เสรีภาพตายแล้ว! | |
อมธ.นำต้านมติผู้บริหารธรรมศาสตร์ปิดกั้นนิติราษฎร์-นศ.ขึ้นป้ายเสรีภาพตายแล้ว! วันที่ 1 ก.พ. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้เผยแพร่แถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/thammasatsu มีข้อความดังนี้ "...กรณี มติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหว มาตรา ๑๑๒... ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนข้อความผ่านทาง Facebook ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งมีข้อความว่า “ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา ๑๑๒ อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้” นั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในฐานะผู้แทนของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่ามติที่มีผลผูกพันดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จึงขอแสดงจุดยืนที่มีต่อมติดังกล่าว ดังนี้ 1) อมธ. ร้องขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ตามที่ท่านอธิการบดีได้ระบุไว้ข้างต้น เพราะมติดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 2) มหาวิทยาลัยเปรียบได้กับห้องทดลองในทางสังคมศาสตร์ เป็นสถานที่หลักในการขับเคลื่อนพัฒนาการในทางวิชาการ เปรียบได้กับพัฒนาการในทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยห้องทดลองเป็นสำคัญ การไม่อนุญาตให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป 3) เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ท่านอธิการบดี ชี้แจงถึงมติดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน สุดท้ายนี้ อมธ. ยังคงยืนยันในจุดยืนแห่งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรายังคงเคารพในความเห็นที่แตกต่างไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ อมธ. ในฐานะผู้แทนของนักศึกษาซึ่งมีความหลากหลายทางความคิด ขอรับรองว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองใด และไม่มีกลุ่มทางการเมืองใดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ความสวยงามในความคิดเห็นที่แตกต่างคือภาพสะท้อนแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แท้จริง ด้วยจิตคารวะคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕" ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สมัยพฤษภาทมิฬ 35 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Parinya Thaewanarumitkul ระบุว่า "ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์ในหลายเรื่อง แต่ผมเห็นว่าเสรีภาพในทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องเคารพและคุ้มครอง ทั้งนี้ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับความคิดเห็นนั้น "ผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา จึงไม่ทราบรายละเอียดของการประชุมและมตินี้ของที่ประชุม แต่ผมเข้าใจว่ามติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นเรื่องความห่วงใยที่มีการใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ที่อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในสังคม แต่ไม่น่าจะเป็นเรื่องการห้ามมิให้ใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมทางวิชาการ เพราะเสรีภาพในทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในขอบเขตของกฎหมาย เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คุ้มครองเสมอมา และควรจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป" วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีนักศึกษานำเอาป้ายประท้วงการที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสั่งห้ามจัดกิจกรรมทางวิชาการ เกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 มาติดไว้ที่บอร์ดตามตึกต่างๆ โดยเฉพาะตึกเอสซี จำนวนมาก โดยป้ายแต่ละป้ายเขียนข้อความเสียดสีทางการเมือง อาทิ "กำหนดการสวนอภิธรรมศพ คุณเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว ณ ฌาปนกิจสถานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี" พร้อมกับเรียกร้องให้น.ศ.แต่งชุดดำ ขณะที่ป้ายอื่นๆ เช่น "เสรีภาพตายแล้ว" "ทำไมธรรมศาสตร์ไม่มีเสรีภาพสักตารางนิ้ว" และ "ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะสอนให้ฉันรู้รักษาตัวรอด" | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น