วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปรส. กับความอัปยศของแผ่นดิน




AREA แถลง ฉบับที่ 83/2557: 24 มิถุนายน 2557
ปรส. กับความอัปยศของแผ่นดิน

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย


              ปรส.หรือ “องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติมหาศาล ดร.โสภณ ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรง

            ปรส. เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดย พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพุทธศักราช 2540 ทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการรวม 58 แห่ง เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้สุจริตรวมทั้งการชำระบัญชีของสถาบันการเงิน ข้อที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จนเป็นคดีความก็คือ ปรส. ไม่ได้แยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกัน จนทำให้ทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ถูกประมูลขายไปเพียง 190,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับการว่าจ้างจาก ปรส. ในฐานะบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินแห่งหนึ่งจากจำนวนสิบกว่าแห่งให้ประเมินทรัพย์สินในส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดมาโดยสถาบันการเงิน 58 แห่งแล้ว เพื่อนำออกประมูล
ในช่วงแรก ปรส. ดำเนินการได้ดีมาก กล่าวคือ ปรส. ให้บริษัทประเมิน ออกประเมินตามราคาตลาด ไม่ใช่ตั้งราคาประมูลเองเช่นสถาบันการเงินในอดีต และตั้งราคาประมูลเริ่มต้นไว้ที่ 50% เมื่อประเมินค่าเสร็จ ก็ยังจัดแสดงสินค้าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบผ่านการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ชั้นนำเต็มที่ อีกทั้งยังให้บริการ ‘เปิดบ้าน’ ให้ประชาชนได้ไปพิจารณาดูทรัพย์ก่อนการประมูล แม้แต่รายงานประเมินค่าทรัพย์สิน ก็ให้ประชาชนถ่ายสำเนาไปศึกษาดูได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายแค่ค่าถ่ายเอกสารเป็นสำคัญ

             เมื่อมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการประมูลในประเทศไทยแล้ว ปรส. ก็ว่าจ้าง บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดการประมูลขึ้น ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนมาก ใช้เวลาประมูลถึงประมาณ 1 สัปดาห์ ผลการประมูล ปรากฏว่าขายอสังหาริมทรัพย์ได้เกือบทั้งหมด ณ ราคาสูงถึง 80% ของราคาที่ตั้งประมูล

            กรณีนี้จึงเป็นการสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือแก่ ปรส. เป็นอย่างมาก แต่การประมูลอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของสถาบันการเงิน 58 แห่งนี้ มีมูลค่ารวมกันไม่ถึง 5,000 ล้านบาท แต่พอมาจัดประมูลทรัพย์มูลค่า 851,000 ล้านบาท กลับดำเนินการมีนัยส่อทุจริต เริ่มตั้งแต่ บริษัทเลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นที่ปรึกษาของ ปรส. กลับมาประมูลเสียเอง

            ในครั้งนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่ปรึกษากับบริษัทที่มาประมูลเป็นพวกเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ บริษัทเลแมน บราเดอร์ส ก็ชี้แจงว่าบริษัทของตนมีนโยบาย “Chinese Wall” หรือนโยบายกำแพงเมืองจีน แผนกหรือบริษัทในเครือเดียวกัน จะไม่บอกความลับแก่กันและกันอย่างเด็ดขาด ถือเป็นจรรยาบรรณทางวิชาชีพ เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เข้าทำนอง “อมพระมาพูด” แต่ ปรส. ก็กลับเชื่อถือ ยอมให้มาประมูลทรัพย์ได้

             ในการประมูลทรัพย์ของบริษัทเลแมน บราเดอร์ส นั้น ดร.โสภณ พรโชคชัย ในนามของ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ก็ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทนี้ประเมินค่าทรัพย์สินอีกเช่นกัน ในครั้งต่อมานี้ ปรส. ไม่จ้างบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินแล้ว ให้แต่ละบริษัทประเมินเองเอง แล้วเสนอราคาที่จะประมูลต่อ ปรส. ข้อน่าสังเกตก็คือ เป็นการประมูลแบบครั้งละนับแสนล้านบาท ทำให้คงเหลือแต่บริษัทต่างชาติที่มีขีดความสามารถมาร่วมการแข่งขัน

             ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต่อทรัพย์สินมูลค่าเกือบล้านล้านบาทนี้ นอกจาก ปรส. จะไม่แยกหนี้ดีและหนี้เสียแล้ว ปรส. ยังให้เวลาบริษัทที่เข้าร่วมประมูลศึกษาทรัพย์ในระยะเวลาที่กระชั้นชิดมาก ไม่ดำเนินการอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาเช่นการประมูลอสังหาริมทรัพย์ในครั้งแรก ข้อมูลมีไม่ครบถ้วน สับสน ซึ่งควรเตรียมการให้ดีก่อน แต่ไม่ดำเนินการ แทบไม่อนุญาตให้ถ่ายสำเนารายละเอียดทรัพย์สินเพื่อไปสำรวจประเมินค่า บางกรณีต้องถึงขนาดจดข้อมูลไปเอง ในระหว่างไปสำรวจทรัพย์สิน ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบภายในทรัพย์สินได้ ต้องประมาณการอยู่ข้างนอก

             ผลก็คือ ราคาที่ประมูลได้ของทรัพย์สินเกือบหนึ่งล้านล้านบาทนี้ เฉลี่ยได้เพียง 22% ของมูลหนี้ บางกองประมูลได้เพียง 16% ของมูลหนี้เดิม ในความเป็นจริง น่าจะประมูลได้สูงกว่านี้มาก จึงนับเป็นความสูญเสียของประเทศชาติเป็นอย่างมากจากการดำเนินการของผู้บริหาร ปรส. ในขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่า การจัดประมูลอสังหาริมทรัพย์ชุดแรกที่ดำเนินการได้ดี อาจถือเป็นเพียงการสร้างภาพ เพื่อให้สังคมไว้วางใจ แล้วค่อยดำเนินการในเชิงทุจริตในการประมูลหนี้ของสถาบันการเงินจนเกิดความเสียหายได้เช่นนี้

            การดำเนินการขององค์กรที่ปราศจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะองค์กรที่ดูมีภาพพจน์และผู้บริหารที่ดี จึงมักสร้างปัญหาในภายหลังเช่นนี้

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น