วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อัยการสั่งฟ้อง 'สุเทพ' 45 แกนนำกปปส. ฐานกบฏ - เตรียมอุทธรณ์คดี 'อัลรูไวลี่'


           อธิบดีอัยการพิเศษเผยสั่งฟ้องแกนนำกปปส. 45 คน ฐานร่วมกันเป็นกบฏ ขณะที่คดี ‘มูฮัมหมัด อัลรูไวลี่’ นักธุรกิจชาวซาอุฯ ส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงพิจารณาเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไปแล้ว
         เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2557 นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และนายสกลธี ภัทธิยกุล แกนนำ กปปส. ผู้ต้องหา 2 ใน 51 คน หลังพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันเป็นกบฎและข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 43 คน ถูกฟ้องในข้อหาเดียวกัน โดยแจ้งให้ดีเอสไอนำตัวมาส่งฟ้องต่อไป
          ขณะที่นักวิชาการ 5 คน ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาสนับสนุนการกระทำอันเป็นการกบฏและข้อหาอื่นๆ และแจ้งให้นำตัวมาส่งฟ้อง ส่วนนักวิชาการอีก 1 คน อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยจะแจ้งอธิบดีดีเอสไอพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง หากมีความเห็นแย้ง จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
นายนันทศักดิ์กล่าวว่า เตรียมจัดทำบัญชีพยานซึ่งเป็นพยานบุคคลกว่า 500 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจนครบาล, ตำรวจสันติบาล และฝ่ายความมั่นคง ที่หาข่าวในพื้นที่ชุมนุม พร้อมหลักฐานเอกสารต่างๆ ซึ่งอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล
 เตรียมอุทธรณ์คดี 'อัลรูไวลี่'
          โดย นายนันทศักดิ์ แถลงความคืบหน้ากรณีศาลอาญาพิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.อ.สมคิด บุญถนอม กับพวก ฐานฆ่านายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย และซ่อนเร้นทำลายศพ ด้วยว่าคดีนี้อัยการมีความเห็นควรให้ยื่นอุทธรณ์ และส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงพิจารณาเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไปแล้ว
          นายนันทศักดิ์กล่าวว่า มีประเด็นคัดค้านคำพิพากษา คือประเด็นเกี่ยวกับแหวนที่อ้างว่าเป็นพยานหลักชิ้นใหม่ ไม่เคยปรากฏในสำนวนมาก่อน ประเด็นพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก รับฟังได้มีน้ำหนัก และจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 2 มิ.ย. ถ้าไม่ทันจะขยายอุทธรณ์ได้อีกครั้ง ส่วนประเด็นการสืบพยานลับหลังจำเลยในต่างประเทศก็มีปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะคำให้การพยานในต่างประเทศ หากมีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความน่าเชื่อถือให้การรับรองคำให้การแล้วก็น่าจะใช้รับฟังได้ประหนึ่งว่ามาให้การในศาล
         “ในอดีตผมเคยว่าความคดีทรัพย์สินทางปัญญา และเคยให้เจ้าหน้าที่รับรองคำให้การพยานในต่างประเทศมาแล้ว ซึ่งศาลก็รับฟัง และยังมีประเด็นที่คู่ความได้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการสืบพยานลับหลังจำเลยจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 เรื่องนี้ก็ยังเป็นประเด็นให้พิจารณาต่อไปว่าการสืบพยานลับหลังจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายนันทศักดิ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น