การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้ | |
การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้! โดย สุรชาติ บำรุงสุขคอลัมน์ ยุทธบทความ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 41
นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รุมเร้าอย่างมาก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึงมาก่อน และเป็นปัญหาที่รัฐและสังคมไทยไม่เคยมีการเตรียมตัวอย่างจริงจังก็คือ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ จนต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีอาการ "เซ" อยู่พอสมควรกับปัญหาเช่นนี้ แต่รัฐบาลก็ดูจะอาศัย "ความขยัน" ของนายกฯ เป็นปัจจัยในการปิดจุดอ่อน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นจากปัญหาภัยจากน้ำท่วมขนาดใหญ่แล้ว สังคมไทยเองก็มีปัญหาความมั่นคงซึ่งรอคอยการมียุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางในการก้าวเดินสู่อนาคต โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากปีใหม่ 2555 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็ยิ่งมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ต้องมีทิศทางยุทธศาสตร์ของไทยที่ชัดเจนในการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความมั่นคงที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต สำหรับนายกรัฐมนตรีซึ่งมีภูมิหลังและความคุ้นเคยมาจากภาคธุรกิจ ในด้านหนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญในบริบทของงานความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นเรื่องราวที่แตกต่างจากชีวิตในภาคธุรกิจโดยสิ้นเชิง ในอีกด้านหนึ่ง เธออาจจะคิดถึงการพึ่งพากลไกภายในระบบ แต่ความเป็นจริงนับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ก็เห็นได้ชัดเจนว่า กลไกในระบบไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง หรือบทบาทขององค์กรที่จะต้องทำหน้าที่เป็น "ฝ่ายอำนวยการ" ให้แก่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในเรื่องของยุทธศาสตร์และความมั่นคง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด พร้อมๆ กับรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงบทบาทของการกำกับดูแลในฐานะของฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็น "ผู้กำหนดนโยบาย" เท่าที่ควร ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตอย่างมากว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สนใจงานความมั่นคง" การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้อาจถูกโต้แย้งจากรัฐบาลได้ไม่ยากนัก โดยรัฐบาลสามารถหยิบยกเอาเรื่องของการต่อสู้กับ "สงครามยาเสพติด" ขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อยืนยันว่า รัฐบาลนี้สนใจเรื่องงานความมั่นคง แต่ว่าที่จริงแล้ว การต่อสู้กับปัญหายาเสพติดถือได้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงที่สำคัญนั้น เป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในสังคมไทยปัจจุบัน การเปิดฉากทำ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" มีส่วนโดยตรงต่อการทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นในสายตาประชาชน และที่สำคัญก็อาจช่วยทำให้เสียงทางการเมืองของรัฐบาลดีขึ้นด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสงครามต่อต้านยาเสพติดได้กลายเป็น "ยุทธศาสตร์ความมั่นคง" ที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนในหลายๆ พื้นที่ให้รัฐบาลสนใจและปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับชุมชน ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ ภารกิจเช่นนี้สอดรับกับ "จริต" ของรองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งที่กำกับดูแลงานความมั่นคงในส่วนของตำรวจ และสงครามชุดนี้ก็ยังสอดรับอย่างเหมาะสมกับบทบาทของผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ที่เติบโตขึ้นมาจากสายงานต่อต้านยาเสพติด ผลพวงจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้สงครามต่อต้านยาเสพติดถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ พื้นที่ อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความตื่นตัวในสังคมและชุมชน และในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลชุดนี้ อันก่อให้เกิดเสียงตอบรับในทางการเมืองโดยเฉพาะในระดับชุมชนหลายแห่งอย่างมาก แต่ความโดดเด่นของสงครามต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลก็จะต้องไม่ทำให้รัฐบาลคิดแต่เพียงว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาความมั่นคงหลักที่รัฐบาลต้องเผชิญเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้ (ไม่ว่าจะโชคดีหรือโชคร้ายก็ตาม) กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจนอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความท้าทาย" ด้านความมั่นคงที่สำคัญ และการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการการมียุทธศาสตร์ที่ดี เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน เพราะต้องตระหนักอย่างมากว่า ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงเช่นในปัจจุบันนั้น รัฐบาลจะเดินไปข้างหน้าโดยปราศจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนไม่ได้ และจะต้องตระหนักเสมอว่า การบริหารจัดการความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลทั่วโลกในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะ "โชคร้าย" ที่กลไกความมั่นคงหลักซึ่งจะต้องเป็น "ฝ่ายอำนวยการ" ให้แก่รัฐบาล เช่น ในกรณีของสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ก็เป็นอะไรที่หวังพึ่งไม่ได้... และบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า "พึ่งไม่ได้เลย!" ด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สมช. บางส่วนมีความใกล้ชิดอย่างมากกับรัฐบาลชุดที่แล้ว รวมถึงบางคนอาจจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดในการล้อมปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดงมาแล้ว พวกเขาจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาบางคนยัง "ฝันหวาน" อีกด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในท้ายที่สุดจะมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากรัฐบาลสมัครหรือรัฐบาลสมชาย แล้วกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมก็จะกลับเข้าสู่อำนาจ และพวกเขาก็จะมีโอกาสรับใช้รัฐบาลอนุรักษนิยมอย่างสุดจิตสุดใจ จนไม่ต้องกังวลกับฝ่ายการเมืองที่มาจากพรรคเพื่อไทย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่ สมช. จะกลายเป็น "แหล่งซ่องสุม" ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในสายงานความมั่นคง และบางครั้งก็ออกอาการ "เท้าราน้ำ" ในรัฐนาวาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลนี้ ก็ "แสนดี" ที่ไม่กล้าโยกย้ายผู้บริหารใน สมช. และทั้งยังปล่อยให้พวกเขามีเสรีภาพในการทำนโยบายความมั่นคงเอาเอง โดยปราศจากการกำกับของฝ่ายการเมือง (ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย) ทั้งที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ปรับผู้บริหาร สมช. ออกเพราะถือว่า "ไม่ใช่พวก" แต่รัฐบาลนี้กลับ "เงียบ" จนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายผ่าน สมช. ได้ ซึ่งหากสรุปโดยรวมก็คือ ปัญหาการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถกำกับงานความมั่นคงได้จริง! ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็พึ่งพากองทัพไม่ได้เท่าที่ควร ดังเป็นที่รู้กันดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับฝ่ายทหารนั้นเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในตัวเอง เพราะในความเป็นจริงของการเมืองไทย กองทัพไม่ใช่เป็นเพียงฐานของกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทอย่างชัดเจนในการค้ำจุนรัฐบาลอนุรักษนิยมชุดเก่า และยังแสดงออกในการต่อต้านพรรคเพื่อไทยอย่างมากก่อนการเลือกตั้ง แม้กองทัพจะมีบทบาทเชิงบวกในการช่วยเหลือรัฐบาลในภาวะน้ำท่วม แต่ความสัมพันธ์เชิงบวกยังคงเป็นปัญหา ดังสะท้อนได้ชัดจากท่าทีของแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังกังวลต่อการรัฐประหาร และเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงรวมกำลังต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยความใส่ใจ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร สำหรับรัฐบาลนี้ และจะเป็นประเด็นที่มีนัยอย่างสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐบาลในอนาคต การกำหนดยุทธศาสตร์ของปัญหานี้ยังจะมีส่วนเกี่ยวพันอย่างมากกับปัญหาการตีความคำตัดสินเดิมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งหลายๆ ฝ่ายคาดว่าการตีความนี้น่าจะเกิดในช่วงปลายปี 2555 อีกทั้งในปัจจุบันก็เห็นได้ว่า ศาลโลกออก "มาตรการชั่วคราว" หลังจากเกิดการสู้รบขึ้นในช่วงต้นปี 2554 และมาตรการชั่วคราวกำหนดให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกกำหนดเป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่คาราคาซัง เพราะไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทย/กองทัพไทย จะทำอย่างไรกับปัญหานี้ สภาพเช่นนี้ทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป แม้หลายๆ คนจะเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศในปัจจุบันไม่มีปัญหาแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องตระหนักว่า กระบวนการตีความของศาลโลกยังดำเนินต่อไป และต้องคิดเสมอว่า หากการตีความมีผลเป็น "ลบ" และเป็น "มาตรการบังคับ" ต่อไทยแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นโอกาสให้ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ฟื้นตัวหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลอีกหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าก็ต้องการการกำหนดยุทธศาสตร์ของไทย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า หากรัฐบาลไทยไม่กำหนดยุทธศาสตร์รองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ประเทศไทยอาจจะถูกทิ้งให้ "ตกขบวน" และไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ปัญหาการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ไทย รัฐบาลอาจจะต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวของจีนทั้งในพม่าและในลาว ตลอดรวมถึงการขยายบทบาทในลำน้ำโขง (หลังจากเกิดกรณีสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ) การเชื่อมต่อทางการเมืองและความมั่นคงของความสัมพันธ์ไทย-จีน ยังคงเป็น "วาระความมั่นคง" ที่จะต้องพูดคุยและถกแถลงกันให้กว้างขวาง และพิจารณาด้วยความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาคู่ขนานอีกส่วน ได้แก่ กรณีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรากฐานของระบบพันธมิตรเดิมของไทย การส่งสัญญาณถึงการเตรียมปรับบทบาทและนโยบายของสหรัฐ ในภูมิภาค ตลอดรวมถึงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2555 อันเป็นปัจจัยโดยตรงในการกำหนดตัวบุคคลในการทำนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐ ในอนาคต ทำให้รัฐบาลไทยน่าจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของทิศทางนโยบายของสหรัฐ ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ที่อีกมุมหนึ่งถูกขับเคลื่อนเพื่อรองรับต่อการเปิดประเทศของพม่า ปัญหาการก่อการร้ายสากลก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลอาจจะต้องทำความเข้าใจมากขึ้น การกำหนด "ยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย" จะเป็นหัวข้อสำคัญของรัฐบาล ดังเหตุที่เกิดขึ้นใน 2 กรณีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นสัญญาณ "นาฬิกาปลุก" เตือนใจว่า รัฐบาลจะละเลยต่อหัวข้อเช่นนี้ไม่ได้ และต้องเตรียมตัวที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ไทยอาจจะไม่โชคดีเช่น 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ได้! นอกจากนี้ การกำหนดท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางในอนาคตก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของไทยต่อปัญหาปาเลสไตน์ ปัญหาบทบาทของอิสราเอล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันก็คือปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งหากเกิดการสู้รบในกรณีนี้จริง ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อวิกฤตน้ำมัน และจะทำให้โลกพลังงานได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทำให้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานทั้งของโลกและของไทยได้รับผลโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่นับรวมปัญหาความมั่นคงในภาคใต้ และการเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดรอบๆ ไทยนั้น รัฐบาลต้องเตรียมยุทธศาสตร์รองรับเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายในการก้าวเดินสู่อนาคต แต่ในสภาพที่การเมืองไทยวันนี้ยังมีความยุ่งยากและความเปราะบางดำรงอยู่ จนกลายเป็น "ความอ่อนแอ" ของระบอบการเมืองนั้น เราจะคาดหวังให้ระบอบการเมืองที่อ่อนแอสร้างยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งได้อย่างไร ! | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น