ปฏิรูประบอบ ? | |
ปฏิรูประบอบ? “แนวคิดของคณะนิติราษฎร์ ต้องการสืบทอดเจตนารมย์ของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร พ.ศ.2475โดยไม่พิจารณาในจารีต ประเพณี และวิถีของสังคมไทย” “ข้อเสนอนี้ต้องการเปลี่ยนระบบปกครอง มีแนวคิดคล้ายกับแนวคิดของคณะราษฎร ที่ได้ทำการปฏิวัติ เมื่อพ.ศ.2475ซึ่งกระบวนการของคณะนิติราษฎร์นี้เหมือนจะต่อยอดจากการกระทำเมื่อ พ.ศ.2475” นั่นคือคำกล่าวของศาสตรา โตอ่อน และคมสัน โพธิ์คง แห่งกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งผมหัวเราะคิกคักว่า จะด่าหรือจะชมนิติราษฎร์กันแน่ ที่ยกย่องให้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ อ.ปรีดี ว่าแล้ว ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ อ.ปรีดี ก็โดนคณะกรรมการมหาวิทยาลัยมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ในธรรมศาสตร์ ตลกร้ายไหมครับ การสืบทอดเจตนารมณ์ อ.ปรีดี ยุคนี้สมัยนี้กลับกลายเป็นความผิดร้ายแรงไปได้ คำถามที่ควรถามฝ่ายต่อต้านนิติราษฎร์ ที่กำลังคลั่งอยู่ขณะนี้คือ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ ทั้งเรื่องแก้ไข 112 และปฏิรูปสถาบัน (ซึ่งยังไม่ได้อธิบายรายละเอียดด้วยซ้ำ) อยู่ในกรอบของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือไม่ นิติราษฎร์เสนอระบอบประธานาธิบดี อย่างนั้นหรือ การเสนอว่า พระมหากษัตริย์ควรสาบานตนก่อนรับตำแหน่งว่าจะพิทักษ์และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้มองในทางการเมืองอาจเป็นจุดทำให้นิติราษฎร์ถูกโจมตี แต่ในทางวิชาการต้องถามว่านี่เป็นข้อเสนอที่ผิดเพี้ยน ไม่เคยมีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปล่า ก็เปล่า เพราะหลายๆ ประเทศในยุโรปเขาก็ทำกัน อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ไปพูดที่จุฬาฯ ถูกเอาไปพาดหัวข่าวว่า “ห้ามกษัตริย์มีพระราชดำรัส” ถามว่าหลักการ “ห้ามกษัตริย์มีพระราชดำรัส” นี่มาจากระบอบประธานาธิบดีหรือ คนที่ออกมาด่าทอประณาม ถ้าเป็นชาวบ้านตาสีตาสาก็พอทำเนา แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ มีการศึกษา จำนวนมากเคยไปเล่าเรียนเมืองนอก (หรือมีสตางค์ส่งลูกไปเรียนนอก) ซึ่งน่าจะรู้ดีว่า ประเทศอื่นๆ ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะในยุโรป เขา “ห้ามกษัตริย์มีพระราชดำรัส” ทั้งนั้น โดยเฉพาะอังกฤษ แม้แต่พระราชดำรัสเปิดประชุมสภา ก็เป็นรัฐบาลร่างให้ ถือเป็นการแถลงนโยบายของรัฐบาลผ่านพระโอษฐ์พระราชินี เฮ้ย ทำไมมันรู้น้อยกันจัง จบวารสารมาได้ไง (วะ) หลักการต่างๆ ที่นิติราษฎร์พูดมา จึงพูดจากหลักการของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ใช้กันอยู่ในอังกฤษ ในยุโรป คำถามที่ต้องถามพวกต่อต้านคือ การอยากเป็นแบบอังกฤษมันผิดด้วยหรือ ก็ไหนร่ำเรียนสั่งสอนกันมาว่าอังกฤษเป็นแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไหงคนเสนอให้ยึดหลักอังกฤษกลับถูกหาว่า “ล้มเจ้า” “สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น” นี่คือคำพูดของปิยบุตรที่จุฬาฯ “ในอังกฤษนั้นมีหลักที่ถือกันเป็นหลักทั่วไปจนกระทั่งมีอิทธิพลถึงเมืองไทยด้วยก็คือหลักที่ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์อังกฤษทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีก็จะไม่ทรงมีพระราชดำริทางการเมือง แต่จะทรงทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน โดยกระบวนการที่เรียกว่าการลงนามสนองพระบรมราชโองการ (Counterseign) เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นคนทูลเกล้าถวายคำแนะนำก็จะต้องรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมืองแทนองค์สมเด็จพระราชินีนาถ จึงมีหลักว่า สมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษไม่ทรงกระทำผิดหรือหลัก The Queen Can Do No Wrong ก็เพราะว่าถ้ามี Wrong เกิดขึ้นหรือความผิดเกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือนายกรัฐมนตรีคนทูลเกล้าถวายคำแนะนำนั่นแหละ จะปัดไปให้สมเด็จพระราชินีนาถไม่ได้ เพราะฉะนั้นในอังกฤษถือหลักนี้เคร่งครัดมาก พระมหากษัตริย์อังกฤษหรือสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงมีพระราชอำนาจที่ไม่ต้องทำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอยู่น้อยมาก แม้กระทั่งพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีนาถอังกฤษยังต้องให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนจะมีพระราชดำรัส” นี่ก๊อปมาจากคอลัมน์ มุมมองสองวัย โดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับอิสริยาภรณ์ อุวรรณโณ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2555 ชื่อเรื่อง “ผลพระคุณ ธ รักษา : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอังกฤษ” หลักเดียวกันครับ แต่ทำไมพอนิติราษฎร์เอามาเสนอ จะเป็นจะตายเสียให้ได้ บวรศักดิ์ยังบอกด้วยว่าที่พระราชินีอังกฤษแถลงนโยบายต่อสภา ตามที่รัฐบาลร่างให้นั้น เมืองไทยก็เคยใช้ “เรียกว่า Speech From The Throne หรือพระราชดำรัสจากราชบัลลังก์ เมืองไทยก็เคยทำแบบนี้อยู่ระหว่างปี 2493-2500 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงแถลงนโยบายแบบนี้ในสภาเหมือนของอังกฤษแล้วมายกเลิกเอาตอน พ.ศ. 2500 เพราะฉะนั้นถ้าท่านไปค้นพระราชดำรัสในพิธีเปิดสมัยประชุมสภาของประเทศไทยก่อนปี 2500 จะพบว่านโยบายของรัฐบาลไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงแทนรัฐบาลบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ในพระที่นั่งอนันตสมาคมทำนองเดียวกับสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษทรงแถลงนโยบายรัฐบาลอังกฤษในที่ประชุมของสภาขุนนาง” ในหลวงทรงมีพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2502 วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2503 มีความตอนหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าพวกสลิ่มเคยอ่านกันบ้างหรือเปล่า "...ขอยกตัวอย่างประเพณีที่ดีและไม่ดี ตามประเพณีการปกครองประเทศ โอวาทของพระมหากษัตริย์หรือพระราชดำรัสต้องเขียนเพื่อให้รัฐมนตรีรับสนอง แต่เดี๋ยวนี้ก็กำลังพูดไม่ใช่อ่าน เพราะว่าได้ทำตามประเพณีอันหนึ่งของคนไทยไม่สู้ดี คือ ทำเกินประเพณีฝรั่ง โอวาทนี้เพิ่งเตรียมเมื่อบ่าย 2 โมงนี้เท่านั้นเอง ควรจะเตรียมมานานแล้ว แต่เห็นว่าไม่จำเป็น อาจจะไม่รู้เรื่องเท่าไรนัก นี่ตัวอย่างประเพณีที่ไม่ดีที่เราไม่ควรจะทำตาม..." ประชาธิปไตยกับวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าสิ่งที่นิติราษฎร์เอามาพูด ไม่ได้พูดนอกระบอบ ไม่ได้มาจากนอกโลก แค่มาจากนอกกะโหลกสติปัญญาคนไทย (และสื่อไทย) ที่ไม่เคยรับรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง คำถามที่ควรถามนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย คือถ้าพวกคุณต่อต้านระบอบอังกฤษ ก็แปลว่าระบอบที่เราใช้อยู่ ไม่ใช่แบบอังกฤษ จริงไหม (กำปั้นทุบดิน) ถ้าอย่างนั้น ระบอบของเราเป็นระบอบอะไร (ระบอบไทยๆ) และถึงที่สุดแล้ว นี่เราอยู่ใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่ภาพลวงตา บวรศักดิ์เขียนบทความเรื่อง “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” แค่หัวเรื่องก็ชัดเจนแล้วว่า เราเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ภายใต้การตีความแบบไทยๆ บวรศักดิ์อ้างว่า พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีสถานะต่างกัน 3 กลุ่มคือ “กลุ่มแรก เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์ยืนยาวมาตั้งแต่ครั้งราชาธิปไตยในสมัยโบราณ และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย ก็ยังคงลักษณะเด่นอยู่คือคงความลึกลับและสูงส่ง มีนิติราชประเพณีเคร่งครัด อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่สู้จะมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประชาชนมากนัก กลุ่มที่สอง เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นกัน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยก็มีความเปลี่ยนแปลงคือ ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงคนธรรมดา เสด็จไปห้างสรรพสินค้าโดยทรงขับรถพระที่นั่งเอง หรือทรงจักรยานไป ความเคร่งครัดของนิติราชประเพณีก็ไม่เท่ากลุ่มแรก สถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ คือกษัตริย์สแกนดิเนเวีย เช่นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ พระมหากษัตริย์สวีเดนและนอร์เวย์ แต่ความสัมพันธ์กับประชาชนก็ไม่เด่นชัด กลุ่มที่สาม อยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มที่๑ และกลุ่มที่ ๒ เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่ครั้งราชาธิปไตย มีสถานะสูงส่งทั้งทางศาสนา และสังคม มีนิติราชประเพณีที่มีมายาวนาน แต่ก็มีความใกล้ชิดกับประชาชน และเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน กลุ่มที่สามนี้มีตัวอย่างเห็นชัดคือ พระมหากษัตริย์ไทย” ฟังเผินๆ ก็เหมือนถูกต้องนะคร้าบ แต่ผมนึกไปนึกมา ก็ยังหาประเทศอื่นในกลุ่มที่สามไม่ออก นึกได้แต่ประเทศไทยประเทศเดียว ฉะนั้น จะเรียกเป็นกลุ่มก็ไม่น่าถูก พูดให้ถูกน่าจะเรียกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ไม่เหมือนใครเขา แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะไปสรุปเอาง่ายๆ ว่ากษัตริย์ประเทศอื่นๆ ไม่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประชาชน กษัตริย์สแกนดิเนเวียเป็นอย่างนั้น ก็เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ประชาธิปไตยของเขาเข้มแข็ง ทัศนะเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ แพร่หลายกว้างขวาง กษัตริย์ก็ต้องปฏิบัติพระองค์ให้สอดคล้องกับสังคม การขี่จักรยานหรือขับรถเอง กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชน แสดงความสัมพันธ์กับประชาชน แทน “นิติราชประเพณี” อันสูงส่งแต่ดั้งเดิม ราชวงศ์อังกฤษก็ยังต้องทำอย่างนี้ เช่น ควีนอลิซาเบธทรงตีตั๋วรถไฟจากลอนดอนไปฉลองคริสต์มาสที่ตำหนักซานดริงแฮม ประหยัดงบเหมารถไฟ 3 ล้านปอนด์ เป็นข่าวฮือฮาเรียกเสียงชื่นชมจากพสกนิกร ขณะเดียวกัน ที่บวรศักดิ์สรุปภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ก็สรุปมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ซึ่งทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชน มีความใกล้ชิด และมีพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน ตลอด 55 ปี ย้ำว่า 55 ปีนะครับ เพราะก่อน พ.ศ.2500 ที่เผด็จการสฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจ บวรศักดิ์ก็บอกเองว่า ในหลวงยังทรงแถลงนโยบายแทนรัฐบาลอยู่เลย ระบอบการปกครองในขณะนั้นจำกัดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่ยังไม่พูดถึงช่วงปี 2475-2490 ที่เกือบจะเป็น “ระบอบอังกฤษ” อย่างแท้จริง กระทั่งสฤษดิ์ทำรัฐประหาร ได้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม จึงหันมาพึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนให้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เสด็จออกเยี่ยมเยียน จนเป็นที่เคารพรักของประชาชน 55 ปีที่ผ่านมา ความพิกลพิการของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกตัดตอนจนไม่เติบโต เดี๋ยวก็รัฐประหาร เดี๋ยวก็เลือกตั้ง ทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่งพิง นอกจากพระบารมีในหลวงซึ่งคลี่คลายวิกฤติครั้งสำคัญของประเทศในปี 2514 และ 2535 ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล ทำให้ต้องมีโครงการพระราชดำริ เหล่านี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง แต่ผมมองว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะพระองค์ และเป็นเรื่องเฉพาะกาลในระยะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ไม่ควรทึกทักเอามาเป็น “ระบอบ” ที่ไม่เหมือนใครในโลก จนกระทั่งต้องคงความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้เป็น “เอกลักษณ์” ยิ่งกว่านั้นถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์ พระบารมี ความเคารพรักที่ประชาชนมีต่อในหลวง ก็มาจากพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ใช่พระเดช ทำไมจึงมองว่าการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยไม่แยกแยะการติชมโดยสุจริต จะเป็นสิ่งที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ บวรศักดิ์อธิบายอย่างเลอะเทอะ ว่าความที่ในหลวงทรงเป็นที่เคารพรัก ทำให้คนไทยยอมรับไม่ได้ ถ้ามีการวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรม เหมือนยอมรับไม่ได้ที่จะให้ใครมาจาบจ้วงพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป แล้วก็อ้างว่าเป็นผลร้ายต่อสังคม จริยธรรม และวัฒนธรรมไทย จึงเป็นฉันทามติว่า เป็นข้อจำกัดทางเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมนี้ เหมือนประเทศมุสลิมที่จำกัดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม ข้อแรก บวรศักดิ์เอาการลบหลู่ไปปนกับการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ข้อสอง ความเป็นจริงคือ ไม่ใช่แค่การวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรมหรอก แต่วิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอความคิดเห็นไม่ได้เลย ผมรู้สึกขำที่พวก “ปกป้องสถาบัน” ชอบเอาไปเทียบกับรัฐอิสลาม ซึ่งตีความศาสนาแบบตายตัว สุดขั้วสุดโต่ง การตีความความเคารพรักของคนไทยต่อในหลวง ไปคล้ายๆ “ระบอบโคไมนี” ผมว่าไม่ถูกต้องและไม่สมพระเกียรตินะครับ บวรศักดิ์พยายามจะอ้าง “วัฒนธรรม จริยธรรม” มาปิดกั้นความเป็นประชาธิปไตย “ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าการที่ประเทศหนึ่งถือว่าเรื่องนั้นไปจำกัดไม่ได้ แต่อีกประเทศหนึ่งถือว่าเรื่องนั้นต้องจำกัด ประเทศใดทำถูก ในสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ เสรีภาพในการแสดงออกมีมากถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์พระคริสต์ได้ ฉายหนังลามกได้ ชายรักร่วมเพศกอดจูบกันในที่สาธารณะได้ แต่ในประเทศมุสลิม อย่าว่าแต่ทำโดยแสดงออกเปิดเผยเลย แม้กระทำในที่ลับตัวต่อตัวด้วยความยินยอม ก็เป็นความผิดอาญาร้ายแรง เพราะขัดต่อหลักศาสนาและกฎหมายอิสลามอย่างรุนแรง! ใครเป็นประชาธิปไตย ใครไม่เป็นประชาธิปไตย ใครถูก ใครผิด? เรื่องนี้เป็นความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างกฎหมายกับจริยศาสตร์ (Law and Ethics) กล่าวคือ อะไรคือสิ่งที่ดีหรือถูก เป็นสิ่งที่ควรทำเพราะถูกจริยธรรม (ethical) อะไรคือสิ่งที่เลวหรือผิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ (unethical) เพราะเป็นผลร้ายต่อสังคม (harmful to the society) ถ้าเราถือว่าทั้งโลก ความถูก-ผิดมีเพียงหนึ่งเดียว และความถูกผิดเพียงหนึ่งเดียวนั้นก็คือที่ “เรา” เท่านั้นเชื่อว่าถูกหรือผิด เราก็คือผู้เผด็จการทางจริยธรรม ที่ต้องการเอาสิ่งที่เราเชื่อขึ้นเป็นมาตรฐานของคนทั้งโลก (Ethical dictatorship) หรือที่เรียกให้ไพเราะตามศัพท์จริยศาสตร์ว่า จริยธรรมสมบูรณัติ (ethical absolutism) แต่ถ้าเราถือว่าในปัญหาข้างต้นไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด ต่างก็เป็นประชาธิปไตยในวิถีของตน ตามวิถีแห่งจริยธรรมสัมพัทธ์ (ethical relativism) คือถือว่าประเทศแต่ละประเทศ สังคมแต่ละสังคมมีวัฒนธรรมและจริยธรรมที่หลากหลาย แตกต่างกันได้และไม่มีใครผิด เป็นความหลากหลายที่โลกต้องการ เราต้องการ เราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และไม่ทำตัวเป็นพระเจ้าตัดสินถูกผิดของมนุษย์ผู้อื่นทั้งโลกด้วยมาตรฐานของตัวเราเอง ! คนที่เปิดใจกว้างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เคารพวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสังคมอื่น ยอมรับความหลากหลายเห็นความแตกต่าง ฟังเหตุ ฟังผล ก็จะเริ่มเข้าใจว่าความเป็นประชาธิปไตยก็ดี ความเสมอภาคก็ดี เสรีภาพในความคิดและการแสดงออกก็ดี ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามประเทศ ตามสังคม ตามวัฒนธรรม และจริยธรรมของคนส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศและแต่ละสังคม ข้อสำคัญก็คือ จะแตกต่างกันอย่างไรหลักการประชาธิปไตย ความเสมอภาคและเสรีภาพต้องไม่ถูกทำลาย” นี่เป็นการพูดให้หลักการเลอะเลือน โดยศาสตราจารย์กฎหมายมหาชน ซึ่งผมอยากถามเสรี วงศ์มณฑา, ยุทธนา มุกดาสนิท ว่าพวกคุณยอมรับการตีความแบบนี้ไหม หลักการประชาธิปไตยคือ เคารพในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผู้ที่เปิดใจกว้างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ล้วนยอมรับว่ารักร่วมเพศเป็นเสรีภาพ ไม่ใช่อาชญากรรม ฉะนั้นการกำหนดให้รักร่วมเพศเป็นความผิดอาญาร้ายแรง จึงไม่เป็นประชาธิปไตย เราต้องยืนยันหลักการนี้ครับ นี่ไม่ใช่การทำตัวเป็นพระเจ้าไปตัดสินใคร เรื่องศาสนา หรือวัฒนธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ศาสนาอิสลามหรือคริสต์บางนิกาย ถือว่ารักร่วมเพศเป็นความผิดจริยธรรม ซึ่งอาจขับออกจากศาสนา บอยคอตต์ทางสังคม ฯลฯ สามารถทำได้ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเอามากำหนดเป็นกฎหมาย ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย ถือว่าการลงโทษต้องสมควรแก่เหตุ การขโมยของต้องตัดมือ ผู้หญิงมีชู้ต้องถูกขว้างก้อนหินจนตาย เหล่านี้ขัดหลักความสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นประชาธิปไตย แบบเดียวกับที่นิติราษฎร์เห็นว่ามาตรา 112 มีบทกำหนดโทษเกินสมควรแก่เหตุ กฎหมายยอมรับวัฒนธรรมของสังคม แต่ต้องอยู่ในกรอบของหลักการ เช่นที่บวรศักดิ์ยกตัวอย่างความผิดฐานฆ่าบุพการี ประหารชีวิตสถานเดียว (แต่ก็ไม่ใช่หนักกว่าโทษฆ่าคนธรรมดา 15 เท่า) นี่ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นการปรับใช้อย่างสมควรแก่เหตุ เพราะสังคมไทยมีความผูกพันทางครอบครัวสูง คนที่ฆ่าพ่อแม่ได้แสดงเจตนาเลวร้ายอำมหิตเกินคน เช่นกัน กฎหมายไทยกำหนดให้การลักทรัพย์ในครอบครัวยอมความได้ กฎหมายไทยกำหนดว่าศาลสามารถใช้ดุลพินิจไม่ลงโทษพ่อ แม่ ผัว เมีย หรือลูก ที่ช่วยปกปิดซ่อนเร้น ให้ที่พำนัก หรือกระทั่งทำลายพยานหลักฐาน นี่เป็นการผ่อนปรนให้เข้ากับหลักสมควรแก่เหตุ แต่ก็ไม่ได้ละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพ บวรศักดิ์กลับเอามาอ้างเป็นเหตุให้จำกัดสิทธิเสรีภาพ และเกินสมควรแก่เหตุ การลบหลู่ดูหมิ่นกับเสรีภาพในการเคารพนับถือ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ ก็แตกต่างกันครับ หลักประชาธิปไตยอันดับแรกคือทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ประเทศใดก็ตามที่ห้ามนับถือศาสนาอื่น ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย จะอ้างวัฒนธรรม จริยธรรม มาปิดกั้นไม่ได้ ประเทศไทยเราก็มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา จะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นมุสลิม เป็นเสรีภาพทั้งสิ้น แล้วก็มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย สมมติเช่นเราเป็นพุทธ แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์หลักคำสอนศาสนาคริสต์ ที่จริงทำได้ เพียงแต่เราไม่ค่อยทำกันเพราะคำนึงถึงความอ่อนไหว กระนั้นที่แน่ๆ คือเราเป็นพุทธ ควรมีสิทธิวิจารณ์หรือตีความพุทธในแบบต่างๆ ได้ เป็นมหานิกาย เป็นธรรมยุติ เป็นสันติอโศก เป็นธรรมกาย เป็นเสรีภาพ แต่ก็ต้องมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิจานบินด้วย เพียงแต่ข้อสำคัญคือ ต้องไม่ลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการนับถือของผู้อื่น ฉะนั้นเรายอมรับไม่ได้ถ้าใครมาจาบจ้วงพระพุทธรูป แต่ถ้าวิจารณ์ถกเถียงในหลักธรรมคำสอน ก็ไม่เห็นเป็นไร แต่ถามว่าเราเอาหลักเดียวกันนี้มาใช้กับความเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเปล่า ระบอบอะไร บวรศักดิ์ยังอธิบายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยแปรสภาพจาก “สถาบันทางการเมืองอันเป็นส่วนอันทรงเกียรติยศ” ไปสู่ “สถาบันหลักทางสังคมที่เป็นส่วนปฏิบัติการทางสังคม” “โดยปกติ พระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นประมุขของรัฐอันจัดเป็นสถาบันการเมืองประเภทหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ทรงมีพระราชดำริทางการเมือง แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังถือว่าเป็น “สถาบันการเมือง””แต่เป็น “ส่วนอันทรงเกียรติยศ” (dignified part of the constitution) ส่วนคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเป็น “ส่วนปฏิบัติการ” (efficient parts of the constitution) ตามที่นาย Walter Bagehot นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ แต่จากพระราชกรณียกิจตลอดกว่า ๖๐ ปีในรัชกาลด้วยการทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนเพื่อ “ลดช่องว่าง” ที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ หรือทำไปไม่ถึง กว่า ๓,๐๐๐ โครงการก็ดี การที่ทรงระงับวิกฤติการณ์ทางการเมืองมิให้ลุกลามร้ายแรงระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือเหตุการณ์ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็ดี ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้แปรสภาพจาก “สถาบันทางการเมืองอันเป็นส่วนอันทรงเกียรติยศ” ไปสู่ “สถาบันหลักทางสังคมที่เป็นส่วนปฏิบัติการทางสังคม” ในลักษณะเดียวกับสถาบันครอบครัว หรือศาสนา พระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่ “เทวะ” ที่อยู่ห่างไกลบนสวรรค์อันลึกลับ แต่เป็น “พ่อ” ที่คนไทยเรียก “พ่อหลวง” และคนไทยมีความรัก ความผูกพัน ความเทิดทูน ความสัมพันธ์นี้มีมากกว่าในสังคมตะวันตกระหว่างประมุขของรัฐกับราษฎร” คำอธิบายตรงนี้ทำให้กังขานะครับ มีความคลุมเครือ เหมือนๆ จะบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาสู่ “ส่วนปฏิบัติการ” อันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เพียงแต่เพิ่มว่า “ส่วนปฏิบัติการทางสังคม” และไม่ใช่สถาบันทางการเมืองแต่เป็น “สถาบันหลักทางสังคม” ไม่ว่าจะใช้ศัพท์ชวนเวียนหัวหลบเลี่ยงไปอย่างไร สิ่งที่บวรศักดิ์ควรตอบตรงๆ คือ ที่อธิบายมานี้ แปลว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ควรมีบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มากกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในยุโรป ใช่หรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น จะยังถือเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่หรือ เพราะระบอบที่เรายึดถือตามแบบอังกฤษคือ The King Can Do No Wrong นั่นคือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชดำริด้วยตัวเอง ทรงทำตามคำแนะนำของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้รับผิดชอบคือผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่บนหลักสำคัญคือ ให้สถาบันพระมหากษัตริย์พ้นไปจากการเมือง อยู่นอกความขัดแย้งทางความคิดเห็นทั้งหลายทั้งปวง เพราะในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าความเห็นใดก็ต้องมีความเห็นแย้ง ความเห็นต่าง เมื่อเราต้องการให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิด ก็ต้องไม่ให้ตกอยู่ในความขัดแย้ง นี่คือความสมดุล ระหว่างความเคารพสักการะ กับความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่นิติราษฎร์พูด คือพูดถึงการยึดหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย (แต่เราจำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดนั้นหรือไม่ ถกเถียงกันได้ สมมติเช่นการมีพระราชดำรัส เราสามารถพูดในความเป็นจริงว่าในหลวงทรงเป็นปราชญ์ผู้ทรงปรีชาสามารถ พระบรมราโชวาทมีคุณประโยชน์ยิ่งในการอบรมสั่งสอนประชาชน แต่ถ้าพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในฐานะปราชญ์ แล้วผู้คนทั่วไปสามารถแสดงความเห็นต่างตามสิทธิประชาธิปไตยหรือไม่ การแสดงความเห็นต่างจะกระทบต่อสถานภาพที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะหรือไม่ อย่างนี้ต้องวิเคราะห์กัน) ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่บวรศักดิ์พูด หรือพวกสยามประชาภิวัฒน์พูดต่างหาก ที่เป็นเรื่องประหลาดและแปลกแยกจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเขาไม่ได้ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นแบบสากล แต่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีพระราชอำนาจนำ (ตามศัพท์ของ อ.เกษียร เตชะพีระ) ที่แย่ไปกว่านั้นคือ คนจำนวนหนึ่ง เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ควรเป็นเพียง “ส่วนอันทรงเกียรติยศ” ตามทฤษฎี แต่ต้องการให้สถาบันมี “พระราชอำนาจ” เพื่อเป็นเครื่องมือต่อต้าน “เผด็จการทุนผูกขาด” เหมือนๆ กับที่เคยร้องขอ ม.7 นายกพระราชทาน มาแล้วนั่นเอง คนเหล่านี้จึงต่อต้านการแก้ไข ม.112 คำถามก็คือ คนที่คิดแต่จะเอาสถาบันมาใช้เป็นเครื่องมือ นี่จงรักภักดีจริงๆ หรือเปล่า วิกฤตที่เกิดขึ้น 6 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เป็นคำตอบอีกหรือว่าเราจำเป็นต้องทบทวนหลักการอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ผิดเพี้ยน เพื่อให้สถาบันพ้นไปจากความขัดแย้งจริงๆ แต่สุริยะใส กตะศิลา กลับกล่าวหาว่านิติราษฎร์ต้องการปฏิรูประบอบ พวกที่ต้องการปฏิรูประบอบคือพวกที่ตีความ “พระราชอำนาจ” ให้ผิดเพี้ยนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตนต่างหาก คนพวกนี้ต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ กลัวทุนผูกขาดที่มาจากการเลือกตั้ง เสียจนบอกว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” แล้วก็ไปแสดงความชื่นชอบระบอบการปกครองแบบจีน แบบอิหร่าน แบบกัดดาฟี เอามาคิดประยุกต์กับการที่สังคมไทยมีในหลวงเป็นที่เคารพรักของประชาชน พยายามจะสร้างระบอบที่อ้างว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่รักในหลวง” “....เวลาเผชิญหน้ากับทุน ผมเคารพคุณค่าในสถาบันโดยรวมซึ่งเป็นพื้นฐานคุณค่าทางสังคมวิทยาของไทย... ผมอยากเทียบการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่า ยกตัวอย่างประเทศคอมมิวนิสต์จีน ค่อยๆ ขยับจากกรรมสิทธิ์ส่วนรวมไปสู่การแบ่งให้เอกชนเริ่มมีกรรมสิทธิ์ แต่เคารพหลักคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นหลักการใหญ่สำคัญ แล้วค่อยๆ ปรับ ขณะที่รัสเซียไม่เคารพในเชิงคุณค่าของสิ่งที่ดำรงอยู่มา 80 ปี แล้วพยายามจะเปลี่ยน ท้ายที่สุดสังคมรัสเซีย พังทลายเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ในขณะที่จีนนั้น ดำรงความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งถือเป็นคุณค่าทางสังคมวิทยาของเขา” ฟังบรรเจิด สิงคะเนติ แล้วผมหัวร่อกลิ้ง คอมมิวนิสต์ก็เอา กษัตริย์นิยมก็เอา อะไรก็ได้ขอให้ต่อต้านทุนอเมริกา โห จีนน่ะมันเป็นเผด็จการทุนนิยมไปแล้วครับ พัฒนาโดยไม่รับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิต ต่อวิถีชุมชน แล้วก็กดขี่ขูดรีด สร้างความเหลื่อมล้ำมโหฬาร นักประชาธิปไตยประสาอะไร ชื่นชมจีน ใบตองแห้ง | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น