วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555


อยุทธศาสตร์ล้มการปรองดองมหาวิบัติยุทธวิธีวิปริต 6 ประการ

 
          อยุทธศาสตร์ล้มการปรองดองมหาวิบัติยุทธวิธีวิปริต6ประการ!
         เรื่องการปรองดองและล้มการปรองดองมีคนพูดกันมาก พูดกันหลายเหตุผลและมุมมอง ซึ่งล้วนน่ารับฟังทั้งสิ้น อีกทั้งถ้าไม่มีใครสนใจเรื่องการปรองดองในประเทศไทยขณะนี้ก็ถือว่าตกบันไดเวลาเหมือนกัน บทความชิ้นนี้เป็นอีกมุมมองที่จะตอบคำถามได้ถึงยุทธวิธีต่างๆที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้เกิดการปรองดอง หรือจะบอกว่าเป็นการล้มการปรองดองก็ได้ ซึ่งขอเรียกว่า “อยุทธศาสตร์ล้มการปรองดอง”

          ยุทธการตาบอดคลำช้างนี้ชัดเจนในความหมาย 2 นัยคือ ส่วนหนึ่งเป็นการทำให้ผู้คนสับสน เพราะมีการวางตัวที่ไม่แน่นอน ทำให้คนไม่เข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์คิดอย่างไรและจะเอาอย่างไรกับการปรองดอง วิธีเช่นนี้ใครจะเข้าใจพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ง่าย จึงอยู่ที่จะมองมุมไหนและคลำจุดไหน มองจากเขี้ยวงาหรือตัวเดียวอันเดียว คลำที่หนึ่งก็เข้าใจอย่างหนึ่ง คลำอีกที่ก็กลายเป็นอีกความหมาย


        ความหมายตาบอดคลำช้างอาจบอกว่าเป็นการมองต่างมุมของแต่ละฝ่ายก็ได้ กระทั่งถึงที่สุดไม่รู้ว่าการปรองดองในประเทศไทยหมายถึงอะไรกันแน่ ดังเช่น “อัฏฐะ” หมายถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วม เป็นแนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งเห็นด้วยที่จะให้ยุติคดีที่เกิดจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คือย้อนเวลากลับไปที่เดิมของกระบวนการยุติธรรม ตัดเรื่องหยุมหยิมจิปาถะออกไป มองข้ามปัญหาย่อยต่างๆเสียบ้าง แล้วยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง ถ้ายึดถือได้อย่างนี้จะเกิดการให้อภัย และการปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้


          อัปริหานิยธรรม ข้อนี้เป็นความเห็นของพระพยอม กัลยาโณ หมายถึงให้มองข้ามเรื่องที่โกรธเคืองขัดแย้งกัน ให้คิดถึงความเจริญของบ้านเมืองในอนาคต ถ้ากระทำอย่างนี้ได้ เมื่อทุกคนนึกถึงความเจริญเติบโตของบ้านเมือง จิตใจที่จะให้อภัยและการปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้
แต่อีกฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นการใช้การปรองดองบังหน้าเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด เป็นการแฝงเนื้อหาโดยการใช้การปรองดองมาบังหน้า ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดแต่ละครั้งก็หนีไม่พ้นบทนี้ จึงถือเป็นการคลำช้างอีกส่วนหนึ่ง เป็นปัจจัยรุนแรงที่ขัดขวางไม่ให้การปรองดองเกิดขึ้นได้


           ปรัชญาและยุทธการ “ไก่กับไข่” อะไรเกิดก่อน ยุทธการข้อนี้ไม่แตกต่างจากข้อที่แล้ว คือเป็นการมองต่างมุมอีกเช่นเคย ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ เยียวยาก่อนความจริงปรากฏ หรือให้ความจริงปรากฏก่อนแล้วค่อยเยียวยา นี่เป็นข้อถกเถียงที่มีอยู่มากมาย ในฝ่ายคัดค้านมองว่าไม่ควรเอากฎหมายนิรโทษกรรมที่จะเป็นผลทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากความผิด เพราะยังไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร


          ยังมีฝ่ายที่มองว่าแต่ละอย่างของการปรองดองต้องกระทำพร้อมๆกัน ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่าง การให้อภัยและเข้าอกเข้าใจ การสานเสวนา เปิดเวทีให้มีการพูดคุยของฝ่ายต่างๆขึ้นมา


          เรื่องไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่นี้ยังเกี่ยวข้องกับ 3 คำถามที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้เปิดเวทีของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) ถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่ง “บิ๊กบัง” ก็แสดงวาทกรรม “ขอให้ความจริงตายไปกับตนเอง” บ้างก็มองว่าความจริงนั้นไม่เหมาะสมที่จะพูดในประเทศไทย หรือเปิดเผยไม่ได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหาร เหตุผลวิบัติเรื่องไก่กับไข่จึงเป็นอีกยุทธการหนึ่งที่ขัดขวางและทำให้การปรองดองต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า


           ยุทธการยักย้ายส่ายไปมาเหมือนกับปลาไหลนี้เป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักรุนแรงมากที่สุดที่ทำให้การปรองดองต้องบิดเบือนความหมาย อธิบายง่ายๆคือมีการสื่อสารพูดจาให้เหตุผลอย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น ด้วยยุทธการเช่นนี้การปรองดองจึงยังไปไม่ถึงไหน กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางที่สกัดให้การปรองดองล้มลงไปไม่เป็นท่า


            แม้แต่เรื่องที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ถอนตัวจาก กมธ.ปรองดองจำนวน 9 คน โดยอ้างว่า กมธ.ปรองดองจะใช้เสียงส่วนใหญ่มาบีบให้ลงมติจึงต้องถอนตัว ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการล้มเกม หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นการยื้อเกมปรองดองให้ยืดออกไป

           ขณะเดียวกันมีผู้มองว่าวิธีการข้างต้นถือเป็นวิธีการพูดส่ายหัวไปมาแบบปลาไหลที่แท้จริง เพราะก่อนหน้านี้ กมธ.ปรองดองของพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าไม่รับทราบอะไรก็ไม่ได้ เนื่องจากได้ขอให้ กมธ.ปรองดองแก้ไขข้อความในผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการปรองดอง ซึ่งสะท้อนว่าต่างก็เกาะติดและรับทราบความคืบหน้าต่างๆของรายงานการวิจัย จะบอกว่าไม่รับทราบไม่ได้ และอ้างไม่รับทราบและไม่เห็นชอบจึงตัดสินใจถอนตัวออกมาก็ไม่จริง


           วิธีตัดต่อแบบแพะชนแกะและตะเบ็งเสียงไม่หยุดคือความหมายการเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันแล้วสรรหาเหตุผลให้เกี่ยวข้องกันจนได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงใช้เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาพูดเพื่อบิดเบือนและผลักเฉให้ความหมายของการปรองดองเปลี่ยนแปลงไป เช่น เอาปัญหาปากท้องและสินค้าราคาแพงมาโจมตีรัฐบาล แล้วบอกว่าเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขมากกว่าการปรองดองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนย่อยของการปรองดอง การสร้างกระแสโดยตั้งเรื่อง “ของแพงทั้งแผ่นดิน” ยุทธการนี้อาจพูดได้ว่าเป็นการร้องแรกแหกกระเฌอและตะเบ็งเสียงอย่างไม่รู้จักจบ คือหาประเด็น หาเรื่องออกมาพูดเรื่อยๆ แม้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันก็พูดให้มันเกี่ยวกันจนได้ 


           ลงท้ายแล้วก็เป็นปัญหาหยุมหยิมที่ทำให้แนวทางการปรองดองต้องบิดเฉไปในที่สุด
การเสนอวาทกรรมให้สังคมเห็นว่า “ใครที่สนับสุนนการปรองดองก็ล้วนเป็นพวกทักษิณ” ฉะนั้นถ้าเป็นพวกทักษิณก็เท่ากับเป็นคนไม่ดี ไม่ใช่พวกรักชาติ


           เพราะเหตุนี้จึงมีข่าวลือว่าเริ่มเกิดกลุ่มบุคคลที่จะล้มการปรองดอง แม้กระทั่งใช้วิธีการขี้เท่อ โดยการสนับสนุนให้มีการประท้วงจนอาจจะเกิดความขัดแย้งในสังคม แล้วติดตามมาด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร เรื่องเหล่านี้อย่าประมาทในสังคมไทย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ คนพวกนี้เรียกร้องความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติบ้านเมือง แต่พวกตนเองล้วนสร้างแต่เงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกและบานปลายออกไปเรื่อยๆจนยากแก่การเยียวยาแก้ไข ในที่สุดก็ไม่มีใครอยากแก้ไขต่อไป ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปโดยชะตากรรมที่เลวร้ายเสมือนแทบจะไม่มีอนาคตที่สดใสข้างหน้า กลายเป็นว่าคนไทยด้วยกันพูดจากันไม่รู้เรื่อง


สรุปคือการปรองดองที่ตอแหลย่อมไม่มีคำตอบและไม่มีข้อสรุปเกิดขึ้นได้


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 

ฉบับที่ 354 วันที่ 7-13 เมษายน พ.ศ. 2555 
หน้า 11 คอลัมน์ กรีดกระบี่บนสายธาร โดย เรืองยศ  จันทรคีรี
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น