ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.54 สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว
ประชาไทกุมขมับไปสัมภาษณ์ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ากันตั้งแต่ เนื้อหาคดี ปัญหาว่าด้วยการดำรงตำแหน่งและพ้นตำแหน่ง ความพยายามสร้างสุญญากาศทางการเมือง ไปจนถึงเรื่องการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ (อีกแล้ว)
(แฟ้มภาพ)
0 0 0
อาจารย์เห็นอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลวันนี้
ศาลวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และวินิจฉัยให้รัฐมนตรีรักษาการที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดแรกต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วย กรณีของยิ่งลักษณ์ก็คงต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่วินิจฉัย แต่คนอื่นๆ จะเป็นปัญหา เพราะคณะรัฐมนตรีชุดที่ 1 กับชุดที่ 5 เป็นคนละชุดกัน
รัฐมนตรีในชุดยิ่งลักษณ์ 1 ส่วนใหญ่เขาพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เพราะมีพระบรมราชโอการแต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อมาหลายครั้ง บางคนพ้นไปแล้วไปเป็นตำแหน่งอื่น บางคนพ้นไปแล้วไม่มีตำแหน่งอีกเลย ปัญหาคือ อย่างคุณยิ่งลักษณ์เองพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จริง แต่ปัญหาว่า คุณยิ่งลักษณ์มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในภายหลัง เป็นตำแหน่งที่รับหลังจากการโยกย้ายคุณถวิล จึงเป็นปัญหาให้ตีความว่า ตอนนี้คุณยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่พ้นจากตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีกลาโหมหรือไม่
แต่ศาลระบุว่า รัฐมนตรีคนใดที่มีส่วนร่วมในการลงมติให้พ้นตำแหน่งด้วย?
มันมีแต่คณะรัฐมนตรีที่ประชุมกัน ในทางข้อเท็จจริงก็มีปัญหาคือ ในคณะรัฐมนตรีชุดนั้นมีใครบ้างที่เข้าประชุม คนที่ไม่ได้เข้าประชุมจะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยหรือเปล่า
โดยผลของคดีคือ ให้คนที่ดำรงตำแหน่งพ้นจากตำแหน่ง อย่างเช่นกรณีคุณสมัคร สุนทรเวช คราวนี้พอศาลวินิจฉัยให้ใครพ้นจากตำแหน่งแล้ว มันไม่ได้มีการห้ามไม่ให้เขาคนนั้นดำรงตำแหน่งอีก คดีนี้ไม่ได้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มันเป็นการพ้นตำแหน่งอย่างเดียว อย่างเช่น พอคุณสมัครพ้นจากตำแหน่งไป คุณสมัครก็สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าหากสภาเลือก เพราะมันไม่มีการห้ามการกลับมาดำรงตำแหน่งอีก
ทีนี้คณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 ก็เหมือนกัน หลายคนได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วในตอนที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในอดีต แล้วมีการแต่งตั้งเขาเข้ามาสู่ตำแหน่งใหม่ ปัญหาคือ ก็เขาพ้นตำแหน่งนั้นไปแล้ว แล้วเขาจะพ้นอีกได้อย่างไร
ปัญหาคือ คำวินิจฉัยวันนี้ให้พ้นเมื่อไหร่ ถ้าให้พ้นวันนี้มันก็ประหลาด เนื่องจากว่า เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี เขาได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
ตอนนี้มีความเข้าใจเป็นสองแบบ คือ หนึ่ง เป็นเรื่องเฉพาะตัวคน คือให้ทุกๆ คนที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ตอนนั้นนั้นพ้นไป ถ้านับว่าใครอยู่ในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 และมาอยู่ในยิ่งลักษณ์ 5 ด้วยก็คือจะดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ซึ่งคนทั่วๆ ไปคงเข้าใจแบบนี้ และแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็อาจจะเข้าใจแบบนี้
สอง ในสายตาของนักกฎหมาย การพ้นตำแหน่งครั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่ได้เป็นเรื่องตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของการให้พ้นจากตำแหน่งในขณะนั้น ถ้าเกิดเขาเคยมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 แล้ว ต่อมามีพระบรมราชโองการให้เขาพ้นตำแหน่งไปแล้ว แล้วอาจมีการแต่งตั้งกลับมาในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 2, 3, 4, 5 มันเป็นตำแหน่งใหม่แล้ว จะมาตีความว่า ให้พ้นไปตอนนี้ก็ไม่ได้
ถ้าเกิดตีความอย่างหลังก็แปลว่า คุณยิ่งลักษณ์จะพ้นเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่ต่อเนื่องมาตลอด ไม่เคยมีการแต่งตั้งใหม่เลย คุณยิ่งลักษณ์ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลยจนกระทั่งยุบสภา แต่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมนั้นมาทีหลัง คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมนั้นไม่ได้ร่วมมีมติตอนที่มีการโยกย้ายคุณถวิล เพราะฉะนั้นคุณยิ่งลักษณ์ก็พ้นไปเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมต่อไป
ถ้าเป็นแบบแรก คือ ถือว่า พ้น จะเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองเลยนะ ไม่ใช่เรื่องการให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสิทธิทางการเมืองกับบุคคลในกรณีแบบนี้ มาตรา 266 เป็นเรื่องการให้พ้นจากตำแหน่งอย่างเดียว ไม่ใช่การตัดสิทธิทางการเมือง หรือการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเอาแบบศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะบอกว่า รัฐมนตรีที่อยู่ในยิ่งลักษณ์ 1 ที่ย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรีให้พ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งในรัฐบาลภายหลัง ที่กำลังตีความกันอยู่เป็นแบบนี้ แต่ในทางกฎหมายมันไม่ใช่
คำวินิจฉัยนี้หวังผลทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน
หวังผลทางการเมืองหรือไม่ ไม่รู้ แต่มีผลทางการเมืองแน่ๆ แม้ไม่สามารถล้ม ครม.ได้หมดทั้งคณะ แต่ทำให้รัฐมนตรีที่เหลืออยู่มีจำนวนน้อย ถ้านับแบบให้พ้นเป็นคนก็เหลือสิบกว่าคนมั้ง แต่ถ้านับแบบให้พ้นไปตามตำแหน่ง อาจจะเหลือเยอะกว่านั้น
จากกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้สถาปนาอำนาจตัวเองในเรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งของบุคคลขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าคนๆ นั้นจะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้วก็ตาม
ในทางการเมือง ก็อาจจะมองได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามายุ่งเกี่ยวกับดุลพินิจในเรื่องของการโยกย้ายและสามารถเอา ครม.รักษาการออกจากตำแหน่งได้ แต่อย่างที่บอกว่า ประเด็นอยู่ที่ตัวตำแหน่งกับตัวคน ว่าคุณจะมองอย่างไร ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่เคลียร์หรอกเรื่องนี้ เราตีความไปเองว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่าให้พ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัว แต่คำถามคือ พ้นตอนไหน จะพ้นตอนนี้ได้อย่างไร เมื่อการกระทำของเขากระทำอยู่ในอดีตแล้ว และพ้นไปแล้ว
ในความเห็นผม การพ้นตำแหน่งตามคำวินิจฉัยนี้เป็นเรื่องตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวบุคคล เพราะฉะนั้นจึงหมายความว่า ยิ่งลักษณ์ยังคงเป็นรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม ส่วนเฉลิมยังคงเป็นรักษาการรัฐมนตรีแรงงาน
อาจารย์เห็นว่า วินิจฉัยครั้งนี้ชอบธรรมหรือไม่
ผมว่ามันไม่ชอบธรรมทั้งในทางเนื้อหาซึ่งมีประเด็นให้วิจารณ์อีกหลายเรื่อง บางส่วนก็ไปพันกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีความเห็นแย้งด้วย และศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นฐานในการอ้างด้วย
ประเด็นในศาลปกครองสูงสุดเป็นกรณีของคุณถวิลเป็นหลัก แต่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ที่ประเด็นของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นหลัก ซึ่งมันแตกต่างกัน เพราะกรณีการย้ายคุณถวิล มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาอ้างได้ว่าเอื้อประโยชน์ ที่มาอ้างได้ว่า ไปพันกับการย้ายพล.อ.วิเชียร มาแทนที่คุณถวิลเพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มาเป็น ผบ.ตร. เพราะประเด็นของศาลรัฐธรรมนูญ ไปอยู่ที่ประเด็นของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ การที่คณะรัฐมนตรีไปย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นการเอื้อประโยชน์ไหม? ซึ่งต้องไปดูตรงนั้นว่า มันชอบธรรมในการขึ้นตำแหน่งนั้นไหม? นายกรัฐมนตรีมีความเกี่ยวพันมากแค่ไหน มันเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือเป็นแค่นายกรัฐมนตรีคนเดียวที่สั่งย้าย รวมถึงนายกรัฐมนตรีจะสั่งย้ายได้ไหม ไม่งั้นต่อไป นายกรัฐมนตรีก็สั่งย้ายใครไม่ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องของตำแหน่ง มันมองได้หลายมุม มันไม่ใช่แต่งตั้งเพียงญาติพี่น้องที่ไม่มีสิทธิในตำแหน่งนั้นเลยมาดำรงตำแหน่ง แต่เป็นการแต่งตั้งบุคคลซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวพันกันนั่นแหละแต่เขามีสิทธิจะขึ้นมาครองตำแหน่ง แล้วจะบอกว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ได้อย่างไร
ถ้าเกิดว่า ตำแหน่งพลตำรวจหรือผู้กำกับ แล้วย้ายข้ามมาเลย อย่างนี้มันชัด แต่อันนี้ต้องดูภูมิหลังว่า เขามีตำแหน่งอะไรมาก่อน หน้าที่ของเขาเป็นอย่างไร ตำแหน่งตอนรัฐประหารถูกใครข้ามมา แป๊กอะไรยังไง แล้วต้องคืนความเป็นธรรมให้เขาไหมเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอันนี้ผมคิดว่า ศาลท่านไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ แล้วประเด็นนี้ของศาลรัฐธรรมนูญไม่เหมือนกับศาลปกครอง กรณีศาลปกครองวินิจฉัยเรื่องย้ายคุณถวิล แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดไปดูประเด็นตอนที่ตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์มา เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกลับไปดูประเด็นนั้น ต้องดูความเป็นธรรมในคดีนั้นด้วย แล้วที่สำคัญคือต้องเคารพดุลพินิจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอันเป็นอำนาจของ ครม. ซึ่งศาลไม่ได้คำนึงตรงนี้ อ้างเพียงแต่ว่าเป็นพี่ชายของอดีตภรรยาของอดีตนายกฯทักษิณ และบอกว่าเป็นลุงของหลานอา ซึ่งมันไกลเกินไปในแง่นี้
ในความเห็นของผม ผมจึงมองว่าในทางเนื้อหามันไม่ชอบธรรม เพราะจะมองในแง่ที่ว่า เป็นความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนตัวบุคลากรในระบบราชการก็ได้ และในด้านหนึ่งก็เยียวยาให้เกิดความเป็นธรรมในกรณีของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ก่อนหน้านั้นก็ได้ ซึ่งอันนี้คนไม่ค่อยพูดกัน คืออาจจะต้องไปดูหลังรัฐประหารว่าเป็นอย่างไร คือปัญหานี้จึงต้องมีความเกี่ยวพันกับรัฐประหาร 2549 อยู่นั้นเอง
แต่ก็แน่นอน คดีนี้ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่สะท้อนความขัดแย้งของการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นนำในสังคมไทยเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ ในส่วนของเนื้อหา ยังมีการนำข้อเท็จจริงบางอย่างมายืนยันในคดีซึ่งอาจไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัยอย่างเช่น ศาลอ้างเรื่องการลงวันที่ในหนังสือราชการไม่ตรงกัน และยังไม่มีการพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด ศาลก็เอามาใช้อ้างในทางที่เป็นผลร้ายกับฝ่ายผู้ถูกร้อง
อีกปัญหาหนึ่งคือ คนที่ฟ้องคดี เขาฟ้องให้คุณยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง แต่ศาลให้คนที่มีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 พ้นจากตำแหน่ง ปัญหาคือ เราไม่รู้หรอกว่า วันนั้นใครประชุม ใครไม่ประชุม สองคือ คนที่เป็นรัฐมนตรีคนอื่น ถ้าเกิดตีความเป็นชื่อคน เขาไม่มีโอกาสเข้าไปโต้แย้งในคดีเลย เขาไม่ได้เข้าไปชี้แจงเลย แต่ศาลก็ไปตัดสินให้เขาพ้นจากตำแหน่งไปด้วย เพราะเหตุว่า เขามีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 1 เขาเข้าประชุมหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าเขาเข้าประชุม เวลาประชุมเขามีความเห็นอย่างไรก็ไม่รู้อีก ไม่มีการใช้สิทธิที่จะได้รับการรับฟังในคดี ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในฐานะของนักกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายว่ามันเป็นยังไง ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่มีใครเชื่อถือหรอก ไม่ได้พูดถึงว่า มันถูกใจใคร ไม่ถูกใจใคร แต่จะบอกว่ามันประหลาดมากๆ เพราะเป็นการวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ได้พ้นไปก่อนหน้านั้นแล้วในครั้งเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี แม้แต่ตัวคุณยิ่งลักษณ์ก็พ้นจากตำแหน่งแล้ว ด้วยการยุบสภาแล้ว ก็แค่รอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เท่านั้นเองโดยสภาพ เราต้องคิดว่า การพ้นจากตำแหน่งในกรณีธรรมดาเขาสามารถกลับสู่ตำแหน่งนั้นได้เลยโดยทันที เพราะมันไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่ง ความจริงตอนคุณสมัครพ้นจากตำแหน่ง นั่นก็ตลกไปทีหนึ่งแล้ว เพราะท่านก็เลิกทำกับข้าวไปแล้ว อันนี้ก็คล้ายๆ กันอีก
มีความพยายามอธิบายว่า ตอนนี้การเมืองไทยเป็นสุญญากาศ?
ไม่เป็นหรอกครับ แม้จะตีความแบบชื่อก็ยังมีคนอื่นเหลืออยู่อีกหลายคน และก็ยังสามารถประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป ไม่เกิดเป็นสุญญากาศ
ทีนี้ ทางที่ต้องเดินต่อไป คือไปสู่การเลือกตั้ง ในแง่ของการปฏิรูปการเมืองในอนาคตนั้น การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังที่นิติราษฎร์เคยเสนอประเด็นเรื่องการยุบศาลรัฐธรรมนูญ โดยลักษณะของการวินิจฉัยเช่นนี้ ศาลเข้ามาวินิจฉัยจนถึงขั้นตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีไปเลย แล้วยังมีการย้อนเวลากลับไปในอดีต เพื่อที่จะทำให้เกิดผลในปัจจุบันดังคำพิพากษาครั้งนี้
โดยผลของการตีความ ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายความอำนาจของตนเองออกไปจนกลายเป็นรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเป็นและทำมาหลายครั้งแล้ว มักจะมีคนอ้างคำวินิจฉัยตามมาตรา 216 วรรคห้าว่า ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร คนจะชอบอ้างแบบนี้ ตัดสินว่ามีภาระผูกพันทุกองค์กร แต่ผมมองว่า มันจะต้องดูด้วยว่า คำวินิจฉัยนั้นจะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญด้วยมันถึงจะผูกพันกับองค์กรทุกองค์กร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง มันก็ไม่มีผลผูกผัน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับองค์กรในทางการเมืองที่จะยอมรับคำวินิจฉัยแค่ไหน
ผมยกตัวอย่าง อย่างวันนี้มีคำวินิจฉัยมาแค่นี้ ในทางการเมืองก็เหมือนจะยอมรับเพราะไม่ถึงขนาดเอาคณะรัฐมนตรีไปทั้งคณะ องค์กรทางการเมืองก็ยอมตาม แต่ผมไม่ได้บอกว่า ฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกต้อง แต่ด้วยเพราะองค์กรทางเมืองไม่อยากมีเรื่อง ก็เลยต้องยอมตาม และถ้าเกิดศาลมีคำวินิจฉัยว่า ให้คณะรัฐมนตรีหมดทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง อาจจะทำให้องค์กรทางการเมืองไม่ยอมรับแน่นอน เพราะคงบอกว่า มันตัดสินไปขัดกับมาตรา 197 เพื่อสร้างให้เกิดสุญญากาศตามความต้องการของคนบางพวก เพราะฉะนั้นเวลาใครที่อ้าง 216 วรรคห้า ต้องเข้าใจคำวินิจฉัยจะผูกพันกับทุกองค์กรได้นั้นจะต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แล้วถามว่าใครจะเป็นคนบอกว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายไหม? คงไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนบอกแน่ ก็ต้องเป็นองค์กรทางการเมืองอื่นเป็นคนบอกว่ามันขัด ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะเห็นว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายรุนแรงแค่ไหน ซึ่งในเรื่องทางการเมืองมันเป็นเรื่องที่มีองค์กรทางการเมืองที่ใช้อำนาจทางการเมืองตอบโต้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีองค์กรทางการเมืองไหนของไทยทำ ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ไม่เคยทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทำไม่ได้
กปปส. มักอ้างว่า รัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลนี้ขาดความชอบธรรม?
ผมไม่เห็นด้วยแบบนั้น ผมเห็นในอีกทางหนึ่งว่า การอ้างแค่นี้ยังไม่พอ คือรัฐบาลเขาไม่ได้อ้างว่า ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ หรืออย่างตัวผมเอง ผมก็ไม่ได้อ้างว่าผมไม่เคารพรัฐธรรมนูญ แต่เพราะเขาเคารพรัฐธรรมนูญ เอารัฐธรรมนูญเป็นหลัก และถ้าเขาเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เขาก็มีสิทธิที่จะรักษารัฐธรรมนูญไว้โดยการปฏิเสธคำวินิจฉัยดังกล่าว
ความเห็นของ กปปส. เป็นความเห็นที่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ผมเคยบอกแล้วว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ คนหลายคนพยายามบอกว่า ต้องผูกผันกับรัฐธรรมนูญ และพยายามให้คำวินิจฉัยคือรัฐธรรมนูญ
ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลเป็นยังไง แต่ผมพยายามจะบอกว่า รัฐบาลต้องแย้งว่า รัฐบาลนั้นเคารพรัฐธรรมนูญ และถ้ารัฐบาลเห็นศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เขาเป็นองค์กรทางการเมืองหนึ่งก็ต้องรักษารัฐธรรมนูญไว้เหมือนกันตามมาตรา 197 เมื่อเขาเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาคดีแล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง รัฐบาลย่อมไม่ผูกพันตามคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งไม่เห็นเป็นเรื่องที่ผิดปกติหรือน่ากลัวตรงไหน
ไม่เช่นนั้นแล้ว ต่อไปถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไร จะผิดขนาดไหนก็ต้องเคารพหมด เกิดอยู่ดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญบ้าจี้ตัดสินประหารชีวิตคนโดยไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น แล้วมีคนคิดว่า คำวินิจฉัยต้องผูกพันกับทุกองค์กรของรัฐ เราควรเคารพหรือ? ดังนั้น โดยหลักแล้ว เราก็ต้องเคารพศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละ มันอาจจะถูกอาจจะผิดรัฐธรรมนูญไปบ้าง แต่เพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกัน เราก็ยอมกันบ้าง แต่ถ้าเมื่อไหร่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมันถึงขั้นฝ่าฝืนต่อระบบกฎหมายอย่างรุนแรง เป็นคำวินิจฉัยที่ทำลายรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง เช่น มีคำวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และวินิจฉัยให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง แบบนี้ก็เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีใครเคารพได้หรอก เพราะถ้าถึงจุดนั้นต้องถือว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง แล้วเราจะต้องไปเคารพศาลรัฐธรรมนูญที่ทำลายรัฐธรรมนูญเองหรือ? ซึ่งกว่าจะถึงจุดๆ นั้น มันเป็นเรื่องการประเมินทางการเมืองขององค์กรที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นกรณีวันนี้ที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น เขาก็ทำตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น