วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ธุรกิจกลางม็อบยอดร่วงยกแผง เร่งถกห้างลดค่าเช่า-กระหน่ำโปรโมชั่นดึงทราฟฟิก

ธุรกิจกุมขมับหลังม็อบปิดย่านช็อปปิ้งกลางกรุงลากยาว โอดยอดขายฮวบหนัก ร้านค้าติดลบ 60% โรงแรมติดลบ 80% บัตรเครดิตรูดร่วง 40% เล็งพักงานคนงานลดต้นทุน ชี้ลูกค้าปรับพฤติกรรมลดความถี่จับจ่าย "แพลทินัม" หวั่นกระทบออร์เดอร์ลูกค้า ตปท. ด้าน "ร้านอาหาร-แฟชั่น" เตรียมถกศูนย์ขอลดค่าเช่า จัดโปรโมชั่นหนักกระตุ้นทราฟฟิกแบบเร่งด่วน ชี้ลากยาว 2-3 เดือนหืดขึ้นคอแน่



ย่างเข้าสู่เดือนที่ 2 ของการชุมนุมทางการเมือง จากการประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของกปปส.เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยการยกระดับการชุมนุมและย้ายเวทีหลักจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาสู่สี่แยกราชประสงค์-ปทุมวัน ต่อเนื่องไปสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญที่เริ่มได้รับผลกระทบที่เป็นรูปธรรมในแง่ของตัวเลขยอดขายที่ลดลง

จากการประเมินว่าช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ตลอดทั้งย่านหายไปถึง 50% จากปกติที่ย่านนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดเฉลี่ยประมาณ 300 ล้านบาทต่อวัน เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนจับจ่ายถึง 50% ของทั้งย่านหายไปเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่หดหายไป 30-40% โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว,แฟชั่น-เครื่องประดับ และร้านอาหาร



ประชุมด่วนช่วยพนักงาน

นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์กล่าวว่า จากการรีวิวภาพรวมตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า การชุมนุมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งย่าน โดยเฉพาะยอดขายรวมที่หายไปเฉลี่ยกว่า 50% และเมื่อแยกเป็นประเภทธุรกิจหลักที่เห็นภาพชัดคือ ร้านค้ากว่า 3,000 ร้านค้า ยอดขายติดลบ 60% เมื่อเทียบกับช่วงปกติโรงแรมกว่า 4,000 ห้อง ติดลบ 80% สอดคล้องกับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่หดตัวลงถึง 40%

ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดภาระค่าใช้จ่ายลง โดยจากการพูดคุยกันกับสมาชิกหลายรายเตรียมจะใช้มาตรการด้วยการให้พนักงานพักงานไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือเห็นสัญญาณบวกของธุรกิจที่เริ่มกลับมา และพนักงานที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกคือ พนักงานประเภทอัตราจ้าง

นายชายกล่าวอีกว่า ในเดือนแรกผู้ประกอบการทุกคนต่างยอมและยังคงรับมือได้ แต่พอเข้าเดือนที่ 2 เริ่มกระทบไปทั้งระบบทั้งหน้าร้าน-ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต ซึ่งในสัปดาห์หน้า (3-7 กุมภาพันธ์) สมาคมเตรียมเรียกประชุมผู้ประกอบการสมาชิกเพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่อยู่ในย่านนี้กว่า 4 หมื่นคน จะเป็นการคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากประเด็นเรื่องยอดขายลดยังไม่หนักหนาและน่าเป็นห่วงเท่ากับพนักงาน 3-4 หมื่นคนทั้งย่านที่ได้รับผลกระทบและต้องหาทางช่วยเหลือเร่งด่วน

"สาเหตุหลักที่ลูกค้าไม่กล้ามามีอยู่ 2 อย่าง คือ คนไทยกลัวมาลำบาก ขณะที่นักท่องเที่ยวกลัวมาแล้วไม่ปลอดภัย ซึ่งเราต้องเร่งสร้างความมั่นใจตรงนี้ ควบคู่กับการกระตุ้นด้วยแคมเปญและโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนเรายังยืนแคมเปญหลักตามเทศกาลเอาไว้ทั้งตรุษจีน วาเลนไทน์ และสงกรานต์ ส่วนรูปแบบจะปรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละช่วง"

แพลทินัมขยายเวลาช่วยร้านค้า

แหล่งข่าวระดับสูงจากศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่นมอลล์กล่าวว่า ตอนนี้ผู้บริหารได้พูดคุยกันว่าจะมีแนวทางช่วยเหลือร้านค้าในรูปแบบไหนออกมา เนื่องจากการชุมนุมเริ่มยืดเยื้อเข้าเดือนที่ 2 แล้ว โดยที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการขยายเวลาปิดศูนย์ออกไปอีก 2 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติเพื่อเพิ่มโอกาสการขาย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นการช่วยบรรเทาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น สอดคล้องกับการปรับตัวของร้านค้าผู้เช่าที่ปรับลดการออกคอลเล็กชั่นใหม่ลงจากปกติทุก 1 สัปดาห์ จะมีสินค้าใหม่เข้าร้าน 2 ครั้ง ก็ปรับเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถ้าการชุมนุมยังคงลากยาวต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบในภาพใหญ่ โดยเฉพาะออร์เดอร์ล่วงหน้าจากลูกค้าต่างประเทศที่อาจจะลดลง

นายพีระ อัศวาภิรมย์ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มฟู้ดส์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัดกล่าวว่า ศูนย์การค้าของกลุ่มเดอะมอลล์ในพื้นที่การชุมนุม เช่น กรณีของสยามพารากอน บริษัทมีแผนจะช่วยเหลือร้านค้าถ้าการชุมนุมลากยาวต่อเนื่อง โดยจะเป็นมาตรการที่แตกต่างกันไปเพื่อความเหมาะสมของแต่ละร้านค้า อย่างไรก็ตามยอมรับโอกาสการขายของร้านค้าสั้นลงเนื่องจากต้องปิดให้บริการเร็วขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ ความถี่ในการจับจ่ายน้อยลง แต่การซื้อในแต่ละครั้งมากขึ้น

ร้านค้าเจรจาขอลดค่าเช่า

นายศิริชัย กิมสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารซิซซ์เล่อร์ในประเทศไทยกล่าวว่า ซิซซ์เล่อร์มีสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทั้งหมด 6 สาขา คิดเป็นประมาณ 14% ของสาขาที่มีในปัจจุบัน ซึ่งยอดขายในสาขาดังกล่าวลดลงไปกว่า 50% ด้วยระยะเวลาการขายที่สั้นลงตามกำหนดเวลาการเปิด-ปิดของห้าง และจำนวนทราฟฟิกผู้ใช้บริการที่ลดลงไปประมาณ 30-40%

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอความช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าพื้นที่ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาสยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สาขาของโออิชิที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมมีกว่า 10 สาขา ยอดขายตกลงประมาณ 20% เนื่องจากเวลาขายที่สั้นลงจากเวลาปิดห้างที่เร็วขึ้นบวกกับทราฟฟิกผู้บริโภคลดลงเพราะอารมณ์จับจ่ายน้อย ขณะนี้เน้นสนใจแต่เรื่องการเมือง รวมถึงอีเวนต์ต่างๆ ที่มาจัดในห้างก็เลื่อนหมด หากการชุมนุมยังยืดเยื้อต่อไปยาวถึง 2-3 เดือนจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

"เรื่องการขอลดค่าเช่า ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกับทางศูนย์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ แต่ตามหลักการด้วยเวลาเปิดให้บริการที่สั้นลงก็น่าจะมีการลดค่าเช่าให้ แต่จะรอให้ผ่านช่วงตรุษจีนและช่วงเลือกตั้งไปก่อนจะเข้าไปเจรจาเพื่อประเมินสถานการณ์อีกที เพราะมันเปลี่ยนทุกวัน แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะในอดีตที่มีการชุมนุมทางการเมือง ทางศูนย์ก็มีการลดค่าเช่าให้ประมาณ 10-20%"

ด้านนายปรมินทร์ ศรีชวาลา ประธานบริหาร บริษัท เอเวอร์เรส เวิลด์ จำกัด ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่น อาทิ ลองชอมป์ ชาร์ริโอล์เวอร์ทู กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า

จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติหายไปจำนวนมาก โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในย่านที่มีผู้ชุมนุม และคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเหตุการณ์ยืดเยื้อจะทำให้ยอดขายโดยรวมในปีนี้ลดลงถึง 50% จากปีที่ผ่านมา

แนวทางของบริษัทเพื่อรับมือในขณะนี้ได้โฟกัสไปยังการทำซีอาร์เอ็มกับฐานลูกค้าเก่าผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ โทร.เชิญลูกค้าเมื่อมีสินค้าใหม่ และนำเอาสินค้าไปให้ดูถึงที่บ้าน ประกอบกับมีการพูดคุยกับทางศูนย์การค้าเพื่อหามาตรการช่วยเหลือ โดยอาจจะออกมาในรูปแบบของการลดค่าเช่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางของศูนย์

"ภาพรวมของตลาดแฟชั่นทั้งหมดในปีนี้คาดว่าจะได้รับผลกระทบเยอะ โดยเฉพาะลักเซอรี่ เนื่องจากสินค้ามีราคาแพง ผู้บริโภคเองไม่มีอารมณ์ในการจับจ่าย และระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง"

อัดโปรโมชั่นกระตุ้นทราฟฟิก

นายไพศาลกล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ จัดโปรโมชั่นกระตุ้นทราฟฟิกดึงลูกค้าเข้าร้าน อาทิ "นิกุยะ" บุฟเฟต์ปิ้งย่าง จัดโปรโมชั่น "มา 4 จ่าย 3" ทุกสาขา หรือซื้อ 1 แถม 1 ที่ร้านคาคาชิ ฯลฯ

เช่นเดียวกับนางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด กล่าวว่าบาร์บีคิวพลาซ่ามี 7-10 สาขาที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม บางสาขามีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการชุมนุม 30% ด้วยทราฟฟิกของศูนย์การค้าในบริเวณ

ดังกล่าวที่ลดลง 30-35% ประกอบกับเพิ่งจบแคมเปญล่าไข่บาร์บีกอนไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา จึงเปิดตัวแคมเปญใหม่อิงกับเทศกาล "บาร์บีกอน" แจกอั้งเปา" ตั้งแต่ 30 มกราคม-9 กุมภาพันธ์นี้ในทุกสาขา หวังช่วยดึงยอดขายเพิ่มขึ้น 15%

"ขณะนี้ในหลายศูนย์การค้าในพื้นที่ชุมนุม อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์, สยามดิสคัฟเวอรี่และเทอร์มินอล 21, สีลมคอมเพล็กซ์, ดิ อเวนิว และเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ก็จัดโปรโมชั่นพิเศษอิงเทศกาลอย่างตรุษจีน เพื่อดึงทราฟฟิกในห้างให้มากขึ้น โดยขอความร่วมมือจากร้านอาหารในศูนย์ เช่น ส่วนลดพิเศษ หรือแถมชุดอาหาร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น