วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยื่นศาลฎีกา ประกัน ‘สมยศ’


ยื่นศาลฎีกา ประกัน ‘สมยศ’ 

3 องค์กรต่างประเทศแถลงไม่ให้ประกันขัดกติการะหว่างประเทศ

            เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 ที่ผ่านมา  นายวสันต์ พานิช ทนายความของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ได้ยื่นฎีกาเพื่อขอปล่อยชั่วคราวนายสมยศอีกครั้ง หลังถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน นับแต่วันจับกุม และยื่นประกันตัวแล้ว 12 ครั้ง ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธการปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 3 เม.ย.56 โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยถึง 10 ปี หากปล่อยชั่วคราวไป ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง”

           สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ระบุเหตุผลในการขอปล่อยชั่วคราว ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) รับรองสิทธิในการรับทราบเหตุผลประกอบคำสั่ง คำวินิจฉัย คำพิพากษาแต่คำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้โต้แย้งเหตุผลที่จำเลยยื่นคำร้องขอ ปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำพิพากษานั้นขัดรัฐธรรมนูญ จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รวมทั้งมีโรคประจำตัว ย่อมถือได้ว่าศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งที่แสดงเหตุผลตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับอ้างเหตุผลอื่นๆ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

          ในคำร้องยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้คำสั่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (5) ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยอ้างเหตุผลว่า คดีนี้พฤติการณ์แห่งคดีกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเหตุผลดังกล่าวมิได้มีการพิจารณาหรือว่ากล่าวกันในชั้นศาลอาญาหรือศาล อุทธรณ์แต่อย่างใด หากน่าเกิดขึ้นจากแนวคิดหรือการคาดการณ์ของศาลอุทธรณ์เอง ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอย่างยิ่ง  เสมือนหนึ่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้กำหนดเองว่า คดีใดมีผลกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากคดีจำนวนมากที่มีผลกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารประชาชน แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประหารและจำคุกตลอดชีวิตบรรดาเจ้าหน้าที่ แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังให้ประกันตัว (คดีหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 และหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555)

        “การกระทำของจำเลยหากศาลพิจารณาและพิพากษาแล้ว คดีของจำเลยย่อมต่างจากคดีอาญาโดยทั่วไป เพราะจำเลยมิได้มีเถยจิตเป็นโจรหรืออาชญากรทางอาญาแต่อย่างใด ในนานาอารยะประเทศย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นนักโทษทางความคิดเท่านั้น จำเลยจึงสมควรได้รับอิสรภาพโดยการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของ ชั้นอุทธรณ์ต่อไป” คำร้องระบุ

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่งร่วมกันส่งคำแถลงไปยังสำนักงานศาลฏีกา เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นในกรณีการยื่นประกันตัวของสมยศด้วย โดยองค์กรดังกล่าวได้แก่ สหพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน (FIDH)  เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม (MLDI) และเครือข่ายนักกฎมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (MD-SEA)

         คำแถลงดังกล่าวระบุถึง คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตให้สมยศได้รับการประกันระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับด้านสิทธิมนุษยชน โดยเหตุผลที่ศาลใช้อ้างเกี่ยวกับ “ความร้ายแรงของความผิด” และ “ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน” ไม่ควรถูกนำใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว และคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดย อำเภอใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (กติการะหว่างประเทศ) ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ

         “FIDH MLDI และ MD-SEA จึงขอแถลงว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อการขอประกันตัวของคุณสมยศนั้น เป็นคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวและการ ปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งผูกพันประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลได้ละเลยที่จะทบทวนพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลเป็นสำคัญในอันที่จะพิจารณา ถึงมาตรการอื่นแทนการควบคุมตัว อีกทั้งศาลยังอาศัยการคาดเดาและเหตุที่คลุมเครือมาใช้เป็นฐานแห่งการควบคุม ตัว ท้ายสุดนี้ เมื่อได้พิจารณาจากความเห็นที่ให้ไว้โดยบรรดาหน่วยงานแห่งสหประชาชาติแล้ว องค์กรร่วมลงนามเชื่อว่าการควบคุมตัวคุณสมยศนั้นเป็นไปโดยอำเภอใจ จึงร้องขอให้ศาลฎีกาของประเทศไทยทบทวนคำสั่งการประกันตัวของศาลอุทธรณ์โดย อาศัยหลักการที่กล่าวไว้ในคำแถลงนี้มาพิจารณาประกอบด้วย” คำแถลงระบุ
ทั้งนี้ นายสมยศถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ที่ด่านอรัญประเทศขณะนำลูกทัวร์เดินทางไปประเทศกัมพูชา หลังถูกจับกุมตัวนายสมยศถูกนำไปฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  เขาถูกฟ้องในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Thaksin) ซึ่งตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น อันอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเขา 10 ปี รวมกับคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรอีก 1 ปี รวม 11 ปี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น