วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555


ความเหลวไหลของ "ประชาธิปไตย" และ "ศีลธรรม" ในมือของ "คนดี"
        ทำไมจึงมีคำถามกับ "คนดี" และ "ความดี" ตามความคิดกระแสหลักในสังคมไทยมากขึ้น ?

             ผมคิดว่า เกิดจากปรากฏการณ์ที่ประชาธิปไตยและศีลธรรมตกอยู่ในมือ หรืออยู่ใน "อำนาจการตีความ" ของ "เครือข่ายคนดี" และการกระทำ "ความดี" ของพวกเขาเหล่านั้น ก็ส่งผลให้เกิด "ความเหลวไหล (absurd)" ของประชาธิปไตยและระบบศีลธรรมของสังคมไทยอย่างน่าตระหนก ในระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา

             ลองพิจารณาความหมายของ "คนดี" และ "ความดี" ตามความคิดกระหลัก ดังเช่น
            "คนดี" คือคนเช่นไร? ตอบว่า "คนดีในอุดมคติ" ตามความคิดกระแสหลักของสังคมไทย คือคนซื่อสัตย์ ไม่โกง จงรักภักดี กตัญญูต่อแผ่นดิน และ/หรือคนดีตามบรรทัดฐานศีลธรรมทางศาสนาที่ดีพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ

             ตัวอย่างของคนดีตามนิยามดังกล่าว เช่น คนที่ได้รับยกย่องว่า เป็น "เสาหลักทางจริยธรรม" และเครือข่ายคนดีที่ยกย่องกันว่าซื่อสัตย์ ไม่โกง

              แต่การเกิดรัฐประหาร 19 กันยา กลับมี "ข้อกังขา" ที่สำคัญยิ่งว่า คนดีเหล่านั้นซื่อสัตย์ต่อหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือไม่? กตัญญูต่อประชาชน และเคารพการตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ "อำนาจอธิปไตยสูงสุด" ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? 

              "ความดี" คืออะไร? ตอบได้ว่า ความดีของคนดีเหล่านี้ คือ "การกระทำทุกวิถีทางไม่เลือกวิธีการว่าถูกหรือผิด" เพื่อขจัด "คนเลว" (บางที "เลว" เพียงเพราะมีความเห็นต่าง มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากพวกตน)

              เช่น อ้างความจงรักภักดี อ้างศาสนา อ้างธรรมนำหน้า อ้างสถาบันกษัตริย์แบ่งแยกประชาชนในประเทศเป็นฝักฝ่าย จนนำไปสู่การทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้กฎหมายแบบ "สองมาตรฐาน" ขจัดนักการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โจมตีใส่ร้ายเรื่องล้มเจ้า อ้างข้อหาล้มเจ้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนด้วย "กระสุนจริง" เป็นต้น

               รวมทั้งที่ออกมาต่อต้านการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ด้วยข้อกล่าวหาว่า "ล้มเจ้า" อย่างที่พยายามทำกันอยู่ในขณะนี้ !

                แน่นอนว่า "ประชาธิปไตย" และ "ศีลธรรม" ในมือของบรรดาคนดีเหล่านี้ ย่อมบิดเบี้ยว และ "เหลวไหล" ไปด้วย กล่าวคือ

               "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตย" ที่ไม่ปรับใช้ "หลักการสากล" คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคกับ "ทุกคน" อย่างเท่าเทียม ซึ่งขัดกับ "แก่นสาร" ของความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้หลักการสากลดังกล่าวอย่างเสมอกัน
                    
แต่เพื่อปกป้อง "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตย" พวกคนดีจึงต่อต้านการแก้ไข ม.112 และรัฐธรรมนูญบางหมวดอย่างแข็งขัน พร้อมๆ กับการโจมตีใส่ร้าย ปลุกปั่นความเกลียดชังฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว
               ทั้งๆ ที่เป็น "ข้อเรียกร้อง" เพื่อเปลี่ยนความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตยสู่ความมี "แก่นสาร" คือ ความเป็นประชาธิปไตยที่หลักการสากลถูกปรับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมแบบอารยประเทศ ซึ่งย่อมส่งผลดีแก่ทุกสถาบัน ทุกสี ทุกฝ่ายในสังคมอย่างเสมอหน้ากัน!

                "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของศีลธรรม" แน่นอนว่า เมื่อระบบสังคม-การเมืองบิดเบี้ยวเหลวไหลแล้ว "ศีลธรรมทางสังคม-การเมือง" ก็ย่อมบิดเบี้ยวเหลวไหลตามไปด้วยอย่างจำเป็น (necessary)


               เช่น แทนที่สังคมนี้จะเน้น "ศีลธรรมเชิงหลักการ" หรือเน้นการใช้ศีลธรรมสากล หรือศีลธรรมภาคสาธารณะเป็นบรรทัดฐานในเรื่อง "ถูก-ผิด" ทางการเมือง กลับไปเน้นเรื่องความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูต่อตัวบุคคลให้เป็น "ศีลธรรมที่เหนือกว่า" การเคารพ หรือปฏิบัติตามหลักการสากล ศีลธรรมสากล หรือศีลธรรมภาคสาธารณะ คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

               ฉะนั้น จึงเกิด "ภาวะบิดเบี้ยวเหลวไหลทางศีลธรรม" คือ เกิดการอ้างความดีงามของความจงรักภักดีต่อตัวบุคคลทำลายหลักการสากลอันเป็นศีลธรรมทางสังคม หรือศีลธรรมภาคสาธารณะ ซึ่งเป็น "แก่นสาร" ของความเป็นประชาธิปไตย

               ภายใต้ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตยและศีลธรรมดังกล่าวนี้ ยังก่อให้เกิด "ความบิดเบี้ยวเหลวไหล" ที่สำคัญตามมาอีกอย่างน้อยสองเรื่องที่สำคัญคือ

              "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของนักสันติวิธี" ที่มองไม่เห็นปัญหาระดับรากฐานที่สุด คือความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ "ไม่ปรับใช้หลักการสากลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม" อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถพูดถึง "ความจริงของสาเหตุแห่งปัญหา" ได้อย่างถึงที่สุด
              ซึ่งทำให้ปัญหาความอยุติธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตย มองไม่เห็นทางแก้ไข และกลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด!

              เมื่อมองไม่เห็น นักสันติวิธีก็พยายามรักษา "บทบาทเป็นกลาง" อย่างสุดโต่ง ทำได้แค่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน ลืมความหลัง หันหน้ามาปรองดอง แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ฯลฯ
               แต่ทั้งหมดนั้นคือ "ข้อเสนอนามธรรมแบบสูตรสำเร็จ" ที่ไม่ตอบปัญหาความอยุติธรรม และความไม่เป็นประชาธิปไตย อันเป็นรากฐานของความขัดแย้งแต่อย่างใด

               "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของสื่อ" ไม่ใช่เรื่องไม่เป็นกลางหรือเลือกข้าง แต่เป็นเรื่อง "ซีเรียส" กว่านั้น คือสื่อหลักไม่มีความกล้าหาญที่จะใช้ "เสรีภาพ" ในการเสนอความเห็นต่าง หรือ "ความคิดนอกกระแสหลัก" ในบริบทของ "ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน"

               ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ สื่อที่มีความรับผิดชอบ ย่อมตระหนักว่า "ความคิดนอกกระแสหลัก" มีคุณค่ามาก เนื่องจากเราได้เห็นแล้วว่า ความคิดกระแสหลักที่ว่ามานั้นทำให้ประชาธิปไตย และศีลธรรมของสังคมบิดเบี้ยวเหลวไหลไปอย่างไร

                ฉะนั้น "ความคิดนอกกระแสหลัก" ถ้ามันจริง ถูกต้อง มันก็จะเปลี่ยนความคิดกระแสหลักที่ไม่จริง ที่ผิด ถ้ามันไม่จริง หรือมันผิด ก็จะกระตุ้นความคิดกระแสหลักเข้ามาปะทะสังสรรค์ทำให้มีพลังเข้มแข็งขึ้น

                และถึงแม้ว่า "ความคิดนอกกระแสหลัก" ที่จริง ที่ถูกต้องนั้นๆ มันอาจจะดูเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ สื่อก็ต้องเปิดโอกาสให้มันได้แสดงออก ได้ "บ่มเพาะ" ตัวมันเองในสังคม เพื่อให้งอกงามเติบโต ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในระยะยาว

                กล่าวโดยสรุป สภาวะบิดเบี้ยวเหลวไหลของคนดี ความดี และความบิดเบี้ยวเหลวไหลของประชาธิปไตย และศีลธรรมในมือของคนดีเหล่านั้น เกิดจาก "ระบบสังคม-การเมืองที่ไม่ปรับใช้หลักการสากลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม" นั่นเอง

                ระบบนี้แหละคือที่มาของ "ความบิดเบี้ยวเหลวไหลของทุกสิ่ง"

               ทางออกจึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นต่าง หรือ "ความคิดนอกกระแสหลัก" ได้ปะทะสังสรรค์กับ "ความคิดกระแสหลัก" ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

              ในที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่า "ความคิดนอกกระแสหลัก" จะบ่มเพาะตัวมันเอง และเจริญเติบโตจนมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่ปรับใช้หลักการสากลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม เฉกเช่นกับอารยประเทศ!
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น