วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


ผู้บริหารมธ.-ละทิ้งความรับผิดชอบทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์
“เกษียร” สับผู้บริหารมธ.-ละทิ้งความรับผิดชอบทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์

เกษียร สับผู้บริหา มธ.             วันที่ 3 ก.พ. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ จัดการบรรยายสาธารณะตลาดวิชาการ ท่าพระจันทร์ ครั้งที่ 1 เรื่อง "ปรีดี พนมยงค์ กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยมีนักวิชาการร่วมบรรยาย   ได้แก่ นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณะบดี คณะนิติศาสตร์  มธ., นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

             นายเกษียร กล่าวว่า มีความมหัศจรรย์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  คือ มีคนจำนวนมากในสังคม มีความเข้าใจและพฤติกรรม เสมือนอยู่ในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงทำให้เกิดความสับสน ระหว่างพื้นที่การเมืองหรือพื้นที่สาธารณะ กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์  สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ตนขอยืม ทฤษฎีของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เคยระบุถึงเรื่อง “สองนครา ประชาธิปไตย” ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามทฤษฎีนั้นได้แผ่กว้างคู่ขนานไปทั่วประเทศ

            นายเกษียร กล่าวต่อว่า ขณะนี้แม้ว่าในประเทศไทย มีโครงสร้างการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมมีความคิด ความเข้าใจ ราวกับอยู่ในระบอบปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้นำไปสู่ความเข้าใจผิด ลักกหลั่น ขัดแย้ง และทะเลาะรุนแรงมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  และฝ่ายที่ขัดแย้งนั้น ติดความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะดึงสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือโจมตีให้ร้าย เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ทำให้สถาบันกษัตริย์เข้ามาในวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง ที่อันตรายอย่างเลี่ยงไม่ได้

              “หากหัวเรายังคิดในระบอบสมบูรณ์อาญาสิทธิราชย์ เมื่อได้ยินคนวิจารณ์สถาบันฯ จะโกรธทันที่ เพราะรู้สึกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่วิจารณ์ไม่ได้ ไม่สามารถแยกระหว่างวิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายได้ ทำให้ มอสามเลข ก่อปัญหามาก เพราะเมื่อได้ยินคนใช้สิทธิ์ตามโครงสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เขารู้สึกเคืองทันที หรือกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น คือ มีการทะเลาะและมีศัตรูทางการเมือง  คุณจะไม่คิดถึงการเลือกตั้ง หรือการตั้งพรรคการเมือง แต่จะเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ดังนั้นทันทีที่มีความขัดแย้งระหว่างพลังการเมืองฝ่ายอื่นๆ  กับคุณทักษิณ ชินวัตรแล้วคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ก็คิดเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ดึงสถาบันกษัตริย์มาเกลือกกลั้วกับการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทำลายความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายเกษียร กล่าว

             นายเกษียร กล่าวต่อว่า นายปรีดี และอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการบดี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตกเป็นเหยื่อข้อกล่าวหาเลื่อนลอยที่ใช้สถาบันกษัตริย์ทำร้ายกันทางการเมืองมาหลายครั้งโดยพรรคการการเมืองที่ขณะนี้เป็นฝ่ายค้านจนบุคคลทั้ง 2 อยู่ในประเทศไม่ได้ และทำให้มหาวิทยาลัยของเราถูกเผา ปล้น ยิงถล่ม ล้อมปราบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพันธะในความรับผิดชอบทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์ที่ชาวธรรมศาสตร์พึงที่ต้องหาทางป้องกันและแก้ไขกรณีแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยอีก เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ เศร้าใจ ที่ประกาศห้ามใช้ มธ. ครั้งล่าสุด สะท้อนว่าคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน ลืมและละทิ้งความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ โดยศีลธรรมไป  ลืมได้อย่างไร ทั้งหมดเกิดมาด้วยกระบวนการและวิธีเดียวกัน ไม่ต้องกลัวธรรมศาสตร์ เท่าที่ผมทราบไม่มีใครในธรรมศาสตร์คิดล้มเจ้า ไม่แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่สิ่งที่คนในธรรมศาสตร์ควรล้มคือการเมืองที่ใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากประเทศไทย

             ด้านนายพนัสกล่าวว่าตนมองว่าประเด็นที่เป็นปัญหาตอนนี้ คือ เสรีภาพทางวิชาการ ที่ข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอย่างเด็ดขาด เหมือนอย่างที่เขียนรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งตนเชื่อว่าคำว่าเสรีภาพทางวิชาการ เป็นสิ่งเดียวกันกับคำว่าเสรีภาพทางการศึกษา ตามที่นายปรีดี กล่าวในงานเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  ทั้งนี้ที่ผ่านมาในพื้นที่ของ มธ. ไม่ได้มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร  ตั้งแต่พ.ศ.2490 อย่างไรก็ตามตนมองว่าเสรีภาพทุกตารางนิ้วของพื้นที่ มธ. นั้นได้เป็นจริงแล้ว เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ตามที่อธิการบดีและคณะกรรมการมหาวิทยาลัย ประกาศอย่างเป็นทางการ

             “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว หรือเรียกว่า ไม่มีกระผีกริ้นเดียว เพราะผลพวงจากการรัฐประหาร  สำหรับประเด็นเสรีภาพทางวิชาการที่มีข้อจำกัดอยู่ขณะนี้ อาจเป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด หรือ ต้องให้กรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้ขาดในเรื่องเสรีภาพ อย่างไรก็ตามปมประเด็นเรื่อง 3 ตัวเลขนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายคนทั้งชาติ ที่มีจุดเริ่มต้น คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นายพนัส กล่าว

            ผู้สื่อข่าวว่าหลังจากที่นักวิชาการได้บรรยายแล้วเสร็จ เป็นเวทีที่ให้ประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังซักถาม โดยมีผู้ตั้งคำถามถึงกรณีที่คณะผู้บริหารของมธ. ระบุว่าหากให้เดินหน้าให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจทำให้เป็นชนวนนำไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 โดยนายเกษียร ตอบว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการประกาศห้ามใช้พื้นที่ มธ. และอ้างเหตุผลว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว เพราะปัจจุบันนั้นไม่มีสถานการณ์ใดที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวได้อีก เหตุผลเพราะ 1.รัฐบาล ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ มีความอ่อนแอ ความชอบธรรมมีปัญหา แม้ว่าจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังกับผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง  2.ชนชั้นนำในปัจจุบัน พยายามรวมศูนย์อำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อนายทุน ในรูปแบบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม โอนถ่ายหรือย้ายฐานการผลิต และในสถานการณ์เช่นนี้ตนมองว่ากลุ่มนายทุนคงไม่อยากเห็นการฆ่ากลางเมืองเกิดขึ้นอีก

            “แต่หากเป็นความรุนแรงจากการจัดตั้งของรัฐอาจมีขึ้นได้แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ การปลุกความเกลียดชังให้เกิดขึ้น เช่น การด่าว่าล้มเจ้า ซึ่งเป็นการพูดไม่คิดว่า คำพูดนั้นเป็นการเพาะพิษในใจคนจำนวนมาก ทั้งที่คนเหล่านั้นเขาก็รักในหลวง แต่พวกคุณใช้คำพวกนี้ เพราะกลัวจะไม่ได้ใช้ไม้ตะบองศักดิ์สิทธิ์อันใหญ่ จึงแพร่เชื้อความเกลียดออกไป” นายเกษียร กล่าว

              นายเกษียร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือ สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะคุยให้เข้าใจ แต่อยากให้ยึดหลักสำคัญ 3 ข้อ  คือ 1.อย่าลืมว่าเราต้องอยู่สังคมเดียวกัน คือ ไม่ว่าเกลียดกันแค่ไหนพวกเราก็ยังต้องอยู่ในสังคมเดียวกัน ขณะเดียวเวลาเสนออะไรออกมานั้นเป็นสิ่งคนอีกกลุ่มหนึ่งรักมากที่สุด อย่าพูดเอามันสะใจหรือคิดว่าเสนอออกไปแล้วเป็นก้าวหน้าสุดยอด แต่ต้องใช้เหตุผล อย่างกร่าง ใจเขาใจเรา  2. พยายามเลี่ยง Hate Speech เพราะเป็นภาษาที่ปลุกให้เกิดความเกลียดชังมันมากเกินไป เช่นเดียวกับภาษาสงครามส่อให้เกิดคววามรุนแรง ไม่มีทางที่ประเทศจะเปลี่ยนได้ เพราะเปลี่ยนด้วยความรุนแรงมักจะฆ่ากันต่อ 3.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องแสดงความใจใหญ่ออกมา ด้วยการเปิดพื้นที่เสรีภาพแบบไม่ควรเลือกข้าง

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติห้ามเคลื่อนไหวมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัย ปรากฎว่าตามบอร์ดภายในมหาวิทยาลัยยังมีการติดป้ายทั้งสนับสนุน และต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งยังไม่มีการเอาป้ายที่ติดอยู่ออกทั้งหมด

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์




http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น