสินค้า (มหาวิทยาลัย) ว่า "เราไม่ลังเลที่จะเสนอสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าเพราะปัจจุบันนี้การศึกษาคือธุรกิจที่ใหญ่มากธุรกิจหนึ่ง" ชัดเจนแจ่มแจ้งไม่เสแสร้งใส่หน้ากาก ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย
ทว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศยากจน ล้าหลัง ป่าเถื่อน อย่างประเทศไทย
ขาข้างหนึ่งของมหาวิทยาลัยแอบก้าวเข้าไปสู่โลกทุนนิยมอย่างตะกละตะกลาม ด้วยการเปิดสารพัดหลักสูตรเทวดา ปริญญาโท ปริญญาเอกภาคพิเศษที่ไม่ต่างอะไรกับการขายปริญญาบัตรเพื่อหาเงินมาปรนเปรอโครงสร้างแนวดิ่งให้ผู้บริหารได้เอ็นจอยสถานะบียอนแพลตตินั่มของพวกท่าน อีกทั้งรถประจำตำแหน่งเหล่านั้นด้วย
แต่อีกใบหน้าหนึ่งก็พยายามจะรักษาสถานะของความเป็นปัญญาชนผู้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งถือเป็นอภิสิทธิ์อีกแบบหนึ่ง เพราะมันคือต้นทุนทางศีลธรรม จริยธรรมที่มี "มูลค่า" ไม่น้อยไปกว่าทุนที่เป็นเงิน
มิหนำซ้ำต้นทุนทางศีลธรรมในสังคมดัดจริตแบบไทยๆ ยังสามารถทำกำไรเป็นตัวเงินได้มหาศาล
ไม่เชื่อถามเข็มทิศ, แม่ชี, ครูอัจฉริยะ หรือพระเซเลบฯ ดู
คำประกาศของ ดร.สมคิด จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไรเลย หากเราเข้าใจบทบาทของมหาวิทยาลัยในสังคมไทย เพราะมันเป็นสถาบันที่ไม่เคยส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งอยู่แล้ว
มหาวิทยาลัยไทยคือแหล่งผลิตและหล่อเลี้ยงสำนึกแบบอำมาตย์ที่เข้มข้นที่สุดสถาบันหนึ่งของชาติต่างหาก เริ่มตั้งแต่พิธีกรรมรับน้อง ลำดับชั้นของความพินอบพิเทาของผู้คนที่อยู่ในนั้นไปจนถึงการรับปริญญาอันโอ่อ่า ฟุ่มเฟือย
Myth ว่าด้วยความเป็นเสรีนิยมและเสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์ก็มีไว้เพื่อเพิ่มมูลค่าของต้นทุนทางศีลธรรมให้กับมหาวิทยาลัยเป็นแค่ "จุดขาย" และตำนานของ ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกผลิตซ้ำเพื่อขายภาพพจน์ไปวันๆ ตราบเท่าที่มันไม่ไปกระทบกระเทือนต่ออุดมการณ์และเครือข่ายอำนาจ "หลัก" ของชาติไทย
ช่วงที่มีม็อบเสื้อแดง นายทุนอย่างเซ็นทรัลยังเปิดเซ็นทรัลเวิลด์ให้ประชาชนไปใช้ห้องน้ำ หลบแดดหลบฝน แต่ธรรมศาสตร์ให้อะไรกับประชาชนบ้าง? หากเชื่อว่าปัญญาชนต้องมีสำนึกต่อสาธารณะ ลองนับหัวว่าอาจารย์ธรรมศาสตร์มีทั้งหมดกี่คน และมีกี่คนที่ออกมา "ปกป้อง" ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่าว่าแต่นักวิชาการ ปัญญาชนในธรรมศาสตร์จะไม่ปกป้อง "ประชาธิปไตย" และสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้แต่สิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อนร่วมงาน พวกเขายังดูดาย
ธรรมศาสตร์สามารถนั่งดู อาจารย์ธรรมศาสตร์หลายต่อท่านถูกล่าแม่มด
ล่าสุด คืออาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์
ธรรมศาสตร์มีขันติธรรมเพียงพอจะเห็นการเผาหุ่นอาจารย์วรเจตน์โดยอ้างว่านั่นเป็น "เสรีภาพ" ในระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่อนุญาตให้นักวิชาการและประชาชนใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย "พูด" ในเรื่องที่ "ไม่อยากให้พูด"
หากท่านอ้างว่า "อาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่ามหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการกระทำใดๆ ที่ทำในมหาวิทยาลัย" นั่น
แสดงว่า ท่านและมหาวิทยาลัยของท่านเห็นด้วยกับการเผาหุ่นเพื่อร่วมงานของท่าน อีกทั้งเห็นด้วยกับทุกถ้อยคำความรุนแรงที่กลุ่มต่อต้านนิติราษฎร์นำเข้ามาในมหาวิทยาลัย
หากใครถูกประณามว่าเนรคุณ องค์กรที่ชื่อมหาวิทยาลัยและบรรดานักวิชาการบนหอคอยงาช้างนี่แหละที่ไม่เคยสำนึกในบุญคุณเงินภาษีราษฎรที่พวกเขาดื่มกิน
มหาวิทยาลัยทั้งหลายออกไปค้าขายค้าวิชาความรู้ไปวันๆ และออกนอกระบบ เลิกรับเงินอุดหนุนจากรัฐเสียทีก็ดีเหมือนกัน และเราจะได้จัดการความสัมพันธ์กันได้ง่ายและชัดเจนขึ้น มีสินค้าเป็น "วิชา" ก็ขายไป โดยไม่ต้องพ่วงมากับการสร้างภาพสร้างแบรนด์จากประวัติศาสตร์ จากวีรบุรุษ แอบอ้างเอาอดีตมาหากินอย่างไร้ยางอาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น