แถลงการณ์ร่วมระหว่างคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ระบุว่ารัฐบาลไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพไทยควรหยุดใช้กฎหมายหมิ่นประมาทโดยทันที ในการทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องนิ่งเงียบ
30 ส.ค. 2557 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มูลนิธิผสานฯ) จากกรณีที่มูลนิธิผสานฯ เรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัว โดยแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาททำให้กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยต้อง “เสื่อมเสียชื่อเสียง”
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงร่วมกันเรียกร้องให้มีถอนการแจ้งความร้องทุกข์ข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยทันที
การแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวเกิดหลังจากที่นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ถึงผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย โดยนางสาวพรเพ็ญได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทุบตีชายคนหนึ่งอย่างรุนแรงระหว่างการจับกุม เมื่อเดือนเมษายน 2557 และระบุว่าหากข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริงก็จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายไทยรวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย
ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 กอ.รมน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทหารพรานที่ 41 และหน่วยงานอื่น รวมทั้งแพทย์ที่ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ร้องเรียนว่าถูกทำร้าย ได้ออกคำแถลงชี้แจงว่าได้ทำการสอบสวนและพบว่าข้อกล่าวหาที่ว่ามีการทำร้ายร่างกายนั้นไม่เป็นความจริง ทั้งคำแถลงยังกล่าวอีกว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรมจะต้องรับผิดชอบต่อการบิดเบือนความจริงและเผยแพร่ข้อความเท็จสู่สาธารณะโดยเจตนา
ทั้งนี้ กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่สองภายในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ที่กองทัพไทยใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญามาใช้ในทางที่ผิด เพื่อข่มขู่คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในการติดตามและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยในเดือนธันวาคมปี 2556 กองทัพเรือไทยได้ยื่นฟ้องกรณีบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวของประเทศไทย “ภูเก็ตหวาน” โดยกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทและกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) โดยการผลิตซ้ำซึ่งข้อความบางส่วนจากบทความที่ได้รับรางวัลพูลิเซอร์ ของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับการกล่าวหาว่ามีการลักลอบนำเข้าและการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในประเทศเมียนมาร์ที่เผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและความรุนแรง
การแจ้งความร้องทุกข์คดีอาญาต่อนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมถือเป็นการโจมตีการทำงานในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นการคุกคามต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของผู้ที่ทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียหายที่ถูกปฏิบัติอย่างทารุณโหดร้ายที่จะได้รับการสืบสวนสอบสวนในข้อร้องเรียนดังกล่าวอย่างทันท่วงที เป็นอิสระ และมีความเป็นกลาง โดยปราศจากการถูกข่มขู่คุกคาม ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้การรับรองไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งได้อุทิศทรัพยากรส่วนใหญ่ในการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยการติดตามและบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้ายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอื่นๆ ทั้งนี้นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยด้วย
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐของไทยมีหน้าที่ในการให้ความเชื่อมั่นว่าบุคคลทุกคนและองค์กรต่างๆ ที่ทำงานปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จะสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน
ข้อมูลพื้นฐาน
สิทธิในการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้ายอื่นๆ และสิทธิที่จะได้รับการสืบสวนสอบสวนข้อร้องเรียนนั้นอย่างทันท่วงทีและด้วยความเป็นกลาง ได้รับการรับรองภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ได้แก่ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ประเทศไทยถูกวิจารณ์ในเดือนพฤษภาคม 2557 เกี่ยวกับความล้มเหลวในการให้ความเคารพต่อสิทธิดังกล่าว เมื่อคณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติได้แสดงออกถึงข้อกังวลว่า “มีข้อกล่าวหาจำนวนมากและสอดคล้องกันว่ามีการกระทำตอบโต้อย่างร้ายแรงและคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน และญาติผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการโจมตีทางวาจาและทางร่างกาย การบังคับให้สูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม เช่นเดียวกับการขาดการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการสอบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วย”
คณะกรรมาธิการให้คำแนะนำว่า “ประเทศไทยควรจะมีมาตรการที่จำเป็นในการ (ก) ยับยั้งซึ่งการคุกคามและโจมตีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยทันที (ข) มีการสอบสวนอย่างเป็นระบบต่อการข่มขู่ การคุกคาม และโจมตีโดยมุ่งที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด และรับประกันว่าจะมีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อ”
นอกจากนี้ ในข้อ 1 ของปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน ได้บัญญัติถึงมาตรฐานทางสากลสำหรับคุ้มครองบุคคลที่ทำงานในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยยืนยันว่า “ทุกคนในฐานะปัจเจกชนและโดยรวมกับผู้อื่นมีสิทธิในการส่งเสริมและต่อสู้เพื่อการคุ้มครองและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระดับชาติและระหว่างประเทศ”
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้การรับรองภายใต้ข้อ 19 ระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกโดยอิสระซึ่งรวมถึงสิทธิในการบอกกล่าวข้อมูลด้วย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของรัฐต่างๆ ได้แสดงความกังวลถึงการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดโดยการทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลายเป็นความผิดทางอาญา และกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ควรถูกนำมาใช้เมื่อการแสดงออกนั้นเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตนาร้ายและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น