วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตลก.ก่อนบ่าย(ศุกร์13)คลายเครียด


ตลก.ก่อนบ่าย(ศุกร์13)คลายเครียด

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 8 ฉบับที่ 368 ประจำวัน จันทร์ ที่ 16 กรกฏาคม 2012


   


วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 ตรงกับ “โลกวันนี้วันสุข” วางตลาด ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรม นูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอา ณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291 ว่าเป็นการล้มล้างการปก ครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประ มุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่?

ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรก็ไม่สำคัญ เพราะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนก่อนจะไปแถลงด้วยวาจาและลงมติ จากนั้นจึงจัดทำคำวินิจฉัยกลางก่อนที่จะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะกระทำในวันที่ 13 กรกฎาคมเพียงวันเดียว

คำวินิจฉัยส่วนตนเป็นการแสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนว่ามีแนวคิดอย่างไรทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า การรับคำร้องและสั่งให้รัฐสภาชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถูกต้อง หรือทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเกินจากคำขอหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญขยายเขตอำนาจ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติคือ ส.ส. และ ส.ว. หรือฝ่ายบริหารคือรัฐบาล วันนี้เท่ากับยอมรับ “การขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ” ไปแล้ว อย่างที่คณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ว่า รัฐสภายอมรับให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรม นูญสามารถขยายเขตอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชา ธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

ขณะที่นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เรื่องนี้ผิดปรกติตั้งแต่ต้น เพราะ

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา การ รับไว้พิจารณาจึงเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ

2.เมื่อรับไว้แล้ว คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องพิจารณา ว่าร้ายแรงถึงขนาดตัวเองอยู่ในองค์คณะได้หรือไม่ได้ เช่น เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือเป็น ส.ส.ร. มาก่อน ต้องพิจารณาว่าการเป็น ส.ส.ร. มาก่อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อกรณีนี้หรือเปล่า หลักง่ายๆคือ ใช้หลักวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาเป็นเกณฑ์เทียบ ถ้าสิ่งที่เกี่ยวข้องร้ายแรงก็มีโอกาสทำให้คนที่มีอำนาจพิจารณาไม่เป็นกลางเท่าที่ควร มีผลกระทบต่อคำวินิจฉัย

“ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบร่างรัฐ ธรรมนูญได้ประการที่หนึ่ง แล้วประการที่สองเรื่องตาม มาตรา 68 เราก็เห็นได้ชัดว่าต้องผ่านอัยการก่อน เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติพอฝ่ายรัฐสภาไปยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรงนั้น มันก็เลยเกิดวันที่ 5 วันที่ 6 ขึ้น (เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการไต่สวนผู้ร้องและผู้ถูกร้อง)”

นายนันทวัฒน์ให้ความเห็น และชี้ถึงการถอนตัว ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากองค์คณะพิจารณาคดี เนื่องจากเคยให้สัมภาษณ์ครั้งเป็น ส.ส.ร. ว่าการถอนตัวกลางคันทำได้แต่ไม่สง่า จริงๆควรทำตั้งแต่ต้น เพราะทุกคนรู้บทบาทตัวเอง ทุกคนที่เข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญก็เขียนมาตั้งนานแล้ว ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คนคือ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นอดีต ส.ส.ร. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่กลับไม่ยอมถอนตัว แม้แต่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรถอนตัวตั้งแต่มีการยื่นเรื่องตุลา การศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจะหรือไม่รับแล้ว

ตลกแก้เกี้ยว!

ส่วนนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงการถอนตัวหรือไม่ถอนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรม นูญว่า เลยขั้นตอนมาแล้ว เพราะจริงๆศาลรัฐธรรม นูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น การถอนตัวหรือเสนอถอนตัวตอนนี้ทำให้ดูตลก ทั้งที่มีความเห็นและร่วมพิจารณาลงมติรับวินิจฉัยรับไปแล้ว

การถอนตัวหรือเสนอถอนตัวจึงเป็นการแก้เกี้ยวเพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น เป็นที่ยอมรับในสังคม แสดงให้เห็นว่ามีอำนาจพิจารณา แต่ขณะเดียวกันก็มีจรรยาบรรณ เมื่อถูกโจมตีก็แสดงความรับผิดชอบ เป็นการหลอกประชาชน หากมีการถอนตัวทั้ง 4 คน ก็ไม่กระทบองค์คณะในการวินิจฉัย เพราะยังเหลือ 5 คน เกินครึ่งตัดสินได้ แต่คงกลัวว่าจะน่าเกลียดหากมติออกมา 2 ต่อ 3 เหมือนตอนตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ที่มติออกมา 4 ต่อ 2

“ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหลักคือชี้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาออกขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่นี่พยายามหาอำนาจให้ตัวเอง ทั้งที่ไม่ชัดเจน แต่กลับนำมาตรา 68 มาบังคับใช้ ทั้งยังบอกว่ามีอำนาจสั่งบุคคล พรรค การเมือง แต่ที่สั่งเป็นรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่บุคคล แต่เป็นองค์กรของรัฐธรรมนูญ จึงเห็นชัดเจนว่าพยายามเอากฎหมายมาใช้บิดกันไปมาเพื่อไปสู่จุดหมายตัวเอง”


กลืนน้ำลายตัวเอง?

นายวสันต์เคยแสดงความคิดเห็นถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า “เขายังไม่ได้เขียนเลย แล้วเราไปรู้ได้ยังไงว่าจะแก้เพื่อคนนั้นคนนี้ ควรดูเขาก่อน และตอนนี้ก็กำลังจะเริ่มตั้ง ส.ส.ร. ใหม่ เรายังไม่รู้เลยว่าใครจะเข้ามาเป็น ส.ส.ร. บ้าง ยังไม่เห็นตัวบุคคลเลยแล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร มันอาจไม่ใช่ก็ได้”

คำวินิจฉัยของนายวสันต์ถูกจับตามองว่าจะ “กลืน น้ำลายตัวเอง” หรือไม่ เช่นเดียวกับ 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิและยังอยู่ในองค์คณะพิจารณาคดีนั้นสมควรหรือไม่ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร คนจำนวนหนึ่งก็อาจมองว่าไม่สง่างามและทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยิ่งมัวหมอง เพราะคำวินิจฉัยของศาลยุติ ธรรมหรือศาลรัฐธรรมนูญต่างก็มีคำว่าใน “พระปรมา ภิไธย” ที่ให้ตระหนักว่าการพิจารณาอรรถคดีต้องเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมภายใต้พระปรมาภิไธย ศาลจึงต้องยึดมั่นในความยุติธรรม เป็นกลาง และเป็นธรรมเยี่ยง ชีวิต ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกปฏิบัติ หรือสองมาตรฐาน

และดูเหมือนจะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่รัฐ บาลเองก็ยังไม่กล้าลงสัตยาบันรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หรือศาลโลก เพื่อให้เอาผิดกับผู้ทำให้เกิดความตาย 98 ศพ เมื่อเดือนเมษา- พฤษภา 2553 เพราะหลายฝ่ายติงว่าการลงนามในสัตยาบันนั้น ศาลโลกไม่ได้ยกเว้นสถาบันเบื้องสูงใดๆ

ศุกร์ 13 เพื่อไทยสยอง?

ขณะที่นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เขียนบทความ “ศุกร์ 13 เพื่อไทยสยอง?” การไต่สวน ของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ฝ่ายศาลเป็นฝ่ายได้เปรียบมากที่สุด เพราะได้เพิ่มอำนาจให้ตนเองอย่างมหาศาล ไม่เพียงการรวบรัดพิจาร ณาคดีเท่านั้น แต่ยังตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างกว้างขวางจนทำให้อัยการสูงสุดไร้ความหมาย โดยศาลได้ตีความกฎหมายให้กลายเป็น “ไทม์แมชีน ข้ามเวลา” สามารถตรวจสอบคดีที่จบสิ้นลงแล้ว เช่น กรณีการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้อง หรือแม้แต่คดีนี้ก็พิจารณาสิ่งที่จบสิ้นไปแล้ว เช่น การเสนอญัตติ หรือสิ่งที่ต้องรอในอนาคต เช่น การทำงานของ ส.ส.ร. หรือการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญโดยประธานรัฐสภา

นอกจากนี้ศาลได้เรียงประเด็นพิจารณา “อย่างน่าเคลือบแคลง” 4 ลำดับคือ (1) ศาลมีอำนาจพิจาร ณาคดีได้หรือไม่ (2) มาตรา 291 จะถูกแก้ให้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ (3) การแก้มาตรา 291 เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 68 หรือไม่ และ (4) มีการกระทำที่นำไปสู่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ การเรียงและแยกประเด็นที่ (2) และ (3) ออกจากกัน เพราะศาลไม่มีอำนาจตีความมาตรา 291 โดยตรงแต่อย่างใด

ตามมาตรา 68 ศาลต้องอธิบายก่อนว่า การล้มล้างการปกครองที่ต้องห้ามตามมาตรา 68 นั้น มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร จากนั้นจึงไปพิจารณาข้อเท็จจริงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ที่ผ่านมาเข้ากรณีต้องห้ามตามมาตรา 68 หรือไม่ และโดยตรรกะแล้วการทำผิดหลักเกณฑ์มาตรา 291 ใช่ว่าจะต้องผิดมาตรา 68 เสมอไป แต่ศาลกลับเรียงลำดับพิจารณาประเด็นมาตรา 291 ก่อน ประหนึ่ง “ตั้งธง” ว่าหากมาตรา 291 ไม่เปิดช่องให้นำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้การแก้ไขมาตรา 291 เข้าหลักเกณฑ์ต้องห้ามตามมาตรา 68 ทันที

องค์กรอิสระอยู่ได้ด้วยศรัทธา

บทบาทและการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจึงทำให้ถูกตั้งคำถามมากมายถึงการวินิจฉัยคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยคดีย้อนหลัง วินิจฉัยด้วย จินตนาการไปในอนาคตทั้งที่ไม่มีอำนาจตัดสิน ซึ่งมีแต่ ทำให้ความเชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญยิ่งเสื่อมถอย อย่างที่นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีว่า

“สถาบันและบุคคลที่ใช้อำนาจมาก แต่มีสติปัญ ญากำกับอำนาจน้อยเป็นอย่างไร มันก็ชอบธรรมน้อยลง แล้วคนก็หัวเราะเยาะมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ใช้อำนาจแบบมหัศจรรย์มาก เปิดพจนานุกรมในการตีความบ้างละ เติมคำว่า “อาจจะ” เข้าไปตอนเรื่องเขาพระวิหารบ้างละ ตอนนี้ก็มาตีความมาตรา 68 แบบมหัศจรรย์ลั่นโลก ขัดแย้งกับตัวเองด้วยซ้ำ คนเขาก็ดูเบาสติปัญญาคุณมากขึ้นเรื่อยๆ”

เช่นเดียวกับนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหมวดที่ 3 ว่าด้วยศาลและองค์กรอิสระ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า ความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอิสระต่างๆไม่ใช่เพิ่งมาเสื่อมลงวันนี้ ดูแล้วเริ่มเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้นมา เพราะมีความรู้สึกว่า 2 มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งมองได้ไม่ยาก ถ้าเรื่องเดียวกันแต่วินิจฉัยแตกต่างกัน อย่าว่าแต่ประชาชนเลย แม้แต่ผู้ที่อยู่ในองค์กรอิสระเองก็มีความรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอิสระจะดีหรือไม่ดีจึงขึ้นอยู่กับตัวองค์กรนั้นว่าวางตัวเป็นกลางหรือไม่ การวินิจฉัยสิ่งต่างๆเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะแก้ปัญหาองค์กรอิสระได้

นางสดศรียังให้ความเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลายเป็นปัญหาขณะนี้ว่า จริงๆแล้วไม่ใช่การแก้ไขรัฐ ธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะไม่ได้แก้หมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และมาตรา 291 ก็เปิดให้มีการแก้ไขโดยทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 15 เหมือนพรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอแก้ไข 2 มาตรา เรื่องการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว

แม้แต่ประเด็นองค์กรอิสระที่กลัวว่าจะมีการลดอำนาจศาลหรือยุบองค์กรอิสระต่างๆนั้น นางสดศรีก็เชื่อว่าน่าจะเป็นแค่เปลี่ยนวิธีการสรรหาผู้จะเข้าสู่องค์ กรอิสระมากกว่า หากฝ่ายการเมืองเห็นว่าการวินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือมีหลายมาตรฐาน ซึ่งในส่วนของ กกต. ก็ยินดีหากจะลดบทบาทลง เพราะทุกวันนี้ก็โดนวิพากษ์ วิจารณ์ในลักษณะนี้ ถ้ารับผิดชอบเฉพาะการเลือกตั้งเฉยๆก็ไม่มีใครสนใจนัก อำนาจชี้ผิดถูกก็ให้เป็นหน้าที่ของศาล ซึ่งได้รับการยอมรับและทำในพระปรมาภิไธย อยู่แล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ศาลจึงทำได้ไม่มากเท่ากับการวิพากษ์วิจารณ์ กกต.

ศาลไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

สถาบันตุลาการหรือศาลในความรู้สึกของคนไทย ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่ความศักดิ์สิทธิ์ แต่เชื่อมั่นว่าศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ให้ความยุติธรรมและเป็นธรรมอย่างแท้จริงได้ เพราะอย่างน้อยในคำพิพากษาก็มีคำว่า “พระปรมาภิไธย” ลงท้าย ซึ่งยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ในขณะที่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ กลับเห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่คลุมเครือในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งศาลหรือตุลาการในสมัยโบราณ (ก่อนการปฏิรูปในรัชกาลที่ 5) เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของคนทุกชนชั้น แม้แต่ “สุนทรภู่” ยังเปรียบตุลาการเหมือนเหยี่ยวที่บินอยู่สูงคอยจ้องหาเหยื่อและอาหารของชาวบ้าน แล้วถลามาโฉบเอาไปอย่างหน้าด้านๆ

“ศาลโบราณไม่เคยศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของใคร ความศักดิ์สิทธิ์เพิ่งถูกสร้างขึ้นในภายหลัง และยังพยายามสร้างสืบมาจนถึงทุกวันนี้โดยกลุ่มคนที่เป็นตุลาการ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิรูปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ ร.5 เช่นเดียวกันกับ “ข้าราชการ” สายอื่นๆ ซึ่งพยายามสถาปนา “ความศักดิ์สิทธิ์” ของตนเหมือนกัน แต่ทำได้ไม่สำเร็จเท่ากับสายตุลาการ”

โดยนายนิธิสรุปว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลไม่ใช่เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำหน้าที่ตามระบอบประ ชาธิปไตย แต่สร้างขึ้นเพื่อทำให้พ้นจากการถูกตรวจสอบ จึงเอาไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์

“ตลก.” หรือ “ตลก” เชิญยิ้ม

อย่างไรก็ตาม นับแต่มีศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ศาลหรือสถาบันตุลาการก็พลอยมัวหมองและเสื่อมถอยไปด้วย เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเล่นการเมืองเสียเอง โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการเมืองไทยปี 2548 ที่สร้าง “ตุลาการภิวัฒน์” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือล้มรัฐบาลประชาธิปไตย และนำมาสู่การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (อ่านเพิ่มเติม เวทีความคิดหน้า 4 ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ภิวัฒน์ พิฆาต และพิบัติ? นับแต่ 25 เมษายน 2549)

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” แบบไทยๆนับวันจะเข้มข้นมากขึ้น จนเกิดปัญหาว่าองค์กรตุลาการกับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลายเป็นคู่ขัดแย้ง เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างองค์กรที่มีฐานความชอบธรรมทางการเมืองอย่างรัฐสภาและรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน กับองค์กรตุลาการที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเท่ากับรัฐสภาและรัฐบาล

“ตุลาการภิวัฒน์” จึงเป็น “ตุลาการพิบัติ” หรือ “ตุลาการพิฆาต” มากกว่า อย่างที่ตุลาการรัฐธรรมนูญ (ไม่มีคำว่า “ศาล”) เคยยุบพรรคไทยรักไทยหลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 สมัยที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามาทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค ที่ต้องกล้ำกลืนเมื่อถูกยุบจนต้องไปเป็นบ้านเลขที่ 111 หรือแม้แต่การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างอิงพจนานุกรม จนนายสมัคร สุนทรเวช ตกเก้าอี้นายกฯเพราะทำกับข้าวออกรายการโทรทัศน์ และการยุติปัญหาการยึดสนามบินโดยมีการยุบพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า “อะเมซิ่ง” ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ ใช้เวลาหลังการแถลงชี้แจงของพรรคการเมืองเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถมีคำวินิจฉัยจนนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกเก้าอี้ จนส่งผลให้เกิด “ภาพกอดสยิว” และการเลือกนายกฯคนใหม่ที่ตั้งกันในค่ายทหาร

การที่พรรคไทยรักไทยถูกคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 โละทิ้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าทั้ง 15 คน และแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณาคดีเพื่อภารกิจยุบพรรคไทยรักไทยในครั้งนั้นเป็นบทเรียนที่เจ็บช้ำอย่างมากหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

การยุบไทยรักไทย...ยุบพลังประชาชน จนมาถึงวันนี้คือ “พรรคเพื่อไทย” ที่กำลัง “ยุบหนอ พองหนอ” ยอมถอยแล้วถอยอีกเพื่อรอการเกี๊ยะเซียะจากผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่ารัฐสภาและรัฐบาล...

บทวิพากษ์นี้ไม่ปฏิเสธคำพูดของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรทีวี.นักวิเคราะห์การเมือง ที่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศที่มีความพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยมากกว่านี้จะไม่บิดเบือนหลักการขั้นพื้นฐานของ การแบ่งแยกอำนาจขนาดนี้... การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เหมือนใครในโลก ตัดสินความผิดย้อนหลังก็ได้...ตัดสินคดีล่วงหน้าก็ได้...ไม่มีอำนาจก็ตัดสินได้...สุดยอด Amazing...”

แต่ที่บทวิพากษ์นี้เห็นว่าสิ่งที่น่า Amazing ยิ่งกว่าก็คือ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา และ “รัฐสภาไทย” ที่ไปยอมรับอำนาจจาก “ตลก.ที่ไม่มีอำนาจ” เสียเอง

จึงเป็น “ตลกร้าย” ของพลพรรคเพื่อไทยและรัฐสภาไทยที่ขี้ขลาด ไปเพิ่มเขตอำนาจ (ที่ไม่มี) ให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีทางเลือกอื่น และเป็นไปตามหลักแห่งประชาธิปไตย

ณ บัดนี้ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกหัว ออกก้อย หรือ ออกกลาง ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ความบิดเบี้ยวและเสื่อม ถอย” ขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดจากมดลูก คมช. อย่างที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ตอลอกอ “มีจุด” กับตอลอกอ “ไม่มีจุด” หรือ “ลืมใส่จุด” ย่อมมีความหมายแตกต่างกันยิ่งนัก

จะกลายเป็นรายการ “ก่อนบ่ายคลายเครียด” หรือ “หลังบ่าย (ศุกร์ 13) เครียดหนักกว่าเดิม” คงไม่น่าลุ้นเท่าคณะ “ตลกเชิญยิ้ม” ตัวจริงกำลังจะตก งานหรือไม่?

เพราะบัดนี้กำลังมี “ตลก” คณะ ใหม่ที่ฮากว่าเกิดขึ้นแล้ว ณ สยามเมืองยิ้มแห่งนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 368 วันที่ 14-20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น