วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555


ชะตากรรม‘ผังล้มเจ้า’!


    
          ชะตากรรม‘ผังล้มเจ้า’!

         ในที่สุดก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า “คดีผังล้มเจ้า” ได้มาถึงจุดจบ เพราะมีแนวโน้มชัดเจนว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอจะปิดสำนวนสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

        เหตุการณ์ชัดเจนเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เดินทางมาให้ปากคำกับดีเอสไอในเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐด้วยการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ พ.อ.วิจารณ์เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่สำคัญในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งนำเสนอเรื่อง “ผังล้มเจ้า” พ.อ.วิจารณ์ให้ปากคำอยู่ราว 2 ชั่วโมง และนำเอกสารมามอบให้เป็นหลักฐาน 1 ลัง ซีดี 8 แผ่น


          หลังจากนั้น พ.ต.อ.ประเวช มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงว่า ดีเอสไอได้สอบสวนพยานครบทุกปากแล้ว และจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน จึงจะสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ และจะสรุปคดีให้เสร็จก่อนสงกรานต์


         พ.ต.อ.ประเวชยังอธิบายรายละเอียดว่า ไม่ปรากฏว่ามีพยานคนไหนให้การว่าใครเป็นคนจัดทำแผนล้มเจ้าขึ้นมา ประกอบกับข้อมูลที่กล่าวหากลุ่มบุคคลในผังก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันกระทำผิดที่ไหน เมื่อไร ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า “เรื่องนี้ไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นที่รับเป็นคดีพิเศษมานานเป็นปีแล้ว และเมื่อมีการเปลี่ยนคณะทำงานสอบสวนผมก็พยายามจะทำให้มันมีอะไร แต่จนถึงขณะนี้ผู้ที่กล่าวหาก็ยังไม่มีมูลที่ชัดเจนให้ดีเอสไอนำไปขยายผลสืบสวนหาคนผิดได้ หรือที่พูดกันในภาษาชาวบ้านว่าการกล่าวหาลอยๆ”


         ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้แถลงข่าวโดยเสนอถึงแผนผังเครือข่ายชื่อบุคคลที่อ้างว่าเป็นเครือข่ายที่ส่อถึงการล้มล้างสถาบันเบื้องสูง จากรายชื่อในแผนผังมีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นใจกลาง และมีโครงข่ายต่างๆแวดล้อมเชื่อมโยงหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อันประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิสา คัญทัพ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายอดิศร เพียงเกษ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน รวมทั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และโยงถึงนักวิชาการ เช่น นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เข้าไปด้วย


            หลังจากนั้นสื่อมวลชนกระแสหลัก กลุ่มฝ่ายขวา และสลิ่มสารพัดสี ได้ปลุกกระแสและโจมตีบุคคลเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็นเครือข่ายขบวนการล้มเจ้า ซึ่งเป็นการจงใจบิดเบือนให้ร้ายผู้ที่ปรากฏชื่อในผังล้มเจ้า โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ออกมาแถลงซ้ำว่าจะออกหมายจับบุคคลตามแผนผังนี้ด้วย แต่ต่อมานายสุเทพไม่ได้ดำเนินการเช่นนั้น แต่ในทางความเป็นจริง “ผังล้มเจ้า” เป็นส่วนหนึ่งของกระแสในการนำมาสู่การปราบปรามกวาดล้างประชาชนคนเสื้อแดงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 93 คน บาดเจ็บนับพันคน และมีประชาชนถูกจับกุมติดคุกอีกนับร้อยคน


            เรื่องผ่านไปจนถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำให้ พ.อ.สรรเสริญต้องยอมรับต่อศาลว่าการเผยแพร่ “ผังล้มเจ้า” มีขึ้นด้วยเหตุ 3 ประการคือ ประการที่หนึ่ง ศอฉ. ในขณะนั้นเชื่อมั่นว่ามีขบวนการที่จ้องจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จริง 



          ประการที่สอง ในช่วงเวลานั้นมีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวหาในลักษณะทำนองว่าท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์มาสั่งการ ศอฉ. อยู่ตลอดเวลาให้ดำเนินการนานัปการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น หมายความว่ามีความพยายามจะสร้างภาพให้สังคมเห็นว่าพระองค์ท่านมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ซึ่งมิได้เป็นความจริง ศอฉ. จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร 


        และประการที่สาม เป็นไปตามมติของ ศอฉ. ที่ต้องการจะให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารแก่สังคมเป็นลายลักษณ์อักษร

           พ.อ.สรรเสริญยังอธิบายต่อไปว่า เอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ โดยให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเอกสารว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร เช่น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะญาติพี่น้อง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะผู้ทำธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น มิได้แถลงว่าบุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความกันเอง


         สรุปแล้วจากคำแถลงของ พ.อ.สรรเสริญต่อศาลก็เป็นที่ชัดเจนว่าผังล้มเจ้าเป็นเพียงการแสดงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เรื่องขบวนการล้มเจ้าเป็นเพียงความเชื่อ จึงไม่เคยปรากฏเลยว่าฝ่าย ศอฉ. และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เสนออะไรที่เป็นหลักฐานอันมีน้ำหนักในกรณีเรื่องนี้ หรืออธิบายได้อีกลักษณะหนึ่งว่า คดีผังล้มเจ้าเป็นเพียงความพยายามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่จะใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ โดยการนำเอากรณีล้มล้างสถาบันมาเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาศัตรูทางการเมืองของพวกตน และสร้างความชอบธรรมในหมู่ประชาชนด้วยการสร้างเรื่องโกหกระดับชาติขึ้นมานั่นเอง


          แม้ความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว แต่ดีเอสไอในขณะนั้นยังยืนยันที่จะดำเนินคดีล้มเจ้าต่อไป โดยพยายามอ้างว่ามีหลักฐานแน่นหนาที่จะดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 เกิดการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การทำงานของดีเอสไอจึงมีการเปลี่ยนท่าทีต่อคดีล้มเจ้าอย่างสำคัญ เช่น การเสนอจะเรียกตัวนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายสุเทพในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. มาให้การกรณีผังล้มเจ้า และมีข่าวอ้างว่านายสุเทพเป็นผู้อยู่เบื้องหลังจากการจัดทำผังล้มเจ้า ทำให้นายสุเทพต้องตอบโต้ว่าดีเอสไอชักจะทำอะไรเลอะเทอะ ไม่มีจุดยืนในการทำงาน “เพราะกรณีนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานที่แสดงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน และนำไปเสนอต่อ ศอฉ.” แต่วันนี้มาออกข่าวในลักษณะเหมือนจะกล่าวหาว่าตนเป็นต้นเรื่อง


            ถ้าเป็นดังนี้จึงกลายเป็นเรื่องแปลก เพราะในที่สุดไม่รู้ว่าใครเป็นต้นเรื่อง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใส่ร้ายป้ายสีคงเลี่ยงไม่ได้ที่นายสุเทพ รัฐบาลอภิสิทธิ์ และ ศอฉ. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่กรณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งถึงความเหลวไหลของชนชั้นนำไทย เป็นตัวอย่างการใส่ร้ายป้ายสีที่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้คุณธรรม


      บทความนี้จึงลงท้ายด้วยความเห็นในโลกไซเบอร์ เช่น “มั่วแม็พล้มเจ้า ความจริงเริ่มปรากฏ ที่แท้ก็เป็นวิธีการใส่ความฝั่งตรงข้ามแบบมั่วๆ และแล้วผังล้มเจ้าจาก ศอฉ. ในยุคนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นคดีปาหี่ เอาฮาในที่สุด” หรือผังล้มเจ้าที่ได้รับการเปิดเผยโดยโฆษก ศอฉ. ในขณะนั้นได้รับการกล่าวขานมากว่า “ใครแม่มนั่งทางในเขียน” และอีกความเห็นที่ว่า “ไม่แน่นะ ในวันสองวันนี้เราอาจเห็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้เชิญจิตแพทย์ร่วมสอบการให้ปากคำคำให้การของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็เป็นได้ ใครจะไปรู้”


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 

ฉบับ 354 วันที่  7 - 13 เมษายน พ.ศ. 2555 หน้า 7  
คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น