วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ย้อนรอย! กรณี “บุญส่ง กุลบุปผา” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้ลูกลาเรียน ป.โทเมืองนอกแต่ได้รับเงินเดือน-ค่าตำแหน่งเต็มๆ แต่ไม่ผิดในข้อหาทุจริต



              ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องกล่าวหา นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต อนุญาตให้บุตรชายของตน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในระหว่างลา ป.ป.ช.เห็นว่านายบุญส่งกระทำโดยพลการ เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงเบิกค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตามปกติ ไม่ทุจริต แต่เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งที่นายบุญส่งกุลบุปผา จะต้องชดใช้เงินคืน

              คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ข่าวสำนักงาน ป.ป.ช.มีรายละเอียดดังนี้

             ตามที่นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายฯ ได้มีหนังสือกล่าวหานายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยแต่งตั้งบุตรของตนเป็นเลขานุการ แล้วอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ได้มาปฏิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามปกติ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติให้รับเรื่องไว้พิจารณา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ นั้น

           คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวน ข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ซึ่งหลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้ว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้เสนอให้บุตรชายของตนดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำตัว นายบุญส่ง กุลบุปผา ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้มีคำสั่งที่ 5/2551 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 แต่งตั้งให้บุตรชายของนายบุญส่ง กุลบุปผา ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (นายบุญส่ง กุลบุปผา) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551

           จากนั้นประมาณ 7 เดือน นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชาย ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโททางกฎหมาย โดยมีการเดินทางเข้า – ออก ราชอาณาจักร รวม 3 ครั้ง คือ

           ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2552, ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2553 และระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2553 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยในระหว่างนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือน จำนวน 42,200 บาท และเงินประจำตำแหน่ง จำนวน 4,900 บาท ให้แก่บุตรชายของนายบุญส่ง กุลบุปผา เป็นประจำทุกเดือนตามปกติ

           ในเรื่องนี้ นายบุญส่ง กุลบุปผา ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 หมวด 4 วัน เวลาทำงาน และการลาหยุดราชการ ข้อ 16 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตสำหรับการลาของลูกจ้างตามสัญญาจ้างซึ่งประจำ ตำแหน่งผู้นั้น ดังนั้น เมื่อบุตรชายของตนขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตนจึงเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตในการลา

ส่วนประเด็นว่า ในระหว่างลาจะได้รับค่าตอบแทนทุกเดือน หรือไม่

           นายบุญส่ง กุลบุปผา ชี้แจงว่า ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 24 กำหนดว่า ส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่ต้องสั่งให้ลูกจ้างประจำไปศึกษาในต่างประเทศ เกี่ยวกับหน้าที่ราชการที่ลูกจ้างประจำผู้นั้น ปฏิบัติอยู่ โดยให้ได้รับค่าจ้างอัตราปกติตลอดระยะเวลาที่ไป ให้อยู่ในดุลพินิจของเจ้ากระทรวงที่ผู้นั้นสังกัด อยู่จะพิจารณาอนุญาต ดังนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับเลขานุการประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้น ตามระเบียบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็ย่อมมีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน

           คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วย การแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นระเบียบ ที่นำมาใช้ในการแต่งตั้งบุตรชายนายบุญส่ง กุลบุปผา ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นี้

          ปรากฏว่ามิได้มีบัญญัติไว้ในข้อ ใดให้สิทธิเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศได้ และก็มิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใด ให้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะอนุญาตให้เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาไปศึกษาในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน

          ส่วนที่นายบุญส่ง กุลบุปผา อ้างว่า มีอำนาจอนุญาตการลาของลูกจ้างตามสัญญาจ้างประจำตำแหน่งของตน ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 หมวด 4 ข้อ 16 นั้น ก็ปรากฏว่า ลูกจ้างตามสัญญาจ้างตามระเบียบฯ ดังกล่าว หมายถึง บุคลากรประเภทที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานขับรถยนต์ประจำ ตำแหน่ง เท่านั้น มิได้หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่อย่างใด

            และที่อ้างว่า ในระหว่างลาไปศึกษาในต่างประเทศ เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน โดยอาศัยระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 มาเทียบเคียง

          ก็ปรากฏว่า ระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 24 ดังกล่าว เป็นเรื่องการอนุญาตให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการไปศึกษาในต่างประเทศ แต่เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ จึงไม่สามารถนำระเบียบนี้มาเทียบเคียงใช้บังคับได้ คำชี้แจงแก้ ข้อกล่าวหาของนายบุญส่ง กุลบุปผา ทั้งหมด จึงฟังไม่ขึ้น

           ดังนั้น การที่บุตรชายของนายบุญส่ง กุลบุปผา ขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้สิทธิในการลา และการที่นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชายไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ จึงเป็นการกระทำโดยพลการ โดยปราศจาก

          อำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีผลให้การกระทำของนายบุญส่ง กุลบุปผา มิใช่การกระทำในฐานะเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของนายบุญส่ง กุลบุปผา ที่อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาในต่างประเทศโดยพลการ

           โดยมิได้รายงานให้ประธานศาลรัฐ ธรรมนูญทราบ หรือแจ้งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบ เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงเบิกค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำ ตำแหน่งให้ตามปกติ จึงเป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกให้นายบุญ ส่งกุลบุปผา ชดใช้เงินคืนต่อไป

           คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหานายบุญส่ง กุลบุปผา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบ และพิจารณา ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น