ความดีที่ไม่หลากหลาย | |
คุยกับนักปรัชญาชายขอบ ว่าด้วยความดีที่ไม่หลากหลาย Posted: 09 Feb 2012 08:18 AM PST บทสนทนาใต้ร่มพุทธศาสนาในสังคมไทยในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกอธิบายว่าปลอดพ้นจากการเมือง “ปัจจุบันเราใช้ธรรมะเป็น ‘วาทกรรม’ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์อื่นๆ เช่น ยกย่องสถานะศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น ใช้อ้างในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อยกตัวเอง พวกตัวเองให้สูงส่งแล้วกดอีกฝ่ายให้ต่ำลง”... ประชาไทคุยกับสุรพศ ทวีศักดิ์ หรือ “นักปรัชญาชายขอบ” ในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านปรัชญาศาสนา ซึ่งวิพากษ์บทบาทพระสงฆ์ในทางสังคมการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เราถามเขาในหลายๆ คำถามที่คาใจเกี่ยวกับบทบาทของพุทธศาสนาและคำสอนแบบพุทธๆ ในสังคมไทยซึ่งลักลั่นอิหลักอิเหลื่อในการอ้างอิงมาใช้รองรับความชอบธรรมในทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับถูกมองว่าบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการเมือง ตกลงว่าศาสนาพุทธสอนให้คนเป็นคนดีหรือไม่ อยู่ที่เราจะนิยาม “คนดี” ว่าอย่างไร ในทางจริยธรรมคนดีมีความสัมพันธ์กับความดี แต่ “ความดี” มันมีสองความหมายคือ 1) คุณธรรม หมายถึงคุณสมบัติที่ดีบางอย่างที่เราต้องสร้างขึ้นเป็นลักษณะนิสัยของตนเอง เช่น ความมีปัญญา ความกล้าหาญ ความอดทน ความเสียสละ การมีจิตใจที่รักความยุติธรรม 2) จริยธรรม คือหลักการ หรือกฎที่คนเราพึงยึดถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งมีหลากหลาย เช่น หลักจริยธรรมของศาสนาต่างๆ หลักจริยธรรมสากลคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ความยุติธรรม จะเห็นว่าคุณธรรมเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะสร้างขึ้นในตัวเอง แต่จริยธรรมเป็นหลักการในการอยู่ร่วมกัน หลักสิทธิมนุษยชนหรือกติกาในสังคมประชาธิปไตยก็สร้างขึ้นจากการยอมรับคุณค่าตามหลักจริยธรรมสากล ทีนี้การมีคุณธรรมถือว่าเป็น “คนดี” ไหม ก็ตอบได้ว่าเป็นคนดีในความหมายว่าดีสำหรับตัวเอง เช่น มีปัญญา มีความอดทน มีความกล้าหาญ ก็ดีสำหรับตัวเขาเอง แต่ดีสำหรับคนอื่นไหม ก็ดีได้ถ้าเขามีคุณธรรมในสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ เช่น มีเมตตา มีน้ำใจ มีความเสียสละ มีจิตใจรักความยุติธรรม ซื่อสัตย์ คนในโลกยุคเก่า หรือแม้แต่คนในสังคมเกษตรกรรม จะยึดคนดีในความหมายของคนที่มีคุณธรรมนี่แหละเป็น “บุคคลในอุดมคติ” ที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง เช่น ยึดคนอย่างโสเครตีส เป็นแบบอย่างของผู้มีปัญญา มีความกล้าหาญทางจริยธรรม พระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างของผู้มีปัญญาคุณ มีวิสุทธิคุณ กรุณาคุณ พระเยซูมีความรัก ความเสียสละ หรือคนดีอย่างมหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า เป็นแบบอย่างของผู้มีความเสียสละเป็นต้น แต่ในโลกสมัยใหม่ที่สังคมมีความซับซ้อนมาก การอ้างอิงคนดีหรือคนมีคุณธรรมสูงส่งเป็นแบบอย่าง หรือเป็นบุคคลที่เราต้องคอยพึ่งพาคำสอน หรือสติปัญญาในการบริหารบ้านเมืองจากเขามันเป็นเรื่องหาความชัดเจนได้ยาก เพราะความเป็นคนดีมีคุณธรรมมักจะถูกใช้เป็น “วาทกรรมทางการเมือง” สำหรับใช้หาเสียง หรืออาจจะใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือบางทีก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เกินจริง อย่างคนบางคนในบ้านเราถูกยกย่องเป็น “เสาหลักทางจริยธรรม” เป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์ ไม่โกง แต่สังคมก็ละเลยที่จะตั้งคำถามว่าเขาซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ในโลกสมัยใหม่ คนจึงไว้วางใจคนที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนดีคนมีคุณธรรมน้อยลง แต่แสวงหาหลักจริยธรรมสากลในการอยู่ร่วมกันคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งหลักดังกล่าวมันเป็นจริยธรรม ในแง่ที่ว่ามันมีคุณค่าต่อการปกป้องความเป็นคนของเรา และเพราะถือว่ามันมีคุณค่าปกป้องความเป็นมนุษย์ของเราจึงต้องสร้างกติกาการเมืองขึ้นมาบนพื้นฐานของจริยธรรมสากลดังกล่าวนี้ ทีนี้ถ้าใช้ ‘ความดี’ คือหลักจริยธรรมสากลเป็นเกณฑ์วัด ‘คนดี’ ก็คือคนที่ทำตาม และหรือปกป้องหลักจริยธรรมสากลดังกล่าวนี้ คนดีในความหมายนี้ก็น่าจะดีต่อสังคมหรือส่วนรวมในโลกสมัยใหม่ แต่ทำไมเราถามว่าพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีหรือไม่ ก็เพราะความเป็นคนดีในพุทธศาสนาดูจะเน้นหนักไปทางการเป็นคดีมีคุณธรรมทางศาสนา ซึ่งบางครั้งคนที่มีคุณธรรมทางศาสนาก็ไม่ใส่ใจหลักจริยธรรมสากล เท่ากับไม่ใส่ใจส่วนรวมในสมัยใหม่ คนดีทางศาสนาจึงเหมือนไม่ดีต่อสังคม ที่แย่กว่านั้นคือ บางครั้งก็ออกมาขัดขวางความก้าวหน้าของจริยธรรมสากลด้วยการตีความพุทธศาสนาให้รับใช้เผด็จการ เช่น “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” และสังคมไทยมีไอดอลที่จะบอกว่าจะเอาคนดีมีศีลธรรมมาบริหารบ้านเมือง ต้องเป็นคดีมีศีลธรรม กินมังสวิรัติ ซึ่งมันไม่เกี่ยว ไม่ได้ตอบโจทย์ คือความป็นคนดีไม่ได้ตอบโจทย์ที่จะทำให้สังคมการเมืองมันดีขึ้น แล้วบางทีอ้างความเป็นคนดี อ้างคุณธรรมเพื่อจะไม่ต้องตรวจสอบ พอเชื่อว่าคนนี้เป็นคนดีแล้วเราไม่ต้องไปตรวจสอบ แล้วบอกว่าคนดีเป็นเผด็จการโดยธรรมได้ อย่างท่านพุทธทาสบอกว่า เผด็จการโดยธรรม คือถ้าเป็นคนดี ก็เป็นเผด็จการได้ มันเป็นคำอธิบายที่มีความขัดแย้งเยอะแยะมากมาย และเราเชื่อกันแบบนี้มาตลอด สำหรับสังคมไทย การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี คือการเป็นปัจเจกชน ให้ตัวเองหลุดพ้น เราไม่ต้องยุ่งกับสังคมและปล่อยให้คนดีปกครองสังคม นี่เป็นความเข้าใจผิด คนใช้พุทธศาสนาแบบไม่จำแนกแยกแยะ คือความพ้นทุกข์เป็นมิติของปัจเจก แต่คุณจะมาอ้างว่าคุณมีความสงบมีความพ้นทุกข์แล้วจะมาปกครองสังคมมันไม่เกี่ยวกัน คือเรื่องหลุดพ้นใครอยากหลุดพ้นก็หลุดพ้นไป แต่ปัญหาของบ้านเราคือการไปโปรโมทคนปฏิบัติธรรมหรือคนหลุดพ้นว่าเป็นที่พึ่งของสังคมได้ เช่นการโปรโมทพระอริยะ คือเขาจะเป็นที่พึงได้ในแง่ความสงบของจิตใจของปัจเจกแต่ในแง่การเมืองเขาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะในทางการเมืองไม่ได้หมายความว่าพระจะรู้เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความเสมอภาค แต่ปรากฏการณ์บ้านเรามันมั่ว เรามักอ้าง ธรรมนำหน้า อ้าง พ่อแม่ครูบาอาจารย์ อ้างว่า พระอริยสงฆ์หนุนเราอยู่เบื้องหลังเราจึงมีความชอบธรรมที่จะไล่คนชั่วออกไป มันไม่ใช่แนวทางพุทธศาสนาดั้งเดิม ความหมายของความดีของไทยในไม่หลากหลายหรือเปล่า ชุดความหมายของความดีของไทยมันถูกครอบด้วยมิติทางศาสนา เราอธิบายว่าความดี คือคนที่พยายามขัดเกลาตัวเอง ละกิเลส ดีด้วยกายวาจาใจ เราจึงไม่เคยมองว่าคนที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 14 หรือ 6 ตุลา คนที่ออกมาต่อสู้เหล่านี้เราไม่เคยมองว่าพวกเขาเป็นคนดี คนดีคือคนที่อยู่ในกรอบศีลธรรมศาสนาและอยู่ในกรอบของความจงรักภักดี ถ้าใครบอกว่าจงรักภักดีปกป้องสถาบัน ก็กลายเป็นคนดีโดยอัตโนมัติใช่ไหม ใครเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็ถูกมองว่าเป็นคนดี ถูกนับถือว่าเป็นคนดี ในขณะที่คนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เรากลับมองว่าพวกนี้มาสร้างความวุ่นวาย เป็นพวกหัวรุนแรง เราไม่ยกย่องว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นคนดี จิตร ภูมิศักดิ์เป็นคนดี สังคมไทยเราไม่ยกย่องแบบนี้ คืออะไรก็แล้วแต่ที่เรามองว่าอยู่ฟากตรงข้ามกับสถาบัน กับศาสนามักจะถูกตัดสินโดยอัตโนมัติว่าเป็นคนไม่ดี คนเสื้อแดงที่บาดเจ็บเสียชีวิตที่ออกมาต่อสู้ จะได้รับการเยียวยาก็ยาก เพราะถูกตัดสินไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี แต่ถ้าเรามองคอนเซ็ปท์ความดีอีกแบบอย่างคานท์ อย่างจอน สจ๊วต มิลล์ เขาพูดเรื่องเสรีภาพ ความเป็นคนดีคือการที่ตัวเองมีจิตสำนึกต่อเรื่องเหล่านี้และออกมาต่อสู้ให้สังคมมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาค เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปกป้อง คนดีต้องออกมาต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ ถ้าใช้คอนเซปท์เหล่านี้เราก็จะมองว่าคนที่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยคนเหล่านี้ก็เป็นคนดี แต่สังคมไทยเราไม่ได้คิดมิตินี้ เราคิดแต่มิติความเป็นคนดีทางศาสนา กับรักสถาบัน คือต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบสังคม แต่ถ้าออกมาค้าน เรียกร้องกลายเป็นพวกวุ่นวาย ใช่ ต้องอยู่ในศีลธรรมอันดี แต่ศีลธรรมอันดีของใคร ก็ของผู้มีอำนาจ นี่เป็นปัญหาของพุทธหรือเป็นปัญหาของสังคมไทย เป็นปัญหาของสังคมไทย เพราะพุทธแบบไทยกับพุทธแบบดั้งเดิมไม่ตรงกัน แม้แต่คำว่าธรรมะก็ไม่เหมือนกัน คำว่าธรรมะ ไม่ได้แปลศัพท์บาลีออกมาเท่านั้นนะแต่เราต้องรู้บริบทของธรรมะ คือสมัยก่อนพุทธศาสนา ธรรมในศาสนาพราหมณ์ เป็นตัวแบ่งแยกชนชั้น ธรรมะคือหน้าที่ของคนแต่ละวรรณะที่จะก้าวก่ายกันไม่ได้ แต่ธรรมะในศาสนาพุทธแบบดั้งเดิมนั้น เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา ใช้เหตุผลทำความเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ปัจจุบันเราใช้ธรรมะเป็น “วาทกรรม” เพื่อตอบสนองจุดประสงค์อื่นๆ เช่น ยกย่องสถานะศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น ใช้อ้างในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อยกตัวเอง พวกตัวเองให้สูงส่งแล้วกดอีกฝ่ายให้ต่ำลง ใช้สร้างภาพให้ดูเป็นคนดี เข้าวัดปฏิบัติธรรม เป็นต้น กรรมก็ใช้แบ่งชนชั้น ยากดีมีจนเพราะทำกรรมเก่ามาไม่เท่ากัน บุญก็มีไว้ขาย บาปมีไว้ขู่ แล้วเรื่องเหล่านี้ก็กลายเป็นพุทธพาณิชย์ คือธรรมะก็ถูกทำให้เป็นสินค้า จัดคอร์สปฏิบัติธรรมราคาแพง มีการแก้กรรมที่คนสอนวิธีแก้รวยวันรวยคืน การทำบุญแบบธุรกิจขายตรง เป็นต้น ยังไม่ต้องพูดถึงธุรกิจวัตถุมงคลพาณิชย์ที่มีการโฆษณาอย่างแพร่หลายและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกรรม มองอีกแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าคนไทยบริโภคพุทธศาสนา บริโภคธรรมะ เหมือนบริโภคความจงรักภักดี คือเราใช้พุทธศาสนา ใช้ธรรม ใช้ความจงรักภักดีไม่ใช่เพราะเราต้องการปฏิบัติตามเนื้อหาสาระที่แท้จริงของสิ่งนั้น แต่ใช้สิ่งนั้นเพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่เราปรารถนา ซึ่งก็เป็นเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์ ความสบายทางวัตถุ การสร้างภาพลักษณ์ที่ฉาบฉวย คำทางศาสนา เช่น ธรรมะ บุญ บาป ถูกใช้เป็นวาทกรรมที่สนับสนุนอำนาจทางการเมือง อำนาจทางศีลธรรม และบริโภคนิยม เรามักพูดกันว่าศาสนา หรือพระไม่ควรยุ่งกับการเมือง ที่ผ่านมา ถ้าเป็นการเมืองสนับสนุนอำนาจยุ่งได้ เช่น การสอนเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม ตรงนี้เป็นการเมืองเต็มๆ แต่ถ้ากระด้างกระเดื่องต่ออำนาจ เช่น ครูบาศรีวิชัย ก็ถูกจำกัด ถูกดำเนินการ จริงๆ ในประวัติศาสตร์ไม่มีศาสนาที่บริสุทธิ์จากการเมือง สมัยพระพุทธเจ้า ญาติสองฝ่ายทำสงครามแย่งน้ำกัน เป็นวิกฤตการเมืองที่คนกำลังจะฆ่ากัน พระพุทธเจ้าก็เข้าไปห้าม แบบนี้ก็ยุ่งการเมืองนะ แต่ยุ่งแบบเป็นบวก แต่ของเรานี่ ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป คือไปสนับสนุนฝ่ายมีอำนาจ แล้วก็ไม่ยุติธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นความรุนแรง บางทีเราก็ไม่ได้มองอะไรที่สอดคล้องกับความจริง เช่น การบอกว่าพระต้องบริสุทธ์จากการเมือง ผมว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะเรามีพระสงฆ์จำนวนมาก และพระสงฆ์มีบทบาททางสังคมอยู่แล้ว จริงๆ เราควรให้พระเลือกตั้งได้ด้วยซ้ำ คือการที่เรามีกฎหมายไม่ให้พระเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าพระไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองนี้ เราก็ควรมีกฎหมายให้พระสนับสนุนและเลือกพรรคการเมืองได้ เพราะไม่ได้ทำให้พุทธศาสนาเศร้าหมอง มีมลทิน จริงๆ ถ้าเราเข้าใจพระ เราจะเข้าใจว่าพระมีข้อจำกัดเยอะมาก คือข้อจำกัดในเรื่องการรู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันสังคม เนื่องจากท่านอยู่ในวัด และพื้นฐานที่มาของพระส่วนใหญ่มาจากคนชนบท ด้อยการศึกษา มาบวช แล้วเข้ามาสู่สถาบันสงฆ์ที่อนุรักษ์นิยมมาก พระบางรูปเก่งในการพูดจา เก่งในการศึกษา แต่บริบทที่แวดล้อมท่าน สื่อที่แวดล้อมท่าน ดาราที่แวดล้อมท่าน ท่านก็ได้รับข้อมูลจากคนพวกนี้ เราต้องยอมรับว่ามันขึ้นกับคอนเนกชั่นนะ ก็มีบริบท แต่เราคาดหวังจากพระโดยคาดหวังว่าต้องบริสุทธิ์หมดจดทั้งเรื่องความประพฤติ ความคิดเห็น ผมว่าเราคาดหวังอะไรที่เกินมนุษย์ไปหน่อย เพราะพระก็เป็นคนเหมือนเรา อาจารย์บอกว่าพระส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม แต่เมื่อบวชเรียนแล้วสังคมไทยมักคาดหวังว่าพระแนะนำได้ทุกเรื่อง จริงๆ แล้วพระสามารถแนะนำได้ทุกเรื่องจริงหรือ นี่คือความคิดของชนชั้นกลาง อย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเรียกว่าชนชั้นกลางวัฒนธรรม ที่มักจะมองอะไรแบบโรแมนติก ไม่ได้ใช้เหตุผล เช่น กรณีนิติราษฎร์เราก็เห็นชัดเจนว่าเขาเสนออะไร มีเหตุผลอย่างไร แต่คนทั่วไปเขาก็พูดแค่ว่าล้มเจ้า คนชั้นกลางในเมืองจะมองว่าพระเป็นผู้บริสุทธิ์ ศึกษาพุทธศาสนาซึ่งสามารถตอบอะไรได้ทุกเรื่อง คือเป็นวิธีการที่มองอะไรแบบสูตรสำเร็จ แต่ผมคิดว่าคนชนบทเขาไม่ได้มองอะไรแบบนั้นนะ ชาวบ้านเขาไม่ได้มองว่าพระสมบูรณ์แบบ แต่เขามองว่าเป็นลูกหลาน แต่นับถือกันในฐานะที่เป็นพระ บางทีพระก็ไปเกี่ยวข้าวกับชาวบ้าน เราจะไม่เห็นบทบาทพระไทยแบบที่เห็นจากพระพม่า พระไทยนั้นโดยประวัติศาสตร์ความเป็นมา เป็นพระของเจ้ามาตลอด อย่างตอนผมทำวิจัยบทบาทของพระสงฆ์ในช่วงที่คนเสื้อแดงชุมนุม ผมก็เห็นว่าพระเสื้อแดงมีความรู้สึกในเรื่องชนชั้นอยู่ เช่น ผมเคยถามท่านว่าสถาบันศาสนามีสามส่วน คือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ผมถามว่าทำไมท่านมาอยู่กับฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าล้มสถาบัน ท่านก็บอกว่า มันเป็นการหลอกกัน ดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือ ท่านเห็นว่าชาวบ้านถูกเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรม จริงๆ แล้วพระน่าจะมีความรู้สึกแบบนี้ เพราะพระส่วนใหญ่มาจากชนบทได้รับการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ถ้าการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นแบบที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอกว่า ควรจะสอนให้พระรู้จักกำพืดตัวเอง รู้จักโครงสร้างที่อยุติธรรม พระจะเป็นของชาวบ้านมากขึ้น แต่การศึกษาในมหาวิทยาลัยของสงฆ์ไม่ใช่แบบนั้น เป็นการศึกษาแบบที่เป็นระบบทั่วไปที่เป็นการศึกษาเพื่อเป็นบันไดดารา เพื่อเลื่อนชนชั้นทางสังคมนั่นเอง ข้อมูลที่มา เวบประชาไท ขออนุญาตนำเผยแผ่ เพื่อเป็นวิทยาทาน ขอขอบคุณ | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น