วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


"คณิต ณ นคร" เสนอนายกฯ "แก้ ม.112"
"คณิต ณ นคร" เสนอนายกฯ "แก้ ม.112"


3 ก.พ. 55 - เว็บไซต์ประสงค์ดอทคอม (http://www.prasong.com) เผยแพร่ ข้อเสนอ คอป. ของ 'คณิต ณ นคร' หนุนแก้ไข มาตรา112 ส่งให้นายกเมื่อ 30 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...

หมายเหตุ-เป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)ซึ่งมี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่เสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจซึ่งมีเนื้อหาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในรื่องระวางโทษให้ลดลงเหลือไม่เกิน 7 ปี และให้มีหน่วยงานกลางในการกลั่นกรองการดำเนินคดีเพื่อมิให้มีการนำบทบัญญัติในเรื่องนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การอ่านข้อเสนอดังกล่าวง่ายขึ้น จึงมีการเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ในบางส่วน

@@@@@@@@@@@@@

นับตั้งแต่ได้เกิดความขัดแย้งในทางการเมืองของคนในชาติ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น

หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งมี “คุณธรรมทางกฎหมาย” (Rechtsgut / legal interest) ที่คุ้มครอง คือ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” (ดู คณิต ณ นครกฎหมายอาญาภาคความผิด พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ สำนักพิมพ์วิญญูชน มิถุนายน ๒๕๕๓ หน้า ๖๗๒) เป็นที่กล่าวถึงกันมาก

โดยฝ่ายหนึ่งได้ใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของตน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยได้เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่ชอบที่จะกระทำได้ ซึ่งหากการกระทำทุกอย่างเป็นความผิดอาญาฐานดังกล่าวไปเสียสิ้นก็ย่อมจะขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรจักได้ยกเลิกความผิดฐานนี้เสีย และ คอป. ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าวตามระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ไปแล้วตามหนังสือที่อ้างถึงว่า ในการดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าวกระบวนการยุติธรรมของประเทศชอบที่จะกระทำโดยรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่ นั้น

คอป. ขอกราบเรียนว่า คอป. ได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยฝ่ายการเมืองและดำรงอยู่โดยฝ่ายการเมือง กล่าวคือ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนและดำรงอยู่เพราะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลปัจจุบัน และ คอป. ขอกราบเรียนต่อไปว่า การทำงานของ คอป. ตลอดเวลาที่ผ่านมา คอป. ได้ทำงานนอกจากบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อรัฐแล้ว คอป. ยังทำงานบนพื้นฐานของ “ความรับผิดชอบต่อประชาชน” (Public Accountability) ด้วย ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของ คอป. ที่ผ่านมาและที่จะมีต่อไปจึงเป็นข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่าย ต่อทุกภาคส่วนในสังคมและต่อประชาชนด้วย

อีกประการหนึ่งการทำงานของ คอป. ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นการทำงานบนพื้นฐานของวิชาการและบนพื้นฐานของความเป็นอิสระ

ยิ่งกว่านั้น คอป. ตระหนักดีว่าในสังคมปัจจุบันไม่ว่าความไม่สงบจะเกิดขึ้นในที่ใดในประเทศใดย่อมกระทบต่อสังคมนานาประเทศด้วย รายงานและข้อเสนอแนะของ คอป. จึงได้จัดทำเป็นสองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและโดยตรงจาก คอป.

คอป. ขอกราบเรียนว่าในส่วนของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น คอป. ได้ทำการศึกษาในแง่มุมของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวมีผลเป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นและเพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติด้วย

การแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยเฉพาะการสร้างความปรองดองของคนในชาติอันเป็นภารกิจของ คอป. ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐและประชาชนนั้น คอป. เห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้วแม้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ชอบที่จะต้องพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่ง คอป. ได้พิจารณาแล้วจึงขอเสนอแนะดังต่อไปนี้

1)ควรตรากฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็น “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ” โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและเร่งด่วน

2) โดยที่ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่คุ้มครอง “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อันเป็น “คุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนรวม” (Universalrechtsgut / Legal interest for public own) อันเป็นเรื่องของ “สถาบัน” หาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่

ดังนั้น การที่จะให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีด้วยพระองค์เองย่อมไม่เป็นการเหมาะสมและสมควรและเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบันอีกด้วย โดยที่เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย จึงอาจจะกำหนดให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจให้ดำเนินคดี

3)ในส่วนของระวางโทษของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นั้น ชอบที่จะมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบัน กล่าวคือ ชอบที่จะให้เบาลง ซึ่งอย่างน้อยชอบที่จะกลับไปถือเอาระวางโทษจำคุกเดิมของประมวลกฎหมายอาญาเมื่อประกาศใช้บังคับใหม่ ๆ คือระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปีโดยไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำ และให้มีระวางโทษปรับด้วย ตามเหตุผลที่ปรากฏในบทความเรื่อง “การให้อำนาจในการดำเนินคดีอาญา” ในหนังสือที่รวมบทความ “การก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี” ที่แนบมาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๑) หน้า ๓๑ ถึงหน้า ๕๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้า ๔๙ – ๕๐ และหน้า ๕๔ – ๕๕

4) จากข้อเสนอแนะดังกล่าวมา ร่างมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะนำเสนอต่อรัฐสภาจึงเป็นดังต่อไปนี้

“มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ

การสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง”

อนึ่ง แม้บทบัญญัติตามวรรคสามของร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติที่โดยเนื้อแท้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (เทียบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑) แต่ก็ชอบที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเสียเลยทีเดียว

5) ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ และความผิดตามมาตรา ๑๓๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่ยึดโยงกัน เมื่อได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑๒ แล้วก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๓๓ ในคราวเดียวกัน โดยให้มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามเหตุผลโดยละเอียดที่ปรากฏในบทความเรื่อง “การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีอาญา” ในหนังสือรวมบทความ“การก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี” ที่แนบมาเพื่อพิจารณาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๑) พร้อมหนังสือฉบับนี้ และร่างมาตรา ๑๓๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะมีข้อความดังต่อไปนี้

“มาตรา ๑๓๓ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

คอป. ขอกราบเรียนในที่นี้ด้วยว่า โดยที่การทำงานของ คอป. เป็นการทำงานที่ตั้งอยู่บน “ควารับผิดชอบต่อประชาชน” (public accountability) ข้อเสนอแนะของ คอป. ดังกล่าวมานี้ คอป. ถือว่าเป็ข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายในรัฐสภาและต่อประชาชนด้วย และในส่วนของรัฐสภานั้น คอป. เห็นว่าชอบที่ผลักดันกฎหมายดังกล่าว และประชาชนเองก็ชอบที่จะผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เพื่อจักได้ช่วยกันสร้างสันติและความปรองดองของคนในชาติ

@@@@@@

เกรินนำก่อนเสนอแก้ไข ประมาวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ก่อนที่ คอป. จะได้กล่าวถึงการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าว คอป. เห็นสมควรกล่าวถึงพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับสังคมไทยเราดังต่อไปนี้

(๑) ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น คนในกระบวนการยุติธรรมจะมีความเป็นเสรีนิยมสูง แต่คนในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเรามีความเป็นอำนาจนิยมสูง ดังจะเห็นได้จากการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยไม่พิจารณาถึงความจำเป็น การออกหมายจับ การจับ การควบคุม การขังและการปล่อยชั่วคราวตลอดจนการเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจึงไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย จน คอป. ต้องมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังรายละเอียดปรากฏในข้อเสนอแนะของ คอป. ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คอป. ๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึงนายกรัฐมนตรี แม้กระนั้นก็ตามกรณีดังกล่าวก็ยังมีปัญหาอยู่จนบัดนี้ จึงชอบที่รัฐบาลนี้จักได้ดำเนินการต่อไป เพราะความถูกต้องและเป็นธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญของความปรองดองของคนในชาติ

(๒) ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น พรรคการเมืองต่าง ๆ จะมี “หน่วยที่ปรึกษา” ของพรรคการเมือง เช่น หน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย หน่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งหน่วยที่ปรึกษาดังกล่าวจะทำงานกันอย่างต่อเนื่องจนเป็น “สถาบัน” ควบคู่กับพรรคการเมือง สำหรับ “หน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย” ของพรรคการเมืองนั้น จะเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่เป็นอยู่โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนากฎหมาย เพื่อการแก้ไขกฎหมายและเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยใช้กฎหมาย แต่ในประเทศไทยเรานั้น เนื่องจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังพัฒนาไปไม่ถึงการเป็น “สถาบันทางการเมือง” พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงยังมีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจ “หน่วยที่ปรึกษากฎหมาย” ของพรรคการเมืองจึงยังคงเป็น “หน่วยที่ปรึกษากฎหมาย” เป็นการเฉพาะกิจที่ยังไม่เป็น “สถาบัน” ไปด้วย

ความแตกต่างอันเป็นพื้นฐานสองประการดังกล่าวย่อมส่งผลถึงการแก้ปัญหาของประเทศชาติด้วยกฎหมายที่แตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐประสบปัญหาทางการเมืองที่จะต้องแก้ปัญหาความรุนแรงในทางการเมือง

คอป. ขอกราบเรียนด้วยว่า จากการศึกษาของ คอป. นั้น ในอดีตอย่างน้อยเคยเกิด “กองทัพแดง” (Red Army) ขึ้นในสองประเทศ กลุ่มกองทัพแดงเป็นกลุ่มที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์และได้มีการใช้ความรุนแรงเพื่อล้มล้างรัฐบาลและสถาบันการเมือง ซึ่งในสองประเทศที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีการจัดการกับกลุ่มกองทัพแดงที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้

(๑) ในประเทศญี่ปุ่นได้เกิด “กองทัพแดงญี่ปุ่น” (Japanese Red Army) ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “Nihon Sekigun” กองทัพแดงญี่ปุ่นไม่ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศเลบานอนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๑ โดยมีเป้าหมายเพื่อล้มล้างรัฐบาลญี่ปุ่นและพระเจ้าจักรพรรดิ์แห่งญี่ปุ่น โดยมีหัวหน้าคนเก่าชื่อ Haruo Wako ซึ่งถูกจับกุมได้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๗ และถูกศาลแห่งประเทศญี่ปุ่นพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และเขาได้ตายในเรือนจำเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๑ นี้เอง ในระหว่างที่หัวหน้ากลุ่มถูกจำคุกอยู่นั้น ก็ได้มีหัวหน้ากลุ่มคนใหม่ชื่อ Fusako Shigenobu และหัวหน้ากลุ่มคนใหม่เพิ่งถูกจับกุมได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๐ และเขาถูกศาลแห่งประเทศญี่ปุ่นพิพากษาจำคุก ๒๐ ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๖ กรณีจึงกล่าวได้ว่าการจัดการกับกลุ่มกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้กระบวนการยุติธรรมในการปราบปราม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก และประเทศญี่ปุ่นก็ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแต่อย่างใด

(๒) ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระหว่างปลายปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ถึงปลายปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ก็ได้เกิด “กลุ่มกองทัพแดง” (Red Army Faction) ซึ่งเรียกในภาษาเยอรมันว่า “Rote Armee Fraktion” กลุ่มกองทัพแดงเยอรมันเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายหรือเป็นกลุ่มการเมืองที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์เช่นกัน กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ดำเนินการในทางการเมืองเพื่อล้มล้างรัฐบาลเยอรมันโดยใช้ความรุนแรงต่างๆ การดำเนินการในทางการเมืองของกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเป็นกลุ่มอาชญากรก่อการร้าย ซึ่งการต่อสู้กับกลุ่มนี้ได้นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในเวลาต่อมา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๒.๑) กลุ่มอาชญากรก่อการร้ายกลุ่มนี้มีหัวหน้าเป็นผู้หญิงชื่อ Ulrike Meinhof และมีผู้ร่วมคิดคนสำคัญเป็นผู้ชายชื่อ Andreas Baarder กลุ่มอาชญากรก่อการร้ายกลุ่มนี้จึงรู้จักกันทั่วไปว่า “Barrder – Meinhof Group” ซึ่งหากจะกล่าวเฉพาะการรวมตัวของบุคคลโดยไม่คำนึงถึงอาชญากรรมที่บุคคลในกลุ่มไปก่อกับความผิดทางอาญาตามกฎหมายของไทยเราแล้วความผิดของบุคคลที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก็คือความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ ของไทยเรานั่นเอง

(๒.๒) อั้งยี่กลุ่มนี้ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงประเภทต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า การวางระเบิดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักพิมพ์ของเอกชน การปล้นสดมภ์ การจับตัวบุคคลเรียกค่าไถ่ การสังหารบุคคลต่าง ๆ เช่น วางระเบิดสังหารผู้พิพากษาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ วางระเบิดสังหาร “อัยการสูงสุดแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ” (Bundesstaatsanwalt/Federal Prosecutor General) เป็นต้น

(๒.๓) การก่ออาชญากรรมของอั้งยี่กลุ่มนี้ทางกลุ่มอ้างว่าเป็นเรื่องการดำเนินการในทางการเมืองของกลุ่ม และเมื่อบุคคลในกลุ่มถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีก็จะมี “กลุ่มทนายความ” ที่เรียกกันว่า “ทนายความฝ่ายซ้าย” (Linksanwalt / Leftish Attorney at Law) คอยให้ความช่วยเหลือในทางคดี

(๒.๔) ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมันในขณะนั้น จำเลยแต่ละคนสามารถมีทนายความแก้ต่างคดีให้ตนได้โดยไม่จำกัดจำนวนทนายความ และทนายความทุกคนจะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้แก่ลูกความของตนได้โดยการทำงานร่วมกันหรือทนายความแต่ละคนจะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแยกกันอย่างเป็นอิสระแยกจากกันและกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำได้

(๒.๕) เมื่อกลุ่ม “ทนายความฝ่ายซ้าย” เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยการทำงานโดยอิสระแยกกันสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานการเมืองของกลุ่มตนได้ กลุ่มทนายความดังกล่าวจึงใช้ช่องทางของกฎหมายดำเนินการกระบวนพิจารณาในศาลโดยแยกกันเพื่อเป็นการประวิงคดีจนทำให้การพิจารณาคดีของศาลติดขัด การที่ “ทนายความฝ่ายซ้าย” ต่างคนต่างดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยแยกกันนี้จึงมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เป็นการกระทำเพื่อให้กลไกส่วนหนึ่งของรัฐล้มเหลวแล้วรัฐก็จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว

(๒.๖) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ยอมปล่อยให้พฤติกรรมของ “ทนายความฝ่ายซ้าย” สามารถใช้กฎหมายดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลจนกระทบต่อประสิทธิภาพโดยไม่มีการแก้ไขปัญหา ในที่สุดรัฐบาลจึงได้เสนอแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้จำเลยแต่ละคนสามารถมีทนายความได้ไม่เกิน ๓ คน

(๒.๗) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ดีต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องมี “ความเป็นเสรีนิยม” (ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๗ สำนักพิมพ์วิญญูชน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ หน้า ๔๗ – ๔๘) กล่าวคือ ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในครั้งนี้ที่จำกัดการมีทนายความไว้ไม่เกิน ๓ คนนั้น ก็เป็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามสมควร เหตุนี้รัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจึงให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงทำให้การประวิงคดีโดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหรือเป็นอุบายเพื่อการดำเนินการทางการเมืองของทนายความฝ่ายซ้ายได้รับการแก้ไขเป็นผลสำเร็จ ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในทางการเมืองของนักการเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหาที่สั่นคลอนต่อระบอบการเมืองของประเทศแล้วฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้ผนึกกำลังกันเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติอย่างมีหลักมีเกณฑ์

การที่ คอป. ได้หยิบยกเอาเหตุการณ์อันแสดงถึงบทบาทของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการแก้ปัญหาของประเทศชาติขึ้นมากล่าวนั้น ก็โดยประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมมีทางแก้ปัญหา “ในระบบ” ในทางการเมืองอย่างมีหลักมีเกณฑ์ได้เสมอ เพียงแต่นักการเมืองของประเทศต้องมี “เจตจำนงในทางการเมือง” (political will) ที่ถูกต้องและจริงจังเท่านั้น

ในประเทศไทยเรานั้น คอป. เห็นว่าทุกฝ่ายต่างกล่าวถึงและเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยกันมาโดยตลอด และดูเหมือนประชาชนทั้งหลายก็เบื่อหน่ายต่อการยึดอำนาจการปกครองประเทศของฝ่ายทหาร เพราะการยึดอำนาจการปกครองประเทศของฝ่ายทหารเป็นการทำให้ประเทศชาติมีแต่ถอยหลังและห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยออกไป จนเกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองประเทศครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” ได้เสนอให้มีการประกาศให้การกระทำบางอย่างอันเกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจครั้งหลังนี้เสียเปล่าหรือตกเป็นโมฆะ อันแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับการแก้ปัญหาของประเทศโดยการยึดอำนาจรัฐของฝ่ายทหาร

คอป. ใคร่ขอเรียนย้ำต่อรัฐบาล ฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯในที่นี้ด้วยว่า บัดนี้ สังคมไทยเราได้มีการตื่นตัวมากขึ้นซึ่งล้วนแล้วเป็นนิมิตหมายที่ดีทั้งสิ้น เช่น

(ก) ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจร่วมกับกลุ่มสื่อสารมวลชนได้ออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งได้เป็นไปโดยเรียบร้อยโดยปราศจากความรุนแรงและให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของการเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเพื่อป้องกันความรุนแรงในการเลือกตั้งแล้ว คอป. ยังเห็นว่าเป็นการป้องกันการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารด้วย และการกระทำของกลุ่มดังกล่าวนับว่าได้ผลทีเดียว

(ข) ในการยึดอำนาจรัฐทุกครั้งได้มีการอ้างการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเหตุผลหนึ่งประกอบด้วยเสมอ บัดนี้ได้มีการตื่นตัวของกลุ่มบุคคลในสังคมต่อไปอีก กล่าวคือ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มต่อต้านการคอร์รัปชั่น แม้ถึงว่านายดุสิต นนทะนาคร ผู้เป็นหัวหน้าของกลุ่มนักธุรกิจต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะเสียชีวิตไปอย่างกะทันหันอย่างน่าเสียดายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ คอป. ก็ทราบว่าโครงการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่นายดุสิต นนทะนาคร และคณะได้ก่อตั้งไว้นั้น ได้มีผู้สืบแทนแล้วและทำงานกันต่อไป

บัดนี้ การเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้วและประชาชนทั่วไปก็ยอมรับผลของการเลือกตั้ง ทั้งงานเกี่ยวกับความปรองดองของคนในชาติที่ คอป. ได้ดำเนินการอย่างมี “ความรับชอบต่อประชาชน” (public accountability) มาโดยตลอดนั้น ก็เป็นที่ยอมรับจากประชาคมนา ๆ ประเทศด้วย

การแก้ปัญหาและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยเรานั้น คอป. เห็นว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จทำนองการดำเนินการของ “กลุ่มกองทัพแดง” ของประเทศญี่ปุ่นหรือของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หากแต่จะต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองบนพื้นฐานของสังคมของไทยเรา ดังจะเห็นได้จากการที่ “คณะราษฎร” ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของ “การอภิวัฒน์”

เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเป็นที่โต้เถียงและขัดแย้งกันดังกล่าวมาแล้วนั้น คอป. เห็นว่าการที่จะยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เสียเลยตามที่บางคนหรือบางฝ่ายเรียกร้องนั้น น่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพความเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใด ๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่เหมาะสมนั้น ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะจะยังคงมีการใช้หรือพยายามใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือในทาง

การเมืองทั้งเพื่อปกป้องสถาบันและเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองกันต่อไปอันจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยใช้หลักวิชาการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอันเป็นแนวทางที่ คอป. ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น คอป. จึงได้ศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่าง ๆ ทั้งของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและบุคคลธรรมดาเป็นประมุข คอป. จึงขอกราบเรียนเพื่อทราบดังต่อไปนี้

(๑) จากการศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่าง ๆ นั้น คอป. พบว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของบุคคลกับการเอาผิดทางอาญากับความผิดอาญาบางประเภท ซึ่งรวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยนั้น มีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสร้างความสมดุลย์ได้ เช่น ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้มีการบัญญัติให้ความผิดอาญาบางฐานที่ไม่ร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกประทุษร้ายเป็น “บุคคลสาธารณะ” (public figure) เป็นความผิดอาญาชนิดหนึ่งที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า Ermächtigungsdelikt ซึ่งอาจถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ”

(๒) “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ” คือพื้นฐานของความสมดุลย์ระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญของบุคคลกับการดำเนินคดีอาญาทีเดียว กล่าวคือ แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดอาญา แต่รัฐก็ชอบที่จะให้การดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ

กล่าวคือ รัฐต้องให้ผู้เสียหายมีอำนาจที่จะพิจารณาก่อนว่าการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้กระทำความผิดอาญาต่อตนจะมีผลดีต่อตนในทางการเมืองหรือไม่ โดยรัฐจะไม่ให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศตัดสินใจในการดำเนินคดีด้วยตัวเองโดยลำพัง เช่น การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น การสอบสวนจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีได้ให้อำนาจให้ดำเนินการเท่านั้น เหตุผลและรายละเอียดปรากฏในบทความเรื่อง “การให้อำนาจในการดำเนินคดีอาญา” ในหนังสือรวมบทความ “การก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี” ที่แนบมาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๑) หน้า ๓๑ ถึงหน้า ๕๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้า ๓๖

(๓) นโยบายทางอาญาในระบบกฎหมายอาญาเยอรมันดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น แม้นโยบายทางอาญาก็จักต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการฝึกคนและการพัฒนาคน กล่าวเฉพาะนักการเมืองก็คือการฝึกนักการเมืองของประเทศและการพัฒนานักการเมืองของประเทศในด้านจิตสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยทีเดียว

(๔) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “นิติศาสตร์แนวพุทธ” ที่แนบมาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๒) โดยท่านกล่าวว่าพระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ (ดู หน้า ๔๑) และว่า “กฎหมายเป็นเครื่องมือฝึกมนุษย์หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตมนุษย์” (ดู หน้า ๕๗) และว่า “กฎหมายมี ๒ แบบ ถ้าเน้นอำนาจก็จะเป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่วโดยการห้ามและบังคับมาก แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างคนดี ก็จะมีลักษณะในทางจัดสรรโอกาสและการส่งเสริมมาก แต่ในความเป็นจริงซึ่งสังคมในขณะหนึ่ง ๆ มีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย การปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน คือทั้งส่งเสริมคนดี และกำราบคนร้าย ทั้งนี้โดยมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดี” (ดู หน้า ๑๒๙)

(๕) คอป. เห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยเราดูจะมีเพียงการเน้นที่การบังคับด้านเดียว ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติต่าง ๆ ส่วนมากจะจบลงด้วยส่วนหรือหมวดอันว่าด้วย “บทกำหนดโทษ” นโยบายทางอาญาของไทยเราจึงทำให้เกิดสภาพกฎหมายอาญาเฟ้อและส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายในที่สุดด้วย ซึ่งข้อนี้รัฐควรจักต้องวางเป็นนโยบายเป็นการทั่วไปไว้ เพื่อให้กฎหมายและระบบกฎหมายของประเทศได้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมและดียิ่งขึ้น
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น