''''ธัมมิกประชาธิปไตย'''' ของพุทธทาส
| |
ธัมมิกประชาธิปไตย ของพุทธทาส
Posted: 11 Jul 2012 01:05 AM PDT
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท http://www.prachatai.com)
สุรพศ ทวีศักดิ์
เมื่อพุทธทาสภิกขุเปลี่ยนนิยามของประชาธิปไตยจาก “ประชาธิปไตยหมายถึงประชาชนเป็นใหญ่” เป็น “ประชาธิปไตยหมายถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า “ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเห็นแก่ตัว ประชาชนบ้าๆ บอๆ ก็ฉิบหายหมด” แล้วเสนอว่าประชาธิปไตยที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่คือ “ธัมมิกประชาธิปไตย” คือประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรม
พุทธทาสจำแนก “ธรรม” ออกเป็น 4 ความหมาย แต่อาจสรุปเป็นสองอย่างหลักๆ คือ ธรรมที่เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “กฎอิทัปปัจจยา” คือกฎแห่งการเป็นเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งท่านตีความว่ากฎธรรมชาติดังกล่าวนี้มีเจตนารมณ์เพื่อส่วนรวม เรียกว่า “เจตนารมณ์สหกรณ์” กับธรรมอีกความหมายหนึ่ง คือศีลธรรมของผู้ปกครองและประชาชน ซึ่งเข้าใจความหมายกว้างๆ ได้ว่า หลักการปฏิบัติเพื่อละเว้นการใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดคนอื่น และ/หรือทุจริตเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตนเองและพวก และหลักการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมประโยชน์สุขส่วนรวม
ฉะนั้น ธัมมิกประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรมในความหมายดังกล่าว จึงหมายถึงการวางระบบสังคมการเมืองให้มีกติกาการอยู่ร่วมกันในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่สอดคล้องกับเจตจำนงสหกรณ์ หรือเจตจำนงเพื่อส่วนรวมตามกฎธรรมชาติ และมีระบบส่งเสริมให้ผู้ปกครองและประชาชนมีศีลธรรมเพื่อป้องกันการใช้ความเห็นแก่ตัวละเมิดผู้อื่น มีสำนึกและจรรยาปฏิบัติเพื่อส่งเสริมประโยชน์สุขส่วนรวม
จากนิยามประชาธิปไตยและข้อเสนอแนวคิดทางการเมืองของพุทธดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญตามมาอย่างน้อย 3 ประการ คือ พุทธทาสปฏิเสธอำนาจของประชาชนใช่หรือไม่? ถ้าปฏิเสธอำนาจของประชาชน เป็นการปฏิเสธจากสมมติฐานที่ว่า “ธรรมชาติของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว” ใช่หรือไม่? และ ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวขัดแย้งกับความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่? ซึ่งผมอยากชวนแลกเปลี่ยนต่อไปนี้
1. พุทธทาสปฏิเสธอำนาจของประชาชนหรือไม่? จากนิยามประชาธิปไตยและการอ้างเหตุผลของพุทธทาสดังกล่าว เรายังสรุปไม่ได้ว่าท่านปฏิเสธอำนาจของประชาชน เนื่องจาก ข้อความว่า “ประชาชนเห็นแก่ตัว บ้าๆ บอๆ ก็ฉิบหายหมด” อยู่ในรูปของ “ประโยคเงื่อนไข” ซึ่งหมายความว่า “ประชาชนจะใช้อำนาจตามความเห็นแก่ตัวไม่ได้” ความหมายกว้างๆ ของ “ความเห็นแก่ตัว” ที่ท่านใช้ในกรอบของศีลธรรมทางการเมืองนั้นชัดเจนว่า มีความหมายเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อ “ความเห็นแก่ส่วนรวม” ดังที่ท่านยกตัวอย่างเช่น การคดโกงกอบโกยเอาของส่วนรวมมาเป็นของตนเองหรือพวกตนเอง ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นเอามาเพื่อ “ตัวกู ของกู”
นอกจากนี้ประโยคเงื่อนไขดังกล่าว ยังหมายความได้อีกว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นแก่ตัว ไม่บ้าๆ บอๆ ก็สามารถมีอำนาจปกครองตนเองเพื่อบรรลุประโยชน์สุขของส่วนรวมได้ ฉะนั้น ท่านจึงเสนอว่าประชาธิปไตยเหมาะแก่ประชาชนที่มีศีลธรรม หมายถึงมีสำนึกทางศีลธรรมที่ยึดประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช้ความเห็นแก่ตัวทุจริตด้วยวิธีการใดๆ เพื่อเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตัวเองหรือพรรคพวก
ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่านิยามประชาธิปไตยดังกล่าวของพุทธทาสไม่ได้ปฏิเสธ “อำนาจของประชาชน” หรือปฏิเสธประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง แต่มีเงื่อนไขว่าการใช้อำนาจของประชาชนหรือความเป็นประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยธรรม คือไม่ใช้อำนาจตามความเห็นแก่ตัวทุจริตเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเพื่อตัวและพวกของตัว แต่ใช้อำนาจอย่างสุจริตบนจิตสำนึกเสียสละและปกป้องประโยชน์สุขของส่วนรวม
2. พุทธทาสมองว่า “ธรรมชาติของมนุษย์ (ประชาชน) คือความเห็นแก่ตัว” ใช่หรือไม่? หากอ่านเฉพาะข้อความในประโยคเงื่อนไขอาจทำให้เข้าใจเช่นนั้นได้ แต่ที่จริงพุทธทาสมองธรรมชาติของมนุษย์ตามทัศนะทางพุทธศาสนา
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองตามทัศนะของพุทธสาสนา ก็มีคำถามตามมาว่า การที่พุทธศาสนามีระบบศีลธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสตัณหา แสดงว่าพุทธศาสนามีทัศนะว่าธรรมชาติของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว หรือคือความชั่วร้ายใช่หรือไม่?
แท้จริงแล้วพุทธศาสนามองธรรมชาติของมนุษย์สองด้าน ด้านหนึ่งคือความมีกิเลสตัณหา (อกุศลมูล) หมายถึงคุณสมบัติทางจิตใจที่แสดงออกเป็นความโลภ โกรธ หลง อีกด้านหนึ่งคือศักยภาพที่จะพ้นไปจากกิเลสตัณหา (กุศลมูล) หมายถึงคุณสมบัติทางจิตใจที่ดีงามโดยพื้นฐานที่สามารถแสดงศักยภาพควบคุม และ/หรือเป็นอิสระจากการครบงำชักจูงของคุณสมบัติทางจิตใจด้านที่เป็นกิเลสตัณหา ได้แก่คุณสมบัติพื้นฐานของจิตที่เป็นความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแสดงตัวของความเสียสละ ความรัก และปัญญา
ในธรรมชาติทางจิตใจทั้งสองด้านนั้น พุทธศาสนามองว่าธรรมชาติด้านที่เป็นกิเลสตัณหาเป็น “มายา” ไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ แต่ธรรมชาติที่แท้จริงหรือที่เป็น “essence “ ของมนุษย์คือด้านที่เป็นศักยภาพที่จะพ้นไปจากกิเลสตัณหาคือ “ความไม่เห็นแก่ตัว” (อโลภะ-ไม่โลภ) ความรัก (อโทสะ-ไม่โกรธ) ปัญญา (อโมหะ-ไม่หลง)
ข้อพิสูจน์ว่าธรรมชาติด้านที่ดีงามดังกล่าวนี้คือธรรมชาติที่แท้จริงหรือเป็น “essence “ ของมนุษย์ ก็คือ
1) ข้อเท็จจริงในชีวิตประจำวันเมื่อเราเกิดความโลภ โกรธ หลง ธรรมชาติด้านที่ดีงามจะคอยให้สติ ปลุกมโนธรรมเหนี่ยวรั้ง หรือยับยั้งไม่ให้เราทำตาแรงจูงใจเช่นนั้น (นี่คือข้อพิสูจน์ว่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทางศีลธรรม ทำไมบางครั้งเราจึงเกิดความรู้สึกขัดแย้งระหว่างแรงจูงใจที่ผิดกับมโนธรรมภายในใจเรา)
2) พุทธะและและอริยสาวกที่จิตหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงแล้ว เท่ากับคุณสมบัติของจิตใจด้านที่เป็นความโลภ โกรธหลง หายไป คงเหลือแต่ธรรมชาติทางจิตใจที่เป็นความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่แสดงออกเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่เรียกว่า ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ และกรุณาคุณ
ฉะนั้น รากฐานของศีลธรรมขัดเกลากิเลสของพุทธศาสนาจึงไม่ได้อยู่บนทัศนะที่ว่า “ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์เลวร้าย เห็นแก่ตัว” ฉะนั้น จึงต้องสร้างหลักศีลธรรมขึ้นมาควบคุม แต่รากฐานศีลธรรมพุทธอยู่บนฐานของทัศนะที่ว่า “ธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์ดีงาม มีศักยภาพที่จะหลุดพ้นจากกิเลสหรือความเห็นแก่ตัวได้” ฉะนั้น จึงต้องมีหลักศีลธรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพดังกล่าวให้งอกงาม
ข้อเสนอเสนอแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสที่ให้ยึดประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลักจึงไม่ใช่ข้อเสนอที่อยู่บนพื้นฐานของการมองว่า “ธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว” แต่เป็นข้อเสนอบนพื้นฐานความเชื่อในธรรมชาติด้านดีงามของมนุษย์ว่า “มนุษย์มีศักยภาพที่จะเห็นแก่ส่วนรวม”
3. ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวขัดแย้งกับความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่? เมื่ออ่านความคิดทางการเมืองของพุทธทาสทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าเราต้องแยกความหมายของ “ความเห็นแก่ตัว” ออกจาก “ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว”
กล่าวคือ “ความเห็นแก่ตัว” ไม่ได้มีความหมายเท่ากับ “ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” หมายความว่าความเห็นแก่ตัวที่พุทธทาสใช้ในขอบเขตของศีลธรรมทางสังคมการเมือง หมายถึงความเห็นแก่ตัวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเห็นแก่ส่วนรวม ฉะนั้น ถ้าเป็นความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่เป็นการละเมิดผู้อื่นหรือประโยชน์ส่วนรวมก็จัดเป็น “ความเห็นแก่ตัว” แต่ถ้าเป็นความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เป็นการละเมิดผู้อื่นหรือประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่จัดเป็นความเห็นแก่ตัว
ดังในคัมภีร์พุทธศาสนามีเรื่องราวของภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของพุทธะ เพราะมัวเร่งเจริญภาวนาเพื่อต้องการบรรลุธรรม เมื่อมีเสียงตำหนิจากภิกษุอื่นๆ และพุทธะทราบเรื่องนั้นแล้วจึงยืนยันว่า “บุคคลเมื่อรู้ว่าตนเป็นที่รัก รู้ว่าประโยชน์ตนคืออะไร จงทำประโยชน์ตนนั้นให้สำเร็จเถิด” นี่หมายความว่า การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เป็นการละเมิดผู้อื่นหรือประโยชน์สุขของส่วนรวม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย
ที่สำคัญ การมีชีวิตที่ดีงามตามความหมายทางพุทธศาสนา พุทธะก็ยืนยันชัดเจนว่า คือการดำเนินชีวิตที่พยายามทำทั้งประโยชน์ส่วนตน (อัตตัตถะ) ประโยชน์เพื่อผู้อื่น (ปรัตตถะ) ในทาง negative คือ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ทาง positive คือช่วยเหลือผู้อื่น และประโยชน์ส่วนรวม (อุภยัตถะ) หมายถึงประโยชน์ที่ก่อให้เกิดความสุขแก่ทุกฝ่าย เช่น การปกป้องความยุติธรรมของสังคม เป็นต้น
ฉะนั้น การเมืองที่ยึดประโยชน์สุขของส่วนรวมตามความคิดของพุทธทาส จึงไม่ใช่การเมืองที่ปฏิเสธการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของประชาชนโดยสรุปอย่าง “เหมารวม” ว่า เป็น “ความเห็นแก่ตัว” ทว่าความเห็นแก่ตัวที่ควรปฏิเสธ คือความเห็นแก่ตัวที่ละเมิดคนอื่นและประโยชน์สุขส่วนรวมเท่านั้น
ธัมมิกประชาธิปไตยในทัศนะของพุทธทาส จึงไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของประชาชน หากการใช้อำนาจนั้นไม่ได้เป็นไปตามความเห็นแก่ตัวที่เป็นการละเมิดคนอื่นและประโยชน์ส่วนรวม แต่สนับสนุนให้ประชาชนใช้อำนาจอย่างมีศีลธรรม หมายถึงการใช้สิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวในทางที่ไม่ละเมิดคนอื่น และมีจิตสำนึกเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท
ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊คhttp://fb.me/Prachatai
| |
http://redusala.blogspot.com
|
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
''''ธัมมิกประชาธิปไตย'''' ของพุทธทาส
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น